Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 ได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการได้ คำสั่งนี้นอกจากจะสร้างความกังวลให้กับบุคลากรทางการศึกษาถึงความพยายามใช้อำนาจรัฐมาแทรกแซงการบริหารภายในมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นอิสระจากการเมืองแล้ว ผลจากการใช้คำสั่งนี้ยังส่งผลต่อคดีความเกี่ยวกับการแต่งตั้งอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองด้วย   

ในประเด็นความไม่เป็นอิสระของมหาวิทยาลัย ได้มีการแสดงออกผ่านเครือข่ายคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษาไทยที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560[1] คัดค้านการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองอำนาจไว้  

อาจารย์มหาวิทยาลัยกลัวอะไร? คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบถึงเหตุผลที่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านดังกล่าว

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการให้กับประชาชนและสังคม หลายครั้งที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้สร้างเกณฑ์หรือคำตอบให้กับสังคมว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ผ่านการศึกษาวิจัยและทดลองตามวิชาชีพในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่ที่ควรปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ควรเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้สมาชิกสามารถมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความรู้ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้

การใช้อำนาจหัวหน้า คสช. แทรกแซงกลไกการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการแต่งตั้งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้บังคับบัญชาอาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน แม้เป้าหมายสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือ การแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งผู้บริหารของหลายมหาวิทยาลัยที่ขาดความต่อเนื่องและขาดประสิทธิภาพ แต่การใช้อำนาจนอกระบบปกติออกคำสั่งดังกล่าวนั้นเปิดโอกาสให้คนที่มิได้อยู่ในแวดวงการศึกษา นักธุรกิจ หรือทหาร สามารถเข้ามา “สั่งการ” ในสถาบันอุดมศึกษา ได้ ซึ่งธรรมชาติของการบริหารงานในมหาวิทยาลัยย่อมแตกต่างจากการบริหารบริษัทเอกชน ต่างจากการควบคุมกองทัพอย่างคนละขั้ว

นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการบริหารงานที่ขัดกับหลักการต่างๆ ของรัฐบาล คำสั่งนี้จึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในการปิดปากนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดหูและปิดตาประชาชนในที่สุด

นอกจากผลกระทบทางการเมืองที่พยายามควบคุมการจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ อาจนำไปสู่การปิดกั้นการทำงานตามหลักการของฝ่ายตุลาการที่เคยมีมาด้วย

ก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาการสรรหาแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลหลายแห่ง[2] เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เป็นต้น เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยสรรหาแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดีซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารมีสถานะเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองหลายคดี

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในปลายปี 2559 แล้วว่า การแต่งตั้งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐย่อมต้องเลือกบุคคลที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น[3] คำพิพากษานี้ย่อมเป็นมาตรฐานให้กับคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องด้วย ซึ่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 นี้จะมีการอ่านผลคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์[4] ที่ศาลปกครองนครราชสีมา

เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 ออกมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 จึงเป็นการช่วยให้คดีที่มีการฟ้องร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง “หลุด” อย่างมิต้องสงสัย การสรรหาและแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นอธิการบดี แม้จะผิดตามคำพิพากษาศาลปกครอง แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. อนุญาตให้ทำได้ ย่อมทำให้เหล่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยและนายกสภามหาวิทยาลัยที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้ใกล้ชิดรัฐบาล คสช. โล่งอกโล่งใจกันถ้วนหน้า

การใช้อำนาจพิเศษในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นการใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีขอบเขตซึ่งขัดกับระบบนิติรัฐแล้ว ยังอาจนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ และแทรกแซงการตรวจสอบถ่วงดุลทางการบริหารของฝ่ายตุลาการ ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความได้ว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายพวกพ้องได้

  

เชิงอรรถ

[3] คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1221/2559

[4] คดีหมายเลขดำที่ บ.11/2560

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อรุณี สัณฐิติวณิชย์ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net