'มีชัย' ชี้เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ป้องกันซื้อเสียง - 'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้าน

ประธาน กรธ. ยันบัตรเลือกตั้งระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ไม่เป็นปัญหา ขณะที่เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ช่วยป้องกันการซื้อเสียง  ด้าน 'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้านจับเบอร์รายเขต ชี้บริหารจัดการยาก ซื้อเสียงเพียบ บัตรปลอมว่อน 

แฟ้มภาพ

8 ส.ค.2560 รายงานระบุว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่จะมาใช้ในระบบแบ่งเขต เรียงเบอร์ จะทำให้เกิดความสับสน ว่า บัตรเลือกตั้งในระบบนี้ มีขนาดใหญ่ และเป็นบัตรเดียว ทำให้สามารถใส่ชื่อและโลโก้ของพรรคเข้าไปได้ และที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการพิมพ์บัตรเลือกตั้งในแต่ละเขต 

ส่วนกรณีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยกเลิกเบอร์ และให้ใช้ชื่อพรรคเพียงอย่างเดียว เพื่อแก้ปัญหาการซื้อเสียงนั้น มีชัย ยอมรับว่า ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้นกว่าเดิมจริง แต่จะต้องคำนึงถึงประชาชนที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย และต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนเพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการกากบาทเลือกหมายเลข อย่างไรตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น ยังต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพราะไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด การทุจริตก็ไม่ได้หมดไป

เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ช่วยป้องกันการซื้อเสียง 

โดยวานนี้ (7 ส.ค.60) ประธาน กรธ. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยที่กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว และใช้ระบบแยกเบอร์รายเขต ซึ่งทำให้เบอร์ผู้สมัครของพรรคเดียวกันที่อยู่ต่างเขตกันอาจจะต่างกันว่า เป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็มีพรรคการเมืองบางส่วนเห็นด้วย และเท่าที่ฟังเหตุผลของพรรคที่ไม่เห็นด้วยที่ว่าแนวทางนี้เป็นการลดคุณค่าของพรรคการเมืองลงนั้น เหตุผลยังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้ต้องปรับแก้  

“ตามรูปแบบนี้ก็เคยใช้มาในอดีต เพิ่งจะใช้ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลัง และปรากฎว่าเปิดช่องให้เกิดการซื้อเสียง อีกทั้งยังมีข้อครหาตามมาว่าส่ง เสาโทรเลข ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ทำให้คนที่ได้รับเลือกเป็นเสมือนบริวารพรรค เพราะได้รับเลือกเพราะคะแนนพรรค ซึ่งต่างจากแนวทางที่กรธ.เสนอที่เป็นการยืนยันว่าเป็นคะแนนของตัวผู้สมัครเอง” มีชัย กล่าว

สำหรับกรณีที่มีความเป็นห่วงว่าระบบใหม่นี้จะทำให้ประชาชนสับสนนั้น มีชัย กล่าวว่า อย่าดูถูกประชาชนว่าไม่รู้เรื่อง เพราะขณะนี้ประชาชนอ่านหนังสือออก และเข้าใจการเมือง และการเลือกตั้งอยู่ในเขตของตัวเอง เบอร์ของใครก็ปรากฎอยู่ในเขตนั้น จะเลือกใครก็จำไว้และเข้าคูหาลงคะแนนได้ และก่อนเข้าคูหาก็มีป้ายให้ดู  ดังนั้นหากจะไปเลือกตั้ง ก็ต้องรู้ว่าใครสมัครบ้าง 

"ถ้าทำแบบเดิมการหาเสียงโดยชูมือเหมือนอดีตก็จะมี และคำพูดที่ว่าส่งเสาโทรเลขลงก็ได้ จะกลับมาอีก ดังนั้นต้องดูคนที่ความสามารถ ได้เรียนรู้คนจะได้ศึกษาซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ดูเฉพาะเบอร์อย่างเดียว จะเอาความเคยชินไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ ถ้าเบอร์เดียวกันหมดแบบเดิม ประชาชนก็ไม่รู้ว่าใครสมัคร" มีชัย กล่าว

มีชัย กล่าวว่า การที่ผู้สมัครคนละเขตต่างเบอร์กันเช่นนี้ ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย หากกกต.ใช้เวลาในการอธิบาย แต่ขณะนี้ยังไม่นิ่ง ต้องให้ได้ข้อยุติก่อนแล้วจึงค่อยอธิบาย

'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้านจับเบอร์รายเขต 

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.ด้านบริหารกลาง) แถลงถึงกรณีกรธ.พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. โดยกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจับเบอร์รายเขต ว่า เป็นวิธีการที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งจากที่ได้รวบรวมสถิติการเลือกตั้งส.ส. ย้อนไปตั้งแต่ปี 2544-2557 รวม 6 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวคือครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ที่หมายเลขผู้สมัครรายเขต กับหมายเลขผู้สมัครบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลขเนื่องจากรูปแบบการเลือกตั้งมีการแบ่งส.ส.เขตออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ฉะนั้นถ้ามองย้อนหลังไป 20 ปีถือว่าประชาชนชินกับการที่ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมืองใช้หมายเลขเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จะเห็นบรรยากาศว่าถนนสายเดียวกัน ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน แต่จะมีเบอร์ต่างกัน

แฟ้มภาพ

ยากที่จะปฏิบัติ

สมชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวเห็นว่าหลักการดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถ้าใช้บังคับกกต.ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่จะปฏิบัติได้ยากโดยอาจจะมีปัญหาใน 3 ส่วน คือ 1.กรณีการรับสมัคร จับสลากหมายเลขผู้สมัครจากที่เคยจับสลากเพียงแค่จุดเดียว กกต.ก็ต้องจัดชุดแยกดำเนินการใน 350 เขต หากเกิดกรณีการปิดล้อมจับสลากไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาไม่สามารถจัดเลือกตั้งภายในวันเดียวได้ เพราะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ก็ต้องมีการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

พิมพ์บัตร 350 แบบ หวั่นบัตรปลอมระบาด

สมชัย กล่าวอีกว่า 2.การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็ยากที่จะควบคุมในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานการปลอมแปลงบัตรเพราะเมื่อพรรคและผู้สมัครไม่ใช้หมายเลขเดียวกัน และหลักการใหม่ให้ใช้บัตรใบเดียว ดังนั้น ในหนึ่งบัตรก็จะต้องมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร สัญลักษณ์และชื่อพรรคการเมือง ก็เท่ากับว่าแบบของบัตรก็จะมี 350 แบบตามแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่บัตรรูปแบบเดียวอย่างที่เคยใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การจัดพิมพ์เพื่อให้ทันกับเวลา จึงต้องแยกพิมพ์เป็นของแต่ละจังหวัดในโรงพิมพ์ของท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถใช้โรงพิมพ์ส่วนกลางที่เดียวได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการกำหนดมาตรฐานบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสูง เช่น การใช้ลายน้ำ การกำหนดรหัสลับ สีของบัตรเลือกตั้ง  ไม่สามารถทำได้ เพราะโรงพิมพ์ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอ

"ผลก็คือพอถึงเวลาเปิดหีบ 08.00 น.ของวันเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเข้าแสดงตนรับบัตรเลือกตั้งแล้ว สีและลักษณะของบัตรเลือกตั้งถูกเปิดเผยเชื่อว่าไม่เกิน 12.00 น. บัตรปลอมก็พิมพ์เสร็จแล้วก็จะถูกหัวคะแนนแจกให้กับประชาชนเพื่อไปกากบาทแล้วพกเข้าหน่วยเลือกตั้งไปหย่อน สลับกับเอาบัตรเลือกตั้งจริงออกมา นี่คือสิ่งที่กกต.เป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดการรั่วไหลในการพิมพ์แล้วเกิดการโกงกันทั้งประเทศ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ยกเว้นว่าอยากทำให้โกงกันทั้งบ้านทั้งเมืองก็ทำกระบวนการนี้" สมชัย กล่าว

ปชช.ตรวจสอบคะแนนยาก 

สมชัย กล่าวด้วยว่า และ 3.การรวมคะแนน เจ้าหน้าที่กกต.ยืนยันว่ารูปแบบที่กรธ.คิดยังสามารถเขียนโปรแกรมประมวลผลได้ แต่ปัญหาคือตรวจสอบของภาคประชาชน หรือองค์กรที่ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งจะทำให้ได้ยาก ซึ่งเท่ากับว่าการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้มือกกต. ไม่ใช่กกต.ต้องการโกง แต่ต้องการให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้ง่าย และรูปแบบใหม่ก็จะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น

ท้ารับผิดชอบ หากแก้ซื้อเสียงไม่ได้

"คนที่บอกว่าทำแบบนี้แล้วการซื้อเสียงจะหมดไป กล้าไหมที่จะบอกว่า ถ้าการซื้อเสียงยังเกิดขึ้นมากกว่าเดิม จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าเราเทียบกับการเลือกตั้งระดับเล็กๆ ในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เบอร์ไม่มีความหมาย จำแค่หน้า จะเห็นว่าการซื้อเสียงกลับรุนแรงยิ่งกว่า ดังนั้นคิดว่าในการเลือกตั้ง เมื่อเราให้พรรคใช้ระบบไพรมารี่โหวต แต่ละพื้นที่ประชาชนเป็นฝ่ายเลือกผู้สมัครแล้ว ถ้าที่สุดเขาจะเลือกเสาไฟฟ้าเราก็ต้องยอมรับ" สมชัย กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย เฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai และ คมชัดลึกออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท