สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: หนังสืองานศพคณะราษฎร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/news/582057
 

บทความเรื่อง “อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือศิลปวัฒธรรม เล่มใหม่ (มิถุนายน 2560) ถือว่าเป็นบทความที่น่าสนใจมาก ในยุคสมัยที่หมุดคณะราษฎรได้ถูกขุดและหายสาบสูญไปในปีนี้ บทความเรื่องนี้ จึงถือเป็นบทความเชิงสำรวจข้อมูลชั้นต้นเกี่ยวกับคณะราษฎร และเป็นบทความเรื่องแรกที่พยายามเล่าเรื่องประวัติศาสตร์คณะราษฎรผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพ

คณะราษฎร ที่เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เริ่มก่อตั้งในฝรั่งเศส ราว พ.ศ.2469 โดยเริ่มต้นจาก ปรีดี พนมยงค์ และ ประยูร ภมรมนตรี ต่อมา ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) เข้าร่วมด้วย ในการเปิดประชุมทางการครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 (ปฏิทินเก่า) มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน นอกเหนือจาก 3 คนแรกแล้ว อีก 4 คน คือ หลวงศิริราชไมตรี ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ตั้ว ลพานุกรม และ แนบ พหลโยธิน ซึ่งกำหนดให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าคณะชั่วคราว บุคคลสำคัญต่อมาที่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมที่สำคัญคือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) ซึ่งต่อมาจะเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ

หลังจากนั้น แม้ว่านักเรียนนอกเหล่านี้จะกลับมาประเทศไทยแล้ว แต่โอกาสที่จะก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังไม่เห็นทาง จนกระทั่งประยูร ภมรมนตรี ประสบความสำเร็จในการชักชวนนายทหารบก 4 คนเข้าร่วม คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช(เทพ พันธุมเสน) พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) พระยาพหลฯจึงรับตำแหน่งหัวหน้าคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดช เป็นรองหัวหน้าคณะ แต่เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นผู้วางแผนยึดอำนาจ จนทำให้การปฏิวัติ 24 มิถุนายน ประสบความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้พยายามรวบรวบประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากหนังสืออนุสรณ์งานศพมาแล้ว นั่นคือ คุณธีรัชย์ พูลท้วม ซึ่งมิได้เป็นนักประวัติศาสตร์ และมิได้เป็นญาติของผู้ก่อการ 2475 แต่เป็นผู้ที่เกิดใน พ.ศ.2475 และมีเห็นว่าคณะราษฎรเป็น “คณะบุคคลที่กล้าหาญเสี่ยงต่อชีวิตไม่เฉพาะตนเองเท่านั้น หากรวมไปถึงครอบครัวด้วย เพื่อที่จะนำประชาธิปไตยสู่ประเทศ” คุณธีรัชย์ พูลท้วม ได้ใช้ความพยายามในการรวบรวมเรื่องราวจากหนังสืองานศพ มาเรียบเรียงมาเป็นหนังสือ “ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475” คุณธีรัชย์ พูลท้วม ได้มาทำงานกับ กลุ่มบริษัทสุราทิพย์ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งแต่ พ.ศ.2517 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2539 เป็นเวลา 22 ปี ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงนำมาเป็นหนังสืองานศพชองคุณธีรัชย์ ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2539 ซึ่งในหนังสือขนาดยาวเล่มนี้ ยังมีเรื่องประวัติอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ประกาศพระบรมราชโองการและประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี, ทำเนียบนายกรัฐมนตรีและรายนามคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ สรุปเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรอบ 60 ปี และ เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 7 ฉบับได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดกวีนิพนธ์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 บทประพันธ์ของ นายฉันท์ ขำวิไล และประกาศปรารภสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น

สำหรับงานของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เริ่มต้นเรื่องด้วยการเสนอปัญหาเรื่องการรวบรวมรายชื่อผู้ก่อการคณะราษฎร ซึ่งส่วนมากจะยึดตามรายชื่อของนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งต่อมา ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ สรุปได้102 รายชื่อ แต่ความจริงรายชื่อผู้เข้าร่วมก่อการน่าจะมากกว่านั้น เพราะนายประยูรรวบรวมรายชื่อเฉพาะชั้นสัญญาบัตร อย่างน้อยที่สุดในหนังสือมานานุกรม พ.ศ.2480 ก็มีรายนาม”ผู้ตั้งกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ทำให้มีชื่อเพิ่มมาอีก 17 คน แต่ก็ยังมีรายชื่อที่ยังไม่ได้เข้ารวมในรายชื่อคณะราษฎร เช่น กระจ่าง ตุลารักษ์ น้องชายของนายสงวน ซึ่งอธิบายตนเองว่าเป็น “คณะราษฎรคนสุดท้าย” ก็ไม่มีรายชื่อในบัญชีใด และในฝ่ายทหารเรือ ก็ยังมีรายชื่ออีก 4 คน ที่นัดก่อการไว้ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน แต่พอเลื่อนกำหนดเป็น 24 มิถุนายน จึงตามกันไม่ทัน และยังมีรายชื่อของทหารเรือชั้นผู้น้อยที่เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อ และยังมีบางราย เช่น พระสิทธิเรืองเดชพล ที่ถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏเมื่อ พ.ศ.2481 ก็เคยถูกอ้างว่าเป็นผู้ร่วมมือกับคณะราษฎรในสายพระยาทรงสุรเดชด้วย

ต่อมา บทความของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ก็ได้เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของคณะราษฎร เกี่ยวข้องกับหนังสืองานศพ เช่น ในงานพระราชทานเพลิงศพของพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อ พ.ศ.2490 จะวันที่คณะผู้ก่อการได้มาพบกัน และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการพบกันของปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะหลังจากนั้น จะเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ที่ทำให้เส้นทางชีวิตของผู้นำคณะราษฎรทั้งสองคนแยกออกจากกัน
พระยาทรงสุรเดช ต้องลี้ภัยไปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2481 และถึงแก่กรรมที่กัมพูชาเมื่อ พ.ศ.2487 ฌาปนกิจที่วัดปทุมวดี พนมเปญ แต่เมื่อสงครามเอเชียบูรพายุติลง อัฐิได้นำกลับมาทำพิธีอย่างสมเกียรติที่วัดพระศรีมหาธาตุ และ ปั่น แก้วมาตย์ ส.ส.นครพนม ได้เขียนเรื่อง “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2490

สำหรับพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ไปเป็นอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลิน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และยังคงอยู่ในเยอรมนีจนถึง พ.ศ.2488 เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามและกองทัพโซเวียตเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน พระประศาสน์พิทยายุทธถูกจับตัวเป็นเชลย เพราะถือว่าประเทศไทยเข้าสงครามในฐานะฝ่ายอักษะ โซเวียตจึงปฏิบัติในฐานะชนชาติศัตรู ต่อมา เมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับ ก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง “225 วันในคุกรัสเซีย” และเป็นผู้เล่าเบื้องหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2492

ในบทความของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ยังได้เล่าถึงชีวิตและหนังสืองานศพของผู้ก่อการคณะราษฎรคนอื่น ก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎรสายทหารบกคนสำคัญ ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 คนแรกของคณะราษฎร ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2476 พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ซึ่งเสียสละชีวิตในกรณีกบฏบวรเดช ตุลาคม พ.ศ.2476 นอกจากนี้ก็คือ หลวงอดุลเดชจรัส หลวงกาจสงคราม หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และ ขุนศรีศรากร ซึ่งมีเรื่องเล่าอันน่าสนใจ

สำหรับสายทหารเรือ งานสำคัญ คือข้อเขียนของ น.อ.หลวงศุภชลาศัย เรื่อง “จอมพลในทัศนะของข้าพเจ้า” ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ.2492 นอกจากนี้ เรื่องที่เด่นมากคือ บันทึกของ พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ที่เล่าถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงกรณีกบฏวังหลวง พ.ศ.2492 และ งานเขียนของ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เรื่อง “กุหลาบ เพื่อนตาย 24 มิถุนายน 2475” ในหนังสืองานศพของ กำลาภ (กุหลาบ) กาญจนสกุล นอกจากนี้ คือ นิทานชาวไร่ ของ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี

ในสายพลเรือน หนังสืองานศพของควง อภัยวงศ์ เรื่อง “เรื่องราวของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์”ก็น่าสนใจอย่างมาก เล่ากันว่า คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เรียบเรียงตามคำบอกเล่าของนายควง แต่เล่มที่โดดเด่น คือ “ชีวิตห้าแผ่นดินของข้าพเจ้า” เขียนโดย ประยูร ภมรมนตรี นอกจากนี้ คือ หนังสืองานศพของ สงวน ตุลารักษ์ และ บุญล้อม(ปราโมทย์ พึ่งสุนทร) เล่าเรื่องของขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ท้ายที่สุด บทความนี้ยังได้รวบรวมรายชื่ออนุสรณ์งานศพของภรรยา ผู้ก่อการคณะราษฎร อีก 12 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสืออนุสรณ์งานศพของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เล่าเรื่องราวเอาไว้มากมาย

สรุปแล้วในโอกาส 24 มิถุนายน พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 86 ปี ของการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นการนำประเทศมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ จะขอระลึกถึงคณะราษฎร ผ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพเหล่านี้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 621 วันที่ 17 มิถุนายน 2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท