ทบวงมหาวิทยาลัยกับการรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ที่มาและความสำคัญ

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการรับน้องประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่พบเห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่มีมาใหม่แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอแทบจะทุกปี และทุกครั้งที่เกิดปัญหาจากความรุนแรง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะออกมากล่าวย้ำกฎและระเบียบในการรับน้องประชุมเชียร์อยู่ทุกครั้ง จะเห็นได้ว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการรับน้องประชุมเชียร์เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย และยังไม่สามารถจะหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้จากหลายภาคส่วน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์รับน้องที่ไม่เหมาะสม ไม่ก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในการรับน้องประชุมเชียร์จนต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยที่เรียนกลางคันทุกปีเมื่อกระแสข่าวรับน้องเงียบลง

มีนักวิชาการหลายท่านพยายามสร้างคำอธิบายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ซึ่งเกี่ยวพันกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยปรากฏในรูปของบทความหรือหนังสือรวมบทความ โดยไม่ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างคำอธิบายที่ให้ความหมายกับปัจจุบันอย่างรอบด้าน ลึกซึ้ง และสลับซับซ้อน เห็นได้จากผู้ได้รับผลกระทบที่ยังคงมีอยู่ในทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องประชุมเชียร์ส่วนมากก็จะอธิบายถึงการใช้ระบบโซตัส (SOTUS) ในมหาวิทยาลัยว่ามีการนำเข้าระบบนี้มาจากต่างประเทศ และสมาทานเข้ากับสภาพสังคมไทย โดยเห็นว่าระบบโซตัสมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย เป็นประเพณีที่ดีงาม และมีคุณค่า สมควรได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมองข้ามปัญหาของความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ปรากฏขึ้นทั้งจากสื่อ หรือไม่ก็เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกิจกรรมรับน้องและพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเข้ากับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่ความสัมพันธ์ของคนมีลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกันและเป็นความสัมพันธ์ที่กำหนดให้ผู้ต่ำกว่าต้องอยู่ในโอวาท

คำอธิบายเหล่านี้มักจะมีการอธิบายโดยอาศัยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นตัวแสดง โดยขาดการอธิบายจากตัวแสดงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัย พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวแสดงที่แท้จริงแล้วมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดแต่มักไม่มีการกล่าวถึงในการศึกษาเกี่ยวกับการรับน้องประชุมเชียร์นั่นก็คือหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือ ทบวงมหาวิทยาลัย หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในปัจจุบัน ทั้งที่จริงแล้วหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ได้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมนักศึกษาอยู่พอสมควร โดยอาจจะไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมตัดสินใจในการจัดกิจกรรมนักศึกษาโดยตรง แต่การศึกษาโดยการมองข้ามตัวแสดงนี้ก็ไม่ใช่การศึกษาปัญหาของการรับน้องประชุมเชียร์อย่างรอบด้าน

การเกิดขึ้นของทบวงมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับความพยายามของภาครัฐในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามก่อให้เกิดเสรีภาพทางวิชาการ แต่รัฐก็ควบคุมการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับการจัดกิจกรรมนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปรากฏเอกสารที่แสดงถึงความพยายามในการควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมรับน้องให้อยู่ใน “กรอบ”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมบทบาทของการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึงกระนั้นหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็นทบวงมหาวิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เคยปฏิเสธการจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์แต่อย่างใด ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษารุ่นน้องทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเห็นได้ชัด

ถึงแม้ว่าภายหลังการยุบทบวงมหาวิทยาลัยและเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แต่มรดกทางความคิดของทบวงมหาวิทยาลัยในเรื่องการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ก็ยังคงได้รับการผลิตซ้ำผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยและเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนการจัดกิจกรรมประเพณีซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์และจุดขายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ปรากฏออกสู่สายตาของสาธารณชน เช่น กิจกรรม Sports day & Spirit night ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งมีการใช้ระบบโซตัสในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์คอยกล่อมเกลาและควบคุมนักศึกษาอยู่

การศึกษาครั้งนี้ได้เลือกพิจารณาบทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยโดยเริ่มพิจารณาจากทบวงมหาวิทยาลัยนับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2515 ในนามของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นทบวงมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2520 มาจนถึงการเปลี่ยนแปลงหน่วยส่วนราชการเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2546 เหตุที่เลือกศึกษาเฉพาะทบวงมหาวิทยาลัยเพราะทบวงมหาวิทยาลัยเคยมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง และถือว่าเป็นภาพตัวแทน (representation) จากความคิด มุมมอง และสายตา ของ “รัฐ” ในการจัดการ ควบคุม สอดส่อง ดูแล นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเลือกศึกษากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีการใช้ความรุนแรงในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ดังที่ปรากฏหลักฐานจากเอกสารและสื่อประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สมมติฐาน

การศึกษาทบวงมหาวิทยาลัยกับการรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อาศัยสมมติฐานว่าทบวงมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการของภาครัฐในการควบคุมนักศึกษาไม่ให้มีเสรีภาพเกินขอบเขตที่รัฐกำหนดไว้และไม่ให้มีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของรัฐอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นนักศึกษาได้มีบทบาทสำคัญในเดินขบวนเรียกร้องสิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆ ร่วมกับ ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกร รวมถึงได้รับแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายอันเป็นอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งในสมัยนั้นรัฐยังถือว่า พคท. เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจรัฐโดยตรง เพราะเกิดการยิงปะทะต่อสู้กันระหว่างทหารกับกองกำลังของ พคท. อยู่เรื่อยๆ แม้ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีการจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์มาตั้งแต่ก่อนมีการก่อตั้งทบวงมหาวิทยาลัย โดยในช่วงแรกเรี่มของการก่อตั้งทบวงมหาวิทยาลัยจะยังไม่มีความพยายามเข้ามาควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมนักศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังเท่าใดนัก

แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเพราะทบวงมหาวิทยาลัยได้พยายามเข้ามาควบคุมการจัดกิจกรรมนักศึกษา โดยส่งเสริมบางกิจกรรมที่รัฐเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา แต่ในความจริงเป็นการควบคุมนักศึกษาให้อยู่ในสายตาของรัฐและไม่เคลื่อนไหวต่อต้านการดำเนินการของรัฐ กิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทบวงมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนและเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงาม โดยมองข้ามความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมในการจัดกิจกรรมเสีย จนกระทั่งรัฐและมหาวิทยาลัยไม่อาจปกปิดความรุนแรงได้ เพราะมีการนำเสนอข่าวความรุนแรงจากสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องและมีการร้องเรียนจากผู้ปกครองของนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยพยายามปรับรูปแบบการรับน้องและประชุมเชียร์ตลอดจนการจัดอภิปรายเสวนาและการออกมาตรการต่างๆ แต่ไม่มีความคิดที่จะยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์แต่ประการใด แม้ว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ พคท. จะคลี่คลายไปเป็นอย่างมากแล้วก็ตาม

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการบริหารราชการโดยเปลี่ยนจากทบวงมหาวิทยาลัยมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในปี พ.ศ. 2546 และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงจากมหาวิทยาลัยของรัฐมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งหมายความว่าจะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอิสระในการบริหารจัดการด้วยตัวเองมากขึ้น และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐน้อยลง ถึงกระนั้นบทบาทการดำเนินการของ สกอ. ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากการดำเนินการของทบวงมหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมในกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยังคงดำเนินสืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของทบวงมหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่ได้แก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน แม้ทบวงมหาวิทยาลัยและ สกอ. จะมีเจตนาที่ดีในการพยายามกำกับดูแลให้กิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ดำเนินไปโดยไม่เกิดความรุนแรงก็ตาม เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วทบวงมหาวิทยาลัยเองก็ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์อย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นประเพณีที่ดีงาม และมีแนวคิดที่สนับสนุนการใช้ระบบโซตัส โดยมองข้ามถึงทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงจากการยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์อย่างเด็ดขาด ทั้งที่ความพยายามในการกำกับให้การจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์โดยไม่มีความรุนแรงไม่สามารถไปกันได้กับการรักษาระบบโซตัสได้เลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้เป็นเพราะระบบโซตัสเป็นระบบที่อาศัยหลักการของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความรุนแรงในเชิงโครงสร้างเป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ยังไม่พิจารณาถึงช่องว่างของระบบโซตัสที่เอื้อให้เกิดการใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของนักศึกษารุ่นพี่ที่กระทำต่อนักศึกษารุ่นน้อง จากสมมติฐานนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอว่าหากหน่วยงานภาครัฐรวมถึงมหาวิทยาลัยไม่สามารถยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ลงอย่างเด็ดขาด หรือไม่อนุญาตให้นักศึกษาใช้ระบบโซตัสในการทำกิจกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะไม่สามารถยุติความรุนแรงอันเกิดจากการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต

พรมแดนความรู้

การศึกษากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในสถาบันระดับอุดมศึกษาไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่นักวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยไม่สนใจ แต่เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของแวดวงวิชาการอยู่เสมอซึ่งสอดคล้องกับกระแสความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนของทุกปีก่อนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนมาเป็นช่วงเดือนสิงหาคมในช่วงปลายทศวรรษ 2550

ผู้เขียนขอจัดประเภทของพรมแดนความรู้ของ การศึกษาเรื่องทบวงมหาวิทยาลัยกับการรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเป็น 5 ประเภท แบ่งเกณฑ์ตามลักษณะของงานวิชาการได้ดังนี้ คือ (1) การวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ (2) การสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ (3) การนำเสนอลักษณะของกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และข้อเสนอแนะ (4) การวิเคราะห์พัฒนาการของกิจการการอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (5) เอกสารเกี่ยวกับกิจการนักศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย โดยสามารถอภิปรายอย่างละเอียดได้ดังต่อไปนี้

ก. การวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์

การวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ มักจะเป็นงานเขียนจากนักวิชาการที่ทำงานในมหาวิทยาลัยและใช้มุมมองทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ในการวิเคราะห์ เช่น ในบทความเรื่อง สื่อการสอนเรื่องพิธีกรรมในชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไทย ของ สายชล สัตยานุรักษ์[3] ที่เสนอว่ามีภูมิปัญญาที่เป็นพื้นฐานของพิธีกรรมว้ากคือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ซึ่งมีลักษณะเด่นคือเป็นความสัมพันธ์ของคนที่ไม่เท่าเทียมกัน กำหนดให้ผู้ต่ำกว่าต้องอยู่ในโอวาท เชื่อฟัง และให้เกียรติแก่ผู้ที่อยู่สูงกว่า และต้องการกำหนดสถานภาพของนักศึกษาในความสัมพันธ์กับโลกภายนอกเพื่อทำให้เกิดสำนึกของความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสำนึกว่าตนเป็นกลุ่มที่พิเศษต่างจากกลุ่มอื่นในสังคม

ส่วนบทความเรื่อง โซตัสสะท้อนปัญหาใหญ่ของสถาบันทางสังคมของไทย ของธงชัย วินิจจะกูล[4] มีความเห็นคล้ายคลึงกับข้อเสนอของสายชล สัตยานุรักษ์ เห็นว่าระบบโซตัสที่ใช้ในการรับน้องประชุมเชียร์เฟื่องฟูในไทยเพราะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทย เป็นพิธีกรรมที่ประมวลและผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล แต่ธงชัย ก็เสนอรายละเอียดที่เพิ่มเติมไปจากสายชล โดยธงชัยมองว่าการเฟื่องฟูของโซตัสเป็นส่วนหนึ่งของกระแสอนุรักษ์นิยมที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการฟื้นฟูของลัทธิคลั่งเจ้า (Hyper-royalism)

ในหนังสือรวมบทความเรื่อง ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย ของ ธเนศวร์
เจริญเมือง[5] ซึ่งในบทความ จากรับน้องถึงห้องเชียร์: การสร้างระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย ธเนศวร์ ได้เสนอคำอธิบายที่ไม่ได้วิเคราะห์สังคมทั้งระบบ แต่เน้นย้อนกลับมาวิเคราะห์มหาวิทยาลัยว่าว่าเป็นแหล่งผลิตความคิดแบบเผด็จการ โดยอธิบายตัวอย่างของโครงสร้างและปัจจัยบางอย่างในสังคม นอกจากนี้ธเนศวร์ยังได้ให้ข้อเสนอแนะกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย แต่ทั้งนี้ธเนศวร์ไม่ได้วิเคราะห์โครงสร้างอำนาจที่ใหญ่กว่าระดับมหาวิทยาลัยในบทความนี้

ถึงกระนั้น ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้วิเคราะห์ถึงบทบาทของรัฐในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์เพียงเล็กน้อยในบทความเรื่อง มิถุนาทมิฬ: การสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย โดยมีการวิเคราะห์ไว้ว่า “...อนึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 รัฐบาลเผด็จการได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งโดยเพิ่มอำนาจแก่สโมสรนักศึกษาของคณะต่างๆ และลดอำนาจของสโมสรนักศึกษาและสภานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยลงไป โครงสร้างการบริหารนักศึกษาเช่นนี้สอดรับพอดีกับกลุ่มนักศึกษาที่นิยมการใช้อำนาจในแต่ละคณะ ทำให้อำนาจของนักศึกษาในแต่ละคณะเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้การว้ากน้องและรับน้องในแต่ละคณะมีประสิทธิภาพมากขึ้น...ขบวนนักศึกษาที่เคยเป็นเอกภาพในช่วงปี 2514-2519 ได้ถูกทำลายลงด้วยโครงสร้างแบบใหม่...กิจกรรมการว้ากน้องและการรับน้อง...ได้กลายเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของคณะต่างๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย...”[6]

แต่สุดท้ายแล้วธเนศวร์ก็ยังคงมองด้วยการให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทในการสร้างความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในมหาวิทยาลัย และไม่ได้อภิปรายถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐอย่างละเอียด แต่ก็เป็นงานเพียงชิ้นเดียวที่เริ่มมองถึงความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างสังคมไทยกับมหาวิทยาลัยซึ่งการศึกษาของผู้เขียนจะช่วยสนับสนุนข้อเสนอของธเนศวร์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง รับน้องใหม่ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์[7] ซึ่งให้คำอธิบายที่มีความพลวัตมากกว่าความอธิบายของสายชล ธงชัย และธเนศวร์ โดยนิธิได้มองการเปลี่ยนแปลงของคำอธิบายการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ออกเป็น 3 ระยะ คือ (1) กิจกรรมประเพณีรับน้องใหม่เป็นการแสดงสถานะอภิสิทธิ์ของนักศึกษาซึ่งเคยมีเพียงจำนวนจำกัด (2) กิจกรรมรับน้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์หรือสร้าง “เส้นสาย” เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจและผลประโยชน์จากรุ่นพี่ “ร่วมสถาบัน” ในการทำงานหลังจบการศึกษา และ (3) ระบบโซตัสเป็นฐานสำหรับการบริหารกิจการสาธารณะในวัฒนธรรมไทยหรือเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ทางสังคมตามประเพณีของไทย

เมื่อพิจารณาดูรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าคำอธิบายยุคแรกของนิธินั้นตรงกับคำอธิบายของสายชลในด้านการกำหนดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกคือทำให้นักศึกษามีความเป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือคนอื่น ส่วนคำอธิบายยุคที่สองของนิธิก็ตรงกับการวิเคราะห์ของสายชลที่มองถึงการสร้างสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มที่มีผลต่อการเกิดกลุ่มอุปถัมภ์ในการเลือกรับเข้าทำงาน และคำอธิบายในระยะสุดท้ายของนิธิที่เสนอว่าระบบโซตัสคือหัวใจของการบริหารกิจการสาธารณะซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น ก็มีลักษณะคล้ายกับคำอธิบายของสายชลที่กล่าวถึงพื้นฐานด้านภูมิปัญญาในพิธีกรรมในมหาวิทยาลัยที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

แต่ในบทความเรื่อง รับน้อง...ต้นตอแห่งปูมอำนาจ[8] ซึ่งเขียนโดยนิธิเช่นเดียวกันแต่นิธิเขียนบทความเรื่อง รับน้อง...ต้นตอแห่งปูมอำนาจ ก่อนเขียนบทความเรื่อง รับน้องใหม่ ในขณะนั้นนิธิยังอธิบายกิจกรรมรับน้องว่าเป็นเรื่องของอำนาจและเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอำนาจของชนชั้นนำไทย โดยวัฒนธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้จะจัดอำนาจไว้ในลำดับขั้นของบันไดเดียว ทำให้ชนชั้นนำไทยซึ่งรวมถึงข้าราชการและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่จำลองระบบความสัมพันธ์มาจากวัฒนธรรมของข้าราชการนั้นคุ้นเคยกับปฏิบัติการเชิงอำนาจเพียงแบบเดียวคือการออกคำสั่ง และนิธิเสนอว่าการแก้ไขไม่ใช่การแก้ไขที่ตัวพิธีกรรม แต่ต้องแก้ระบบการศึกษาที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปแก้ไขระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมด้วย และมองว่าระบบความสัมพันธ์ลักษณะนี้กำลังถูกท้าทายจากระบบความสัมพันธ์แบบอื่น

จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้นิธิก็ยังอธิบายสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์โดยใช้พื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงแนวดิ่งซึ่งสอดคล้องกับการอธิบายของสายชล ก่อนที่นิธิจะเปลี่ยนมาอธิบายกิจกรรมรับน้องใหม่อย่างมีพลวัตมากขึ้นในบทความถัดมา

เมื่อพิจารณาจากคำอธิบายของงานวิชาการในกลุ่มแรก จะเห็นได้ว่าสาเหตุของการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ถ้าไม่อธิบายจากระดับมหาวิทยาลัยเช่นในงานของธเนศวร์ ก็จะเป็นการอธิบายถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์จากที่วิเคราะห์ในงานของสายชล นิธิ และธงชัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น
ในการศึกษาที่ผ่านมายังขาดความเชื่อมโยงระหว่างคำอธิบายที่มีมหาวิทยาลัยเป็นตัวแสดงกับคำอธิบายเกี่ยวกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคม แม้จะมีการอธิบายถึงการฟื้นฟูระบบโซตัสภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในงานเขียนของนายชาติสังคม[9] โดยอธิบายผ่านมุมมองของนักศึกษาและอาจารย์ที่นิยมความคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็ตาม

ดังนั้นคำอธิบายจากการศึกษาในบทความชิ้นนี้ซึ่งพยายามจะอธิบายรายละเอียดของหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นตัวกลางที่ทำให้มองเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงสองอย่างคือมหาวิทยาลัยกับโครงสร้างสังคมไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้มองเห็นถึงพลวัตและกลไกของโครงสร้างสังคมและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผลกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัยได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

ข. การสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์

งานวิชาการประเภทการสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ จะเป็นการทำแบบสำรวจทัศนคติโดยใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ ผู้ศึกษางานวิชาการในลักษณะนี้มีทั้งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอาจารย์มหาวิทยาลัยจากหน่วยงานภายนอก โดยตัวอย่างงานวิชาการในกลุ่มนี้จะมีดังต่อไปนี้

รายงานการวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นและทัศนคติต่อกิจกรรมรับน้องใหม่และการเชียร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม[10] ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก (1) กลุ่มนักศึกษาโดยศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับผลดี-ผลเสีย ของกิจกรรมรับน้องใหม่และกิจกรรมเชียร์ (2) กลุ่มอาจารย์โดยศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมและประเพณีรับน้องใหม่และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกิจการนักศึกษา และ (3) กลุ่มผู้ปกครองนักศึกษาโดยสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของนักศึกษา

ผลการสำรวจส่วนหนึ่งระบุว่าผู้ปกครองและนักศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกกิจกรรมที่มีลักษณะบังคับ และคณาจารย์เกินครึ่งเห็นว่ากิจกรรมเชียร์โดยการบังคับเป็นกิจกรรมที่น้องใหม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ผลการศึกษาก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในการจัดกิจกรรม ทั้งที่งานวิจัยชิ้นนี้สำรวจขึ้นภายใต้บริบทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการออกคำสั่งให้ระงับการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เพราะมีการฝ่าฝืนคำสั่งประกาศของมหาวิทยาลัยเรื่องการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และการประชุมเชียร์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2540

ส่วนงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเป็นรายงานการวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษาเกี่ยวกับการประชุมเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ โดย รศ.ดร.สำเนาว์ ขจรศิลป์ และ รศ.ดร.บุญเรียง ขจรศิลป์ ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[11] งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับแหล่งทุนอุดหนุนจากกองบริการการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา จำนวน 102 คน และนักศึกษา จำนวน 2,326 คน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยใช้แบบสอบถามและโปรแกรมสำเร็จรูป SPSSX

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่านักศึกษาและผู้บริหารส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการประชุมเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ที่รุนแรงก่อให้เกิดผลดีบางประการ คือ ทำให้น้องใหม่เคารพเชื่อฟังรุ่นพี่ ทำให้เกิดความอดทน ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องรู้จักกัน และทำให้น้องใหม่ร้องเพลงคณะและเพลงมหาวิทยาลัยได้ แต่ก็เห็นว่าก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ คือ ทำให้น้องใหม่เสียสุขภาพจิต ทำให้เกิดความคับข้องใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้เกิดอาการทางกายเนื่องมาจากความกดดันทางจิตใจ
ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียทางร่างกาย ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ทำให้เสียผลการเรียน ทำให้เสียทรัพย์สิน ทำให้เกิดความแตกแยก ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ทำให้นักศึกษาใหม่ทนไม่ได้ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และนักศึกษาและผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม 

จากผลการศึกษาความเห็นล้วนบ่งบอกถึงความคิดของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมกับการศึกษาของสำเนาว์จะเห็นได้ว่าผลการศึกษามีความคล้ายคลึงกัน และก็สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้คนในมหาวิทยาลัยเองก็มองเห็นและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ แต่กระนั้นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ แสดงว่าการศึกษาประเภทนี้ไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้

นอกจากนี้งานประเภทนี้เป็นการศึกษาในเชิงปริมาณ ผิดกับงานศึกษานี้ (ทบวงมหาวิทยาลัยกับการรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ทำการค้นคว้าข้อมูลในเชิงคุณภาพและจะสามารถเสริมได้ว่าข้อมูลในเชิงปริมาณที่ได้มานั้นมีแนวคิดหรือเหตุผลใดสนับสนุนอยู่ และมีนัยทางการเมืองประการใดแอบแฝงไว้

ค. การนำเสนอลักษณะของกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และข้อเสนอแนะ

งานเขียนประเภทนี้จะเป็นการนำเสนอลักษณะของกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และข้อเสนอแนะ โดยจะมีงานเขียนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ หนังสือเรื่อง วิพากษ์ว้าก ของนายชาติสังคม[12] ซึ่งจะมีการอธิบายถึงการประชุมเชียร์ ประสบการณ์จากกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ และมีการนำเสนอข้อเสนอปฏิรูประบบรับน้อง โดยใช้แนวทางการยกเลิกระบบรับน้องโดยการว้ากและยกเลิกการใช้ความรุนแรง นำคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรมมาใช้ในกิจกรรม ปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติ รักประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในกิจกรรม และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยนายชาติสังคมเสนอให้กิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์มีการเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ แข่งขันตอบปัญหาความรู้โดยรอบสถาบัน

แต่ขอบเขตของการอธิบายก็ยังอยู่แต่ในระดับของมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างมาจากบทความของธเนศวร์ที่ผู้เขียนได้จัดประเภทอยู่ในงานเขียนกลุ่มแรกของพรมแดนความรู้ และไม่ได้ขยายการอธิบายไปถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคม และมีประเด็นที่แตกต่างไปจากงานเขียนชิ้นอื่นๆ ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมรับน้องกับการเมือง โดยในหนังสือมีคำอธิบายชุดหนึ่งว่ากลุ่มนักศึกษาที่มีหัวอนุรักษ์นิยมภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มอาจารย์ที่มีหัวอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการให้นักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจึงได้ฟื้นฟูระบบโซตัสจนกลับมาเป็นที่นิยมในมหาวิทยาลัยในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่ก็ยังขาดการอธิบายการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะนายชาติสังคมอธิบายแค่บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ทำให้คำอธิบายของหนังสือเล่มนี้ไม่พ้นกรอบของคำอธิบายที่มีมาแต่เดิม และมองไม่เห็นถึงสาเหตุและพลวัตภายในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา

นอกจากหนังสือของนายชาติสังคมแล้ว ยังมีบทความอีกเรื่องที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ คือบทความเรื่อง รับน้อง...มองต่างมุม โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด[13] ที่มองว่ากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์จะทำให้นักศึกษารู้จักกันเร็วขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ให้นักศึกษาไปยุ่งเกี่ยวกับบาร์เบียร์ คาราโอเกะ โดยมาอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและไม่ลับสายตาคน และเป็นการหล่อหลอมให้คนต่างโรงเรียนให้มามีความสามัคคี ไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้งกันภายใน แทนการไปแข่งขันขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ไปเป็นกลุ่มอันธพาลหาเรื่องตีกันเองภายใน

นอกจากนี้มิ่งสรรพ์ยังมองอีกว่ากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์จะมีประโยชน์ในการระดมพลเพื่องานสาธารณประโยชน์ของมหาวิทยาลัย มิ่งสรรพ์เสนอว่ากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สำคัญสำหรับการฝึกทักษะการอยู่ในสังคมของรุ่นน้องและรุ่นพี่ โดยบทความนี้ได้มองข้ามผลเสียของกิจกรรมที่มีต่อนักศึกษาและการสร้างความคิดประชาธิปไตยอย่างที่หลายบทความได้นำเสนอมาดังที่ได้อภิปรายไว้แล้วในงานเขียนกลุ่มแรก

ง. การวิเคราะห์พัฒนาการของกิจการการอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

งานเขียนประเภทนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์โดยตรง แต่คำอธิบายเรื่องการวิเคราะห์พัฒนาการของกิจการการอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้มองเห็นภาพรวมของการขยายตัวของการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นบทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยงานวิชาการที่จัดประเภทอยู่ในกลุ่มนี้จะมีดังต่อไปนี้

รายงานผลการวิจัย เรื่อง พัฒนาการอุดมศึกษาในประเทศไทย: การศึกษาวิเคราะห์เชิงนโยบายและผลพวงที่มีต่อการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต ของ วารุณี โอสถารมย์[14] โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งยุคนโยบายการจัดการอุดมศึกษาออกเป็น 4 ยุค คือ ระบบอุดมศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2459-2484) ระบบอุดมศึกษาแบบกระจายสังกัดกระทรวงเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำ (พ.ศ. 2485-2500) ระบบอุดมศึกษาสมัยเร่งรัดพัฒนาภายใต้สังกัดรวมศูนย์สำนักนายรัฐมนตรี (พ.ศ. 2500-2515) และระบบบริหารอุดมศึกษาภายใต้สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยตามแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล (พ.ศ. 2515-2533)

ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้อยู่ที่ผู้อ่านสามารถนำข้อมูลพัฒนาการด้านนโยบายการอุดมศึกษามาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ จะทำให้มองเห็นถึงโครงสร้างของระบบอุดมศึกษาที่ยึดโยงระบบทั้งระบบไว้ภายใน ช่วยให้การอธิบายบทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยกับกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีวิทยานิพนธ์ที่ให้รายละเอียดของพัฒนาการของมหาวิทยาลัยของรัฐก็คือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง พัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย พ.ศ.2459-2500 โดย สมโชติ วีรภัทรเวธ[15] งานชิ้นนี้ศึกษาพัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย 5 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 ถึง พ.ศ. 2500 โดยเน้นการศึกษา 3 ด้าน คือ แนวคิดและความเป็นมา รูปแบบโครงสร้างของกระบวนการจัดการศึกษา และผลของการจัดการศึกษา โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรกเริ่มสถาปนาจนถึงสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2459-2475 ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475-2485 และ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2486-2500

แม้ว่าวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จะมุ่งเน้นศึกษากำเนิดและแนวคิดตลอดจนสิ่งแวดล้อมและการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบันเป็นหลัก แต่ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของงานชิ้นนี้คือสมโชติได้ค้นคว้าสภาพสังคม ชีวิต และกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยด้วย โดยสมโชติอาศัยหลักฐานชั้นต้น เช่น คำสัมภาษณ์ บันทึกความทรงจำ จากหนังสืออนุสรณ์ของมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เขียนได้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ของนักศึกษาในช่วงยุคแรกเริ่มของการอุดมศึกษาไทยและก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทศวรรษถัดมา นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการค้นคว้าของผู้เขียนในบทความชิ้นนี้

ส่วนวิทยานิพนธ์อีกเรื่องที่ผู้เขียนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโททางด้านครุศาสตร์ สาขาวิชาอุดมศึกษา เรื่อง บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ของ ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ[16] งานชิ้นนี้ทำการศึกษาบทบาทในการกำกับ สนับสนุน ประสานงาน และบริการของทบวงมหาวิทยาลัยที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รวมทั้งศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานดังกล่าว และยังอธิบายถึงพัฒนาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย แนวคิดของการจัดตั้งหน่วยประสานงานของสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนกำเนิดทบวงมหาวิทยาลัย

น่าเสียดายที่วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้วิเคราะห์บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยในด้านนโยบายและแผนการศึกษา การงบประมาณ การพิจารณาและขออนุมัติจัดตั้งหน่วยงานใหม่ และการพิจารณาและการขออนุมัติหลักสูตรเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจบทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยในการดูแลบริหารกิจการนักศึกษาและกิจกรรมนักศึกษา การศึกษาของผู้เขียนในบทความชิ้นนี้จึงมีความจำเป็นเพื่อปิดกั้นช่องโหว่ของงานศึกษาของฉลวยลักษณ์ เพื่อให้ภาพของบทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีความสมบูรณ์ ละเอียดลึกซึ้ง และรอบด้านมากยิ่งขึ้น

จ. เอกสารเกี่ยวกับกิจการนักศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักศึกษา โดยส่วนมากจะเป็นเอกสารที่อธิบายถึงมาตรฐานหรือรายละเอียดของการจัดการกิจการนักศึกษา รวมถึงแนวทางในการจัดกิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนฐานข้อมูลต่างๆ ด้วย

เอกสารที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานด้านกิจกรรมนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำโดย คณะอนุกรรมการพัฒนากิจกรรมนิสิตนักศึกษา กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย[17] ซึ่งเป็นงานรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม โดยสำรวจข้อมูลด้านกิจกรรมนิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อมูลพื้นฐานขององค์กรนิสิตนักศึกษา สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษากิจกรรมนิสิตนักศึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิตนักศึกษา และสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย สะท้อนถึงความพยายามของทบวงมหาวิทยาลัยในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อประเมินผลจากการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

นอกจากการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณของการจัดกิจการนักศึกษาแล้ว ทบวงมหาวิทยาลัยยังได้จัดทำเอกสารเรื่อง มาตรฐานกิจการนักศึกษา โดย กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย[18] เพื่อใช้สำหรับการกำหนดมาตรฐานด้านกิจการนักศึกษาให้เป็นตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำกับดูแล ซึ่งมาตรฐานหลักที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดออกมานั้นทบวงมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานในการปรับปรุงงานกิจการนักศึกษาให้ได้มาตรฐาน ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดมาตรฐานในด้านต่างๆ ของกิจการนักศึกษา ได้แก่ จัดปฐมนิเทศนักศึกษา งานวินัยนักศึกษา การบริการหอพักนักศึกษา กิจกรรมนักศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ในเนื้อหาส่วนท้ายของเอกสารเล่มนี้ยังปรากฏรายชื่อคณะอนุกรรมการประสานงานเรื่องกิจการนิสิตนักศึกษาและรายชื่อคณะอนุกรรมการพัฒนานักศึกษาอีกด้วย

ส่วนเอกสารของทบวงมหาวิทยาลัยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจและจะนำมาอภิปรายในพรมแดนความรู้คือเอกสารเรื่อง การพัฒนากิจกรรมนิสิตนักศึกษา โดย ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญนุช[19] โดยธิดารัตน์ประมวลเนื้อหาจากแนวคิดทฤษฎีและประสบการณ์ของธิดารัตน์จากการสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ธิดารัตน์ได้อธิบายถึงกิจกรรมนิสิตนักศึกษากับการพัฒนานิสิตนักศึกษา การดำเนินกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย และหลักการพัฒนากิจกรรมนิสิตนักศึกษา

งานเขียนของธิดารัตน์มีความน่าสนใจและมีความสำคัญกับการเขียนบทความเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะให้รายละเอียดด้านประวัติของการจัดกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยผ่านสายตาที่ถือเป็นภาพตัวแทนของรัฐ ผู้เขียนยังสามารถนำตัวบทของเอกสารนี้มาวิเคราะห์เพื่อมองหาเจตนาเบื้องหลังในการกำกับดูแลกิจกรรมนักศึกษาได้อีกด้วย

การอุดมศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2459-2500): ความรุนแรงเริ่มก่อตัว

สืบเนื่องจากความต้องการกำลังคนของระบบราชการสมัยใหม่จากนโยบายปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ต้นกำเนิดของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการยุบรวมโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงภายใต้สังกัดกระทรวงต่างๆ บางแห่ง คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โรงเรียนกระทรวงเกษตร และโรงเรียนราชแพทยาลัย ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นในปี พ.ศ. 2456 ก่อนจะปรับโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2459[20]

แม้ว่าการสืบค้นประวัติความเป็นมาของการเริ่มต้นกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าเริ่มต้นจากที่ใด แต่จากการค้นคว้าของสมโชติในเรื่องสภาพสังคม ชีวิต และกิจกรรมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วง
พ.ศ. 2459-2475 กลับปรากฏหลักฐานของการบ่มเพาะความรุนแรงจากการขัดเกลาทางสังคมในหมู่นิสิตชาย ผู้เขียนคาดว่าในความเป็นจริงแล้วได้มีการก่อตัวของการบ่มเพาะความรุนแรงจากการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษากันเองตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของการจัดการเรียนการสอนอุดมศึกษาแล้ว เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานั้นหน่วยงานภาครัฐยังไม่เข้ามามีบทบาทด้วยอย่างจริงจัง โดยหลักฐานที่สมโชติได้พบเจอมีข้อความว่า

“...สังคมของผู้ที่พักในหอนั้นสอนให้เราเป็นสุภาพบุรุษ เป็นลูกผู้ชาย รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ใครแตกคอก
ออกไป ทำตัวไม่ใช่ลูกผู้ชาย เราเรียกว่า “ไอ้ก๊าบ” และจะถูกอิทธิพลมืดเล่นงานด้วยประการต่างๆ...เป็นต้นว่า กลับมาจากนอกหอไปกุญแจห้องของตน จะพบจาน ชาม ปิ่นโต หรือแม้แต่รองเท้าถูกอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนเตียง กลางคืนเอนตัวลงนอนจะคันคะเยอเพราะหมามุ่ย หรือดับไฟนอนหลับแล้วจะโดนมุ้งเหาะหรือชายมุ้งจะค่อยๆ ถูกเชือกดึงลอยขึ้นไปติดเพดาน ปล่อยให้ยุงกัด หรือดึกสงัดบนเพดานเหนือห้องนอน จะมีเสียงดังเป็นระยะๆ เหมือนถูกผีหลอก เพราะพรรคพวกปีนช่องเพดานขึ้นไปติดรอก แขวนปิ๊บแขวนกระป๋องและคอยกระตุกเชือกดังโครมๆ ใครโดนการอบรมอย่างนี้จะต้องนิ่งอย่าปากเปราะเพราะอาจเจอบทเรียนมากขึ้น...”[21]

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสมโชติว่าจารีตบางประการยังคงส่งผ่านจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น การเคารพระบบอาวุโส ระเบียบวินัย ประเพณี สามัคคี และจิตวิญญาณ มาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นรากฐานของระบบโซตัสของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา[22] แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 มรดกทางความคิดบางประการของสังคมยุคเก่าและแนวคิดในการยอมรับความรุนแรงและความไม่เสมอภาคทางสังคมก็ยังคงปรากฏในชีวิตของนิสิตจุฬาฯ ต่อมา ดังเห็นได้จากการเกิดประเพณีโยนน้ำเพื่อลงโทษในกลุ่มนิสิตด้วยกันเอง[23] แม้ว่าจะเกิดประเพณีรับน้องใหม่ของจุฬาลงกรณ์จะเกิดขึ้นเพื่อประสานความสามัคคีระหว่างคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์ฝั่งศิริราช (ในสมัยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ อยู่) ในปี พ.ศ. 2479 ซึ่ง “...[นิสิตแพทย์]ไปนำเรือจ้างไปรับน้องใหม่จากท่าพระจันทร์นำมาขึ้นหอชายให้ไหว้พระ แนะนำตัวแล้วเลี้ยงอาหารทำให้ความเป็นอริหายไป ตั้งแต่บัดนั้นจึงเกิดประเพณีรับน้องที่ศิริราชแล้วขยายไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป...”[24] โดยสโมสรนิสิตได้เริ่มจัดกิจกรรมรับน้องเพราะปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดกิจกรรมรับน้องที่อาคารสโมสรนิสิตซึ่งสร้างใหม่ที่หลังตึกจุลจักรพงษ์[25]

แม้จะมีการจัดกิจกรรมรับน้องโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี แต่กระนั้นความรุนแรงก็ยังปรากฏในจุฬาฯ ดังปรากฏหลักฐานว่า “...ครั้งหนึ่งมีผู้แทนคณะอักษรศาสตร์ถูกโยนบก สาเหตุคือผู้แทนคณะอักษรฯ ปฏิเสธที่จะร่วมเดินทางทัศนาจรกับ ส.จ.ม. [สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] ...”[26] รวมทั้งเมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เป็นสาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 และได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาโดยลงบทความในหนังสือ “23 ตุลา” จำนวน 3 เรื่องที่สะท้อนปัญหาสังคม และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในขณะนั้น ทำให้ระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ “สอบสวน” จิตรที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น “...จิตรถูกกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ “โยนบก” ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน...”[27]

จะเห็นได้ว่าความรุนแรงได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาแล้ว และเมื่อมีการขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเวลาต่อมา ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจที่จะมีการสมาทานระบบโซตัสควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงในการควบคุมปกครองนักศึกษารุ่นน้องโดยอ้างสิทธิ์ของความอาวุโสกว่าเลยแม้แต่น้อย ดังจะได้วิเคราะห์กันต่อไปข้างหน้า

กำเนิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในระยะแรกเริ่ม (พ.ศ. 2507-2514)

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สถาปนาการปกครองแบบเผด็จการทหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบสภา ในปี
พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ได้ยุบสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2499 แล้วโอนย้ายทุกมหาวิทยาลัยทุกแห่งให้มาขึ้นสังกัดโดยตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี[28] และมีการตราพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานและความเป็นระเบียบอันดี มีระบบการปกครองเป็นแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันให้มากที่สุด และเอื้ออำนวยต่อการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[29]

ผลจากนโยบายของจอมพลสฤษดิ์ได้เกิดการขยายตัวของมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคขึ้นเพื่อสอดรับกับกระแสความต้องการของราษฎรในภูมิภาคที่ต้องการให้รัฐขยายการจัดการศึกษาให้สูงขึ้นจากระดับมัธยมศึกษา และเพื่อสนองความต้องการกำลังคนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก กับการขยายตัวของภาคธุรกิจการบริการ เช่น ธนาคาร และการประกันภัยต่างๆ ทั้งยังมีการขยายตัวของระบบราชการบางหน่วยเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่โครงสร้างพัฒนาพื้นฐานด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงาน ตลอดจนดำเนินการขยายการบริการสาธารณสุข คือ การแพทย์และอนามัย และการจัดการศึกษา ดังนั้นกำลังคนที่รัฐต้องผลิตขึ้นจึงเป็นกำลังคนในสาขาวิชาเฉพาะด้าน คือ วิศวกร นักการบัญชี แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเกษตร และครู[30]

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นจากบริบทดังกล่าวตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค
พ.ศ. 2501 และเริ่มเปิดสอนในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507[31] และเป็นที่น่าสังเกตว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นแรกๆ นั้นไม่ได้มีการจัดกิจกรรมรับน้องโดยใช้ความรุนแรงแต่ประการใด ดังหลักฐานที่ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์ครบรอบ20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากบทความ “ความประทับใจในอดีต” ของ คณิต เศรษฐเสถียร นักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กล่าวว่า “...นอกจากนั้น เรายังมีการต้อนรับน้องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องใหม่รุ่นแรก (รุ่น 2508)...เราได้จัดการต้อนรับน้องใหม่อย่างฉันน้องพี่ ไม่ได้มีการว้าก หรือแบบป่าเถื่อน เป็นเพียงให้น้องๆ เข้าแถวเดินผ่านพี่ๆ แล้วพี่ๆ จะทักทายถามชื่อน้องๆ วิชาที่เรียน ตลอดจนความต้องการช่วยเหลือ...”[32] สอดคล้องกับหลักฐานบันทึกความทรงจำของ กิตติชัย วัฒนานิกร นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ รุ่นที่ 3 ในปี พ.ศ. 2509 ได้กล่าวถึงกิจกรรมรับน้องใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ขณะที่กิตติชัยยังเรียนอยู่ปีหนึ่ง (พ.ศ. 2509) ไว้ว่า “...กิจกรรมแรกที่สำคัญคืองานรับขวัญน้องใหม่ซึ่งมีการลอดซุ้ม หยอกล้อน้องปีหนึ่งในเชิงตลกขบขันและมอมแมมนิดหน่อย ไม่มีอะไรรุนแรง (อาจเป็นเพราะรุ่นพี่ไม่เคยโดนรับน้องแรงๆ มาก่อน เลยยังไม่คิดเอาคืนเหมือนรุ่นหลังๆ)...”[33]

แต่ว่าในหลักฐานฉบับเดียวกันนั้น กิตติชัยกลับให้ข้อมูลว่าในขณะที่กิตติชัยได้เป็นนายกสโมสรนักศึกษาขณะอยู่ปี 4 (พ.ศ. 2512) กิตติชัยเขียนว่า “...นอกจากนั้นยังมีเพื่อนๆ น้องๆ อีกหลายคนช่วยกันทำงานให้สโมสรฯ โดยเฉพาะทีมว๊ากเกอร์ ซึ่งมักเป็นรุ่นน้องปีสอง (รหัส 115..) เนื่องจากพวกนี้ต้องการ ‘เอาคืน’ หลังจากถูกว๊ากในชั้นปีที่หนึ่ง...”[34]
จากหลักฐานที่ยกมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น่าจะเริ่มใช้ความรุนแรงในการรับน้องในราวปี พ.ศ. 2510-2511 เป็นอย่างต่ำ เพราะจากตัวบทจะตีความได้ว่านักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ รุ่น 4 (พ.ศ. 2510) อาจจะเป็นนักศึกษาปีสองรุ่นแรกที่เริ่มใช้การว้ากในการควบคุมดูแลนักศึกษารุ่นน้องปีหนึ่งก็เป็นได้ และในขณะที่กิตติชัยดำรงตำแหน่งนายกสโมสรก็ได้พรรณนาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกิจกรรมประชุมเชียร์ของคณะไว้อย่างละเอียดลออดังนี้

“...การว๊ากในห้องเชียร์ ซึ่งใช้ห้องสโลป CB 220 ตึกเคมี 1 จะเริ่มต้นในระหว่างที่น้องๆ ปีหนึ่งกำลังทยอยกึ่งเดินกึ่งวิ่งขึ้นบันไดเข้าสู่ห้องเชียร์ โดยรุ่นพี่ว๊ากเกอร์ที่ยืนขนาบสองข้างห้องจะตะโกนโหวกเหวกด้วยท่าทางที่ดุดันถมึงทึงแต่ละประโยคดูจะเป็นลักษณะตัดไม้ข่มนามเพื่อขู่ให้กลัว แถมยั่วให้รักกันเช่น ‘ใหญ่มาจากไหน เอาวางไว้หน้า มช.’ หรือ ‘เลือกวิดยาต้องเข้มข้น ต้องรักกัน’ ฯลฯ ต่อจากนั้นเมื่อน้องปีหนึ่งเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยดีแล้ว ประธานเชียร์ ซึ่งรุ่นนั้น [รุ่นพี่ปี 3 ในขณะที่กิตติชัยเป็นนายกสโมฯตอนปี 4] คือ สุวิทย์ เจริญพร (รหัส 105..) จะเข้ามาชี้แจงหรืออบรมเรื่องต่างๆ ก่อนที่เชียร์ลีดเดอร์จะเข้ามานำร้องเพลงเชียร์ แต่ร้องอย่างไรก็ดูจะไม่ถูกอกถูกใจบรรดาว๊ากเกอร์จึงมีการตะโกนตำหนิติเตียนเป็นระยะๆ คือสรุปแล้วรุ่นน้องปีหนึ่งทำอะไรดูจะไม่ถูกใจสักอย่าง...”[35]

ในช่วงที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มทำกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์โดยใช้ความรุนแรงได้ไม่กี่ปี กลับเกิดความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาโดยมีการรวมตัวของนักศึกษากลุ่มอิสระในช่วงปี พ.ศ. 2512-2515 และประกาศตัวเป็นกลุ่มวลัญชทัศน์ ซึ่งมีบทบาทต่อขบวนการนักศึกษาภาคเหนือที่มีส่วนสัมพันธ์กับชาวไร่ ชาวนา และกรรมกร ในช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 ดังจะไว้อภิปรายต่อไปข้างหน้า

สมาชิกของกลุ่มวลัญชทัศน์รุ่นถัดมาซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย รหัส 14 (เข้าเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2514) เช่น เกษตร ศิวะเกื้อ ซึ่ง ผดุงศักดิ์ พื้นแสน เพื่อนชั้นปีเดียวกันที่เข้าร่วมกลุ่มวลัญชทัศน์ได้เล่าความทรงจำเกี่ยวกับเกษตรไว้ว่า “...สำหรับ เกษตร ศิวะเกื้อ ผู้นี้มีประวัติต่อต้านระบบเชียร์ที่คณะ[ศึกษาศาสตร์ โดยคณะได้รับการจัดตั้งใน พ.ศ. 2511]อย่างรุนแรง ท้าว้ากเกอร์ชกทั้งห้องมาแล้ว เป็นคนแรกๆ ที่ปลดเน็กไทและถอดถุงเท้าตั้งแต่ยังไม่สอบเทอมปลาย...”[36] แสดงให้เห็นว่าหลายคณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งเองก็มีการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้นความรุนแรงจากการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ยังปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2514 ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2514 โดย ทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคอิสระธรรม ได้ตั้งกระทู้ถามจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เรื่อง การต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยวิธีการไม่เหมาะสม และทองดีได้อธิบายให้ที่ประชุมรับทราบร่วมกันว่า “...บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งสังกัดนายกรัฐมนตรี...จัดพิธีการต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม...นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้วิธีการต้อนรับโดยบีบบังคับให้นักศึกษาหญิงชายแยกพวกเปลือยกายอาบน้ำรวมหมู่ ซึ่งเป็นการทารุณจิตใจของนักศึกษาใหม่อย่างที่สุด...”[37] นอกจากนี้ทองดียังได้ตั้งคำถามอีกว่า “...ผู้ใดเป็นผู้กำหนดจัดให้มีพิธีการต้อนรับนักศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และในวิทยาลัยขึ้น ฯพณฯ จะสั่งห้ามมิให้มีพิธีการต้อนรับดังกล่าวอย่างเด็ดขาดอย่างใดหรือไม่...”[38]

โดยจอมพลถนอม ได้ตอบกระทู้ของทองดีโดยได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ไว้ว่า “...ถ้าเรากระทำในทางที่เหมาะสมก็จะเป็นการที่ดีเหมือนกัน ที่จะทำให้นักศึกษาหรือนิสิตเก่ากับนักศึกษาหรือนิสิตใหม่มีความเข้าใจ มีความกลมเกลียวกัน...ทางที่ดี เราควรจะทำโดยละมุนละม่อมและเพื่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน...”[39] และยังกล่าวเสริมอีกว่า “...ที่ท่านว่าจะให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการต้อนรับน้องใหม่เสียเลยนั้น จะกระทำได้หรือไม่...ยังไม่มีคำสั่งโดยเด็ดขาดในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากว่าต่อไปเกิดมีเรื่องที่ไม่เหมาะสมขึ้นอีก ข้าพเจ้าจะได้สั่งโดยเด็ดขาดว่าไม่ให้กระทำการรับน้องใหม่ต่อไป...”[40]

แต่แล้วทองดีเปลี่ยนจุดยืนจากการตั้งคำถามดังหลักฐานที่กล่าวว่า “...บางทีเมื่อกี้คำซักถามของข้าพเจ้า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอาจจะฟังคลาดเคลื่อนไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าจะไม่ให้มีพิธีการต้อนรับน้องใหม่ ข้าพเจ้าถามว่าวิธีการที่จะต้อนรับน้องใหม่น่ะ อย่าให้ทำลายจิตใจหรือทารุณ...อย่างนี้ท่านจะสั่งให้เลิกเสียจะได้หรือไม่ และข้าพเจ้าเองพอใจ รัฐบาลจะดำเนินการตามที่ข้าพเจ้าเสนอแนะอย่างนี้ จะได้หรือไม่...”[41] และกล่าวซักถามนายกรัฐมนตรีเป็นคำถามสุดท้ายว่า “...ฯพณฯ ในฐานะที่เป็นประธานสภามหาวิทยาลัย ท่านจะออกกฎข้อบังคับเป็นระเบียบแบบแผนประเพณีให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน ดำเนินวิธีการต้อนรับแบบขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นเมืองของแต่ละภาคจะได้หรือไม่...”[42] โดยจอมพลถนอมได้ตอบข้อซักถามข้อนี้ว่า “...ในชั้นนี้ข้าพเจ้าเพียงแต่ชี้แจงแก่อธิการบดีของทุกๆ มหาวิทยาลัย...ส่วนที่จะให้ออกคำสั่งลงไปโดยเด็ดขาดว่าต้องทำอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ขอรอดูว่าผลที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ไปดำเนินการนั้น จะเป็นผลหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่เป็นผล หรือมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นอีก ก็จะได้ออกคำสั่งโดยเด็ดขาดต่อไป...”[43]

จากหลักฐานที่นำมาอภิปรายข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ถึง 5 ปี นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้สมาทานการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ตลอดจนใช้ความรุนแรงแล้ว แม้ว่าจะมีข่าวคราวลงมาถึงกรุงเทพฯ แต่ทางรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี (จอมพลถนอม) กลับมีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมรับน้องก็เป็นสิ่งที่ดี หากมีการดำเนินการอย่างเหมาะสม ซึ่งจะสะท้อนถึงความคิดของหน่วยงานภาครัฐที่มีต่อการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน และทำให้เห็นอีกว่าในช่วงก่อนการก่อตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐในปี พ.ศ. 2515 รัฐยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการกำกับควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษาอย่างเข้มข้นอย่างที่ผู้เขียนจะอภิปรายในเนื้อหาส่วนต่อไปข้างหน้าแต่ประการใด โดยมีเพียงแค่การออกคำสั่งโดยละมุมละม่อมประนีประนอมเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าความเด็ดขาดของจอมพลถนอมมีน้อยกว่าจอมพลสฤษดิ์อยู่แล้วก็เป็นได้

การตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และความวุ่นวายในการรับน้องประชุมเชียร์ในยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพ (พ.ศ. 2515-2519)

ในขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มมีประเพณีการรับน้องประชุมเชียร์โดยใช้ความรุนแรงอย่างเข้มข้นแล้ว
ทางส่วนกลางก็ได้มีความเคลื่อนไหวในด้านกิจการการอุดมศึกษา โดยมีความพยายามในการปฏิรูประบบบริหารมหาวิทยาลัยให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินภารกิจโดยเกิดข้อเสนอให้จัดระบบริหารมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล” เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นระบบอิสระ (Autonomous System) ที่ไม่เป็นส่วนของระบบราชการ มีฐานะคล้ายกับรัฐวิสาหกิจที่ยังคงรับความสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาล แต่มีรูปแบบและโครงสร้างของระบบบริหารที่เหมาะสมกับลักษณะงานของมหาวิทยาลัย[44]

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหารตนเองและยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ภายหลังจากที่รัฐบาลจอมพลถนอมเคยยอมประกาศรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 และมีการเปิดรัฐสภาในระยะเวลา 10 ปี มาก่อนหน้านี้นั้น[45] คณะรัฐบาลของจอมพลถนอมจึงมีออกนโยบายเพื่อปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ “ที่ประชุมอธิการบดี” ซึ่งจัดตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาหารูปแบบและโครงสร้างของระบบบริหารมหาวิทยาลัย ผลการดำเนินงานของที่ประชุมอธิการบดีทำให้รัฐบาลเห็นชอบที่จะยังคงให้มหาวิทยาลัยรวมอยู่ในสังกัดหน่วยงานเดียวกัน จึงนำไปสู่การจัดตั้ง “ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ” โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการและกำกับการศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษา[46]

แม้จะมีการจัดตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมการจัดกิจกรรมนักศึกษาในช่วงนี้ ส่งผลทำให้การดำเนินกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มตกอยู่ในสภาวะที่มีความวุ่นวายในหลายด้านที่เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2514 ดังปรากฏในหลักฐานจากบันทึกความทรงจำของประทีบ ณ ถลาง ที่กล่าวไว้ว่า “...การที่ นิสิต จิรโสภณ ไปประกาศหน้าห้องประชุมเชียร์ว่า น้องนักศึกษาใหม่มีสิทธิที่จะเข้าห้องเชียร์หรือไม่เข้าห้องเชียร์ก็ได้ เป็นผลทำให้ นักศึกษาใหม่ปี 1 หลายคน ผละออกมา...”[47]

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่านิสิตน่าจะประกาศหน้าห้องประชุมเชียร์ในปี พ.ศ. 2515 เนื่องจากเป็นช่วงที่จอมพลถนอมรัฐประหารตนเองเป็นช่วงปลายปีและยังไม่มีการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์เนื่องจากเป็นช่วงภาคเรียนที่ 2 และในบันทึกความทรงจำของ ผดุงศักดิ์ พื้นแสน ว่า “...และปี 2518...สมปอง จุลละทรัพย์ ประธานเชียร์ คณะมนุษยศาสตร์ มีนโยบายเดียวคือ เลิกเชียร์!!...เมื่อเขาพลิกบทเป็นประธานเชียร์ ที่มีนโยบายเลิกเชียร์ ทำเอาวงการโซตัสตื่นตะลึงทำอะไรไม่ถูก...”[48]
โดย “...นาทีแรก ที่ นักศึกษาน้องใหม่ เข้าห้องเชียร์ ก็จะได้รับบทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของ วิทยากร เชียงกูล...”[49] จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้นกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ถูกท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ผู้เขียนคาดว่าในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่าจะยังคงมีการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์อยู่ เพราะปรากฏหลักฐานจากคำบรรยายของ ศาสตราจารย์พันตรีอาคม พัฒิยะ ที่กล่าวในปี พ.ศ. 2517 ว่า “...ปัจจุบันจะพบว่านักศึกษาเป็นโรคจิตกันมาก อาจจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย เช่น การต้อนรับน้องใหม่...”[50]

เมื่อความศักดิ์สิทธิ์ของระบบโซตัสในการรับน้องประชุมเชียร์ถูกท้าทายในยุค “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” (พ.ศ. 2516-2519) ผู้เขียนคาดว่าน่าจะส่งผลให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งหันไปให้ความสำคัญกับขบวนการนักศึกษาและการต่อสู้ประท้วงด้านสิทธิของชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรมากยิ่งขึ้น มีการปรับโครงสร้างการบริหารสโมสรนิสิตนักศึกษาเป็นองค์การบริหารและสภา โดยมีเหตุผลว่าเพื่อให้นักศึกษามีผู้แทนเข้าร่วมในกิจกรรมสโมสรมากขึ้นและเพื่อจะได้มีฝ่ายตรวจสอบการบริหารของสโมสร[51] ทำให้อำนาจในการต่อรองของนักศึกษาเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

การขยายตัวของบทบาทของนักศึกษายังส่งผลต่อบริบททางความคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตื่นตระหนกจากการแพร่กระจายของอุดมการณ์และองค์กรมวลชนที่ท้าทายสังคมในรูปแบบเดิม การก่อตั้งขึ้นมาของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา การประท้วงหยุดงานครั้งแล้วครั้งเล่า การยอมรับแนวคิดและศัพท์ของลัทธิมาร์กซิสต์ มิหนำซ้ำยังตื่นตระหนกว่าการประท้วงในเมืองจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของ พคท. และขบวนการปฏิวัติในอินโดจีน สหรัฐอเมริกาก็เริ่มถอนกองทหารออกจากเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2518-2519 มีผลทำให้ชนชั้นนำ เช่น กลุ่มธุรกิจ ราชสำนัก และชนชั้นกลาง พร้อมใจกันสนับสนุนให้กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบสังหารนักศึกษาอย่างรุนแรง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการก่อรัฐประหาร หลังจากนั้นธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี[52]

การรับน้องประชุมเชียร์กับการสร้างระเบียบใหม่ (พ.ศ. 2519-2529)

เมื่อธานินทร์ กรัยวิเชียรเข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ธานินทร์ได้ดำเนินนโยบายแบบขวาจัดและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่ง ส่วนคณะรัฐประหารเริ่มควบคุมกิจการของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐและกิจกรรมนักศึกษาโดยได้ออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 18 “...ให้ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ...และให้ปฏิบัติราชการโดยขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน...”[53] และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 24/2519 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยออกคำสั่งให้ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐและกระทรวงศึกษาธิการ “...ยกเลิกระเบียบ ข้อบังคับ และข้อบัญญัติอื่นใด อันเกี่ยวกับองค์การและกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่ประกาศใช้อยู่...”[54] ทั้งยัง “...ระงับกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในรูปต่างๆ ทั้งที่จัดตั้งขึ้นภายในและภายนอกสถานศึกษา...และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ตลอดปีการศึกษา 2519 จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงระบบและวิธีการเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตนักศึกษาและนักเรียน เพื่อให้เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรการศึกษาและการเรียนโดยแท้จริง...”[55] แต่ตัวประกาศยังเปิดช่องให้ “...อาจจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภายในสถานศึกษาทางด้านกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และการบำเพ็ญประโยชน์ ได้ตามความจำเป็นและต้องจัดให้เหมาะสม โดยได้รับความเห็นชอบของหัวหน้าสถานศึกษาที่นิสิตนักศึกษาและนักเรียนสังกัดอยู่...”[56] จากอำนาจในการสั่งการของคณะรัฐประหารทำให้กิจกรรมนักศึกษาที่เคยคึกคักต้องเงียบตัวลงไป

ในปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลจึงออกพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย (เปลี่ยนชื่อจากทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ) โดยมีการปรับปรุงฐานะของทบวงมหาวิทยาลัยไม่ให้สังกัดส่วนราชการอื่น และให้มีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐและเอกชนในสังกัด[57] และปรากฏพบหลักฐานถึงความคิดในการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องกิจการนักศึกษาของสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เนื่องจาก “...ขาดหน่วยงานกองที่จะรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับกิจการนักศึกษา...ปริมาณอาจารย์น้อย แต่นักศึกษาจำนวนมาก ไม่สามารถดูแลกิจกรรมต่างๆ ให้ทั่วถึงหรือไม่เท่าที่ควร ขณะเดียวกันก็ขาดหน่วยงานกลางระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบประสานงานแก้ปัญหา และเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลและมหาวิทยาลัย/สถาบันนี้เอง...จึงปรากฏว่า ในระยะที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับนิสิตนักศึกษาหรือสืบเนื่องจากนิสิตอยู่เสมอจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ ปัญหาของนิสิตนักศึกษามักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว รุนแรง...และหลายต่อหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ก็กระทบกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติในหลายๆ ทาง...”[58] นอกจากนี้ทางทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาเรื่องกิจการนิสิตนักศึกษา ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และวางแนวทางปฏิบัติในการจัดกิจกรรมไว้ว่า “...กิจกรรมที่จัดต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง...”[59] แต่ว่ากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์กลับสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมได้เพราะ “...ทบวงมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะสนับสนุนการจัดงานรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษาซึ่งจัดขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย หรือสถาบัน และงานดังกล่าวจะต้องอยู่ในกรอบประเพณีอันดีงามและเป็นการแสดงถึงบรรยากาศความสามัคคีกลมเกลียวโอบอ้อมอารีของรุ่นพี่ที่มีต่อรุ่นน้อง และรุ่นน้องแสดงความเคารพต่อรุ่นพี่...”[60] ทำให้อาจตีความได้ว่ากิจกรรมรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เห็นได้จากการได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้อย่างสะดวก

พื้นฐานทางความคิดและแนวทางในการจัดการกิจกรรมนักศึกษาน่าจะมีผลทำให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521 โดยตั้งกองบริการนักศึกษาขึ้นใหม่ในสำนักงานปลัดทบวงฯ[61] และทบวงมหาวิทยาลัยได้ทำเรื่องขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนคลายคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 42/2519 และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 ลงมติ “...อนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างๆ พิจารณาจัดตั้งสโมสรและชมรมเพื่อดำเนินกิจกรรม...โดยทบวงมหาวิทยาลัยจะต้องจัดให้มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด...”[62] และนำไปสู่การกำหนดหลักการและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษาให้เหมาะสมโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2522 โดย “...กิจกรรมนิสิตนักศึกษาจะต้องจัดขึ้นภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ และไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดี...นิสิตนักศึกษาควรจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเองศึกษาอยู่ตามความสมัครใจ...”[63] และทบวงมหาวิทยาลัยยังได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย/สถาบันของรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยในปีแรกๆ ได้รับงบประมาณประมาณปีละ 20 ล้านบาท[64] และเมื่อสืบค้นเอกฐานในประมาณ 20 ปีต่อมา พบว่ารัฐได้จัดสรรงบประมาณให้กับการสนับสนุนด้านการจัดกิจกรรมนักศึกษาเพิ่มขึ้นอีก

นโยบาย มาตรการ และการจัดสัมมนาโดยทบวงมหาวิทยาลัยว่าด้วยกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ (พ.ศ. 2530-2539)

แม้ว่าผู้เขียนจะยังไม่พบหลักฐานว่าด้วยการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงทศวรรษ 2520 แต่ก็คาดว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่าจะยังคงมีการจัดกิจกรรมนี้โดยใช้ความรุนแรงจากระบบโซตัสและการว้ากเป็นที่แน่นอน และข่าวความรุนแรงจากการรับน้องประชุมเชียร์น่าจะเริ่มปรากฏตามสื่อชนิดต่างๆ อีกครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นอย่างต่ำ และอาจจะมีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะพบหลักฐานจากงานวิจัยที่ริเริ่มโดยทบวงมหาวิทยาลัยเรื่อง ความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษาเกี่ยวกับการประชุมเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ ซึ่งมีระยะเวลาการทำวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2530 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2531 ว่า

“...สื่อมวลชนที่สำคัญอันได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน และโทรทัศน์ออกข่าวการประชุมร้องเพลงเชียร์และต้อนรับน้องใหม่ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษา ปัญหาการประชุมร้องเพลงเชียร์และการต้อนรับน้องใหม่ และการออกข่าวของสื่อมวลชนได้ทวีความรุนแรงขึ้นมากในระยะสามปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเสียหายแก่นักศึกษา บรรยากาศการเรียนการสอนและชื่อเสียงของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอันมาก...”[65]

แต่คณะผู้วิจัยที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษากลับมีความคิดที่เป็นไปในการให้การสนับสนุนในการคงอยู่ของการใช้ระบบโซตัสในการจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์เพราะสอดคล้องกับ “ความเป็นไทยทางวัฒนธรรม” และมองปัญหาว่าเกิดจากการปฏิบัติตามที่ไม่เหมาะสมเป็นรายบุคคลมากกว่า ดังหลักฐานที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “...ในหลักการของระบบ SOTUS เป็นสิ่งที่ดีงามที่สอนให้นักศึกษายึดมั่นในประเพณีที่ดีงาม นับถือผู้อาวุโส มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี และมีน้ำใจ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ปัญหาของระบบ SOTUS นั้นอยู่ที่ตัวบุคคล และวิธีการปัญหาที่เกี่ยวกับตัวบุคคลนั้น อยู่ที่นักศึกษารุ่นพี่ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบ SOTUS อย่างจริงจัง...”[66]

ผลของการวิจัยที่ผู้เขียนได้กล่าวสรุปอย่างย่อในพรมแดนความรู้ได้นำไปสู่ความเชื่อมั่นของบุคลากรในทบวงมหาวิทยาลัยว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยวิเคราะห์จากบทความ แนวโน้มการรับน้องใหม่ที่เคยใช้ความรุนแรงกำลังจะหมดไป โดย วิจิตร ศรีสอ้าน ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้กล่าวถึงทางเลือกในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์โดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งได้อ้างผลของการวิจัยเรื่องการสำรวจความคิดเห็นจาก 5 มหาวิทยาลัยว่า “...การให้นักศึกษาน้องใหม่รักหมู่คณะ รักสถาบัน เชื่อฟังเคารพรุ่นพี่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการว๊ากหรือลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเสมอไป จากการวิจัยในหัวข้อดังกล่าว...พบว่าการรับน้องใหม่ด้วยวิธีการไม่รุนแรง...ก็...ทำให้น้องใหม่สนิทสนมกับรุ่นพี่ เคารพศรัทธาเชื่อฟังรุ่นพี่ รักหมู่คณะ รักสถาบัน เช่นเดียวกันซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ เท่าที่ทราบในตอนนี้ แนวโน้มการรับน้องใหม่ด้วยวิธีการรุนแรงกำลังจะหมดไป...”[67]

ด้วยความเชื่อมั่นของปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยได้ออกนโยบาย มาตรการ วิธีการ เป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2531 และทำการข้อมูลจากการจัดกิจกรรมในปีการศึกษา 2531 โดยพบว่า “...นิสิต/นักศึกษาของมหาวิทยาลัย/สถาบันส่วนใหญ่ได้จัดกิจกรรมอยู่ภายในกรอบของระเบียบ นโยบาย และมาตรการ รวมทั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในระดับปานกลางถึงมาก สำหรับในด้านความรุนแรงของการจัดกิจกรรมก็นับว่า มีน้อย...”[68] และทางทบวงมหาวิทยาลัยยังเชื่อมั่นว่านโยบายและมาตรการนี้จะทำให้ความรุนแรงลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2532 เป็นที่แน่นอน[69]

แต่จากหลักฐานที่สืบค้นพบในเวลาต่อมากลับพบว่าแนวโน้มของความรุนแรงในการจัดกิจกรรมก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่ทบวงมหาวิทยาลัยคาดหวังไว้ ดังปรากฏหลักฐานจากหนังสือครบรอบ 25 ปีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2533 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวไว้ว่า “...เมื่อถึงวันรับน้องรุ่นพี่จะพาน้องไปตามเส้นทางที่เห็นว่าลำบากที่สุดรุ่นพี่จะแบ่งหน้าที่เป็น 2 กลุ่มคือ รุ่นพี่ที่ทำหน้าที่ปลอบโยน...อีกกลุ่มคือรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่ว้าก...”[70] และจากบทความเรื่อง จากรับน้องถึงห้องเชียร์: การสร้างระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “...เอกสารของกลุ่ม “คณาจารย์ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ระบุว่า ในปีการศึกษา 2534 ที่ผ่านมา นักศึกษาปีที่ 1 …ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมเชียร์ ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาอ่านหนังสือและทำการบ้าน ขาดสมาธิ และเกิดความสับสนว้าวุ่นใจ ฯลฯ...และนักศึกษาคนหนึ่งคณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จบชีวิตตนเอง ในปี 2534 เพราะเครียดหนักจากการถูกว้าก จำชื่อเพื่อนไม่ครบ เรียนหนังสือไม่ทัน...”[71]

นอกจากการออกวัตถุประสงค์ นโยบาย และมาตรการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533[72] พ.ศ. 2535[73]พ.ศ. 2536[74] ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวบทแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างแล้ว ยังมีการสัมมนาผู้บริหารกิจการนักศึกษา เรื่อง การประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา[75] และการสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา 5 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2536[76]อีกด้วย แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าความรุนแรงจะลดน้อยลงแต่ประการใด เพราะก็ยังคงมีการรายงานเรื่องความรุนแรงตั้งแต่หลังจากนั้นจนถึงปี พ.ศ. 2539 อาทิ “...นสพ. ผู้จัดการรายวัน (29 มิถุนายน 2536) เปิดเผยว่าการประชุมเชียร์และว้ากน้องของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทุกเย็นและกินเวลาหลายชั่วโมง...มีข่าวเปิดเผยว่าในการรับน้องแทบทุกคณะมีการลงโทษน้องใหม่หลายแบบ...ปี 2537 นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์เปิดเผยว่าในการประชุมเชียร์มีการทุบโต๊ะ การปิดประตูหน้าต่าง การตะคอกด่า และการลงโทษนักศึกษาที่ทำผิดกฎที่กำหนดโดยรุ่นพี่ได้สร้างความกดดัน ความไร้เหตุผล และกลายเป็นบาดแผลให้แก่นักศึกษาใหม่ และสร้างปัญหาให้แก่สังคม (ผู้จัดการรายวัน 18-19 มิถุนายน 2537)...”[77] แสดงว่าทบวงมหาวิทยาลัยไม่สามารถลดความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ได้อย่างที่กล่าวอ้างได้เลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดีก็พบหลักฐานจากจดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัยของปี พ.ศ. 2537 ก็พบตัวบทที่บ่งบอกว่า “...ดร. วัลลภ ปิยมโนธรรม อาจารย์ภาควิชาแนะแนวมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ ผศ. สมเกียตร์ รุจิรวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการรับน้อง ในรายการวิทยุกระจายเสียง ทม. 100.5 ทางสถานีวิทยุ อสมท. ...ว่าแนวโน้มการรับน้องในปัจจุบัน ทุกสถาบันจะลดความรุนแรงลง...รายการ ทม. 100.5 ของทบวงมหาวิทยาลัยร่วมกับ อสมท. ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา...”[78] ถึงแม้คนที่ออกมากล่าวจะไม่ใช่บุคลากรของทบวงมหาวิทยาลัย แต่การแสดงความคิดเห็นในรายการวิทยุที่ร่วมจัดโดยทบวงมหาวิทยาลัยก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของทบวงมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าทบวงมหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้

ทบวงมหาวิทยาลัยกับการจรรโลงระบบโซตัส (พ.ศ. 2540-2546)

พอเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ก็จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจน เช่น “...ปี 2540 ข่าวใหญ่ในหน้าหนึ่งเปิดเผยว่าสโมสรนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ม.ช. มีมติตัดรุ่นนักศึกษา 4 คนเนื่องจากไม่เข้าร่วมกิจกรรมของคณะฯ ทำให้สภาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันคัดค้านการกระทำดังกล่าว ต่อมา รองอธิการบดีได้สั่งยกเลิกคำสั่งตัดรุ่นของสโมสรนักศึกษาฯ (มติชนรายวัน 19-22 กรกฎาคม 2540)...”[79] และยังปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา “...การรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำให้นักศึกษาที่เข้าใหม่บางคนต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยไป ก่อให้เกิดความสูญเสียในทรัพย์สินที่ต้องลงทุนไปในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมทั้งค่าสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย...”[80] นอกจากนี้ก็พบการรายงานข่าวในงานวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นและทัศนคติต่อกิจกรรมรับน้องใหม่และการเชียร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า “... “ว้ากโหดที่ มช.” ไทยรัฐ. (4 มิถุนายน 2541). ผู้ปกครองนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร้องลูกโดนว้ากจนไม่อยากเรียน...ว่า บุตรหลานของตนเองสามารถสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และได้ดำเนินการตามขั้นต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดไว้เสร็จสิ้นแล้ว แต่รุ่นพี่ได้เหนี่ยวรั้งไว้ไม่ยอมให้กลับบ้าน...มีการพาน้องๆ เข้าห้องปิดประตู แล้วรุ่นพี่ก็กระทำสิ่งที่ทุกๆ คนในมหาวิทยาลัยเรียกกันว่า “การว๊าก” จนดึกดื่น...”[81]

แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ทบวงมหาวิทยาลัยเองก็ยังใช้วิธีการเดิมในการพยายามให้การจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีความรุนแรง ดังเช่น การจัดสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง “การจัดกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ที่พึงประสงค์และเหมาะกับยุคสมัย” ระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2540 โดย “...ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญของการจัดกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่และให้คงประเพณีนี้ไว้...ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ที่ใช้ความรุนแรง...”[82]

นอกจากนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2541 นาวาโท เดชา สุขารมณ์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “...ท่านได้ทำให้สภาพของทบวงมหาวิทยาลัยได้รับ รีอินฟอร์ชเมนท์ (Reinforcement) คือได้รับการที่จะแสดงออกในการกำชับนโยบายเกี่ยวกับการรับน้องใหม่ ซึ่งเราได้ทำอยู่แล้วโดยตลอดทุกปี...ด้วยนโยบาย 3 ข้อ...ข้อที่ 1 มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบกำกับดูแล ข้อที่ 2 คือนโยบายไม่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดเกิดขึ้นเด็ดขาด ข้อที่ 3 ...ให้จัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย...หลักเกณฑ์กิจกรรมรับน้องใหม่ในข้อที่ 1 …น้องใหม่ต้องสมัครใจ ในข้อที่ 2 ให้งดการดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิด ในข้อที่ 3 ให้ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกาย ในข้อที่ 4 ห้ามการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของมหาวิทยาลัย ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีดีงาม...ยังได้วางมาตรการ ข้อที่ 1 ให้มหาวิทยาลัยกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์สอดคล้องในนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย ข้อที่ 2 องค์การนิสิตนักศึกษา ต้องขออนุมัติโครงการรับน้องใหม่ก่อนเสมอทุกครั้ง ข้อที่ 3 ให้มหาวิทยาลัยกำกับดูแลและให้คำปรึกษาแก่นิสิตนักศึกษาและองค์กรของนิสิตนักศึกษาโดยตลอด...”[83]

แต่ นาวาโท เดชา สุขารมณ์ เองก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ว่า “...การจัดกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน โดยจะต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงหรือเป็นอันตรายไม่ผิดประเพณีและศีลธรรมที่ดีงามไม่ดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิดเน้น กิจกรรมสร้างสรรค์และสามัคคีน้องใหม่ที่ร่วมกิจกรรมจะต้องสมัครใจ...”[84]

ยิ่งไปกว่านั้นในหน้าแรกของจดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2540 ยังตีพิมพ์ความหมายของ SOTUS อีกด้วย คือ “S (seniority) อาวุโส จงยอมรับในความอาวุโสของผู้อื่น อาวุโสทางอายุ อาวุโสทางคุณวุฒิ อาวุโสทางตำแหน่ง อาวุโสทางความสามารถเฉพาะทาง”[85] “O (order) กฎระเบียบ กฎระเบียบคือกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม กฎเกณฑ์ที่ยอมรับในสังคม กองทหารมีกฎระเบียบ มีวินัย ถ้าไม่มีก็เป็นกองโจร !”[86] “T (tradition) ประเพณี ประเพณีไม่ใช่สิ่งที่ทำตามกันและต้องทำตามกันไป โดยไม่มีเหตุผล เธอจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเป็นมาและเหตุผลของประเพณี ประยุกต์ประเพณีให้เหมาะกับกาลสมัย”[87] และ “...U (unity) น้ำหนึ่งใจเดียวกัน เธอและผู้อยู่ร่วมกันกับเธอ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ เธอมีความสามัคคีกัน สามัคคีกันกระทำในสิ่งดีๆ เพื่อสังคมของเธอ S (spirit) น้ำใจ น้ำใจ....ใสบริสุทธิ์ น้ำใจ....น้ำทิพย์ของมนุษย์ น้ำใจ....ยิ่งใหญ่กว่าน้ำเงิน น้ำใจที่มีให้แก่มนุษย์ และสัตว์โลกทั้งปวง”[88]

จากตัวบทเรื่องโซตัสที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าทบวงมหาวิทยาลัยที่เห็นว่ากิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์เป็นกิจกรรมที่ควรได้รับการสนับสนุนตลอดมา รวมถึงระบบโซตัสเช่นเดียวกัน โดยสอดคล้องกับประเพณีที่ดีงามของ “ความเป็นไทย” ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนเห็นว่าทบวงมหาวิทยาลัยไม่น่าจะเพิ่งมามีแนวคิดในการให้ความสำคัญกับระบบโซตัสในต้นทศวรรษ 2540 แต่น่าจะให้ความสำคัญกับระบบโซตัสในการควบคุมนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมที่ออกนอกลู่นอกทางมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นอย่างต่ำแล้ว โดยทบวงมหาวิทยาลัยไม่เคยนึกเฉลียวใจเลยว่าความตั้งใจในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ที่ปราศจากความรุนแรงไม่สามารถไปด้วยกันได้กับความตั้งใจในการจรรโลงระบบโซตัสให้คงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย

บทส่งท้าย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนที่ 62ก วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยต้องแปรสภาพเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา[89]

ถึงกระนั้นลักษณะของการควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ก็ยังไม่มีความแตกต่างจากลักษณะการดำเนินการของทบวงมหาวิทยาลัยเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายความตัวบทบางอย่าง แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ยังคงสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานอันก่อให้เกิดความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย ความภาคภูมิใจในสถาบัน รวมถึงมีการจัดสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษาในลักษณะเดียวกันกับที่ทบวงมหาวิทยาลัยเคยดำเนินการ[90]

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ดำเนินการกำกับดูแลการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในทิศทางเดียวกันกับการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แม้ว่าในภายหลังจะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดว่าด้วยแนวปฏิบัติการแขวนป้ายชื่อของนักศึกษาใหม่ ในปี พ.ศ. 2558 โดยกำหนดขนาดป้ายชื่อไม่ควรเกิน 10.50 X 14.80 เซนติเมตร รวมทั้งให้แขวนป้ายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงเวลาไม่เกินภาคเรียนแรก แต่แนวทางปฏิบัติสามารถก่อให้เกิดผลตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องการหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาค้นคว้ากันโดยละเอียดต่อไป

สืบเนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการยกเลิกการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ ทำให้ผู้เขียนคาดว่าอาจจะเกิดรายงานการใช้ความรุนแรงในการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ต่อไปในอนาคตและไม่มีทีท่าว่าปัญหาเหล่านี้จะสิ้นสุดลงในเวลาใด ทั้งนี้เป็นภาระของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหลักในการกำกับดูแลการจัดกิจกรรมให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยอันเนื่องมาจากการที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินบริหารจัดการมหาวิทยาลัยโดยอิสระ

ถึงกระนั้นในปลายปี พ.ศ. 2559 นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้าพบ นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยหารือถึงการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา เพื่อให้การทำงานมีอิสระและคล่องตัว สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้[91]

ในที่สุดแล้วบุคลากรระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็มีความต้องการหน่วยงานภาครัฐที่เป็นตัวประสานระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเดียวกับที่ทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงเคยดำเนินการมาแล้ว แต่ในการยกร่างกฎหมายเพื่อยุบสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาคงจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร แต่ไม่ว่าจะเกิดกระทรวงอุดมศึกษาขึ้นหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่ากระทรวงอุดมศึกษาจะยังคงควบคุมกำกับดูแลการจัดกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในแนวทางเดียวกับที่เคยเป็นมาและไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ

สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนในสังคมจะต้องการระบบโซตัสและการใช้ความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์หรือไม่ การศึกษาและวิเคราะห์กิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ในมิติต่างๆ ไม่อาจจะแยกขาดจากบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างเด็ดขาด จะมีแต่ทำให้ “ความจริง” ที่ถูกประกอบสร้างขึ้น
ไม่สามารถตอบโจทย์ผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดหลากหลายได้ สำหรับกลุ่มคนที่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาให้ประเพณีอันดีงามนี้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป แต่สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระในมหาวิทยาลัย หนทางของการต่อสู้ ดูเหมือนจุดหมายปลายทางจะยังอีกยาวไกลนัก

 

 

บรรณานุกรม

กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย. มาตรฐานกิจการนักศึกษา. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2543.

กองบริการนักศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย. รายงานการประชุมและประเมินผลการสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 วันที่ 29-31 มกราคม และ 6-8 กุมภาพันธ์ 2536. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2536.

กองบริการนักศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย. รายงานสรุปและประเมินผลการสัมมนาผู้บริหารกิจการนักศึกษา เรื่อง การประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2534. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2534.

กิตติชัย วัฒนานิกร. ตัวตนคน ลูกช้าง. เชียงใหม่ : บริษัทสันติภาพแพ็คพริ้นท์จำกัด, 2557.

คณะอนุกรรมการพัฒนากิจกรรมนิสิตนักศึกษา กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย. ข้อมูลพื้นฐานด้านกิจกรรมนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2533.

คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.

จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9 : 342 (3-9 มีนาคม 2540)

จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9 : 343 (10-16 มีนาคม 2540)

จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9 : 344 (17-23 มีนาคม 2540)

จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9 : 349 (21-27 เมษายน 2540)

ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ. “บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ.” วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาอุดมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.

ทบวงมหาวิทยาลัย. “ทบวงกำหนดนโยบายและมาตรการในการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ของสถาบันอุดมศึกษา.” อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 15, 155 (มกราคม 2533).

ทบวงมหาวิทยาลัย. “แนวนโยบายด้านกิจการนักศึกษาของรมว.ทบวงฯ.” จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 10, 424 (27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2541).

ทบวงมหาวิทยาลัย. “แนวโน้มการรับน้อง.” จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 6, 199 (30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2537).

ทบวงมหาวิทยาลัย. “แนวโน้มของการรับน้องใหม่ที่เคยใช้ความรุนแรงกำลังจะหมดไป.” อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 14, 147 (พฤษภาคม 2532).

ทบวงมหาวิทยาลัย. “สรุปข้อมูลเรื่องการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ.” อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 14, 148 (มิถุนายน 2532).

ธงชัย วินิจจะกูล. ธงชัย วินิจจะกูล: โซตัสสะท้อนปัญหาใหญ่ของสถาบันทางสังคมของไทย. เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://prachatai.com/journal/2015/61956

ธเนศวร์ เจริญเมือง. “จากรับน้องถึงห้องเชียร์: การสร้างระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย.” ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย. เชียงใหม่ : ม.ป.พ., 2549.

ธเนศวร์ เจริญเมือง. “มิถุนาทมิฬ: การสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย.” ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย. เชียงใหม่ : ม.ป.พ., 2549.

ธิดารัตน์ บุญนุช. การพัฒนากิจกรรมนักศึกษา. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2543.

นายชาติสังคม (นามปากกา). วิพากษ์ว้าก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2554.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. รับน้อง...ต้นตอแห่งปูมอำนาจ. เข้าถึงเมื่อ 11 มีนาคม 2560. เข้าถึงได้จาก https://medinfo.psu.ac.th/pr/WebBoard/readboard.php?id=4863

นิธิ เอียวศรีวงศ์. รับน้องใหม่. เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/nfrghtn.html?m=1

ประทีป ณ ถลาง. ต้นสายธารขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ. เข้าถึงเมื่อ 12 พฤษภาคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://2519.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernmemostudentpolitichistories4.htm

ผดุงศักดิ์ พื้นแสน. การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ. เข้าถึงเมื่อ 12 พฤษภาคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://www.2519me.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernbmemostudentpolitichistories5.htm

มติชนออนไลน์. ตั้ง ก.อุดมฯ!? ‘หมอธี’ ฟันธงแยกกระทรวงอุดมศึกษา ตั้งอธิการบดี ม.มหิดล ประธานยกร่างกฎหมาย.
เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/news/410411

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2527.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ครบรอบ 25 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2533.

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด. รับน้อง...มองต่างมุม. เข้าถึงเมื่อ 12 มีนาคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://palungjit.org/threads/เลิกรับน้อง-มองต่างมุม.9652/

ราชกิจจานุเบกษา, ฉบับพิเศษ เล่ม 93 ตอนที่ 125, 11 ตุลาคม 2519.

ราชกิจจานุเบกษา, ฉบับพิเศษ เล่ม 95 ตอนที่ 73, 21 กรกฎาคม 2521.

ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 114 ตอนที่ 12ก, 17 เมษายน 2540.

ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 116 ตอนที่ 31ก, 27 เมษายน 2542.

ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 94 ตอนที่ 31, 12 เมษายน 2520.

รายงานการประชุมสภาผู้แทน ครั้งที่ 12/2514 (สามัญ). วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2514.

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ครั้งที่ 5/2541 (สามัญนิติบัญญัติ). วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2541.

วารุณี โอสถารมย์. พัฒนาการอุดมศึกษาในประเทศไทย: การศึกษาวิเคราะห์เชิงนโยบายและผลพวงที่มีต่อการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2533.

สถาบันวิจัยสังคม. ความคิดเห็นและทัศนคติต่อกิจกรรมรับน้องและการเชียร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม, 2541.

สมโชติ วีรภัทรเวธ. “พัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย พ.ศ.2459-2500.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

สายชล สัตยานุรักษ์. “สื่อการสอนเรื่องพิธีกรรมในชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไทย.” กระบวนวิชาสังคมและวัฒนธรรมไทย (เอกสารอัดสำเนา).

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. สรุปความคิดเห็นผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง รูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์เชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2549.

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. ประวัติสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. เข้าถึงเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560. เข้าถึงได้จาก http://www.mua.go.th/ohec/history.html

สำเนาว์ ขจรศิลป์ และ บุญเรียง ขจรศิลป์. ความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา เกี่ยวกับการประชุมเชียร์ และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์. กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2531.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  B 3.2/6. เอกสารที่เกี่ยวกับกิจการนิสิตนักศึกษา เมษายน 2523.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2) มธ.1/12. บันทึกข้อความที่ ทม.0203/15061 เรื่อง แนวนโยบายในการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ 15 มิถุนายน 2535.

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2) มธ.2.14.3.5/11. กิจกรรมนักศึกษาหลัง 6 ต.ค. 2519.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ทม.0201.4/10. คำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งกองส่งเสริมกิจการนิสิตนักศึกษาและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ทม.0201.4.1/42. โครงการจัดประชุมเรื่อง“กิจการนิสิตนักศึกษา” 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520.

อาคม พัฒิยะ. “บทบาทของนักศึกษาในสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.” สรุปผลการสัมมนากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 9-11 มีนาคม 2517 ณ ค่ายอนุชน ดอยสุเทพ เชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2517.

 

 



[1] บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานของกระบวนวิชา ปัญหาในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา (004472) ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ผู้เขียนขอขอบคุณงานกิจกรรมเสริมหลักสูตร กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับความช่วยเหลือด้านเอกสารชั้นต้นจำนวนหนึ่ง

[2] นักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[3] สายชล สัตยานุรักษ์, “สื่อการสอนเรื่องพิธีกรรมในชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไทย,” ใน กระบวนวิชาสังคมและวัฒนธรรมไทย (เอกสารอัดสำเนา), ไม่ระบุเลขหน้า.

[4] ธงชัย วินิจจะกุล, “ธงชัย วินิจจะกูล: โซตัสสะท้อนปัญหาใหญ่ของสถาบันทางสังคมของไทย,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://prachatai.com/jounal/2015/10/61956 (22 มกราคม 2560).

[5] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “จากรับน้องถึงห้องเชียร์: การสร้างระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย,” ใน ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย (เชียงใหม่: ม.ป.พ., 2549), น. 2-30.

[6] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “มิถุนาทมิฬ: การสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย,” ใน เรื่องเดียวกัน, น. 40.

[7] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “รับน้องใหม่,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/nfrghtn.html?m=1
(10 มีนาคม
2560).

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “รับน้อง...ต้นตอแห่งปูมอำนาจ,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://medinfo.psu.ac.th/pr/WebBoard/readboard.php?id=4863 (11 มีนาคม 2560).

[9] นายชาติสังคม (นามปากกา), วิพากษ์ว้าก (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2554).

[10] สถาบันวิจัยสังคม, ความคิดเห็นและทัศนคติต่อกิจกรรมรับน้องและการเชียร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม, 2541).

[11] สำเนาว์ ขจรศิลป์ และ บุญเรียง ขจรศิลป์, ความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา เกี่ยวกับการประชุมเชียร์ และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2531).

[12] นายชาติสังคม (นามปากกา), วิพากษ์ว้าก.

[13] มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด. “รับน้อง...มองต่างมุม,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://palungjit.org/threads/เลิกรับน้อง-มองต่างมุม.9652/ (12 มีนาคม 2560).

[14] วารุณี โอสถารมย์, พัฒนาการอุดมศึกษาในประเทศไทย: การศึกษาวิเคราะห์เชิงนโยบายและผลพวงที่มีต่อการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2533).

[15] สมโชติ วีรภัทรเวธ, “พัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย พ.ศ.2459-2500,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

[16] ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ, “บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ,” วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาอุดมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.

[17] คณะอนุกรรมการพัฒนากิจกรรมนิสิตนักศึกษา กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, ข้อมูลพื้นฐานด้านกิจกรรมนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2533).

[18] กองบริการการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, มาตรฐานกิจการนักศึกษา (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2543).

[19] ธิดารัตน์ บุญนุช, การพัฒนากิจกรรมนักศึกษา (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2543).

[20] วารุณี โอสถารมย์, พัฒนาการอุดมศึกษาในประเทศไทย: การศึกษาวิเคราะห์เชิงนโยบายและผลพวงที่มีต่อการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต, น. 1-3.

[21] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459-2509 น. 368. อ้างใน สมโชติ วีรภัทรเวธ, “พัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทย พ.ศ.2459-2500,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550,
 น. 158.

[22] เรื่องเดียวกัน, น. 175-176.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. 235.

[24] คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล, ศิริราชร้อยปี: ประวัติและวิวัฒนาการ, น. 163. อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 190.

[25] เรื่องเดียวกัน, น. 235.

[26] นิรันดร์ นวมารค. ครึ่งศตวรรษวรรณนา. อ้างใน อักษรศาสตร์บัณฑิต 50 ปี. น. 61-62. อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 238.

[27] จิตร ภูมิศักดิ์ (บรรณาธิการ), กรณีโยนบก 23 ตุลาคม (กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองชัย, 2541), น. 7-10. อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. 327.

[28] วารุณี โอสถารมย์, พัฒนาการอุดมศึกษาในประเทศไทย: การศึกษาวิเคราะห์เชิงนโยบายและผลพวงที่มีต่อการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต, น. 51.

[29] ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ, “บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ,” วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาอุดมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 21.

[30] เรื่องเดียวกัน, น. 54-55.

[31] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2527), น. 33.

[32] เรื่องเดียวกัน, น. 266.

[33] กิตติชัย วัฒนานิกร, ตัวตนคน ลูกช้าง (เชียงใหม่ : บริษัทสันติภาพแพ็คพริ้นท์จำกัด, 2557), น. 66.

[34] เรื่องเดียวกัน, น. 81.

[35] เรื่องเดียวกัน, น. 82.

[36] ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, “การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.2519me.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernbmemostudentpolitichistories5.htm (12 พฤษภาคม 2560).

[37] รายงานการประชุมสภาผู้แทน ครั้งที่ 12/2514 (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2514 “กระทู้ถามด่วนเรื่อง การต้อนรับนักศึกษาใหม่โดยวิธีการไม่เหมาะสม”, น. 131.

[38] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[39] เรื่องเดียวกัน, น. 132.

[40] เรื่องเดียวกัน, น. 133.

[41] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[42] เรื่องเดียวกัน, น. 134.

[43] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[44] ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ, “บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ,” วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาอุดมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 22.

[45] คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558), น. 258-259.

[46] ฉลวยลักษณ์ สินประเสริฐ, บทบาทของทบวงมหาวิทยาลัยต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ, วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาอุดมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 23-24.

[47] ประทีป ณ ถลาง, “ต้นสายธารขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://2519.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernmemostudentpolitichistories4.htm (12 พฤษภาคม 2560).

[48] ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, “การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.2519me.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernbmemostudentpolitichistories5.htm (12 พฤษภาคม 2560).

[49] ประทีป ณ ถลาง, “ต้นสายธารขบวนการนักศึกษาภาคเหนือ,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://2519.net/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernmemostudentpolitichistories4.htm (12 พฤษภาคม 2560).

[50] อาคม พัฒิยะ, “บทบาทของนักศึกษาในสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,” ใน สรุปผลการสัมมนากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 9-11 มีนาคม 2517 ณ ค่ายอนุชน ดอยสุเทพ เชียงใหม่ (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2517), น. 23.

[51] ธิดารัตน์ บุญนุช, การพัฒนากิจกรรมนักศึกษา, น. 18.

[52] คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, น. 265-271.

[53] “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 18” ใน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 93 ตอนที่ 125, 11 ตุลาคม 2519, น. 1.

[54] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ทม.0201.4.1/42 โครงการจัดประชุมเรื่อง“กิจการนิสิตนักศึกษา” (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520).

[55] เรื่องเดียวกัน.

[56] เรื่องเดียวกัน.

[57] “พระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 31,
12 เมษายน 2520, น. 309-315.

[58] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ทม.0201.4/10 คำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งกองส่งเสริมกิจการนิสิตนักศึกษาและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย.

[59] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ทม.0201.4.1/42 โครงการจัดประชุมเรื่อง“กิจการนิสิตนักศึกษา” (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520).

[60] ทบวงมหาวิทยาลัย, “ข่าวทบวง: ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยแถลงเรื่องการจัดงานรับน้องใหม่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย,” ใน อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 2, 12 (กรกฎาคม 2520) : 8, 11.

[61] “พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521” ใน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 95 ตอนที่ 73, 21 กรกฎาคม 2521, น. 87-89.

[62] หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (2) มธ.2.14.3.5/11 กิจกรรมนักศึกษาหลัง 6 ต.ค. 2519.

[63] หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, B 3.2/6 เอกสารที่เกี่ยวกับกิจการนิสิตนักศึกษา (เมษายน 2523).

[64] “กระทู้ถามที่ 026 ร.” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 12ก, 17 เมษายน 2540, น. 17.

[65] สำเนาว์ ขจรศิลป์ และ บุญเรียง ขจรศิลป์, ความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้บริหารฝ่ายกิจการนักศึกษา เกี่ยวกับการประชุมเชียร์ และการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์, น. 3.

[66] เรื่องเดียวกัน, น. 21.

[67] ทบวงมหาวิทยาลัย, “แนวโน้มของการรับน้องใหม่ที่เคยใช้ความรุนแรงกำลังจะหมดไป,” ใน อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 14, 147 (พฤษภาคม 2532) : 4.

[68] ทบวงมหาวิทยาลัย, “สรุปข้อมูลเรื่องการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ,” ใน อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 14, 148 (มิถุนายน 2532) : 21.

[69] อ่านรายละเอียดของนโยบายและมาตรการสำหรับปีการศึกษา 2532 ของทบวงมหาวิทยาลัยได้ที่ เรื่องเดียวกัน, น. 20-21.

[70] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ครบรอบ 25 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2533), น. 115.

[71] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “จากรับน้องถึงห้องเชียร์: การสร้างระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย,” ใน ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย, น. 9-10.

[72] ทบวงมหาวิทยาลัย, “ทบวงกำหนดนโยบายและมาตรการในการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ของสถาบันอุดมศึกษา,” ใน อุดมศึกษา: เอกสารเผยแพร่ของทบวงมหาวิทยาลัย 15, 155 (มกราคม 2533) : 13.

[73] หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (2) มธ.1/12 บันทึกข้อความที่ ทม.0203/15061 เรื่อง แนวนโยบายในการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ (15 มิถุนายน 2535).

[74] กองบริการนักศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, รายงานการประชุมและประเมินผลการสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 วันที่ 29-31 มกราคม และ 6-8 กุมภาพันธ์ 2536 (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2536), น. 183-184.

[75] กองบริการนักศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, รายงานสรุปและประเมินผลการสัมมนาผู้บริหารกิจการนักศึกษา เรื่อง การประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2534 (กรุงเทพฯ : ทบวงมหาวิทยาลัย, 2534).

[76] กองบริการนักศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, รายงานการประชุมและประเมินผลการสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการประชุมเชียร์และการรับน้องใหม่ของนิสิตนักศึกษา รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 วันที่ 29-31 มกราคม และ 6-8 กุมภาพันธ์ 2536, ไม่ระบุเลขหน้า.

[77] ธเนศวร์ เจริญเมือง, “มิถุนาทมิฬ: การสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย,” ใน ว้ากน้อง: การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย, น. 34-35.

[78] ทบวงมหาวิทยาลัย, “แนวโน้มการรับน้อง,” ใน จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 6, 199 (30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2537) : 3.

[79] เรื่องเดียวกัน, น. 35.

[80] “กระทู้ถามที่ 164 ร.” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 31ก, 27 เมษายน 2542, น. 12.

[81] สถาบันวิจัยสังคม, ความคิดเห็นและทัศนคติต่อกิจกรรมรับน้องและการเชียร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, น. 13.

[82] เรื่องเดียวกัน, น. 97.

[83] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ครั้งที่ 5/2541 (สามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2541 “กระทู้ถามสด เรื่อง การรับน้องใหม่ในสถานศึกษา”, น. 23-25.

[84] ทบวงมหาวิทยาลัย, “แนวนโยบายด้านกิจการนักศึกษาของรมว.ทบวงฯ,” ใน จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 10, 424
(27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2541) : 2.

[85] จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9, 342 (3-9 มีนาคม 2540) : 1.

[86] จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9, 343 (10-16 มีนาคม 2540) : 1.

[87] จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9, 344 (17-23 มีนาคม 2540) : 1.

[88] จดหมายข่าวรายสัปดาห์ทบวงมหาวิทยาลัย 9, 349 (21-27 เมษายน 2540) : 1.

[89] สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, “ประวัติสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.mua.go.th/ohec/history.html (15 พฤษภาคม 2560).

[90] สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, สรุปความคิดเห็นผู้นำนิสิตนักศึกษา เรื่อง รูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์เชิงสร้างสรรค์ (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2549).

[91] มติชนออนไลน์, “ตั้ง ก.อุดมฯ!? ‘หมอธี’ ฟันธงแยกกระทรวงอุดมศึกษา ตั้งอธิการบดี ม.มหิดล ประธานยกร่างกฎหมาย,” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/news/410411 (15 พฤษภาคม 2560).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท