Skip to main content
sharethis

คลิปเสวนา "การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น “มุสลิมที่ดี” และการแสวงหา “ชีวิตที่ดีกว่า” ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้" สะท้อนมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐ-นักการศึกษาท้องถิ่น เสวนาโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง - มะรอนิง สาแลมิง - อับดุลฮาฟิส หิเล - อนุสรณ์ อุณโณ

คลิปวิดีโอจากการเสวนาโต๊ะกลม "การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น “มุสลิมที่ดี” และการแสวงหา “ชีวิตที่ดีกว่า” ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้" (Cultivating ‘Good Muslims’ and Seeking ‘a Better Life’ through Formal Education: Struggles and Initiatives in Education of Malay Muslims of Southern Thailand) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

โดยวิทยากรประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มะรอนิง สาแลมิง ผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาราชมนตรี เป็นเจ้าของโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา อ.เมือง จ.ยะลา อับดุลฮาฟิซ หิเล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา และดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงแรก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขา ศอ.บต. เสนอว่าสำหรับชาวมุสลิมแล้วนั้น การศึกษาคือหน้าที่ที่กำหนดไว้ในอัลกุรอาน อันเป็นธรรมนูญของชีวิต รัฐไม่ควรหวาดระแวงต่อการศึกษาของคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ แต่ควรมองว่าเป็นโอกาสและควรช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษาทั้งสายศาสนาและสามัญ รวมทั้งต้องทำให้พี่น้องเกิดความรู้สึกว่า  “มุสลิมก็สามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมุสลิม” อันจะเป็นหนทางสำคัญสู่การสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้

มะรอนิง สาแลมิง ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาราชมนตรี เป็นเจ้าของโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ที่ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปอเนาะที่กลายมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามว่า ที่ผ่านมาปอเนาะจะถูกควบคุมกำเนิดหรือต้องมาแปรสภาพมาโดยตลอด แต่ปอเนาะก็ยังอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ เนื่องจากปอเนาะคือวิถีชีวิตของผู้คน เป็นความเชื่อถือ เป็นสถาบันที่ขาดไม่ได้ของสังคมในการทำให้คนเป็นคนดี เหตุการณ์ในวันที่ 4 มกราคม 2547 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้ปอเนาะถูกจับตาและเพ่งเล็งอย่างหนักจากฝ่ายรัฐ ปอเนาะบางแห่งถูกปิด และรัฐบาลในยุคนั้นกำหนดให้ปอเนาะต้องมาจดทะเบียนอีกครั้ง เนื่องจากยังคงมองว่าปอเนาะเป็นสถานที่บ่มเพาะ BRN ข้อกำหนดการจดทะเบียนครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกที่เป็นการบังคับให้ยกเลิกหรือบังคับให้แปรสภาพ แต่ในครั้งนี้รัฐพยายามเข้ามาสนับสนุน และทำให้ปอเนาะมีความเป็นทางการมากขึ้น ในปีนั้นในระหว่างวันที่ 28 เมษายน จนถึงเดือนกรกฎาคม มีปอเนาะมาจดทะเบียนใหม่ถึง 249 แห่ง (อ่านรายละเอียด)

อับดุลฮาฟิซ หิเล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา นำเสนอถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2476 ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ จนถึงยุคปัจจุบันที่แม้ในปัจจุบันโรงเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างระบบการศึกษาของรัฐไทย มีการควบคุมหลักสูตร ประเมินคุณภาพ และให้งบประมาณอุดหนุนถึงขั้นเรียนฟรี แต่ถึงกระนั้น รัฐไทยก็ดูจะยังไม่ไว้วางใจโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยมักมีการตั้งแง่กับโรงเรียนอยู่เสมอในไม่ว่าจะเป็นในแง่คุณภาพการจัดการศึกษา ความโปร่งใสในการบริหารงาน หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาว่ามีส่วนในการสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐ

ที่ผ่านมารัฐอาจไม่ได้สนับสนุนความสามารถของนักเรียนในพื้นที่เท่าที่ควร มีกรณีที่เด็กนักเรียนได้แชมป์โลกอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งโรงเรียนท้องถิ่นก็ส่งไปแข่งกันเอง พอชนะได้รางวัล รัฐจึงมาเสาะหาตัวเด็กเพื่อจะให้รางวัล ทั้งนี้สามจังหวัดชายแดนใต้ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษามลายู และประตูไปสู่อาเซียนที่ใช้ภาษามลายูอีกด้วย ยังไม่นับว่าลูกหลานจากสามจังหวัดไปเปิดร้านต้มยำกุ้งที่ประเทศมาเลเซีย บริษัทไทยที่ไปลงทุนอินโดนีเซีย แทบทุกบริษัทก็มีการจ้างงานลูกหลานในพื้นที่ซึ่งไปเรียนจบที่อินโดนีเซียทั้งนั้น

อนึ่งท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชายแดนใต้ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่วยกันพัฒนาการศึกษาและสร้างร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติ เพื่อที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะได้ทำหน้าที่สร้างโอกาสในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ พร้อมๆ กับการทำหน้าที่ในการธำรงความเป็นมุสลิมที่ดีให้แก่เด็กนักเรียนด้วย

ดันย้าล อับดุลเลาะ จบการศึกษาจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำเสนอในเรื่องการปรับตัวของนักศึกษาจากชายแดนใต้ที่ออกไปเรียนต่างพื้นที่ นอกจากการปรับตัวเรื่องภาษาไทยแล้ว การอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง และผู้คนที่ไม่มีความละเอียดอ่อนต่อศาสนาอิสลามก็เป็นสิ่งท้าทายหนึ่ง และในบางครั้งพวกเขายังตกเป็นเป้าต้องสงสัยจากหน่วยงานด้านความมั่นคง จนนำมาสู่การบุกตรวจค้นที่พักอาศัยของพวกเขา ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจของทางบ้านที่ทำให้หลายคนต้องเรียนและทำงานส่งเสียตัวเองไปด้วยพร้อมกัน แต่ทั้งนี้ ท่ามกลางความยากลำบาก นิสิต/นักศึกษาเหล่านี้ก็ได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิต และในการธำรงไว้ซึ่งวัตรปฏิบัติทางศาสนา เช่น การรวมตัวผ่านชมรมมุสลิมในมหาวิทยาลัยต่างๆ การจัดกิจกรรมการกุศลทางศาสนาร่วมกัน ในเวทีนี้ตัวแทนนิสิต/นักศึกษาจะมาเล่าให้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตและทำงานในกรุงเทพฯ และในที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ ไปกับความสามารถในการธำรงตนเป็นมุสลิมที่ดี

โดยหลังจากวิทยากรนำเสนอแล้วเป็นช่วงตอบคำถามและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเสวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net