เมื่อระบบการศึกษาไทยไม่ยอมรับระบบการศึกษาของอังกฤษ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษจำนวนเพิ่มมากขึ้นและในบรรดาบัณฑิตเหล่านี้มีผู้ที่สนใจสมัครเข้าทำงานเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทยมากขึ้นด้วยทว่าพวกเขากลับเผชิญกับปัญหาร่วมกันนั่นคือ บัณฑิตที่จบการศึกษาจากอังกฤษจำเป็นต้องแปลงเกรดจากระบบอังกฤษให้เป็นระบบเกรดเฉลี่ยแบบอเมริกัน (GPA) โดยระบุว่าจะต้องได้คะแนน GPA ไม่ต่ำกว่า 3.50 (เพื่อให้สอดรับกับระเบียบกฎเกณฑ์ที่ สกอ. และมหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมา) ปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ การที่สกอ.และมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มีเกณฑ์กลางที่เป็นมาตรฐานในการพิจารณาระบบคะแนนแบบลำดับขั้นของประเทศอังกฤษ ความลักลั่นดังกล่าวนี้กลับกลายเป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติทางวิชาการกับบัณฑิตที่จบการศึกษาจากอังกฤษจนทำให้ตัดโอกาสในการเข้าเป็นอาจารย์โดยปริยาย

โดยพื้นฐานแล้ว ระบบการให้คะแนนอังกฤษนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบของอเมริกัน โดยระบบอังกฤษเป็นระบบคะแนนแบบลำดับขั้น (Classification) ซึ่งเป็นระบบการให้คะแนนที่เป็นที่ยอมรับอย่างทั่วไปทั้งในอังกฤษและนานาประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาว่าเป็นระบบที่มีมาตรฐานสากล ระบบคะแนนแบบลำดับขั้นของประเทศอังกฤษนั้นประกอบด้วยลำดับขั้นของการจบอยู่ 3 ประเภท คือ Distinction (ดีเยี่ยม), Merit (ดี) และ Pass (ผ่าน) ทว่าการให้คะแนนแบบลำดับขั้นเหล่านี้ ในแต่ละมหาวิทยาลัยในอังกฤษก็มีความแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น สำหรับมหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge กำหนดให้ลำดับขั้นคะแนน Pass อยู่ที่ร้อยละ 60 และ Distinction อยู่ที่ร้อยละ 70 ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะกำหนด Pass ที่ร้อยละ 50 Merit ที่ร้อยละ 60 และ Distinction ที่ร้อยละ 70

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์เหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่ต่างคณะกันก็มีความแตกต่างหลากหลายออกไปด้วย เช่น แม้ว่าคณะโดยส่วนใหญ่ ของมหาวิทยาลัย Warwick Distinction จะถูกนับจากร้อยละ 70 แต่คณะสังคมวิทยา (ซึ่งติดอันดับ 2 ของ Rank Sociology อังกฤษในปี 2011 จัดอันดับโดยหนังสือพิมพ์ Independent) กำหนดว่าบัณฑิตจะได้ Distinction ก็ต่อเมื่อจะต้องได้ร้อยละ 70 (Distinction) ในการทำวิทยานิพนธ์ (dissertation) และได้ร้อยละ 70 ในคะแนนรายงาน (essays) อย่างน้อยจำนวน 1 วิชา และร้อยละ 65 ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 3 วิชา เป็นต้น

สิ่งที่เราเห็นคือ แต่ละมหาวิทยาลัยของอังกฤษมีเกณฑ์และมาตรวัดในการให้คะแนนที่แตกต่างหลากกันออกไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง และไม่สามารถหาหลักเกณฑ์แน่นอนตายตัวในการแปลงคะแนนไปเป็นเป็นเกรดเฉลี่ยอย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรมต่อบัณฑิตที่จบการศึกษาจากอังกฤษได้ ปัญหาการแปลงเกรดย่อมไม่เป็นปัญหาแต่ประการใดในการศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แม้แต่ในเว็บไซต์ทุน Fulbright ก็ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับผู้สมัครที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษนั้นไม่มีความจำเป็นประการใดที่จะต้องแปลงเกรด เพราะมหาวิทยาลัยจะพิจารณาจากคุณสมบัติ และคะแนนที่แท้จริงที่บัณฑิตผู้นั้นได้จากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ (ซึ่งจะพิจารณาตามแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยไป)

ในกรณีของประเทศไทย การแปลงเกรดกลายเป็นปัญหาใหญ่ร่วมกันของบัณฑิตเหล่านั้นที่จะสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายครั้งหลายครา บัณฑิตที่จบการศึกษาจากอังกฤษมักประสบปัญหาเนื่องจากการแปลงเกรด ซึ่งทำให้เขาหมดโอกาสทางวิชาการและขาดคุณสมบัติในการเป็นอาจารย์ (ทั้งแบบที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าสอบสัมภาษณ์และสอบสอนตั้งแต่ต้น หรือแบบที่สอบได้แล้ว แต่ไม่สามารถแปลงเกรดให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของ สกอ. หรือมหาวิทยาลัยกำหนด) ทั้งนี้เนื่องจาก

ประการแรก ระบบเกรดนั้นไม่สามารถแปลงได้เพราะไม่มีเกณฑ์กลางที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม

ประการที่สอง เมื่อไม่มีเกณฑ์กลางของมหาวิทยาลัยไทยแล้ว บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ (โดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์) จะถูกขอร้องแกมบังคับให้ยื่นเรื่องขอให้มหาวิทยาลัยในอังกฤษที่ตนจบการศึกษามาทำการแปลงเกรดเป็นเกรดเฉลี่ย GPA คำตอบจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ มักจะได้แก่ "มหาวิทยาลัยไม่สามารถแปลงเกรดได้" และ หากติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้ว เราจะพบได้ว่าเจ้าหน้าที่มักแสดงความฉงนสงสัย อีกทั้งไม่เชื่อหูว่าหากไม่แปลงเกรดแล้ว บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของตนจะไม่มีงานทำ อันนี้ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ความผิดของระบบอังกฤษหรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด เพราะในนานาอารยประเทศต่างๆ พวกเขาล้วนยอมรับในมาตรฐานของระบบการศึกษาอังกฤษอย่างไม่มีข้อสงสัย 

ประการที่สาม เมื่อมหาวิทยาลัยในอังกฤษไม่อาจแปลงเกรดเป็น GPD ได้ สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือ มหาวิทยาลัยหลายแห่งมักพยายามบังคับให้แปลงเกรดโดยยึดหลักว่าคะแนนมากกว่าร้อยละ 70 = A ร้อยละ 65-69 = B+ ร้อยละ 61-64 = B เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาตามข้อหลังนี้นั้นสะท้อนถึงความไม่รู้ (ignorance) เกี่ยวกับระบบการศึกษาแบบอังกฤษของแวดวงการศึกษาไทย ที่มักคุ้นชินอยู่กับระบบการศึกษาแบบอเมริกันมากกว่า กล่าวคือ การที่นักศึกษาจะได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 70 นั้นย่อมหมายถึง การได้ Distinction ซึ่งสำหรับประเทศอังกฤษแล้ว ในแต่ละรุ่นการศึกษาในสาขาวิชาหนึ่งๆ นั้นคนที่ได้ Distinction จะมีแค่ประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น และยิ่งสำหรับนักศึกษาคนไทยด้วยแล้ว ในแต่ละปียิ่งมีคนจบ Distinction รวมกันไม่ถึงร้อยละ 5 (โดยประมาณจากนักศึกษาทุกสาขาวิชากว่า 5,000 คนที่ศึกษาในอังกฤษในแต่ละปี) 

ประการต่อมา ระบบการศึกษาแบบอังกฤษโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือ Ivy League ของอังกฤษ (Ivy League หมายถึงมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ย AAB หรือเกียรตินิยมอันดับ 1 (First Honor) มากกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด อันได้แก่มหาวิทยาลัย Cambridge, Oxford, Durham, London School of Economics (LSE), Bristol, Exeter, Warwick, Imperial College London, University College London (UCL)) ล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูง และไม่ยอม “ปล่อยเกรด" โดยเด็ดขาด เพื่อรักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยเอาไว้ สำหรับนักศึกษาไทยแล้ว การที่จะได้คะแนนสูงกว่าร้อยละ 60 ในแต่ละรายวิชานั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญเลือดตาแทบกระเด็น

ดังนั้นแล้ว เมื่อระบบการศึกษาไทยไม่มี “เกณฑ์กลาง” ในการแปลงคะแนนที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรมแล้ว คณะหรือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จำต้องหา “เกณฑ์กู” ในการพิจารณาตัดสินว่าบัณฑิตเหล่านั้น “ผ่าน” เกณฑ์ที่เกรดเฉลี่ย 3.50 แบบอเมริกันหรือไม่ สิ่งที่เรามักจะพบคือ นักศึกษาไทยที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพเป็นจำนวนมากที่จบการศึกษามาจากอังกฤษ เมื่อแปลงเกรดตามที่ถูกบังคับ (ตาม “เกณฑ์กู” ข้างต้น) จึงได้ไม่ถึง 3.50 ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนในลำดับขั้น Merit ก็ไม่สามารถผ่านเกณฑ์คุณสมบัติได้ ในหลายครั้งด้วยกันที่คณะต้องการรับบุคลากรที่จบการศึกษามาจากอังกฤษ เนื่องจากสามารถสอบผ่านกระบวนการสอบคัดเลือกบุคลากรตามขั้นตอนปกติของคณะ ซึ่งย่อมปรารถนาคัดเลือกเอาผู้ที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติเหมาะสมไว้แล้ว ทว่าไม่สามารถรับบุคลากรนั้นได้ เนื่องจากติดระเบียบมหาวิทยาลัยในเรื่องการแปลงเกรดดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการแปลงเกรดนี้ยังสะท้อนความไม่เป็นธรรมของระบบการอุดมศึกษาของไทย เมื่อเทียบกับกรณีของนักศึกษาที่รับทุนของ สกอ. เนื่องจากผู้ที่รับทุน สกอ. มักมีเงื่อนไขผูกพันธ์ต้องใช้ทุนกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าผู้ที่รับทุนจาก สกอ. จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใดๆ ก็ตามในโลก และได้รับเกรดเฉลี่ยเท่าใดก็ตาม ก็มักได้รับการบรรจุเข้าทำงาน โดยไม่ต้องผ่านแม้แต่ขั้นตอนการสอบคัดเลือกบุคคลากรของคณะโดยปกติ ในขณะที่ผู้ที่ใช้ทุนการศึกษาของตนเองหรือผู้ปกครอง ดั้นด้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาต่างประเทศ กลับต้องเผชิญกับอุปสรรค และการปิดกั้นโอกาสเนื่องจากเกณฑ์การรับอาจารย์ใหม่ที่ไม่เป็นธรรม

ในปัจจุบัน จำนวนนักศึกษาไทยไทยที่เดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ บัณฑิตจบใหม่จากอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่มีความมุ่งมั่นจะใช้วิชาความรู้รับใช้สังคม อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รายได้น้อย ไม่พอกินในแต่ละเดือน เพียงเพราะพวกเขารักที่จะรู้ รักที่จะเผยแพร่ความรู้ และรักที่จะรับใช้สังคม บุคลากรที่มีศักยภาพเหล่านี้กลับต้องถูกปิดกั้นโดยระบบ คนจำนวนมากจำต้องผันตัวเองไปทำงานในภาคเอกชน ระบบราชการ หรือ NGO เพียงเพราะพวกเขาหมดศรัทธาในระบบที่เป็นอยู่

ในเมื่อสกอ.ได้ลงนามรับรองมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ได้รับการรองรับโดยรัฐบาลอังกฤษแล้วว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐาน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการสร้างมาตรฐานที่รองรับต่อบุคลากรจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาจากระบบอังกฤษแต่อย่างใด ถึงเวลาแล้วกระมังที่ท่านที่เป็นบัณฑิตทั้งที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการพึงที่จะร่วมกันขบคิดกันว่าเราควรจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพื่อทำลายมายาคติในการอุดมศึกษาไทยที่ไม่ยอมรับระบบการศึกษาของอังกฤษโดยปริยาย เปิดโอกาสให้บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานรับใช้สังคม และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ พร้อมกันนั้นก็เพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยปรับตัวและก้าวไกลทันการศึกษาโลก ถึงเวลาแล้วกระมังที่เราต้องออกจากกะลาที่ครอบเราเอาไว้เสียที!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท