ประชาธิปไตยเป็น 'สิ่งแปลกปลอม' ที่นำเข้าจากต่างประเทศ(?)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ผมคิดว่าปัญหาในบ้านเรา ตั้งแต่ความคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญ และอะไรหลายอย่างที่เราเสนอกันนั้น เป็นสิ่งแปลกปลอมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ...ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แปลกปลอมจากที่อื่นเอาใช้บ้านเราไม่ได้ผล โดยเฉพาะช่วงหลังเป็นจีเอ็มโอเยอะ ผมเป็นพวกมาร์กซิสต์เก่า เพราะเคยเข้าป่า ไม่วางใจพวกต่างชาติมากๆ เพราะฉะนั้น พวกจีเอ็มโออันตรายมาก และขอร้องชาวต่างชาติว่าอย่าสรุปความคิดเป็นของท่านเอง”

ธีรยุทธ บุญมี
(http:www.matichon.co.th./play_clip.php?newsid=1332495112)

ยอมรับว่าพยายามอ่านแล้วผมก็ไม่เข้าใจว่า ธีรยุทธกำลังบอกอะไร หรือจะเสนออะไร


ถ้าบอกว่าประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องหมายความว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่คณิตศาสตร์ก็เป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับสังคมไทยด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เรานำเข้าจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน

แต่ความจริงคือ อะไรที่เป็นของสากล เช่น ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน คณิตศาสตร์ ถ้ามันเป็นของสากลมันก็เป็นของมนุษยชาติทั้งหมด ไม่มีใครจะอ้างสิทธิว่าเป็นความคิดของประเทศตนที่เหมาะกับพระเทศของตนเท่านั้น หรือว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับประเทศไทย หรือประเทศใดๆ ในโลก


ธีรยุทธยังพูดอีกว่า “ผมคิดว่าโครงสร้างการเมืองทุกที่เป็นผลผลิตของท้องถิ่น เป็นการเสนอให้เราได้คิดแบบสองส่วน ส่วนหนึ่งมองแบบโครงสร้างทางสังคมที่เป็นความจริง สร้างวัฒนธรรมต่างๆ อีกอันหนึ่งอาจจะมองเป็นแบบโพสต์โมเดิร์นก็ได้ มีวาทกรรมเกิดขึ้นในแต่ละช่วงแต่ละสมัย เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น เป็นทั้งโอกาสและไม่ใช่โอกาสที่จะเอาแนวคิดสังคมใหม่ๆ มาเสริมในบ้านเรา”


คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ หรือโครงสร้างการเมืองที่เป็นความจริงเฉพาะของสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทยซึ่ง “ดีกว่า” แนวคิดประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพแบบสากล ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาจาก “ท้องถิ่น” ของเรา หากเราเห็นว่าของสากลมันแปลกปลอมสำหรับเรา

บางทีสิ่งเราเรียกกันว่า “ความเป็นไทย”  “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” นั่นต่างหากที่เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ต่อวิถีชีวิตตามเป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน เช่น การรักนวลสงวนตัว แต่งก่อนยู่ ระบบอาวุโส การรู้จักที่สูงที่ต่ำ การยกย่อง “คนดี” ที่ซื่อสัตย์ไม่โกงแต่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย การเรียกร้อง “การเมืองที่มีจริยธรรม” แต่ให้คงไว้ซึ่ง “ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

สิ่งเหล่านี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็น “สิงแปลกปลอม” ไม่กลมกลืนกับวิถีชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไทย และ “แปลกประหลาด” ในสายตาสังคมโลกทั้งสิ้น!

หรือพูดให้เห็นภาพตามข้อเท็จจริงเลยก็คือ “ลักษณะเฉพาะ” ของความเป็นไทยในทางการเมืองอย่างที่พูดกันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “เสียงส่วนใหญ่อาจผิดได้” อย่างที่ฝ่ายไม่เชื่อถือ “การเลือกตั้ง” พยายามตอกย้ำ แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การดึงดันว่า “เสียงส่วนน้อยต้องถูกเสมอ” เช่น

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การอ้างสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ก็ต้องชอบธรรม

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า รัฐประหารถูกต้อง ก็ต้องถูกต้อง

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การเอาผิดนักการเมืองด้วยกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหารถูกต้อง ก็ต้องถูกต้อง

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การนิรโทษกรรมฝ่ายทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ ก็ต้องทำได้

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ก็ต้องทำไม่ได้

- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การพูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารไม่ได้ ก็ต้องไม่ได้

   ฯลฯ

ถามว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ดังกล่าวนี้เป็น “สิ่งแปลกปลอม” หรือไม่?

พูดถึงวาทกรรม “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งแปลกปลอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ” ของธีรยุทธแล้ว ทำให้เห็นภาพความคิดที่เน้นชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งที่ตอนนี้นำมาตอกย้ำใหม่อย่างคล้องจองกัน คือความคิดเรื่อง “สังคมสมานุภาพ” ของคุณหมอประเวศ วะสี ดังที่เขากล่าวตอนหนึ่งว่า


อำนาจในสังคม มี 3 อำนาจใหญ่ ได้แก่ พลังอำนาจรัฐ พลังอำนาจทุน ซึ่งใหญ่โตมาก และพลังงานอำนาจทางสังคม ซึ่งเล็กมาก จุดสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำคือการสร้างพลังอำนาจทางสังคมให้เสมอกับ 2 อำนาจแรก แล้วทำงานเชื่อมโยงกัน

และหากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะเกิดสังคมที่เรียกว่า "สังคมสมานุภาพ" คือสังคมที่อานุภาพต่างๆ เสมอกัน เพราะฉะนั้น แม้เราจะพยายามภาครัฐหรือทุนให้เก่งหรือมีสมรรถนะ แต่ถ้าภาคสังคมไม่เสมอกัน สังคมก็จะไม่ได้ดุล เกิดความไม่เป็นธรรมมาก

แนวทางสำคัญในการสร้างสังคมสมานุภาพต้องเอาวัฒนธรรมเข้ามาช่วย โดยวิธีที่เรียกว่า "ชุมชนจัดการตนเอง" เพราะการปกครองประเทศที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง นับเป็นหลุมดำในประเทศไทย ก่อปัญหาร้อยแปด ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ มีคอรัปชั่น เกิดรัฐประหารได้ง่าย(http:www.matichon.co.th./play_clip.php?newsid=1332585834)


ซึ่งผมแปลกใจมากที่คุณหมอไม่ได้พูดถึง “อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งใหญ่โตกว่าอำนาจทุนมาก แปลกใจเพราะว่า คุณหมอเป็นคนเสนอทฤษฎี “ความจริงองค์รวม” ที่เน้นการมองให้เห็นความจริงทั้งหมด ไม่ควรมองแบบ “แยกส่วน” และให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของความจริงทั้งหมดตามกฏอิทัปปัจจยตา แต่ทำไมคุณหมอถึงจงใจ “แยกส่วน” มองเฉพาะ 3 อำนาจเท่านั้น

แล้วที่ว่า “การปกครองประเทศที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง นับเป็นหลุมดำในประเทศไทย...” นั้น ถามว่า รูปแบบการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ คือมรดกตกทอดจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่หรือ

 “ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ต่างหากที่รวมศูนย์ทั้งการปลูกฝังอุดมการณ์ ปรัชญาความเชื่อ ระบบคิด การคิดแทนผ่านหน่วยงานราชการ ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ

ภายใต้ระบบเช่นนี้ ประชาชนไม่สามารถปกป้องรัฐบาลที่ตนเลือก และกำกับให้รัฐบาลที่ตนเลือกทำตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เช่น การเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้แทนปวงชนออกกฎหมายปฏิรูประบบที่ตรวจสอบไม่ได้ให้ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตยสากล ฉะนั้น “ภาคสังคม” จะเข้มแข็งได้อย่างไร?


หรือถ้าภาคสังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งในความหมายว่ามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ตระหนักในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคมากขึ้น ก็จะมีปัญหาว่า ความเข้มแข็งเช่นนี้จะไปกันได้อย่างไรกับ “ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้” (จะเป็นไปได้หรือที่ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมและพลเมืองจะไม่ขัดแย้งกับ“ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้”)

ฉะนั้น แนวคิดสังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งของธีรยุทธ และแนวคิด “สังคสมานุภาพ” ของคุณหมอประเวศ ที่ปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เรียกร้องการกระจายอำนาจถึงระดับชุมชน หรือการสร้าง “ประชาธิปไตยจากระดับชุมชน” แต่ไม่ได้เรียกร้อง “อย่างจริงจัง” ให้แก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยระดับชาติ คือการปฏิรูป “ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ให้ตรวจสอบได้ จึงเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งในตัวเอง และไม่มีทางที่แนวคิดเช่นนี้จะสร้างสังคมให้มี “สมานุภาพ” หรือ “มีอานุภาพเสมอกัน” ได้จริง

จะว่าไปแล้วทั้งสองแนวคิดนี้ก็เป็น “แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ” อันเป็น “สิ่งแปลกปลอม” อย่างหนึ่งใน “ยุคเปลี่ยนผ่าน” (transition) ที่สังคมไทยต้องการแก้ปัญหา “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ในทางหลักการและอุดมการณ์ระดับชาติอย่างยิ่ง!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท