Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบทความชื่อ “จิตสำนึกของสื่อไม่ใช่แค่ตอบสนองความอยาก” ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองได้วิจารณ์กรณีที่ จอม เพชรประดับ สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกอากาศทางรายการวิทยุ เอฟเอ็ม 100.5 อสมท. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2552 ทำนองว่าเป็นการทำงานของสื่อที่มุ่งตอบสนองความอยาก (ทั้งของตนเองและผู้อื่น) มากกว่าที่จะคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพและผลประโยชน์ส่วนรวม (ผู้จัดการออนไลน์, 07/09/2552)

ดร.เจิมศักดิ์ เห็นว่า สื่อมวลชน (ที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม) ไม่ควรนำเสนอความคิดเห็นของทักษิณสู่สาธารณะ ด้วยเหตุผลถึง 7 ข้อ ใจความสำคัญสรุปได้ว่า

“ทักษิณเป็นนักโทษหนีคุก และยังมีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถูกกล่าวหาว่าทุจริตร้ายแรงหลายคดี รวมถึงคดีทุจริตที่อยู่ในชั้นศาลอีกหลายคดี เช่น คดีทุจริตหวยบนดิน, คดีทุจริตเงินกู้เอ็กซิมแบงก์, คดีทุจริตร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์ 76,000 ล้าน ฯลฯ และยังมีคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คือ คดีที่ดินรัชดา ให้ลงโทษจำคุกทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นต้น

นอกจากนี้ ทักษิณแสดงตนให้เห็นชัดเจนว่า เป็นผู้เกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้อหลังเหตุการณ์จลาจล เผาบ้านเผาเมืองในช่วงสงกรานต์ ทำการปลุกระดมสั่งการประชาชนให้ออกมาก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในทางเปิดเผย เช่น “ผมแพ้ไม่ได้” – “อย่ากลับบ้านมือเปล่า” – เราต้องไม่ถอย มีแต่บุกไม่มีถอย” – “เสียงปืนแตก จะลับมานำประชาชนด้วยตนเอง” ฯลฯ

ถ้าทักษิณได้รับสิทธิ์ให้แสดงความเห็นผ่านสื่อกระแสหลักได้ นักโทษอื่นๆ เช่น นายราเกซ สักเสนา นายปิ่น จักกะพาท นายวัฒนา อัศวเหม นายสมชาย คุณปลื้ม ฯลฯ ก็ควรได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกัน”

แต่ในอีกมุมหนึ่ง จอม เพชรประดับ ให้เหตุผลในการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณว่า
“...เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือบุคคลที่ถูกมอง และถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุแห่งวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ ก็ควรจะได้มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริง (แม้ฝ่ายตรงข้ามจะมองว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อเท็จเสียมากกว่าข้อจริง แต่หน้าที่ของสื่อมวลชน ก็ไม่อาจจะไปตัดสิน หรือสรุปได้เช่นนั้น ) และการสัมภาษณ์ก็ไม่ใช่ลักษณะของการโฟนอินเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่างเป็นกิจจลักษณะ” (ประชาไท, 07/09/2552)

จากเหตุผลดังกล่าว เราอาจตีความได้ว่า ในทัศนะของจอม การนำเสนอความเห็นอีกด้านต่อสาธารณะเป็น “หน้าที่ของสื่อมวลชน” ที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม

อันที่จริงเราสามารถเข้าใจความคิดของจอมอย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ ว่า หน้าที่ของสื่อที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ คือการเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นรอบด้านให้สาธารณชนได้รับรู้และวินิจฉัยเอง

การเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลรอบด้านและวินิจฉัยเอง เป็นการเคารพต่อสิทธิที่จะรับรู้ความจริงและดุลพินิจของประชาชน นี่คือสิ่งที่หาได้ยากยิ่งจากสื่อยุคปัจจุบัน

ข้ออ้างของ ดร.เจิมศักดิ์ที่ว่า “ถ้าทักษิณได้รับสิทธิ์ในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะผ่านสื่อกระแสหลัก นักโทษอื่นๆ เช่น ราเกซ สักเสนา ฯลฯ ก็ควรได้รับสิทธิ์นั้นเช่นกัน” เป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะทักษิณกับคนเหล่านั้นมีข้อแตกต่างอย่างสำคัญ เนื่องจากทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหาร และเขาต้องต่อสู้ด้วยเหตุผลที่ในแง่หนึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาของระบบการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ ดังที่เขาให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ว่า

“...บ้านเมืองที่ยุ่งวันนี้ โครงสร้างปกติไม่สามารถทำงานได้ปกติ เพราะคนที่อยู่นอกโครงสร้างของการบริหารจัดการ เข้ามาสั่งการใช้บารมี ใช้อำนาจจัดการตรงนั้นตรงนี้ ทำให้คนที่อยู่ในโครงสร้างทำงานไม่ได้ ผมเจอปัญหานี้ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ปีสุดท้าย ที่สร้างขบวนการพันธมิตรประชาชนฯ เข้ามาไล่ผม เพื่อเป็นเหตุในการปฎิวัติ (รัฐประหาร 19 กันยา 49) …” (ประชาไท, 09/09/2552)

ต่อให้ทักษิณเป็นนักโทษหนีคุก หรือโกงบ้านกินเมืองอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาพูดย่อมเป็น “ปัญหาสำคัญ” ที่สื่อควรนำเสนอ สังคมควรรับฟัง และไตร่ตรอง ยิ่งกว่านั้นสื่อควรเจาะลึกหรือหาข้อมูลพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นจริงหรือไม่

หากเป็นจริง แล้วสื่อและสังคมยัง “วางเฉย” อยู่ได้ก็นับเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง!

คำถามจึงอยู่ที่ว่า สื่อที่พยายามเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นรอบด้าน กับสื่อที่เน้นการเสนอความจริงด้านเดียวและพยายามชี้นำให้สาธารณะ “ปิดตาข้างหนึ่ง” สื่อประเภทไหนกันแน่ที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net