เมื่อดิฉันไปเยี่ยมไผ่ ดาวดิน: บันทึกจากอาจารย์คนหนึ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพประกอบถ่ายโดย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เมื่อ 26 มิถุนายน 2558 ขณะที่ไผ่และ นศ.กลุ่ม NDM
ถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมที่ สวนเงินมีมา ถนนเจริญนคร กรุงเทพฯ

บทบันทึกนี้เขียนขึ้นจากความทรงจำจากการที่ดิฉันได้เข้าเยี่ยมไผ่ ดาวดิน ที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น กลางเดือนมิถุนายน 2560 หลังจากที่ไผ่ ถูกปฏิเสธการประกันตัวตั้งแต่ประมาณกลางธันวาคม 2559 เป็นเวลากว่า 6 เดือน

ระบบการเข้าเยี่ยมค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ให้บริการที่รวดเร็ว สิ่งที่น่าสนใจคือมีการบันทึกภาพผู้เข้าเยี่ยมที่ช่องติดต่อขอเยี่ยม คาดว่าเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย  เท่าที่สังเกตเห็น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความสุภาพดีกับทุกรายที่มาติดต่อ

ก่อนเข้าเยี่ยมต้องฝากของไว้ในล็อคเกอร์ รอเรียกเข้าพร้อมกันทีละหลายๆคน โดยเจ้าหน้าที่ จะประกาศว่า “ญาติของ....” เตรียมเข้าเยี่ยม พอได้ยินว่า “ญาติของ "นักโทษชายจตุภัทร บุญภัทรรักษา..” ก็ตื่นเต้นเพราะรู้สึกเป็นเกียรติอย่างประหลาด— เราเป็นญาติกับ “ไผ่ ดาวดิน”

ในระหว่างเข้าแถวรอ ตั้งใจไว้ว่าจะไม่พูดมาก อยากถามไผ่ว่าข้างในเป็นอย่างไรบ้าง  อยากได้ยินเสียงของเขา ความคิดของเขามากกว่า รู้สึกดีใจที่จะได้เจอเขาอีกครั้ง แต่พอก้าวพ้นประตูเข้าไปข้างใน สิ่งแรกที่เห็นผ่านห้องกระจกนั้นคือรอยยิ้มกว้างบนใบหน้า รอยยิ้มเดิมๆ แก้มบุ๋มๆ ดวงตาสุกใส  แต่ผิวที่ดูคล้ำและตัวเล็กลง ทำให้รู้สึกวูบในใจและน้ำตารื้นขึ้นมา อะไรบางอย่างในรอยยิ้มมีความเป็นเด็กชายตัวน้อยที่สะกิดความเป็นแม่ขึ้นมา 

เมื่อดิฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาจ่อหู สิ่งแรกที่พูดขึ้นมาคือ “คือจ่อยแถะลูก?”  นี่คือคำทักทายแบบคนบ้านเฮา  (คือจ่อยแท้ คืออ้วนแท้ ดำลงเนาะ ขาวขึ้นเนาะ) หลังจากที่ไม่ได้เจอกันนาน  เสียงที่ผ่านโทรศัพท์ไม่ค่อยชัด เหมือนมีคลื่นแทรก  ไผ่ไม่ได้ยิน และทักมาว่า “สวัสดีครับอาจารย์” ทำให้เรารู้ว่าเขาจำดิฉันได้  “ไผ่จำครูได้เหรอคะ?” ดิฉันถามกลับเป็นภาษากลาง ไผ่จำไม่ได้ว่าครูเว่าลาวกับไผ่ ครั้งแรกที่เราเจอกันเมื่อปี 2014 แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยเขาก็จำเราได้ หลังจากนั้นบทสนทนาก็เริ่มจากการถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกัน  ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างตอบไม่ถูก เพราะความทุกข์ในใจนั้นคงบรรยายลำบาก  ต่อไปนี้คือบางส่วนเท่าที่จำได้จากบทสนทนา

ไผ่ถามถึงความเป็นไปที่อุบลฯ ซึ่งดิฉันตอบว่าไม่มีอะไร  สอนหนังสือไป สอนภาษาอังกฤษ ภาษาศาสตร์ และพยายามสอนให้คิด ใช้เหตุผลไปด้วย ไม่ใช่แค่ภาษา  เมื่อถูกถามว่าเรื่องเรียนเป็นอย่างไร ไผ่ตอบว่าเหลือตัวเดียวคือรอสอบทักษะคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่ค่อยชำนาญโปรแกรมไมโครซอฟท์ เอกเซล แต่ก็พยายามเตรียมตัวอยู่  ไผ่บอกว่าในนั้นมีหนังสือให้อ่าน มีเพื่อนผลัดกันมาเยี่ยมทุกวัน  แล้วจู่ๆไผ่ก็ถามว่า “อาจารย์คิดว่าผมจะได้ออกมั้ยครับ?” ดิฉันอึ้งไปนิด ก่อนจะตอบในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจริงใจที่สุด นั่นคือ “ครูไม่รู้  แต่ครูอยากให้ไผ่รู้ว่า ครูและเพื่อนๆ อาจารย์ติดตามเรื่องของไผ่เสมอ ทั้งที่อยู่อุบลและที่อื่น ในเมืองไทย และนอกประเทศ เราเป็นกำลังใจให้ตลอด  เราเสียใจ  เราเหนื่อย แต่เราไม่เคยท้อ  เราจะรอวันที่ไผ่ออกมา  มาเยี่ยมพวกเราที่อุบลฯ เราไม่ควรต้องมานั่งคุยกันแบบนี้ ใช่มั้ย” แล้วไผ่ก็ผุดรอยยิ้มขึ้นมา แล้วบอกว่า “ใช่ครับ จิบเบียร์ไปด้วย” ดิฉันจึงแซวขึ้นมาว่า “ครูไม่ดื่ม”  ไผ่รู้ทันจึงตอบกลับ “อาจารย์ก็กินกาแฟไงครับ” แล้วเราก็พยักหน้าหัวเราะขึ้นมาเบาๆ ในขณะที่ดิฉันพูดเสริมว่า “ใช่ๆ เรานั่งเหยียดขาคุยกัน  กินแหนมหมูไปด้วย”

นอกจากนี้เราพูดถึงรางวัลกวางจู  ไผ่ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยเหลือ เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไผ่อยากฝากออกมา  ไผ่บอกว่า “ผมขออาจารย์อย่างที่บอกอาจารย์ธีร์ (อาจารย์อีกท่าน ที่เคยมาเยี่ยม) คือ อย่าทำให้การติดคุกของผมเสียเปล่า” ดิฉันรับปากว่า เราจะทำในที่สิ่งที่เราทำได้ และเป็นกำลังใจให้ไผ่และครอบครัวเสมอ ดิฉันบอกไผ่ว่าดิฉันไม่รู้จักพ่อแม่ไผ่ แต่อยากให้ไผ่บอกท่านว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จักไผ่และครอบครัวเป็นการส่วนตัว แต่เป็นกำลังใจให้ตลอดมาและคนเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

เราคุยกันต่อได้ไม่นานก็หมดเวลา

เมื่อเดินออกมาแล้วดิฉันคิดว่า นี่เราคุยอะไรบ้าๆบอๆอะไรกับไผ่เรื่องการนั่งคุยกัน จิบเบียร์ ทำไมไม่คุยเรื่องมีสาระ ดิฉันปลอบใจตัวเองด้วยความเชื่อว่า บางครั้งชีวิตอาจต้องการบทสนทนาไร้สาระเพื่อประคองหัวใจที่เหนื่อยล้า ได้ยิ้มออกมา จะได้มีแรงอยู่ต่อไปได้อีกวัน

ดิฉันออกจากห้องเยี่ยม ในระหว่างที่รอฝากเงินให้ไผ่จำนวนหนึ่งนั้น พบว่าอีกครอบครัวที่เข้าเยี่ยมพร้อมเรา รอฝากเงินด้วยธนบัตรยับยู่ยี่ จำนวน 200 บาท ให้ญาติที่อยู่ข้างในที่เหลือเงินในบัญชีเพียง 17 บาท ดิฉันบอกกับตัวเองว่าชีวิตมันแย่กว่านี้ได้อีก

หลังจากเสร็จจากการเยี่ยม ดิฉันนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์คันเก่าที่อดีตนักศึกษาที่กลายมาเป็นเพื่อนเป็นสารถี บึ่งไปกินส้มตำที่บึงแก่นนคร  ในระหว่างที่เรากินส้มตำ  ดิฉันนึกถึงไผ่  วันนี้ไผ่จะได้กินอะไร? จะได้กินสิ่งที่ชอบมั้ย? ..ทุกคำถาม ทุกความเจ็บปวด ล้วนแล้วแต่โยงกับมากับสิ่งที่เกิดขึ้นในวิถีประจำวัน ความเจ็บปวดกับคำถามที่ว่าเราจะผ่านแต่ละวันไปได้อย่างไร?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท