Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

บทสัมภาษณ์ อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นนี้ เขาถอยกลับไปวิเคราะห์กติกาการเข้าสู่อำนาจการเมืองตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อจะฉายภาพรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และปฏิกิริยาลูกโซ่จากกติกาการเมืองชุดนี้

หากจะกล่าวสรุปรัฐธรรมนูญ 2560 ในวลีเดียว ก็คงได้ว่า ‘ปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชน’ เพราะด้วยกลไกต่างๆ ที่ คสช. แทรกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เสียงของประชาชนสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง อภิชาตไม่เชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่รัฐราชการตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะรับมือได้

แต่ถามว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ อภิชาตตอบเจือเสียงหัวเราะว่า ไม่เกิด เพราะการรัฐประหารได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เรียบร้อยแล้ว

กติกาการเมืองกำหนดผลงานของรัฐ

ย้อนกลับไปก่อนว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ตอนนั้นสังคมกรุงเทพฯ มีฉันทามติว่าต้องการการปฏิรูปทางการเมือง คุณอานันท์ ปันยารชุน ชูธงเขียวว่าต้องการปฏิรูป โดยวิเคราะห์สาเหตุที่ต้องปฏิรูปว่า เพราะการเมืองไทยอ่อนแอ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นที่มีคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นเลขาฯ มีคำขวัญทำนองว่า ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ สร้างภาวะผู้นำ เป็นไกด์นำทางการร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เราก็ได้ทักษิณ ชินวัตร มา เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ปี 2475 มาจากการออกแบบโดยจงใจ

ร่างกติกาเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลชัดเจนมาก เขาก็รู้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจมากขึ้น เมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรอิสระทั้งหลายขึ้นเพื่อคานอำนาจที่มากขึ้นของฝ่ายบริหาร อาจจะบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างน้อยประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่งคือครึ่งที่สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ฝ่ายตรวจสอบมีข้ออ่อนในทางปฏิบัติที่ถูกทักษิณไปถอดรื้อบางส่วนออก เป็นที่ทราบกันดีอยู่

การจะสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง เขาวิเคราะห์ปัญหาอย่างไร ปัญหาหลักของฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็งก่อนปี 2540 ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ นับจากปี 2521 ซึ่งเป็นต้นแบบ แล้วก็มีแก้ไขบ้าง แล้วก็ปี 2534 ก็เกิดรัฐประหารโดย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) แต่หลักๆ แล้วกติกาการเมือง โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองหรือระบบพรรคการเมืองไม่ได้ถูกเปลี่ยนอย่างสำคัญก่อนปี 2540 ดังนั้น จึงสังเกตได้ว่าก่อนปี 2540 การเลือกตั้งทุกครั้งไม่เคยชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พรรคที่ชนะที่ 1 ก็ชนะได้ ส.ส.เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยมีพรรคไหนที่ได้ ส.ส. เกิน 30 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลังเลือกตั้งเราจะมีรัฐบาลผสม แล้วไม่ใช่ผสมแค่สองสามพรรค แต่หลายพรรค ห้าหกเจ็ดพรรค มันเป็นเพราะกติกาทางการเมืองหลายแบบที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสม

รัฐธรรมนูญ 2560 ปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของประชาชน

ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ของคุณมีชัยคือสัดส่วนผสม กลไกมันจะเข้าข้างพรรคขนาดกลาง เรามี ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ แต่มีบัตรใบเดียว จะทำให้พรรคโคราช บุรีรัมย์ ได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างบุรีรัมย์ในการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคภูมิใจไทยของคุณเนวิน ชิดชอบ ได้ไป 7 ที่นั่ง เสีย 2 ที่นั่งให้พรรคเพื่อไทย แต่คะแนน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทยสูงกว่าเป็นแสนคะแนน ในระบบบัตร 2 ใบ พรรคที่มีภูมิภาคนิยมแคบๆ พวกนี้จะไม่ได้ประโยชน์จากปาร์ตี้ลิสต์ แต่ระบบคุณมีชัยจะทำให้พรรคขนาดกลางได้คะแนนเพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะส่งตัวแทนไปแข่งในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้ที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วเอาตรงนั้นมาคำนวณเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคขนาดกลางอยู่รอดได้มากขึ้น

ระบบเลือกตั้งของคุณมีชัยทำให้เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งไม่มีความหมายเลย กลายเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองล้วนๆ หนึ่ง-แทนที่จะสะท้อนเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน สามารถเลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้ ทำไม่ได้แล้ว เกิดการขัดกัน ถ้าคุณชอบนโยบายพรรค ก. แต่ผู้แทนพรรค ก. ในเขตคุณไม่ได้เรื่อง ในอดีตคุณก็ไปเลือกผู้แทนพรรค ข. แล้วไปเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรค ก. ตอนนี้จะทำไม่ได้ เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็เท่ากับปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของประชาชน

ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง

ต่อให้เลือกนายกฯ คนนอกไม่สำเร็จ เขามีสองกลุ่มที่จะคานอำนาจ หนึ่ง-ส.ว.แม้มีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. แต่เป็นเอกภาพกว่า สอง- คือองค์กรอิสระที่เพิ่มอำนาจหนักกว่าปี 2550 ต่อให้ไม่เป็นนายกฯ คนนอก นักการเมืองจะทำอะไรก็ต้องหันซ้ายหันขวาอยู่ตลอดเวลาว่า ส.ว. ว่าอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่พูดกันคือรัฐบาลจะต้องรายงานผลการปฏิรูปประเทศทุกๆ 3 เดือนให้ ส.ว. ทราบ ว่าได้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ เท่าไร อันนี้คืออะไร การรายงานทุกๆ สามเดือนก็คือการเปิดประเด็นทางการเมืองได้ทุกๆ สามเดือน เขี่ยลูกได้ทุกๆ สามเดือน หลักคือ ส.ว.ที่เป็นกลุ่มก้อนจะมีอำนาจสูง เป็นพรรคคนนอก ก็กลับไปเป็นแบบ ส.ว.ในระบบปี 2521 ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่มีอำนาจในการตรวจสอบคนที่มาจากการเลือกตั้ง

ส.ว.ก็คือพรรคข้าราชการ วาระของ คสช. ซึ่งก็คือตัวแทนของระบบราชการทั้งหมด รัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ว่าครึ่งใบ อีกครึ่งหนึ่งก็คือข้าราชการ อันนี้ก็แสดงออกผ่าน ส.ว. รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องรายงานผลต่อพรรคราชการทุกสามเดือน

ทั้งหมดนี้จะผลิตรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอ อายุสั้น ไม่ต้องพูดถึงปัญหายากๆ อย่างการปฏิรูประบบการศึกษาที่ต้องใช้เวลาหลายปี แต่รัฐบาลก็มีเวลาอย่างมากแค่สองปี แล้วจะคิดแก้ปัญหายากๆ อย่างปฏิรูปการศึกษาไหม ก็ไม่คิด คุณก็หาเรื่องเฉพาะหน้าทำไปก่อนดีกว่า ก็กลับไปเป็นรัฐบาลอ่อนแออีกครั้งหนึ่ง ล้มง่าย อายุสั้น ผลักดันงานไม่สำเร็จ

รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ

ส่วนการรัฐประหาร มันไม่มีความจำเป็นในทางรัฐธรรมนูญที่จะต้องรัฐประหารอีกแล้ว (หัวเราะ) มัน Institutionalize การรัฐประหารเข้าไปแล้ว ถ้าพูดแบบเกษียร เตชะพีระ ก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันได้สร้างกลไกที่เป็น Final Say ขึ้นมาแล้ว ความจำเป็นที่จะรัฐประหารเพื่อสถาปนานายกฯ คนนอก มันไม่จำเป็นแล้ว

สิ่งที่เราพอจะทำได้คือต้องสู้ในพื้นที่สิทธิเสรีภาพ อันนี้คือพื้นฐานที่สุด ถ้ามันเปล่งเสียงไม่ได้ก็จบ จะทำยังไงให้เปล่งเสียงได้ อันนี้สำคัญที่สุด แต่อย่าลืมตอนนี้ก็มี พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะออกมา คงต้องสู้แบบการขยายพื้นที่สิทธิ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net