85 ปี 24 มิถุนายน 2475: ณัฐพล ใจจริง “เมื่อระบอบเปลี่ยน ปากก็เปิด”

'ณัฐพล ใจจริง' ฉายภาพความรู้สึกนึกคิดและท้องถิ่นผ่านสายตาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย้ำ ส.ส. มีคุณภาพ เป็นปากเสียงให้แก่ราษฎรที่ในระบอบเดิมไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อระบอบเปลี่ยน ปากก็เปิด

ณัฐพล ใจจริง

เนื่องในวันครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน รายงานการสัมมนาชิ้นนี้คือส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในหัวข้อ ‘การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยณัฐพล ใจจริง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้แสดงให้เห็นความรู้สึกนึกคิด ภาพ และชีวิตของท้องถิ่นของสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“หัวข้อที่จะพูดวันนี้คือมองชีวิตของท้องถิ่นผ่านสายตาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง หลัง 24 มิถุนายน 2475 วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการพูดถึงการกำเนิดของสถาบันทางการเมืองเรื่องรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญอย่างไร ประการที่ 2 พูดถึงเรื่องความรู้สึกนึกคิด การเป็นปากเป็นเสียงของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนเมื่อปี 2475

“กล่าวอีกอย่างคือผมจะพูดถึงเรื่องภาพหรือชีวิตของท้องถิ่นผ่านสายตาของผู้แทนราษฎรที่มีต่อสาธารณะ กล่าวคือสิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นทำก็คือสิ่งที่เสนาบดีสภาไม่สามารถทำได้ ก็คือไม่สามารถวิจารณ์ฝ่ายบริหารได้เลย แต่สภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้

“ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในยุคนั้นเป็นยังไง เหมือนในหนังสือที่รัฐบาลในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองทำก็คือ เขาต้องการยกสถานะราษฎรหรือพสกนิกรให้เป็นพลเมือง จึงทำหนังสืออกมาแจกจ่ายมากมาย ข้อความสำคัญที่ปรากฏอยู่ในนั้นก็คือ ทุกวันนี้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญได้แสดงการรับรู้สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวสยามไว้อย่างแจ้งชัด รัฐธรรมนูญทำลายการแบ่งชั้นระหว่างบุคคลเสียสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญให้ความเสมอภาค เสรีภาพแก่บุคคลทุกคนโดยถ้วนหน้ากัน รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีบ่าว แต่ต้องการให้คนทุกคนเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง

“นี่คือข้อความที่ปรากฏอยู่ในคู่มือพลเมืองที่พิมพ์แจกในปี 2479 เหตุการณ์ในวันนั้นก่อให้เกิดสถาบันการเมืองที่สำคัญที่เรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร นั่นก็คืออนันตสมาคม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่นั่นในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 4 วันหลังจากวันนี้เมื่อ 85 ปีที่แล้ว

“ในวันนี้จะพูดถึงเอกสารสำคัญก็คือรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 ปี 2475 ทำไม 28 มิถุนายนจึงสำคัญ วันที่ 28 มิถุนายน เกิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงบ่าย 2 ตอนนั้นมีเพียงสภาเดียว มีสมาชิกอยู่ 2 ประเภทคือสมาชิกประเภทที่ 1 ยังไม่มา กับประเภทที่ 2 คือแต่งตั้งมี 78 คน แต่งตั้งแล้วโดยรัฐบาลสมัยนั้น เมื่อเปิดประชุมสภาสิ่งสำคัญคือข้อความของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร กล่าวไว้ว่า บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบการงานปกครองแผ่นดินที่ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไป

“มันแปลว่าอำนาจทั้งหมดที่พระยาพหลฯ ยึดไว้ได้ มอบให้สภาผู้แทนราษฎร ณ วันนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุด ผมอยากให้นักรัฐศาสตร์หรือนักกฎหมายไปคิดเรื่องนี้หรือขยายความเรื่องนี้ให้มากขึ้น นี่คือสภาวะที่อาจจะไม่เคยมีอยู่หลังจากนั้นเลย ซึ่งบางคนก็บอกว่านี่คือรูปแบบของ National Assembly สภาแห่งชาติ

“ในสมัยแรกเรามีสภาผู้แทน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง เลือกตั้งในปี 2476 หลังกบฏบวรเดช ประมาณเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนก็ยังมีทั้งดีใจและหวาดกลัว ส.ส. ที่เข้ามาจึงมีทั้งข้าราชการและคนหนุ่มสาวคละกันไป ประเภทที่ 2 เป็นผู้แทนจากการแต่งตั้งมี 78 คน 2 แสนคนต่อผู้แทน 1 คน

“ระบอบใหม่สร้างอะไรไว้บ้าง สิ่งที่สำคัญวันนี้ผมจะพูดถึงสภาผู้แทนราษฎร ได้สร้างสภาหรือสถาบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนในการออกกฎหมายและตรวจสอบรัฐบาล มีเอกสารต่างๆ ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรที่รายงานต่อสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลในระบอบเก่าไม่จำเป็นต้องรายงานการดำเนินงานให้แก่ประชาชนทราบ เมื่อระบอบใหม่เกิดขึ้น ความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายปกครองก็เปลี่ยนแปลงไป เขาต้องทำหน้าที่รายงานต่อสาธารณะ รัฐบาลมีหน้าที่ตอบคำถาม ไม่ใช่ตั้งคำถาม

“วันนี้จะพูดถึงปาฐกถาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องสภาพจังหวัดต่างๆ สำคัญอย่างไร สำนักโฆษณาการได้ส่งเสริมให้เกิดความคิดอย่างใหม่กับประชาชนของรัฐประชาชาติด้วยการแนะนำให้สมาชิกของรัฐประชาชาติทราบและรู้จักประเทศของตัวเอง พูดง่ายๆ คือหนังสือเล่มนี้เชิญผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทั้งหมดมาเล่าสภาพการณ์จังหวัดของตัวเองผ่านวิทยุ อีกอย่างคือเขากำลังแนะนำให้คนในประชาชาติได้รู้จักจังหวัดต่างๆ บ้าง ก่อนหน้านี้เขาไม่รู้จักเลย ความรู้จักจะอยู่ในหมู่เสนาบดีหรือบรรดาข้าราชการ แต่เมื่อระบอบเปลี่ยนแล้ว ประชาชนในชาติเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องรู้จักมิตรที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คุณเป็นเจ้าของขอบเขตนี้แล้ว คุณต้องรู้จักเขา

"ข้อความของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร กล่าวไว้ว่า บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบการงานปกครองแผ่นดินที่ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไป"

“สิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนความภูมิใจ ความมีดี ว่าจังหวัดของตัวเองมีอะไรดีก็มาเล่าให้ประชาชนฟังผ่านวิทยุ เล่าลักษณะทั่วไป ลักษณะชาติพันธุ์ นิสัยใจคอ การประกอบอาชีพ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิจารณ์รัฐบาลระบอบเก่าด้วย เป็นการทำให้เสียงของประชาชนดังออกมาผ่านวิทยุ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการสื่อสารทางการเมืองช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าวิทยุจะถูกสร้างขึ้นโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ถูกใช้อย่างมากในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่คือสื่อใหม่ในตอนนั้น รวมทั้งแนวคิดใหม่ของ ส.ส. ที่ต้องการสร้างความเจริญให้กับผู้คน มี ส.ส.กาญจนบุรี เรียกร้องให้สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น ส.ส. ไม่ใช่คนที่ไม่รู้เรื่องอย่างที่เราได้ยินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“นี่คือ ส.ส. บางคนที่ผมเลือกมาแนะนำ เมื่อ 85 ปีที่แล้ว คนพวกนี้ได้เข้าพบพระยาพหลฯ และปรีดีก็บอกพวกเขาว่า ผมขอเรียกพวกท่านว่า พี่ๆ พูดง่ายๆ คือเรียกคณะ ร.ศ.130 ที่พ่ายแพ้ในปี 2455 ให้เข้าพบที่อนันตสมาคม

“สมาชิก ร.ศ.130 หลังจากถูกปลดปล่อยแล้วก็ไปประกอบอาชีพอย่างอื่น แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกเขาลงสมัครผู้แทนราษฎร เช่น ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส เป็น ส.ส.ปราจีน ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ เป็น ส.ส.พัทลุง แสดงว่าพวกเขาก็ยังผูกพันกับระบอบที่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งนั้น

“ในวันที่เขาออกรายการวิทยุ สอน วงศ์โต ส.ส.ชัยนาท บอกว่า ชะตากรรมของเมืองชัยนาทเหมือนเมืองลี้ลับ ไม่มีใครรู้จัก เป็นเหมือนเมืองที่นอนหลับ การคมนาคมทางบกก็ไม่มี เป็นเหมือนเมืองพระอภัยมณี ถนนไม่มี ออกจากเมืองก็เข้าป่า ออกจากป่าก็เข้าเมือง แสดงว่าในเวลานั้นคนสยามไม่รู้จักจังหวัดต่างๆ เลย ทำไมรัฐบาลก่อนหน้านั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนรู้จักดินแดนต่างๆ หรือว่าไม่ใช่หน้าที่ของราษฎรที่ต้องรู้จัก แต่รัฐบาลในระบอบใหม่ต้องการให้ประชาชนในประชาชาติรู้จักดินแดนต่างๆ

“มรดกคณะราษฎรอย่างหนึ่งคือการสร้างการคมนาคมแบบใหม่ ซึ่งก็คือถนน มีการตัดถนนมากมายหลัง 2475 อาจเป็นเพราะว่า ส.ส. พวกนี้เริ่มบ่น เพราะก่อน 2475 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชเน้นการสร้างทางรถไฟ แต่ทางรถไฟคือรากแก้ว มันไม่มีรากฝอย ส.ส. บางคนบอกว่า จังหวัดเขาไม่มีถนนเลย ต้องออกทางทะเลอย่างเดียว เหมือนจังหวัดเขาเป็นเกาะ

“ถัด รัตนพันธุ์ บอกว่าอยากจะพูดภาษาใต้มาก แต่เกรงใจว่าจะฟังกันไม่ออก นิสัยคนพัทลุงอย่าถาม ไม่อยากบอก ไปพิสูจน์เอง ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์พัทลุงคือมักจะมีโจรเยอะ

“ผู้แทนจังหวัดเลยบอกว่า จังหวัดเลยเหมือนกับไซบีเรียแดนสยาม ไม่มีใครอยากถูกส่งไปเป็นผู้ว่า นายอำเภอ เพราะว่าไปแล้วตายไม่ได้กลับ ไข้ป่าเยอะ ถนนทุกสาย ชาวบ้านทำเอง ทั้งจังหวัดมีหมอคนเดียว เขาเรียกร้องรัฐบาลระบอบใหม่ให้เข้ามาแก้ปัญหา คุณคิดว่าเขาจะกล้าพูดมั้ยในการประชุมเสนาบดีสภา นี่คือบรรยากาศใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้แทนราษฎรกล่าวถึงปัญหาของราษฎร

“ส.ส.นครสวรรค์ สวัสดิ์ ยูวะเวส บอกว่า ปากน้ำโพเจริญด้วยพระเพลิง อยู่กันแออัดมาก กาฬโรคระบาด หนูชุม ทุกวันนี้หนูน้อยลงเพราะไฟไหม้ตลาด เลยต้องสร้างเมืองใหม่จึงสะอาดขึ้น เขายังบอกอีกว่าถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยวผจญภัย ถ้าคุณยังไม่มาปากน้ำโพ คุณยังไม่เป็นนักผจญภัยที่แท้จริง พอตกค่ำ บ้านเมืองก็สวยงาม มีร้านรวงเยอะแยะ คนเดินเล่นมากมาย คุณคิดว่าเรื่องแบบนี้จะกล้ารายงานขึ้นมาถึงเสนาบดีหรือเปล่า

“แต่เมื่อระบอบเปลี่ยน ปากก็เปิด

“ผู้แทนปัตตานีก็มาเล่าเหมือนกัน แทน วิเศษสมบัติ บอกว่าพลเมืองส่วนใหญ่เป็นอิสลาม คนพุทธส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ถ้ามีคนพุทธก็อพยพมาจากเมืองพัทลุง

“ส.ส.สตูล พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ บอกว่าสตูลเป็นเหมือนเกาะ ไม่มีเส้นทางทางบกระหว่างจังหวัด อยากจะติดต่อจังหวัดอื่นต้องไปทางทะเล พลเมืองส่วนใหญ่เป็นอิสลาม แต่ส่วนใหญ่ยังนับถือผีและเวทมนตร์ พลเมืองส่วนใหญ่ชอบประกอบกิจทางศาสนา อาชญากรรมร้ายแรงไม่มี ไม่เสพของมึนเมา

“ผู้แทนจากชัยภูมิบอกว่า ชัยภูมิของข้าพเจ้าต่างจากจังหวัดพระนครเหมือนวิมานเทวดากับกระท่อมยาจก แม้ท่านจะโดยสารทางรถไฟจากนครราชสีมา ต้องพัก 1 คืนแล้วยังเหลือระยะอีกไกลแสนไกลกว่าจะถึงจังหวัดข้าพเจ้า ขอบคุณพระยาพหลฯ ที่มีนโยบายจะตัดถนนจากบัวใหญ่ถึงชัยภูมิ การเลี้ยงเด็กก็เลี้ยงตามมีตามเกิด ตายฝังยังเลี้ยง คือตายก็ฝัง ยังไม่ตายก็เลี้ยงไป พลเมืองชัยภูมิเป็นคนสุภาพ อาชญากรรมไม่มี ชอบทำตามประเพณี

“มนูญ บริสุทธิ์ ส.ส.สุพรรณบุรี ปี 2476 ถามรัฐบาลว่า เมื่อไหร่รัฐบาลจะวางหลักการเรื่องคดีปกครองเสียที เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดหรือกลั่นแกล้งชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรมมาลงโทษ เรามี พ.ร.บ.ศาลปกครองตอนปี 2542 คนนี้เรียกร้องเมื่อ 80 ปีที่แล้ว นี่คือคุณภาพของ ส.ส. ในยุคแรก

“ผมอยากจะพูดถึงคุณูปการของ 24 มิถุนายน มีคนอีสานคนหนึ่งเป็นชาวร้อยเอ็ด ต่อมาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนหัวไร่ปลายนา เข้ามาเรียนหนังสือ จนเติบโตเป็น ส.ส. ได้กล่าวถึงคุณูปการของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า บุคคลคณะหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะขอขอบคุณเขาเป็นอย่างยิ่งก็คือคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะด้วยระบอบนี้ที่ช่วยชุบชีวิตคนบ้านนอกอย่างข้าพเจ้าให้มาเป็นชาวเมือง วันหนึ่งเมื่อโอกาสเปิดให้ ข้าพเจ้าจะใคร่กลับบ้านเพื่อสมัครรับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร ผู้ที่พูดนี้คือถวิล อุดล

“นี่คือความสำนึกของผู้แทนสมัยนั้นที่รู้สึกว่าวันนี้มีความสำคัญ ทำให้เขาเปลี่ยนจากนายเถื่อนเป็นคนเมือง

“สุดท้าย อยากจะกล่าวยืนยันของความสำคัญของวันนี้ก็คือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย หากไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับราษฎรมากที่สุด ตราบนั้นระบอบประชาธิปไตยก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ ในสมัยนั้นถั่วราคาไม่แพง ดังนั้น ในสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ต้องปลูกถั่วในสภา เนื่องจากทุกวันนี้เราจะเห็นการมีฝักถั่วในรัฐสภา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท