เกิดอะไรขึ้นเมื่อ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ไปยื่นเรื่องเปลี่ยน “วันชาติ” เป็นวันที่ 24 มิ.ย.

สรุปเหตุผล และเหตุการณ์ เมื่อเอกชัย หงส์กังวาน ต้องการไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ขอเปลี่ยนวันชาติกลับไปเป็นวันที่ 24 มิถุนายน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปกักตัวไว้ที่สำนักงานเขตบางกะปิ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารขู่ทนายความว่าถ้าเรื่องนี้เป็นข่าว จะพาตัวเอกชัย ไป มทบ. 11

ย้อนกลับไปช่วงหลังจากวันครบรอบ 85 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีแคมเปญรณรงค์เรื่องหนึ่งผุดขึ้นมาที่เว็บไซต์ Chang.org เป็นเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทย โดยผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญดังกล่าวมีชื่อว่า เอกชัย หงส์กังวาน

เขาให้รายละเอียดในแคมเปญดังกล่าว โดยสรุปใจความได้ว่า วันชาติถือเป็นวันสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นชาติ เกือบทุกประเทศในโลกกำหนดให้วันสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น วันประกาศเอกราช และวันก่อตั้งรัฐเป็นวันชาติ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้ผ่านเหตุการณ์ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของชาติ ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นนำมาซึ่ง พรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ การกำหนดให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นราษฎร

เพลงวันชาติ 24 มิถุนายน เวอร์เรียบเรียงเสียงประสานและขับร้องใหม่
จัดทำโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คำร้อง - ทำนอง : มนตรี ตราโมท
ประพันธ์เมื่อ พ.ศ.2483

ด้วยเหตุดังนั้น รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ส่งผลให้ไทยมีวันชาติเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ และมีการเริ่มเฉลิมฉลองวันชาติตั้งแต่ปี 2482 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามรัฐบาลเผด็จการภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีความพยายามรื้อถอนทำลายมรดกต่างๆ ของคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนการปกครอง เช่นการถอนหมุดคณะราษฎร(ครั้งแรก)ออกจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในปี พ.ศ. 2503 และในปีเดียวกัน รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ได้ให้เหตุผลกับการเปลี่ยนแปลงวันชาติในครั้งนั้นว่า เพื่อให้เป็นไปตามประเทศอื่นๆ ที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีการกำหนดให้วันชาติตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ของแต่ละประเทศ

ทำไมเอกชัย จึงเสนอให้เปลี่ยนวันชาติ

ข้อมูลในแคมเปญของเอกชัย ระบุว่า การกล่าวอ้างของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ เป็นการบิดเบื้อนความจริง เพราะ ในประเทศอังกฤษได้แบ่ง วันชาติออกเป็น 2 วันคือ วันชาติอังกฤษ และวันสหราชอาณาจักร (อังกฤษ-ประเทศที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร) อังกฤษไม่มีการกำหนดวันชาติแบบตายตัว ส่วนใหญ่อังกฤษจะใช้วันนักบุญเซนต์จอร์จซึ่งตรงกับวันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็นวันชาติ ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2469
เนื่องจากวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2-วันนักบุญเซนต์จอร์จใกล้เคียงกัน อังกฤษจึงรวมวันเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อฉลองเป็นงานเดียว ขณะที่วันแห่งสหราชอาณาจักรคือ วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี หากปีใดมีเหตุการณ์สำคัญของราชวงศ์อังกฤษ วันสหราชอาณาจักรอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ. 2554 มีเหตุการณ์สำคัญของราชวงศ์อังกฤษคือ การแต่งงานของเจ้าชายวิลเลียมกับ แคเธอริน มิดเดิลตัน สหราชอาณาจักรจึงกำหนดให้วันฉลองการแต่งงานคือ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 เป็นวันสหราชอาณาจักรในปีนั้น

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ แบ่งวันชาติออกเป็น 3 วันคือ วันราชอาณาจักร (เนเธอร์แลนด์-ประเทศที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์), วันแห่งเสรีภาพ และวันกษัตริย์ (ราชินี) วันประกาศใช้ข้อตกลงแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Charter for the Kingdom of the Netherlands) คือ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ดังนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกำหนดให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามเนเธอร์แลนด์ได้รับการปลดปล่อยจากนาซีเยอรมัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ดังนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแห่งเสรีภาพ ส่วนวันกษัตริย์ (ราชินี) ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ (ราชินี) จะเป็นผู้กำหนด บางพระองค์ใช้วันเกิดของพระองค์ บางพระองค์ใช้วันขึ้นครองราชย์ของพระองค์

สำหรับเดนมาร์ก ไม่มีวันชาติ แต่มีการปรับให้วันรัฐธรรมนูญคือ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันชาติ ขณะที่สวีเดน พระเจ้ากุสตาฟที่ 1 ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2066 ดังนั้นสวีเดนจึงกำหนดให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันชาติ ส่วนญี่ปุ่นจักรพรรดิจิมมุเป็นจักรพรรดิ์พระองค์แรกของญี่ปุ่น พระองค์เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 660 ปีก่อนคริสตศักราช ดังนั้นญี่ปุ่นจึงกำหนดให้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันชาติ

มีเพียงประเทศไทย กับโอมานเท่านั้นที่กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของกษัตริย์เป็นวันชาติแทนการใช้วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

โดยเอกชัยระบุในตอนท้ายของแคมเปญว่า หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้วันชาติว่างลง ด้วยเหตุนี้ไทยจึงควรกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ขณะที่วันสำคัญของราชวงศ์ควรกำหนดให้เป็นวันสำคัญอื่นแทน

เอกชัยตั้งแคมเปญดังกล่าวขึ้น พร้อมแชร์ลิ๊งค์ไปที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา เพื่อชวนผู้ที่เห็นด้วย หรือเห็นเช่นเดียวกันกับมาร่วมลงชื่อ โดยล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญของเขา 235 รายชื่อ

เกิดอะไรเมื่อ “เอกชัย” เตรียมนำรายชื่อ พร้อมข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติไปยื่นที่สำนักนายกรัฐมนตรี

เอกชัย โพสต์เฟซบุ๊กเมือวันที่ 1 กรกฎาคม เวลา 19.40 น. ระบุว่า ในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม เขาจะเดินทางไปยื่นหนังสือกรณีดังกล่าว 2 แห่ง โดยเวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อของผู้สนับสนุนให้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น 11.00 น. จะไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติเพื่อกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันคณะราษฎรเพื่อร่วมรำลึกวีรกรรมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 85 ปีที่ผ่านมา

3 กรกฎาคม เวลา 15.15 น. เอกชัย ระบุว่า รถตู้จากสำนักงานเขตบางกะปิ 1 คันมาจอดที่หน้าบ้านของเขา มีทหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตบางกะปิอีก 4 คนเดินทางมาหาเขาที่บ้าน

“พวกเขาอ่านเจอโพสท์ที่ผมต้องการจะยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติจึงแจ้งจะรับหนังสือของผมโดยตรงอย่างไรก็ตามผมปฏิเสธความหวังดีของพวกเขา เนื่องจากผมต้องการไปยื่นหนังสือนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยตนเองในวันพรุ่งนี้ ตอนนี้พวกเขายังคงนั่งอยู่ในรถตู้เฝ้าหน้าบ้านของผม ไม่รู้พวกเขาจะอยู่อีกนานแค่ไหน” เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

4 กรกฎาคม วันที่เอกชัยระบุว่า จะเดินไปยื่นหนังสือพร้อมกับรายชื่อที่ทำเนียบรัฐบาล และที่องค์การสหประชาชาติ แต่เวลา 04.00 น. เขาพบว่ามีรถกระบะสีเทามาดักรอเขาที่บริเวณหน้าบ้าน 05.10 น. เขาเดินทางออกจากบ้านเพื่อขะไปยื่นหนังสือตามกำหนดเวลา แต่กลุ่มชาย 4 คนที่อยู่ในรถกระบะก็ปรากฎตัวออกมา วิ่งมาหาเขา และไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใคร เขาพยามขัดขืนชาย 4 คนนั้น ซึ่งตอนหลังทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามแย่งโทรศัพท์มือถือไปจากมือของเขา จนทำให้จนนิ้วมือของเขาเป็นแผล และเจ้าหน้าที่ขับรถกระบะคนดังกล่าวมาเทียบถนน จากนั้นก็ลากตัวเอกชัยขึ้นรถกระบะอย่างรวดเร็ว
เวลา 5.30 น. เอกชัยถูกพาตัวมาที่ สน.ลาดพร้าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเขาไปควบคุมไว้ในห้องประชุมด้านหลังสถานีตำรวจ เอกชัยระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 คนเดินเข้า-ออกห้องประชุมนี้ตลอดเวลา พร้อมกับพยายามโน้มน้าวให้เขายื่นหนังสือนี้ที่สำนักงานเขตบางกะปิแทน แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เวลา 6.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คนพาเอกชัย ขึ้นรถกระบะสีดำเพื่อไปยังสำนักงานเขตบางกะปิ

“แม้จะเป็นเวลาเช้ามืด แต่เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนเข้ามาทำงานในนี้ แม่บ้านเสริฟท์น้ำดื่มให้ ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ ตำรวจ 4 คนเดินเข้า-ออกห้องประชุมนี้ตลอดเวลา ผมไม่ได้อนุญาตให้โทรศัพท์หาผู้ใด พวกเขารอการมาของทหาร” เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

เวลาเกือบ 8.00 น. เอกชัยระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินเข้ามาให้ห้องประชุม และพยายามสัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ผมต้องการยื่นนหนังสือนี้ เอกชัยเล่าถึงประวัติศาสตร์วันชาติหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ทหารแสดงสีหน้าถึงความไม่รู้ในประวัติศาสตร์นี้ เอกชัยชี้แจงให้เห็นถึงการยกเลิกวันชาติในปีนี้หลังการสิ้นพระชนม์ของ รัชกาลที่ 9 แต่เจ้าหน้าที่ทหารเสนอให้ใช้วันคล้ายวันพระราชสมภพของ รัชกาลที่ 10 เป็นวันชาติแทน เอกชัยพยามที่จะอธิบายเหตุผลของตนเองอีกครั้ง โดยยกรายละเอียกมาจากข้อมูลที่เขาเขียนลงในเว็บ Chang.org

“ไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อวันชาติ แม้วันที่ 5 ธันวาคมจะเป็นวันชาติ แต่คุณค่าของวันนี้ถูกกลบทับด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษา” เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

เอกชัย ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารพยายามสัมภาษณ์ถึงความคิดเห็นทางการเมือง เขาจึงชี้แจ้งความคิดของเจขาให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจฟังว่าเหตุใดเขาจึงไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร โดยยกตัวอย่างกรณีการเร่งรัดโครงการรถไฟไทยจีน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจดูเหมือนจะเข้าใจสิ่งที่เข้าอธิบาย แต่ก็ยังคงพยายามเกลี่ยกล่อมให้เขายื่นหนังสือที่สำนักงานเขต ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งขู่ว่า จะส่งตัวเขาไปที่ มทบ.11

เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารเดินออกจากห้องประชุม แต่ตำรวจยังคงเฝ้าเอกชัยอยู่ เขายังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับผู้ใด เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเกลี้ยกล่อมเขาเช่นเดิม แต่เขายังยืนยันคำตอบเดิม

เวลา 12.30 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ห้องประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้สึกแปลกใจที่ทนายความทราบสถานที่กักตัวเอกชัย

เวลา 14.00 น. การเจรจาเริ่มผ่อนคลาย เอกชัยตัดสินใจที่จะมอบหนังสือนี้ให้กับสำนักงานเขตบางกะปิผ่านทหาร ขณะที่หนังสือร้องขอ UN ให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันคณะราษฎร จะยื่นที่ UN ในภายหลัง และเอกชัยได้รับการปล่อยตัวออกจากสำนักงานเขตบางกะปิในเวลา 14.30 น.

วันเดียวกันนั้น อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เดินทางไปพบกับเอกชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเขาขู่ว่าถ้าเรื่อง เอกชัย เป็นข่าว หรือมีคนมาที่สำนักงานเขตบางกะปิจำนวนมาก ทหารจะนำตัวเอกชัยไป มทบ 11 ทันที

5 กรกฎาคม เอกชัยเดินทางออกจากบ้านไปที่องค์การสหประชาชาติ โดยไปถึงบริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติในเวลา 09.30 น. เขาเดินมาถึงด้านหน้าของประตู จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 คนเดินเข้ามาหาเขา ขณะที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอีก 5 คนยืนมองเขาอยู่ที่ริมกำแพงองค์การสหประชาชาติ

“ตำรวจที่รู้จักผมเดินเข้ามาทักทายผม ผมจึงถามถึงเหตุผลที่ตำรวจจำนวนมากต้องมารอผมที่นี่ พวกเขาแจ้งถึงความต้องการดูแลความปลอดภัยให้กับผม ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผมมีความสำคัญถึงขั้นตำรวจ 10 คนต้องการอารักขาผมที่ด้านหน้าของประตู UN หากที่นี่เป็นหน่วยงานรัฐ ผมคงถูกหิ้วไปปรับทัศนคติตามเคย” เอกชัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว

อย่างก็ตามเอกชัยได้ เข้าไปยื่นเรื่องกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติตามที่เขาต้องการ และได้กลับออกมา และเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท