Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบจาก: REALFrame

ความนำ

หลังจากเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาว่านายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) มีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 และตัดสินให้จำคุกนาน 5 ปี แต่เนื่องจากนายจตุภัทร์รับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ("ศาลตัดสินจำคุกไผ่ ดาวดิน 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง," 2017) ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายและองค์กรนานาชาติ อย่างเช่น Amnesty International ต่างชี้ไปในแนวทางเดียวกันว่า รัฐไทยกำลังดำเนินนโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ตในลักษณะสุดโต่ง (radical) เพื่อเข้าควบคุมการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่มีความอ่อนไหว (เช่น เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์) และเรียกร้องให้รัฐไทยเปลี่ยนท่าทีรวมไปถึงเรียกร้องให้ปล่อยไผ่โดยเร็วที่สุด ("แอมเนสตี้ฯ แถลงชี้คำพิพากษาคดีไผ่ ดาวดิน ทำให้เห็นแนวทางสุดโต่งของรัฐไทย," 2017)

คดีของไผ่ แม้จะเป็นคดีที่นำมาสู่ความสลดใจ (หรือความสะใจของคนอีกหลายกลุ่มที่ยังมองว่าชีวิตของไผ่นั้นไม่ได้มีค่าเทียบเท่าเขา) แต่ในอีกมิติหนึ่ง คดีไผ่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนและสร้างมาตรฐานใหม่ที่ถือว่าตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ในสังคมไทย เมื่อเพียงแค่การ “แชร์” บทความที่ไม่ได้เขียนขึ้นเอง เข้าข่ายละเมิดกฎหมายอาญาของประเทศ อันจะมีผลกระทบกับพฤติกรรมของการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงในอนาคต และอีกส่วนหนึ่ง ก็สะท้อนประวัติศาสตร์ของการเข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทยที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการควบคุมอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เริ่มครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงพยายามวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ จากคดีของไผ่ ดาวดิน


นี่ไม่ใช่ครั้งแรก: รัฐไทยกับความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ต

แม้คดีของไผ่ ดาวดิน จะมีความพิเศษตรงที่อาจถือเอาได้ว่าเป็น 1) คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านอินเทอร์เน็ตกรณีแรกๆ ในรัชสมัยใหม่ 2) เป็นคดีแรกที่มีการตัดสินว่า “การแชร์บทความ” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นความผิด แต่ต้องไม่ลืมว่านี่ไม่ใช่คดีแรกของคดีลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านั้นก็มีคดีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาตลอด หากขีดเส้นให้ชัดก็อาจต้องเริ่มนับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ที่คดีลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตลอด แต่นั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะอันที่จริงแล้ว รัฐไทยไม่เคย “ไว้วางใจอินเทอร์เน็ต” มาตั้งแต่ต้น

ในช่วงแรกที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าสู่สังคมไทยเมื่อปี พ.ศ.2530 ผ่านโครงการความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและมหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (Charmonman, 1993) อินเทอร์เน็ตของไทยกระจุกตัวอยู่ในสถาบันการศึกษาและองค์กรภาครัฐเท่านั้น ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ลงทุนติดตั้งระบบเอง การเข้าถึงของประชาชนทั่วไปนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก 7 ปี (พ.ศ.2537) พร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของ KSC Internet (Charmonman & Wongwatanasin, 1999; icez, 2015; Palasri, Huter, & Wenzel, 2013; Pornwasin, 2007) ซึ่งแม้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่พัฒนาไปในทางบวก แต่ต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างการเปิดอินเทอร์เน็ตสู่ตลาด (internet marketization) นั้น ยังสะท้อนว่าภาครัฐยังคงมีความไม่ไว้วางใจกับอินเทอร์เน็ตอยู่

สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้มีสองส่วน 1) การสื่อสารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น (หรือ กสท. โทรคมนาคม ในปัจจุบัน) เข้าไปถือหุ้นลมอยู่ในบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนแนวคิดแบบสัมปทานเหมือนกับสื่อแบบดั้งเดิม (Magpanthong, 2013) 2) ในปี 2538 ภาครัฐโดยหน่วยงานรัฐ 4 องค์กร ณ เวลานั้น (การสื่อสารแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสารสนเทศแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ร่วมกันก่อตั้ง Internet Thailand ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ของตัวเอง เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนด้วย (Magpanthong, 2013; Pornwasin, 2007) ทั้งสองส่วนนี้สะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการเข้าไปควบคุมอินเทอร์เน็ตในระยะแรกทั้งทางตรง (ผ่าน ISP ตัวเอง) และทางอ้อม (ผ่านการถือหุ้นลมใน ISP รายอื่นที่แข่งกับตัวเอง) ไม่ต่างอะไรจากการควบคุมสื่อดังเช่นสื่อมวลชนในอดีตที่ผ่านมา (McCargo, 2000)

นอกจากการควบคุมผ่านแนวทางข้างต้นแล้ว รัฐบาลในสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ต้องใช้บริการเกตเวย์แห่งชาติจาก กสท. โทรคมนาคม แต่เพียงรายเดียวเท่านั้น (Government, 2001) ถึงแม้มติดังกล่าวจะถูกระบุว่ามีเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจ แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ต่างจากการเข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตก่อนหน้า เพียงแต่นี่เป็นการควบคุมในเชิงโครงสร้าง

ทว่า ก่อนหน้าการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 ไม่นาน อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยเข้าสู่จุดหักเหสำคัญในสองส่วน ประการแรกคือการเริ่มถูกปลดล็อกจากการควบคุมของภาครัฐด้วยการเปลี่ยนแนวทางจากการใช้สัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาตผ่านการก่อตั้ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งทำให้ระบบเกตเวย์เดียวที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ผ่านมติคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และทำให้มีช่องทางในการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น (icez, 2015) และประการที่ 2 คืออินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางในการพูดคุยทางการเมืองและได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะในช่วงเวลานั้นสื่อกระแสหลักไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ด้วยข้อจำกัดทางด้านสัมปทานและการดำเนินการ (McCargo, 2000; Paireepairit, 2012; Wall & Kirdnark, 2012)

การเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตและการใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารทางการเมืองก่อนรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549 ไม่นานนัก เป็นประเด็นที่แม้แต่คณะรัฐประหารในเวลานั้นก็รับรู้เป็นอย่างดี จึงเริ่มมีประกาศควบคุมการสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมไปถึงอินเทอร์เน็ตด้วย (Boonyaratglin, 2006) สิ่งที่คณะรัฐประหารทำในตอนนั้นด้านหนึ่งคือมีการสั่งปิดและปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งทางการเมืองที่ตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร หรือไม่ก็มีเนื้อหาที่ถูกประเมินว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Magpanthong, 2013) และในอีกด้านหนึ่งคือการติดตั้งระบบการคัดกรองเนื้อหาอินเทอร์เน็ตโดยอาศัย URL ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิจัยด้านวิศกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอาไว้ที่เกตเวย์ของ กสท. โทรคมนาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 และเริ่มใช้จริงเมื่อปี พ.ศ.2552 (Ramasoota, 2011)

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในเชิงผลกระทบต่อหน้า พระราชบัญญัตินี้ทำให้หลายเว็บไซต์ในไทยต้องใช้มาตรการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน รวมถึงเพิ่มอำนาจและกลไกในการปิดกั้นเนื้อหาต่างๆ (Ramasoota, 2011) ทว่า สิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจนคือมีการใช้ พระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าไปควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) มากขึ้นเรื่อยๆ (อ่านบทวิเคราะห์จาก (Charoen, 2012; Tunsarawuth, 2010)) สำหรับนักวิชาการอย่าง เอม สินเพ็ง และ ชาลิสา มากแผ่นทอง กระบวนการดังกล่าวไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะรัฐบาลชุดอื่นๆ หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือมาจากฝั่งสีทางการเมืองไทยก็ตาม ต่างล้วนแล้วแต่มีจุดยืนที่จะควบคุมอินเทอร์เน็ต โดยให้ความสำคัญกับกรณี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เป็นสำคัญ (Magpanthong, 2013; Sinpeng, 2013) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการจัดตั้งโครงการ “ลูกเสือไซเบอร์” เพื่อเป็นการตรวจสอบและรายงานเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยในปี พ.ศ.2553 (Sinpeng, 2013)

แนวโน้มการควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทยที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2557 รัฐบาลไทยมีความพยายามในการกลับไปใช้เกตเวย์ระหว่างประเทศเดี่ยวอีกครั้งเหมือนดังเช่นในปี พ.ศ.2544 ภายใต้เหตุผลที่ว่า รัฐบาลต้องการจัดการกับเนื้อหาและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม (Kittiampon, 2015; lew, 2015) ซึ่งต่อมาในภายหลังก็ต้องถูกยกเลิกไป และมีการขู่จะเอาผิดกับผู้ที่จดบันทึกการประชุมจากนายกรัฐมนตรีด้วย (Ramsey, 2015; ""บิ๊กตู่" จ่อลงดาบ คนบันทึกประชุมปมซิงเกิล เกตเวย์ ย้ำยังไม่ได้เริ่ม (Prime Minister will punish the minute taker, Single Gateway is yet to established)," 2015) ในขณะเดียวกัน รัฐไทยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับโลกอินเทอร์เน็ตหนักขึ้นเรื่อยๆ ในบางกรณี ผลการพิพากษาจำคุกยาวนานถึง 30 ปี (Shamdasani, 2015)

เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คดีของไผ่ ดาวดิน เป็นพัฒนาการต่อเนื่องในความพยายามสถาปนาอำนาจในการควบคุมอินเทอร์เน็ตของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า การปรากฏตัวผ่านคดีของไผ่ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่การกระทำที่เป็นเพียงการแชร์บทความ นำมาสู่การลงโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทย ซึ่งหากพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แลดูจะสอดคล้องกับแนวทางควบคุมอินเทอร์เน็ตที่หนักหน่วงเช่นนี้ ("ประยุทธ์: “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์”," 2017)

อนึ่ง แนวทางการควบคุมของรัฐบาลไทยนี้ แม้จะเป็นความต่อเนื่องมาจากอดีต แต่ก็สอดรับกับการควบคุมอินเทอร์เน็ตในระดับสากล (Barnard-Wills & Ashenden, 2012) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อต้นปี พ.ศ.2560 (Stone, 2017)


ผลกระทบจากการตัดสินคดีของไผ่ ดาวดิน การใช้อินเทอร์เน็ตในไทย และหนทางข้างหน้า

ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไผ่ ดาวดิน เป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษอยู่บางประการ จุดแรกคือเป็นคดีที่พิจารณาแบบลับ นั่นก็แปลว่าเราไม่มีทางรับรู้การพิจารณาคดีได้เลยว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง และรายละเอียดที่ออกมาจากสื่อออนไลน์ (ไม่ต้องนับถึงสื่อกระแสหลัก) จะเป็นอย่างไร จุดที่สองคือการแชร์ (แบ่งปัน) บทความที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จัดว่าเป็นความผิดด้วย นั่นก็แปลว่าในมิติหนึ่ง ศาลอาจตีความได้ว่า การแบ่งปันเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีลักษณะของการ “เผยแพร่” ให้สาธารณะได้รับรู้ด้วย

การที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ย่อมเป็นการสื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าขอบเขตของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่บังคับใช้กับกรณีของอินเทอร์เน็ตนั้น มีการควบคุมและลงลึกไปถึงระดับควบคุมการแบ่งปันเนื้อหา ซึ่งถือเป็นแนวทางที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะหากคำพิพากษาจากคดีนี้จัดว่าเป็นแนวทางให้กับคดีอื่นๆ ที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง (เช่น หมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์) สิ่งที่อาจตามมาได้คือการพิจารณาว่าการแชร์ลักษณะนี้มีผลทำให้เกิดความเสียหายได้ หากคิดให้ถึงที่สุด (slippery slope) มาตรฐานในการตัดสินคดีเช่นนี้อาจนำมาสู่ภาระทางคดีให้กับระบบยุติธรรมโดยรวม เพราะย่อมมีคดีในลักษณะคล้ายกันอยู่มาก และย่อมไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่มีผลมากกว่าปัญหาของระบบยุติธรรมที่อาจปรากฏได้อย่างชัดเจน คือการที่นับจากนี้เป็นต้นไป การใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย โดยเฉพาะการกล่าวถึงประเด็นใดก็ตามที่อาจถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะกระทำได้ยากยิ่ง ในหลายกรณีผู้ใช้งานอาจต้องเลือกการทำเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censor) เพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากนี้แล้วยังเป็นการเปิดทางให้กับการตรวจตราขนานใหญ่ (mass surveillance) จากประชาชนที่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะแนวทางการเอาผิดครอบคลุมไปถึงการแชร์บทความต่างๆ มาด้วย และนี่ย่อมเป็นผลกระทบใหญ่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐไทยจะต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือโครงสร้างการติดต่อสื่อสารของอินเทอร์เน็ตมีลักษณะที่เชื่อมโยงกันไปมาแบบ self-mass communication ที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนกับหลักการแบบ mass communication เดิม (Castells, 2007) รวมไปถึงเทคโนโลยีการหลบหนีการเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่มีอยู่เป็นเรื่องปกติก็จะถูกนำมาใช้ด้วย (Deibert, 2009; Depkin II, 2006) สิ่งที่น่าสนใจนับจากนี้คือความสามารถของรัฐ ว่าจะวิ่งไล่และตามทันกับการหลบ หลีก หนี ได้มากแค่ไหนในระยะยาวกันแน่


สรุป

จากประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตกับรัฐไทย จะเห็นได้ว่ารัฐไทยไม่ได้มีความไว้วางใจสื่ออย่างอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของความไม่วางใจและเริ่มพยายามเข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการ เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนช่วงหลังรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549 แต่การรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้นำมาสู่ประดิษฐกรรมและคำอธิบายในเรื่องการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบใหม่ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม คดีของไผ่ ดาวดิน กลายเป็นกรณีตัวอย่างล่าสุดของนวัตกรรมของรัฐที่ไม่น่าใช่นวัตกรรมที่พวกเราคาดหวังกันมากมายนัก

สิ่งที่ส่งผลได้อย่างรวดเร็วที่สุด (chilling effect) คือการเปลี่ยนแปลงของการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ในประเทศไทย เพราะทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ไว้วางใจว่า การแชร์บทความใดๆ จะมีผลอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะบทความที่มีความเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าเป็นเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และการแชร์นั้นอาจไม่ได้จำกัดแค่สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะอาจรวมถึงแม้กระทั่งการสนทนาผ่านแอพแชตต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย ผลกระทบจากคำตัดสินในคดีของไผ่ จึงสร้างมาตรฐานใหม่และแรงสั่นสะเทือนที่กระทบไปถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างตัวรัฐกับอินเทอร์เน็ตไปอีกนาน แม้ว่าหลายคนอาจจะดูมีความหวัง แต่หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์และแนวโน้มที่ปรากฎในบทความนี้ ความหวังดังกล่าว เราอาจจะเหลือแต่เพียงเลือนราง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้อาจนำพาไปสู่อินเทอร์เน็ตของประเทศในรูปโฉมแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่คิดว่าจะได้เห็นอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง

Barnard-Wills, D., & Ashenden, D. (2012). Securing Virtual Space: Cyber War, Cyber Terror, and Risk. Space and Culture, 15(2), 110-123.

Boonyaratglin, S. (2006). คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  (A 5th Order of the Council for Democratic Reform to the Ministry of Information & Communication Technology to control the Information on the electronic system). Bangkok: Royal Gazette.

Castells, M. (2007). Communication, Power and Counter-power in the Network Society. International Journal of Communication(1).

Charmonman, S. (1993). Internet Computer Access in Thailand. International Journal of the Computer, the Internet and Management, 1(3), 50-68.

Charmonman, S., & Wongwatanasin, K. (1999). KSC: The Only Major ISP in the World with Profits from Day One. Paper presented at the Flemings Information Technology Conference, New York. http://charm.siamtechu.net/curriculumvitae/newyork/newyork.doc

Charoen, D. (2012). The Analysis of the Computer Crime Act in Thailand. International Journal of Information and Communication Technology Research, 2(6), 519 - 526.

Deibert, R. J. (2009). The Geopolitics of Internet Control: Censorship, Sovereignty, and Cyberspace. In A. Chadwick & P. N. Howard (Eds.), Routledge Handbook of Internet Politics. Oxon: Routledge.

Depkin II, C. A. (2006). Who supports Internet censorship? First Monday, 11(9).

Government, T. R. T. (2001). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 24 กรกฎาคม 2544 (A Summary of the Cabinet Resolution on July 24, 2001).  Retrieved from http://www.eppo.go.th/admin/cab/cab-2544-07-24.html#11.

icez. (2015, September, 25). พัฒนาการการเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตไทย (The Development of Thailand's Internet Liberalisation). Blognone. Retrieved from https://www.blognone.com/node/72929

Kittiampon, A. (2015). ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (A Summary of the Prime Minister's Executive Orders). Bangkok: The Secretariat of the Cabinet.

lew. (2015, September 22). ไม่ใช่แค่ข้อเสนอ มติคณะรัฐมนตรีเร่งจัดตั้ง Single Gateway ควบคุมเว็บไซต์ (Not a proposal: The Cabinet Resolution urges the establishment of Single Gateway). Blognone.  Retrieved from https://www.blognone.com/node/72775

Magpanthong, C. (2013). Thailand's evolving Internet policies: the search for a balance between national security and the right to information. Asian Journal of Communication, 23(1), 1-16.

McCargo, D. (2000). Politics and the Press in Thailand: Media Machinations. Florence, KY: Routledge.

Paireepairit, I. (2012). Free Space of Expression: New Media and Thailand’s Politics. Berlin, Germany: fesmedia Asia, Friedrich-Ebert-Stiftung.

Palasri, S., Huter, S., & Wenzel, Z. (2013). The History of the Internet in Thailand. Oregon: University of Oregon Libraries.

Pornwasin, A. (2007, July, 9). Trin Tantsetthi : Internet Thailand. The Nation. Retrieved from http://www.nationmultimedia.com/homeTrin-Tantsetthi-Internet-Thailand-30039842.html

Ramasoota, P. (2011). Internet Politics in Thailand after the 2006 Coup: Regulation by Code and a Contested Ideological Terrain. In R. Deibert, J. Palfrey, & J. Zittrain (Eds.), Access Contested: Security, Identity, and Resistance in Asian Cyberspace (pp. 83-114). Cambridge, Massachusetts: MIT Press.

Ramsey, A. (2015, October 7). To be or not to be: The great firewall of Thailand. Aljazeera.  Retrieved from http://america.aljazeera.com/articles/2015/10/7/great-firewall-thailand-internet.html

Shamdasani, R. (2015, August 15). Press briefing note on Thailand and Mali.   Retrieved from http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=16310&LangID=E

Sinpeng, A. (2013). State Repression in Cyberspace: The Case of Thailand. Asian Politics & Policy, 5(3), 421-440.

Stone, J. (2017, June 4). Theresa May says the internet must now be regulated following London Bridge terror attack. The Independent.  Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/theresa-may-internet-regulated-london-bridge-terror-attack-google-facebook-whatsapp-borough-security-a7771896.html

Tunsarawuth, S. M., Toby. (2010). Analysis of Computer Crime Act of Thailand. Retrieved from Bangkok: https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2010/07/Analysis-of-Computer-Crime-Act-of-Thailand-By-Sinfah-Tunsarawuth-and-Toby-Mendel.pdf

Wall, M., & Kirdnark, T. (2012). The Blogosphere in the “Land of Smiles”: Citizen Media and Political Conflict in Thailand. In T. Dumova & R. Fiordo (Eds.), Blogging in the Global Society: Cultural, Political and Geographical Aspects (pp. 19-36). Hershey, PA: Information Science Reference.

"บิ๊กตู่" จ่อลงดาบ คนบันทึกประชุมปมซิงเกิล เกตเวย์ ย้ำยังไม่ได้เริ่ม (Prime Minister will punish the minute taker, Single Gateway is yet to established). (2015, October 8). MatichonOnline.  Retrieved from http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444285588

ประยุทธ์: “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์”. (2017, August 16).   Retrieved from http://www.bbc.com/thai/thailand-40948472

ศาลตัดสินจำคุกไผ่ ดาวดิน 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง. (2017, August 15). BBC Thai.  Retrieved from http://www.bbc.com/thai/thailand-40933040

แอมเนสตี้ฯ แถลงชี้คำพิพากษาคดีไผ่ ดาวดิน ทำให้เห็นแนวทางสุดโต่งของรัฐไทย. (2017, August 16). ประชาไท.  Retrieved from https://prachatai.com/journal/2017/08/72825

 



หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ปรับแก้จากวิทยานิพนธ์และบทความในระดับมหาบัณฑิตของผู้เขียน

เกี่ยวกับผู้เขียน: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร เป็นนิสิตปริญญาเอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net