ฉลาดเกมส์โกง: ภาระทางศีลธรรมของคนชั้นกลาง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

“ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน” เป็นวาทะที่ควรถูกจัดอยู่ในหมวดคำโกหกพกลมมากกว่าคำคม ถ้าผู้ชมดูชีวิตของเหล่าผู้ปกครองใน “ฉลาดเกมส์โกง” ด้วยสายตาที่เอียงอายต่อข้อเท็จจริงบ้าง

พ่อของลินและแม่ของแบงค์ใช้ชีวิตราวถูกโปรแกรมจากหนังสือเรียนกระทรวงศึกษาฯ พวกเขาไม่เพียงขยันแต่ยังซื่อสัตย์ประหยัดอดทนและไม่น่าจะอับจนสติปัญญานัก ถึงกระนั้นฐานะพวกเขาใกล้ชิดคุ้นเคยกับความขัดสนดิ้นรนมากกว่าความร่ำรวย ในขณะที่ครอบครัวของพัฒน์ที่รวยนั้นผู้กำกับทำให้เห็นว่าเขารวยได้ด้วยคุณสมบัติอย่างอื่นมากกว่าความขยัน

จริงอยู่ว่าครอบครัวลินไม่ใช่คนยากจน พ่อของเธอมีอาชีพครู เธออาศัยในบ้านเดี่ยว มีเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นเจ้าของรถส่วนตัวและเปียโน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของเก่าและมีสถานะง่อนแง่นพร้อมจะถูกเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาหรือการรักษาพยาบาลเมื่อเวลามาถึง 

แบงค์ฐานะด้อยกว่าลิน แม่ของเขาเปิดร้านซักรีด อาศัยอยู่ห้องแถวเล็กทรุดโทรม กิจการส่วนตัวที่มีนั้นดูร่อแร่และต้องการทุนก้อนหนึ่งถ้าเปลี่ยนมันเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของครอบครัว พาหนะของเขาคือมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้ทำงานมากกว่าขับเที่ยวเล่น

ครอบครัวของลินและแบงค์ทำให้เราเห็นว่าความขยันกับความจน (โดยเปรียบเทียบ) นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ไม่ยากนัก และพวกเขายังทำให้เราเห็นอีกด้วยว่าต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องกระเสือกกระสนหรือจนลงกว่าเดิมคือค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่พวกเขานั่นแหละเห็นว่าเป็น “การลงทุน” ที่จะพาลูกของเขาพ้นจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่พ่อแม่ของพวกเขาดิ้นขลุกขลักอยู่แต่ไปไม่ถึงไหน

“หนูไม่ใช่คนเดียวที่ใช้โรงเรียนหาเงิน” คำพูดนี้ของลินบ่งบอกว่าลินเห็นบางสิ้งที่ครูวิทย์พ่อของลินไม่เห็น สำหรับลิน โลกการศึกษาที่ดูบริสุทธิ์สูงส่งและเท่าเทียมให้โอกาสนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากวงการอื่น ๆ ในสังคม นั่นคือเป็นพื้นที่ของการแข่งขันแย่งชิงแสวงหาประโยชน์---ที่ไม่เท่าเทียม

ตัวอย่างหนึ่งของความหน้าไหว้หลังหลอกของศีลธรรมการศึกษา ความเข้มงวดจริงจังกวดขันของการจัดสอบให้โปร่งใสไร้การโกงถูกใช้ไปเพื่อประกันรายได้และความพึงพอใจของลูกค้าในธุรกิจขายคะแนนของธุรกิจกวดวิชา หรือโอกาสทางการศึกษาในกำมือผู้อำนวยการโรงเรียนคือเครื่องมือต่อรองและที่มาของรายได้และผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในสถานศึกษา

การเข้มงวดกวดขันด้านระเบียบวินัยและคุณธรรมจนผู้ปกครองและนักเรียนต้องสยบยอมเบื้องหน้าศีลธรรมการศึกษา คือการผลิตโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของเงินทองให้เดินเชื่อง ๆ เข้ามาสู่เครือข่าย

พวกเขารวยได้โดยไม่จำเป็นต้อง “โกง” เพราะการเล่นบทบาท “คนดี” ต่างหากคือหลักประกันรายได้ของเขาในระบบการศึกษาปัจจุบัน-ที่เอาเป็นเอาตายกับการควบคุมวินัยมากกว่าการเอาจริงเอาจังกับการสอน 

โลกของการศึกษาจึงไม่ใช่พื้นที่ “ปัญญาคืออำนาจ” แต่อำนาจต่างหากกำหนดปัญญา (ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนกล่าวไว้นานแล้ว) อำนาจเป็นผู้จัดแจงว่าสิ่งใดคือความรู้ จะรู้ได้อย่างไรและใครคือผู้มีความรู้

ด้วยเหตุนี้เองกระบวนการสอบจึงมีความหมายและความสำคัญโดยตัวมันเองในฐานะสัญลักษณ์รับรองคุณสมบัติพื้นฐานร่วมกันของผู้อยู่ในเครือข่าย มากกว่าที่จะเป็นสื่อกลางในการตรวจทวนการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียน “การสอบ” จึงเป็นการ “กรอกแบบฟอร์ม” ยอมรับระเบียบอำนาจของสถาบัน

เมื่อการสอบมีความหมายและไม่ได้เปิดกว้างให้ทุกคนได้คะแนนสูง การสอบจึงมีราคา แน่นอนว่าโรงเรียนมัธยมไม่ใช่สถานที่เดียวที่ “สอน” และ “จัดสอบ” ในทำนองนี้ ในสังคมย่อมมีสถาบันต่าง ๆ สอนและจัดสอบในแบบเดียวกัน

ราคาที่ผู้อยากลงทุนทางด้านการศึกษาจะต้องจ่ายนั้นเริ่มต้นก่อนการสอบและค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระก็มากกว่าตัวเงิน เกือบทั้งหมดของนักลงทุนด้านการศึกษาต้องจ่ายราคาด้วยสุขภาพจากการตรากตรำทำงานหนัก และในบางราย เช่น ลินและแบงค์ พวกเขาต้องจ่ายต้นทุนทางศีลธรรมด้วย

ในโลกที่ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ถูกเรียกเป็น “เงินบำรุงการศึกษา” การโกง “เกมส์” จึงอาจเทียบเท่ายุทธวิธีของปัญญาที่ท้าทายอำนาจ ทว่าโลกแห่งความเป็นจริงที่ปัญญานั้นอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนจัดแจงของอำนาจจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าการท้าทายอำนาจของปัญญาจะลงเอยเช่นไร

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ท้าทายอำนาจเชิงสถาบันจะต้องพบเจอนั้นไม่เพียงแต่แนวรบด้านสติปัญญาแต่ต้องแบกรับภาระทางด้านศีลธรรมอีกด้วย

การโกงให้สำเร็จไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลินกับแบงค์ต้องครุ่นคิด การโกงหรือการเอาชนะระบบเป็นเรื่องไม่ยากเกินไปนักสำหรับพวกเขาแต่สิ่งที่ท้าทายและรบกวนใจพวกเขามากที่สุดคือสภาวะสองแพร่งทางศีลธรรม ระหว่างการได้ปัจจัยสนับสนุนการศึกษากับการโกงการศึกษา ในขณะที่เพื่อนผู้ร่ำรวยของพวกเขาไม่รู้ร้อนรู้หนาวในเรื่องนี้เลย และในท้ายที่สุดก็อาจจะมีแต่เพื่อนผู้ร่ำรวยเหล่านั้นที่บรรลุจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการในระบบการศึกษา (ถ้าใครคิดว่าคนรวยที่โกงข้อสอบจะต้องได้รับผลกรรมตามสนองกรุณาค้นหาข่าวในหัวข้อ “ทายาทกระทิงแดง” “ทายาทคาราบาวแดง” “ทายาท...” ฯลฯ)

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบศีลธรรมกำกับลินและแบงค์ให้คิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว ถึงที่สุดพวกเขาใช้เกณฑ์อรรถประโยชน์ประเมินผลได้-ผลเสียสำหรับกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เป็นคำอธิบายการกระทำของตนเอง แต่เกณฑ์ในการประเมินสิ่งต่าง ๆ ในโลกย่อมไม่ได้มีเพียงเกณฑ์เดียว และความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็ซับซ้อนมากเกินกว่าเด็กมัธยมจะชัดเจนกับตัวเอง

ท้ายที่สุดแล้วลินกับแบงค์เลือกวิธีที่จะจัดการปัญหาศีลธรรมของตนเองต่างกัน หนทางที่พวกเขาเลือกเกือบจะเป็นการหักมุมที่ทำร้ายจิตใจผู้ชม เว้นเสียแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เหลือวิสัยจะคาดเดาเพราะมันเป็นไปตามแบบแผนปกติของ “สังคมไทย” ที่มักมองเห็นและเสนอทางออกของปัญหาศีลธรรมออกเป็น 2 ทางที่สุดโต่ง ลินและแบงค์ต่างเลือกที่จะอยู่ปลายสุดของทางเดินอีกด้านที่ต่างไม่ได้ให้คำตอบแก่คำถามของคนทั้งสอง ถ้าแบงค์มีคำถามต่อความอยุติธรรมของสังคมและลินตั้งคำถามต่อความลวงโลกของ “คนดี”

ซึ่งก็น่าเห็นใจเด็กทั้งสองคน ด้วยเหตุที่ว่านอกจากสติปัญญาของพวกเขาแล้ว พวกเขาแทบไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขารับมือกับปัญหาได้ดีกว่านั้น

หลายเสียงที่วิจารณ์หนังเรื่องนี้บอกว่าทางออกของตอนจบนั้นง่ายดายเกินไป แต่ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง หากตอนจบของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้นก็อาจจะเป็นตอนจบที่ไม่สมจริงในบริบทไทย ๆ

นอกจากความสนุกเร้าใจตามสไตล์หนังแนวนี้แล้ว ฉลาดเกมส์โกงยังทำให้เราได้เห็นว่าสังคมไทยสามารถเปลี่ยนเด็กฉลาดช่างคิดให้กลายเป็นลูกแกะเชื่อง ๆ ไปได้อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท