TCIJ: ปี 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินรับร้องเรียน 3,616 เรื่อง แต่ตัวเองไม่แจงการใช้งบก็ได้

รายงานพิเศษจาก TCIJ พบปี 2559 'สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน' (สผผ.) รับเรื่องร้องเรียน 3,616 เรื่อง มีหน้าที่ครอบจักรวาลตั้งแต่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปจนถึงการแก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ ทั้งนี้พบมีกฎหมายระบุ สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (หรือคำย่อ สผผ.)  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา สอบสวน และแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในกรณีที่มีข้าราชการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรือประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อ่านเพิ่มเติม จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน')

ทั้งนี้จาก รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ระบุว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 6,217 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ยื่นเรื่องเข้ามาในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 3,616 เรื่อง และเรื่องร้องเรียนที่ค้างจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2,601 เรื่อง ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ 3,417 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 54.96) เมื่อพิจารณาจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 (ปีที่ก่อตั้ง) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 39,911 เรื่อง มีการดำเนินการแก้ปัญหาจนแล้วเสร็จแล้ว 37,211 เรื่อง (ร้อยละ 93.23) และยังมีเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา 2,700 เรื่อง (ร้อยละ 6.77) ในด้านการจัดทำประมวลจริยธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพบว่ามีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 15,709 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14,606 หน่วยงาน (ร้อยละ 92.39) ของประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ และประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท มีจำนวน 8,022 หน่วยงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7,626 หน่วยงาน (ร้อยละ 95) ของประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทที่ต้องดำเนินการ

เมื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ สผผ. รับไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำแนกตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำร้องเรียนมากที่สุด 10 อันดับแรก อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (811 เรื่อง) ตามมาด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (651 เรื่อง), องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (609 เรื่อง), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (272 เรื่อง), กระทรวงศึกษาธิการ (233 เรื่อง), กระทรวงคมนาคม (210 เรื่อง), กระทรวงยุติธรรม (184 เรื่อง), กระทรวงการคลัง (124 เรื่อง), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (123 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (76 เรื่อง) ตามลำดับ  

หน้าที่ครอบจักรวาล: แก้ปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลการเกษตร (ก็ได้ด้วย?)

รู้หรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถแก้ไขปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ด้วย? ที่มาภาพ: รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 

หนึ่งในผลงานสำคัญที่ประชาชนอาจจะพิศวงสงสัยว่า ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ เข้ามาเกี่ยวข้องอะไร? นั่นก็คือการแก้ไขปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย โดยเรื่องนี้เกิดจากการที่ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของผู้ร้องเรียนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดของอุทยานแห่งชาติดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินส่งผลให้หน่วยงานหาแนวทางแก้ไขปัญหาและได้ชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปได้ว่ากรณีช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลของชาวบ้านนั้น เป็นช้างป่าตามธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 530,000 ไร่ และมีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่ราษฎรใช้อยู่อาศัยซึ่งมีช้างป่าบางตัวที่ถูกจ่าฝูงไล่ออกจากโขลง จะลงมาใช้พื้นที่ป่าแนวกันชนนี้อาศัยหลบหนีภัย ซึ่งเดิมประชาชนสมัยก่อนทำการเกษตร พอหมดฤดูกาลทำนาก็จะไปหางานทำในเมือง จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับช้างป่า แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การปลูกยางพารา ปลูกอ้อยส่งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นป่าแนวกันชนเพื่อเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้ช้างป่าที่ถูกจ่าฝูงขับไล่ออกมาต้องมาเผชิญหน้ากับประชาชนที่บุกรุกป่าแนวกันชนเหล่านั้น เมื่อป่าแนวกันชนถูกบุกรุกทำลายจนหมดสิ้น ประชาชนก็จะนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไปแย่งอาหารและโป่งเทียมของช้างป่า รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่าทำให้ทำลายความสมบูรณ์ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนทำให้แหล่งอาหารของช้างป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างป่า ที่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 154 ตัว จากการสำรวจและติดตามช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยปกติแล้วช้างป่ามีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทึบในช่วงเวลากลางวัน และเริ่มหากินจากป่าสู่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งในเวลากลางคืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่าทุกวันทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะช้างป่าออกมาหากินทุกวัน จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยไล่ผลักดันกลับสู่เขตป่า ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลทรัพย์สินของราษฎรนั้น ในบางครั้งจะถูกช้างป่าทำร้ายบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องพิการและเสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมีหน้าที่รับผิดเข้าไปขับไล่ช้างป่าและปกป้องทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ดี จากการประสานงานของผู้ตรวจการแผ่นดินและการทำความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหาแนวทางการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตและเพื่อเป็นการบรรเทาและเยียวยาความทุกข์ร้อนของประชาชนทั้งที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการออกปฏิบัติงานลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า จัดสรรงบประมาณปลูกพืชอาหารช้างป่าและสัตว์ป่า จัดทำแหล่งน้ำและโป่งเทียมให้ช้างป่า รวมถึงได้เสนอ ‘โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า’ และกิจกรรมปักเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง (เก่า) เป็นเพนียดป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกมานอกเขตป่าดังกล่าว และกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อนำเงินบริจาคที่ได้รับมาเป็นกองทุนช่วยเหลือกรณีช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินค่าความเสียหายในพื้นที่ เพื่อพิจารณาเรื่องรายงานช้างป่าออกมาทำลายพืช สวน ไร่ นา และทรัพย์สินของประชาชนแล้วส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนฯ ช่วยเหลือแต่ละรายเพื่อทำการเบิกจ่ายตามรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจำนวน 108 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 174 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 409,570 บาท

นอกจากนี้ ในรายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ยังระบุผลงานเด่น ๆ รอบปีไว้อาทิเช่น การลักลอบนำขยะพิษและกากอุตสาหกรรมทิ้งในพื้นที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำสาธารณะ, การเร่งรัดมาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบสำนักงานที่ดินจังหวัดออกเอกสารสิทธิให้แก่เอกชนทับซ้อนพื้นที่บึงสาธารณประโยชน์, ตรวจสอบองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งขุดดินในทางสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อการใช้ทางสาธารณประโยชน์และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน, ตรวจสอบข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องในการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ กรณี ตัดและขายผลปาล์มน้ำมันที่ปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐ, แก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ประกอบการซึ่งเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าประจำภายในอาคารศูนย์ราชการจากการจัดกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ, ตรวจสอบความไม่โปร่งใสการพิจารณาจ้างเหมาปรับปรุงศูนย์เฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยและปฏิบัติการฉุกเฉินโดยระบบกล่องโทรทัศน์, ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการให้เอกชนประมูลเช่าช่วงอาคารตลาดสดเทศบาล และตรวจสอบหน่วยของของรัฐไม่ดำเนินการกับเอกชนในกรณีการจัดสรรที่ดินไม่มีทางผ่านเข้าออกตามคำโฆษณา, จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากธุรกิจย้อมผ้าของกลุ่มทอผ้าในชุมชน เป็นต้น

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องแจงการใช้งบประมาณก็ได้

ทั้งนี้ใน 'เอกสารประกอบการพิจารณารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' โดยกลุ่มงานติดตามผลการดำเนินงาน สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอ ‘บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' ได้สรุปการวิเคราะห์ว่า

"ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตามในรายงานประจำปี 2559 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการจัดสรรและรายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในขณะที่รายงานประจำปีขององค์กรอิสระอื่นปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรายงานการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องนำเสนอไว้ในรายงานประจำปีตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552"

หมายความว่า สผผ. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณในการทำงานต่อรัฐสภาก็ได้ ซึ่งอาจสวนทางกับการเป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบผู้อื่นหรือไม่ ?

อนึ่ง รายงานประจำปีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2559 ได้รับการรับรองจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท