Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์อันลือลั่นที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2552 อาจเป็นบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ สตีเฟน บี ยัง โดย สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ซึ่งออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่อง 9 อสมท. ในรายการชีพจรโลก เมื่อคืนวันอังคารที่ 9 กันยายน 

ที่ว่าลือลั่น เพราะศาสตราจารย์ยัง วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่คนไทยหลายคนอยากฟัง หลังจากเคยฟังหรืออ่านความเห็นของคนทำสื่อและนักวิชาการตะวันตกอื่นๆ อาทิ โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี ดอกเตอร์ ดันแคน แมคคาร์โก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร และศาสตราจารย์ เควิน ฮิววิสัน แห่งภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูจะแสดงทัศนะต่างออกไป
 
คำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ยังน่าพิจารณามาก แต่มีสามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งนี้และทัศนะของศาสตราจารย์ยัง ซึ่งน่าสนใจเป็นพิเศษในมุมมองของผู้เขียน ซึ่งเป็นคนทำงานสื่อคนหนึ่ง

 
ความน่าเชื่อถือของ “ฝรั่ง”
ประเด็นแรกคือสถานะของ “ฝรั่ง” ในมุมมองของสื่อไทยและคนไทย 
 
น่าสนใจว่า ข้อความแนะนำศาสตราจารย์ยังพร้อมบทสัมภาษณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย คม ชัด ลึก และ กรุงเทพธุรกิจ หนึ่งวันหลังจากรายการชีพจรโลกออกอากาศนั้น บอกเพียงว่า เขาเป็นบุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ เป็นผู้ “ค้นพบ” บ้านเชียงเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด และเป็นฝรั่งที่คนไทยน้อยคนจะรู้จัก ทั้งๆ ที่เขารักและรู้จักการเมืองไทย ประเทศไทย ดีกว่าคนไทยบางคน
 
มิได้บอกว่าเขาเป็น “ใคร” ในทางวิชาการ เช่น เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านใด หรือเป็นอาจารย์สอนวิชาใดในมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจารย์ทุกท่านได้รับคำเรียกขานว่า “ศาสตราจารย์”
 
คำถามคือ เมื่อสื่อไทยบอกกับผู้รับสื่อชาวไทยว่า มีฝรั่งคนหนึ่งรู้เรื่องการเมืองไทยและเมืองไทยดีมาก สื่อและผู้รับสื่อสนใจแสวงหาข้อมูลอื่นเพื่อสนับสนุนคำบอกเล่าหรือไม่ นอกจากข้อมูลข้างต้น ซึ่งไม่สามารถยืนยัน “ความรู้” และ “ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง” เรื่องการเมืองไทยและประเทศไทย
 
หรือความเป็น “ฝรั่ง” โดยเฉพาะ “ฝรั่งชั้นสูง” เป็นหลักประกันที่เพียงพอแล้วต่อความน่าเชื่อถือ 
 
คนรู้จักกันคนหนึ่งบอกว่า ชอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้มาก เพราะในที่สุดก็มีฝรั่งดีๆ มาแฉความเลวร้ายน่ากลัวของทักษิณซึ่งเป็นต้นเหตุให้คนไทยแตกแยกจึงจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง มิใช่มีแต่ฝรั่งเลวๆ ไม่รู้จักประเทศไทยมาพูดปาวๆ เรื่องประชาธิปไตย
 
ในความขัดแย้งเหลือง-แดง-น้ำเงิน ของประเทศไทยเวลานี้ บางทีแต่ละฝ่ายอาจคิดเหมือนกันก็ได้ว่า การอ้างความคิดฝรั่งมาสนับสนุนความคิดฝ่ายตน คงทำให้ความคิดฝ่ายตนน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะนอกจากฝรั่งจะได้ชื่อว่าเจริญก้าวหน้า ก็ยังมีพวกพ้องอยู่ทั่วโลก 

 

 
“ฝรั่ง” ที่รักและรู้จักการเมืองไทย ประเทศไทย ดีกว่าคนไทย “บางคน”
ประเด็นที่สองเป็นคำถามว่า สื่อใช้หลักเกณฑ์ใดประเมินว่า ศาสตราจารย์ยังเป็นฝรั่งที่รักเมืองไทยและรู้จักประเทศไทยดีกว่าคนไทยบางคน และสื่อใช้หลักเกณฑ์ใดประเมินว่า คนไทยบางคนรักและรู้จักเมืองไทยน้อยกว่าศาสตราจารย์ยัง
 
เหตุที่สื่อกล่าวว่าศาสตราจารย์ยัง รักและรู้จักเมืองไทยดีกว่าคนไทยบางคน เป็นเพราะศาสตราจารย์ยัง “พูด” ได้ตรงใจสื่อใช่หรือไม่ หากเขาคิดต่างออกไป สื่อจะยังบอกว่าเขารักและรู้จักเมืองไทยดีกว่าคนไทยบางคนหรือไม่
 
สื่อใช้หลักเกณฑ์ใดวัดความเป็นคนไทย ใช้หลักเกณฑ์ใดวัดว่า ใครไม่รักและไม่รู้จักประเทศไทย สื่อคิดอย่างไร หากประชาชนไทยที่ทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินบนแผ่นดินไทยอย่างสุจริต นับแต่ทวดของทวดของทวดของปู่ย่าตายาย คิดไม่เหมือนสื่อ จะบอกว่าประชาชนเหล่านั้นไม่ใช่คนไทย ไม่รักและไม่รู้จักประเทศไทยหรือไม่
 
จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องคิดเหมือนสื่อ จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องคิดเหมือนรัฐบาล จำเป็นหรือที่ประชาชนต้องเป็นเด็กดีของรัฐบาล 
 
สื่อใดสื่อหนึ่ง รายการวิทยุหรือโทรทัศน์รายการใดรายการหนึ่ง ข้อเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ใดสิ่งพิมพ์หนึ่ง สามารถอ้างตนเป็นผู้แทนความคิด “คนทั้งประเทศ” และ “คนทั้งโลก” ได้หรือ

 

 
การเมืองไทย กับ “อริสโตเติล” และ“สตีเฟน ยัง”
ประเด็นที่สามเป็นเรื่องแนวคิดของศาสตราจารย์ยัง เรื่องการเมืองไทยกับ “ศีลธรรม”
 
ตามประวัติ ศาสตราจารย์ยังเป็นนักศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นบุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีความคุ้นเคยเป็นอันดีกับราชวงศ์ไทยและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์
 
เขาค้นพบบ้านเชียงเมื่อ พ.ศ.2509 ขณะทำวิทยานิพนธ์เรื่องอัตลักษณ์ชาวอิสานอันเนื่องจากขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เพราะเดินสะดุดโคนไม้ แล้วเจอเศษภาชนะบ้านเชียง จึงนำไปมอบให้ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี กับหม่อมราชวงศ์พันทิพย์ บริพัตร แห่งสยามสมาคม เป็นจุดเริ่มต้นให้กรมศิลปากรขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน พ.ศ.2535
 
ปัจจุบันศาสตราจารย์ยังซึ่งได้ปริญญาทางกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เป็นผู้อำนวยการองค์กร Caux Round Table หรือ CRT เน้นเรื่องการรณรงค์ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจทั่วโลก ดำเนินงานด้วยจริยธรรมหรือคุณธรรม อันเป็นประเด็นหลักในหนังสือหลายเล่มที่เขาเขียน เช่น Moral Capitalism ศาสตราจารย์ยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจระดับบนในประเทศไทย และนักธุรกิจที่ได้ชื่อว่า “น้ำดี” จากทั่วโลก ผู้เชื่อมั่นในการคืนกำไรสู่สังคมบ้าง หลังจากได้ไปเยอะแล้ว
 
ศาสตราจารย์ยัง มีภรรยาเป็นชาวเวียดนาม เขาเขียนบทความเกี่ยวกับเวียดนามบ้าง แต่ไม่ได้เขียนงานวิเคราะห์สังคมไทยมากนัก ที่โดดเด่นคือบทความเรื่อง “Thailand: Democracy without Ethics?” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 มีเนื้อหาเหมือนกับที่ให้สัมภาษณ์ในรายการชีพจรโลก
 
สิ่งที่ศาสตราจารย์ยังเน้นคือ ความมีศีลธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นหลักการของอริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณ เขากล่าวถึงทางสองแพร่งที่ไม่น่าเลือกทั้งคู่ ระหว่างการปล่อยให้ทักษิณผู้ไร้ศีลธรรมมีอำนาจต่อไปเหมือน “จักรพรรดิจีน” ซึ่งจัดการให้ทุกสิ่งอยู่ “ภายใต้” อำนาจของคนคนเดียว กับการรัฐประหาร ซึ่งจำเป็นต้องเลือกแม้จะขัดกับรัฐธรรมนูญ
 
หลายคนเห็นพ้องกับศาสตราจารย์ยังว่า รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของสังคมไทยปัจจุบัน แต่มีคำถามว่า เป็นไปได้หรือที่จุดเริ่มต้นของกระบวนการล่มสลายนั้น ไม่มีตัวแปรอื่นอีกเลย นอกจากความเลวของทักษิณ
 
ในกรณีนี้ หากความเลวที่สุดของทักษิณคือไร้ศีลธรรม และตัดตอนอำนาจอื่นเพื่อเถลิงอำนาจเสียเอง คำถามคือ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าและหลังทักษิณทุกคนล้วนบริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยศีลธรรมหรือ และใครคือผู้บริหารประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 
อะไรคือตัวตัดสินว่าต้องจัดการปัญหาความไร้ศีลธรรมของทักษิณอย่างเร่งด่วนด้วยวิธีรัฐประหาร และอะไรทำให้เชื่อว่า รัฐประหารจะสามารถแก้ปัญหาความไร้ศีลธรรมของทักษิณ
 
คำถามซึ่งไม่มีคำตอบเพราะไม่ได้รับโอกาสให้พิสูจน์ก็คือ ทักษิณจะสามารถเถลิงอำนาจเป็นผู้นำที่บ้าคลั่งในความยิ่งใหญ่ของตน โดยไม่แยแสต่อความต้องการของคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขาเข้ามา และที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขา ก็จะยอมให้เขากดหัวต่อไปอย่างเซื่องๆ ไม่คิดสั่งสอนเขาในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างนั้นหรือ
 
ใครกันแน่ที่หวาดกลัวทักษิณ คงไม่ใช่ประชาชนที่ “เห็น” และ “สัมผัส” ว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากรัฐบาลทักษิณ และคงไม่ใช่ประชาชนที่ “รู้สึก” ว่าพวกเขาได้รับเกียรติของความเป็นคน “เท่าเทียม”จากรัฐบาลทักษิณ แม้ว่าความจริงทักษิณคงไม่ได้ทุ่มเทให้ชาวบ้านขนาดนั้น แต่ชาวบ้านก็รู้จักใช้ประโยชน์จากทักษิณ เช่นเดียวกับที่ทักษิณใช้ประโยชน์จากชาวบ้าน
 
ประชาชนเหล่านี้มีตัวตนจริง พวกเขาคิดและทำเช่นนั้นด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเขา ไม่ใช่เพราะมีผู้จ่ายเงินจ้างเขา ให้บอกคนทั้งโลกว่าเขาคิดและทำเช่นนั้น
 
ใช่หรือไม่ว่า คนชั้นกลางจำนวนมากและผู้มีอำนาจฝ่ายตรงข้ามทักษิณที่ได้รับประโยชน์น้อยลงเพราะทักษิณ หรือ ไม่ได้ประโยชน์จากทักษิณ หรือ รู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทักษิณต่างหาก ที่พูดว่าทักษิณหลอกประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นคนรากหญ้า แต่คนที่พูดเช่นนั้น ก็ไม่เคยใช้ชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนที่พวกเขาประนามว่าโง่ และ เห็นแก่เงิน
 
มีประเด็นเหลื่อมซ้อนกันอยู่มากมายที่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของทักษิณ ประชาชนไทย ประเทศไทย และการเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็น “ศีลธรรม” ทางการเมืองตามหลักการของอริสโตเติล ที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างกำจัดทักษิณ ด้วยวิธีการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
 
เราไม่ควรลืมว่า อริสโตเติลผู้เชิดชูศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่เคยแสดงความปลาบปลื้มdemocracy อันมีที่มาจากคำในภาษากรีกว่า demos หมายถึงประชาชน และ kratos หมายถึง รัฐ
 
ในทัศนะของอริสโตเติล democracy หรือรัฐประชาชนที่ปกครองโดยประชาชนไม่ดี เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนจนซึ่งไม่มีความรู้ และขาดทักษะในการปกครอง เมื่อคนจนหลายคนพยายามทำหน้าที่ผู้ปกครอง รัฐจึงอ่อนแอเพราะขาดการจัดการอย่างเหมาะสม แต่การปกครองในรูปแบบตรงข้าม คือ oligarchy หรือปกครองโดยคนร่ำรวยกลุ่มน้อยก็ไม่ดี เพราะคนเหล่านี้ไม่สนใจประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
 
ศาสตราจารย์ยังกล่าวว่า ทักษิณเป็นบุคคลอภิสิทธิ์ ที่มีสิทธิพิเศษในการผูกขาด ดังนั้น การปกครองของทักษิณจึงเป็นการปกครองโดยคนชั้นสูงกับกลุ่มคนร่ำรวยที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ซึ่งในแง่นี้ รัฐบาลทักษิณย่อมเข้าข่าย oligarchy แต่ชาวบ้านผู้ได้ประโยชน์จากทักษิณในนาม “ประชาธิปไตยกินได้” ที่มิได้หมายถึงการซื้อสิทธิขายเสียง และผู้ที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยคงไม่เห็นด้วยกับศาสตราจารย์
 
อริสโตเติลเสนอว่า การปกครองที่ดีกว่า oligarchy และ democracy และอีกหลายระบบที่เขากล่าวถึง ซึ่งน่าจะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือ aristocracy หรือการปกครองโดย “คนดีที่สุด ผู้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม” นั่นคือ ขณะที่การปกครองระบบอื่นๆ มุ่งความสำคัญไปที่ผลประโยชน์หรือความมั่งคั่งของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง aristocracy ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของทุกคนบนพื้นฐานของความดีหรือศีลธรรม
 
ในทางปฏิบัติ aristocracy ของอริสโตเติล เกิดขึ้นได้ยากพอๆ กับสังคมยูโทเปีย (Utopia) ของโธมัส มอร์ (Thomas Moore) เพราะเป็นการง่ายที่จะกล่าวว่าฉันเป็นคนดีมีศีลธรรมที่สุด แต่ปัญหาคือใครจะเป็นผู้ตัดสิน เช่นในสังคมหนึ่งมีข้อกำหนดว่าการฆ่าชีวิตผู้อื่นเป็นบาป แต่คนอ้างตัวเป็นคนดีคนหนึ่งบอกว่าฆ่าคนไร้ศีลธรรมไม่บาป ก็จะเกิดคำถามว่า ใครคือผู้กำหนดว่าใครไร้ศีลธรรม ถ้าเราเป็นศัตรูของอีกฝ่าย เราจะคิดอย่างไร และ จริงๆ แล้ว การฆ่าชีวิตอื่นบาปหรือไม่บาป
 
ในกรณีนี้ ความดีมีศีลธรรมจึงอาจไม่ใช่ความดีมีศีลธรรมจริง หากเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อประโยชน์ของใครก็ตามที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง
 
บางที สังคมไทยอาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า แม้เราจะต้องการศีลธรรม แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของความมีศีลธรรมหรือความไม่มีศีลธรรม เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้หายไปไม่ได้ สิ่งที่ควรคิดและทำก็คือ จะจัดการกับแง่มุมต่างๆ อย่างไรให้สังคมมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งไม่ใช่ด้วยข้ออ้างทางศีลธรรม
 
ข้อเรียกร้องศีลธรรมสูงส่งในทางการเมือง อาจใกล้เคียงกับการชักนำประเทศไปสู่เส้นทางที่จะยกระดับเป็นรัฐศาสนา แต่รัฐศาสนาต้องไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งน่าสนใจว่า แม้ผู้นำเผด็จการของรัฐศาสนาเอง ก็เป็นได้เพียงคนที่อยู่ในคำสั่งของศาสนา แต่ผู้นำเผด็จการจะมีปัญญาสำรวมขนาดนั้นเชียวหรือ   
 
คนดีมีศีลธรรมจำนวนมากในประเทศไทย มักใช้กรอบคิดแบบอริสโตเติลชี้นำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดและมีช่องโหว่เยอะ เพราะคนหมู่มากโง่และไม่มีศีลธรรม ศาสตราจารย์ยังระบุในบทความ Thailand: Democracy without Ethics? ว่า ทักษิณจ่ายเงินซื้อชาวบ้านเสื้อแดง และเขามั่นใจเช่นนั้นโดยไม่มีคำถาม
 
ศาสตราจารย์ยังให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงเศร้าใจว่า “พี่พงศ์” ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของเขาที่บ้านเชียงรักทักษิณเพราะเชื่อว่าทักษิณจะให้เงินเพื่อดูแลเขา
 
สำหรับคนที่มีชีวิตห่างไกลชาวบ้าน ประโยคข้างต้นของ “พี่พงศ์” แปลว่าชาวบ้านเห็นแก่เงิน และโง่อย่างน่าสงสารจึงยอมขายตัวให้ทักษิณ แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านและให้ความเคารพชาวบ้านว่าเป็นคนที่เท่าเทียม ประโยคนี้หมายความว่า นโยบายของทักษิณทำให้พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลเห็นหัวคนจน ทำให้พวกเขาเข้าใกล้โอกาสมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสะดวกในชีวิตมากขึ้น เหมือนที่คนเมืองมีโอกาสมานานแล้ว
 
เรื่องชาวบ้านเห็นแก่เงินนั้น อาจเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับคำกล่าวหาที่ว่าชาวบ้านทั้งประเทศไม่มีศีลธรรมและโง่ แต่ชาวบ้านก็มีสิทธิแย้งว่า “ท่านอยากแลกชีวิตรวยๆ ดีๆ หอมๆ ของท่านกับชีวิตจนๆ และทุกข์ยากของข้าพเจ้าไหม วันนี้ข้าพเจ้าทำงานได้เงินมาจึงซื้อเหล้าดื่ม ท่านยุ่งอะไรด้วย ถ้าข้าพเจ้าอยากนิพพาน ข้าพเจ้าก็ไปบวชแล้ว เวลามีเลือกตั้ง ข้าพเจ้าก็เลือกนักการเมืองที่ให้ประโยชน์กับข้าพเจ้า นี่คือการเมืองในโลกแห่งกิเลสขอรับ นี่คือการเมืองในโลกที่ท่านและข้าพเจ้าต่างต้องทำมาหารับประทานเลี้ยงตัวเองให้รอด แล้วถ้าข้าพเจ้าไอคิวต่ำกว่าท่านเพราะตอนเด็กไม่มีโอกาสได้กินอาหารครบหมู่แถมขาดไอโอดีน ท่านจะจับข้าพเจ้าไปยิงทิ้งรึ”
 
เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกครองที่มีการศึกษาดีเลิศ มีทักษะในการปกครองดีเลิศ รู้ถูกรู้ผิดดีเลิศ แต่กระนั้น ดีเลิศของ aristocracy อาจไม่ดีเลิศสำหรับชาวบ้านก็ได้
 
โดยนัยนี้ aristocracy ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการด้านดีกว่าของ oligarchy จึงมีความหมายเดียวกับ bureaucratic polity ซึ่งหมายถึงอภิชนาธิปไตยหรืออมาตยาธิปไตย หรืออธิปไตยในมือของคนชั้นสูงที่อ้างตนว่าดีกว่าประชาชนทั่วไป
 
ในอีกแง่หนึ่ง ระบอบการปกครองตามทัศนะของอริสโตเติล ที่สอดคล้องกับความจริงในสังคมมนุษย์มากกว่า aristocracy น่าจะเป็น politeia หรือ polity ที่คนอเมริกันหลายคนเชื่อว่าใกล้เคียงความหมายของ democracy ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่ หรือใกล้เคียงระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด นั่นคือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียม แม้ว่า polity ในยุคของอริสโตเติล ผู้หญิง เด็ก และทาสจะไม่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองก็ตาม
 
กล่าวในเชิงหลักการ polity เป็นส่วนผสมของ oligarchy และ democracy นั่นคือทุกคน ทั้งคนรวย มีการศึกษา มีสถานะทางสังคม (คนกลุ่มน้อย) และคนจนโง่ (คนหมู่มาก) ต่างอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน จึงต้องมีบทบาททางการเมืองในสังคมร่วมกัน เพื่อถ่วงดุลย์กันและกัน แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่สามารถตัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปได้
 
ประชาธิปไตยแบบอเมริกันบอกว่า พลเมืองทุกคนต่างมีบทบาทในรัฐบาล เพราะทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว คนที่เข้ามาสู่ระบบการเลือกตั้ง จะเป็นคนมีเงินเนื่องจากการเลือกตั้งต้องใช้เงินเพื่อการรณรงค์ ดังนั้น ผู้นำประเทศจึงมักเป็นคนร่ำรวย แต่ข้อสำคัญคือผู้นำเหล่านี้ ต้องให้ความเคารพชาวบ้านหรือคนรากหญ้าที่ให้เสียงสนับสนุนจนเขาได้เป็นรัฐบาล และต้องเคารพเสียงของคนชั้นกลางจำนวนมากในอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สร้างสมดุลย์ระหว่างเสียงของคนรวยกับคนจนด้อยโอกาส 
 
หลักคิดแบบประชาธิปไตยอเมริกันคือ ให้ความสำคัญกับอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม อันเป็นแนวทางของเสรีชน ไม่ใช่หลักคิดแบบอภิชนาธิปไตยหรืออมาตยาธิปไตย
 
ถึงที่สุดแล้ว เมื่อพูดเรื่องการเมือง อาจไม่จำเป็นต้องอ้างว่านักคิดหรือนักวิชาการสมัยใดคิดอย่างไร เพราะความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ ใครอยากได้อะไรหรือต้องการอะไรในทางการเมือง ก็ควรไปต่อสู้ให้ได้มา รวมถึงบางคนที่รวยแล้ว มีอันจะกินแล้ว ซึ่งสู้ด้วยปากและไม่มีอะไรออกจากปากมากนัก นอกจากคำว่า “ความดี”
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net