Skip to main content
sharethis

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า วันนี้ผู้คนในแถบถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง ต่างสิ้นเนื้อประดาตัวจากการทำเกษตรขนาดใหญ่ ลงทุนสูง ด้วยหวังกำไรชนิดเป็นกอบเป็นกำ อย่างเช่นนากุ้ง

อันส่งผลให้บัดนี้ ที่ดินปริมาณมากมายมหาศาลถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างสุดลูกหูลูกตา ด้วยหมดสภาพจะนำกลับมาใช้ทำเกษตร ด้วยสาเหตุดินเค็ม เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและทุ่งนาระโนด ก็นับได้หลายแสนไร่ ปล่อยให้เจ้าของเดิมหนี้สินท่วมหัวมาจนถึงวันนี้

คำบอกเล่าของ "นางวรนาถ หมาดทอง" สตรีวัย 32 ปี ดูจะสะท้อนภาพนี้ได้ดี

"ในช่วงที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู ชาวแหลมตะลุมพุกเอง ก็กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำนากุ้งกันมาก ทุกวันนี้แต่ละคนต้องแบกรับภาระหนี้สินคนละมากๆ จากการล่มของนากุ้ง"

ทว่า จะมีใครสักกี่คนทราบว่า สาเหตุที่มาของการสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้คนส่วนใหญ่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง นอกจากนากุ้งที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้แล้ว จะมาจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เข้าไปทำลายระบบนิเวศชนิดยับเยินยิ่งรวมอยู่ด้วย

ไม่เว้นกระทั่งโครงการดีๆ ที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี และทุกฝ่ายพยายามเข้าไปดูแลใกล้ชิดอย่าง "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" โครงการพัฒนาที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 1.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 26.64 ของพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร

ส่งผลกระทบต่อผู้คนครอบคลุมอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอจุฬาภรณ์

มีแม่น้ำสายหลัก และลำคลองสาขากว่า 119 สาย จากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่าน จากอำเภอชะอวด เข้าอำเภอหัวไทร ลงสู่ทะเลที่อำเภอปากพนัง

ตอนกลางจะเป็นพื้นที่ลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเล 5 - 10 เมตร ตอนปลายเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่ง เป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึง
ในฤดูแล้งน้ำทะเลจะหนุนขึ้นสูงไปผสมกับน้ำจืดถึงเขตอำเภอชะอวด กลายเป็นน้ำกร่อย ทำให้สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีระบบนิเวศ 4 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำเปรี้ยวล้นออกมาจากจากพรุควนเคร็ง

ระบบ 4 น้ำ ก่อให้เกิดความหลากหลายของสภาพนิเวศและอาชีพของชุมชน อาทิ ป่าจาก ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าสาคู และป่าดิบชื้นหรือป่าต้นน้ำ ทำให้ลุ่มน้ำปากพนังมีความหลากหลายมาแต่อดีต

เมื่อนำไปบวกกับเป็นเมืองปากแม่น้ำ "ลุ่มน้ำปากพนัง" จึงกลายเป็นประตูการค้า ที่เคยมีข้าวเป็นสินค้าหลัก อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับพื้นที่นี้ในอดีต

ทว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา การทำนากุ้งขยายตัวเข้าครอบครองพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังแทนนาข้าว ส่งผลให้น้ำเค็มรุกพื้นที่นาข้าวขยายวงกว้าง

"โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแยกโซนน้ำจืดกับน้ำเค็มออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้อีกส่วนได้ทำนาข้าว ขณะที่อีกฝ่ายได้ทำนากุ้ง ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ" ซึ่งเปิดใช้งาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ขึ้นมาทำหน้าที่กั้นแม่น้ำปากพนัง ก่อนน้ำจืดจากเทือกเขาบรรทัดจะไหลลงสู่ทะเล

ส่งผลให้ระบบไหลเวียนของน้ำ ตามลำคลองสาขาต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศอันเป็นรากฐานของอาชีพต่างๆ ในเขตลุ่มน้ำ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้วยสาเหตุน้ำที่ถูกกั้นโดยประตูน้ำ ไม่สามารถไหลเวียนได้ น้ำอยู่ในสภาพนิ่งสนิท แปรสภาพกลายเป็นน้ำเน่า

ขณะน้ำเค็มที่นำมาเลี้ยงกุ้ง กลับมีค่าความเค็มสูงเกินไป เพราะไม่มีน้ำจืดลงมาผสม เส้นทางอพยพเพื่อวางไข่ของปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ถูกตัดขาด พืชน้ำในแต่ละชนิดสูญหาย หรือไม่ออกผลผลิต เช่น ต้นจาก ซึ่งเป็นพืชน้ำกร่อย ไม่ออกรวง ไม่ออกน้ำ

แถมยังเกิดตะกอนทับถมขึ้นในลำคลองสูง อันเนื่องมาจากน้ำไม่ไหลเวียน ส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูง เป็นเหตุให้น้ำท่วมขัง ดินไม่แห้งตามฤดูกาล ทำให้ดินทำนาเหนียวไถไม่ได้

ปลายปี 2545 มีการขุดลอกคลองหัวไทร โดยขุดลอกป่าจากริมสองฝั่งแม่น้ำหัวไทร และลำคลองสาขา ทำให้เกิดทั้งปัญหาสนิมน้ำจากการคายยางของรากต้นจาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปากพนังทั้งระบบ
แน่นอน นอกจากเกษตรกรจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินอาณาบริเวณลุ่มน้ำปากพนังได้แล้ว ยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก รุนแรงถึงขั้นวันนี้พันธุ์สัตว์น้ำได้สูญหายไปจากลุ่มน้ำปากพนังแล้วกว่า 65 ชนิด มีผลกระทบกับชาวประมง ทั้งที่หากินอยู่ในลำคลองไปจนถึงชาวประมงชายฝั่งทะเลอย่างมหาศาล

อันสะท้อนภาพผ่านคำบอกเล่าของ "นายดะโหด หมัดล๊ะ" จากตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

"ผมทำนาข้าวมาก่อน เมื่อประมาณ 15 - 20 ปี มีการทำนากุ้งที่อำเภอหัวไทร ร่ำรวยกันมาก ผมเลยกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำนากุ้ง แต่วันนี้ไม่ได้ผล นาข้าวก็ทำไม่ได้เพราะดินเค็ม ทำเกษตรอย่างอื่นก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าภาครัฐจะแบ่งโซนน้ำจืดและน้ำเค็มให้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สภาพที่เห็นก็คือ นาข้าวก็ร้าง นากุ้งก็ร้าง"

อันไม่แตกต่างจาก "นายนพคุณ หนูดาษ" จากตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล และ "นายสมนึก วราภรณ์" ชายวัย 60 ปี จากอำเภอหัวไทร ทั้ง 2 ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งมาเนิ่นนาน ที่มาถึงวันนี้กลับไม่มีปลาเหลือให้จับ

นี่คือ ชะตากรรมร่วมของชาวประมงทุกครอบครัวในลุ่มน้ำปากพนัง ที่กำลังประสบกับปัญหาจาก "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" อยู่ในขณะนี้

แน่นอน นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากการขุดคลองในโครงการฯ นี้ แล้วทำรอยื่นออกไปในทะเล ส่งผลให้น้ำเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน จมหายกลายไปเป็นทะเล นับถึงวันนี้เกือบ 4,000 ไร่

อันนำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ไม่มีเสียงตอบรับจากผู้เป็นเจ้าของโครงการฯ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ นี้

จนเมื่อชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนัง ร้องเรียนต่อ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ด้วยการประสานงานของ "โครงการสิทธิชุมชนศึกษา" แนวทางการแก้ปัญหาก็ขยับขึ้นสู่โต๊ะการหารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
ก้าวแรกของการแก้ปัญหา ก็คือ การเข้ามาเป็นตัวกลางจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดย "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ณ ที่ทำการโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

อันตามมาด้วยข้อเสนอจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" ทุกสาขาอาชีพกว่า 200 คน ที่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ

ว่ากันตรงไปตรงมา ก็คือ ชาวบ้านขอเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ "เปิด" และ "ปิด" ประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ" โดยให้ทาง "คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" หรือ "กปร." เป็นผู้ประสานงานในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้

จนวันที่ 28 มกราคม 2548 ข้อเสนอข้างต้น จึงคลอดออกมาในชื่อ "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ลงนามโดย "นายวิชม ทองสงค์" ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

เป็นคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ชาวบ้านที่คิดว่าได้ประโยชน์จากโครงการฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน รวมทั้งสิ้น 64 คน

การประชุม คณะทำงาน "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้น ณ ที่ทำการ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในบ่ายอันอบอ้าวของวันที่ 7 มีนาคม 2548

บรรยากาศเริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลผลกระทบจาก "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง" โดยเฉพาะจาการปิดประตูระบายน้ำ "อุทกภาชประสิทธิ์" โดยตัวแทนชาวบ้านในอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก็ถูกนำออกมาตีแผ่กลางวงประชุม

อันตามมาด้วยข้อเสนอ "ปิด - เปิด" ประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ์" ด้วยตัวเลข "เปิด" 7 เดือน "ปิด" 5 เดือน
แน่นอน ผลการประชุมที่ออกมาในวันนั้น ย่อมไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อันนำมาสู่การนัดหมายประชุมหาข้อสรุปร่วมกันครั้งใหม่ ในวันที่ 27 เมษายน 2548

ทว่า เหตุการณ์ที่ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีการนำสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานครลงมาในพื้นที่ พร้อมกับนัดหมายประชุมชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ด้วยวิธีการเลือกเชิญเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐในการปรับเปลี่ยนอาชีพ และอื่นๆ โดยฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ แม้จะอยู่ใน "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ก็ไม่ได้รับเชิญ

แล้วความก็แตก เมื่อชาวบ้านที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ส่งข่าวให้ "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ในส่วนของตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทราบ

การประชุม ในวันที่ 19 เมษายน 2548 กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่อยู่ใน "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" และไม่อยู่ในคณะทำงานฯ ชุดนี้ จึงบุกเข้าไปนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อที่ประชุม

สถานการณ์พลิกกลับ เพราะเป็นการเสนอข้อมูลผลกระทบต่อหน้าสื่อมวลชนจากเมืองหลวง โดยมี "เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" และ "อธิบดีกรมชลประทาน" ร่วมรับฟังอยู่ด้วย

แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ 2 วันต่อมา "นายอาสา สารสิน" ราชเลขาธิการ ได้ลงมาดูพื้นที่ "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากการพระราชดำริ"

ในส่วนของชาวบ้านไม่มีใครทราบ ถึงกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ "ราชเลขาธิการ" เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 จึงไม่มีใครรู้ว่า "ราชเลขาธิการ" มาพูดคุยกับส่วนราชการในประเด็นไหน มีความคิดเห็นอย่างไร

ถึงกระนั้น การเดินทางมาของ "ราชเลขาธิการ" ย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อทิศทางข้างหน้าของ "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

การประชุม "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ร่วมกับ "อนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ในวันที่ 27 เมษายน 2548 ต่อหน้าตัวแทนจาก คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จึงราบรื่นชนิดไม่มีผู้ใดคาดคิด

เป็นความราบรื่นภายใต้การถอยของ "นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์" ผู้เป็น "อธิบดีกรมชลประทาน" ที่ยอมให้ "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ที่มีตัวแทนชาวบ้านอยู่ด้วย เข้ามาบริหารจัดการน้ำ

ด้วยการยกอำนาจในการ "เปิด - ปิด" ประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ์" ซึ่งเป็นของอธิบดีกรมชลประทาน มอบให้กับคณะทำงานฯ ชุดนี้ ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้แนวคิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในทุกขั้นตอน

ในที่สุด "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานฯ ชุดเล็ก โดยคัดเลือกจากคณะทำงานฯ ชุดใหญ่ จากภาคชาวบ้าน ภาคราชการ และนักวิชาการ รวม 21 คน ขึ้นมาบริหารจัดการ "เปิด - ปิด" ประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ์" โดยมี "น.ส.อรุณี พูลณรงค์" รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน

พร้อมกับเพิ่มตัวแทนชาวบ้านเข้ามาอีก 5 อำเภอ คือ อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสกา อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ตามด้วยข้อเสนอให้ "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนมาถึงปลายน้ำ ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ของ "กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"

ประเด็นที่ต้องจับตามอง นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็คือ ภายใต้แนวคิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ใน "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ยังจะมีปัญหาอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่

ด้วยเพราะ นี่คือ บทพิสูจน์ครั้งสำคัญยิ่งของทฤษฎี "กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน" ในบริบทของ "สังคมไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net