การเลือกปฏิบัติในการประกาศกฎอัยการศึกและการให้เหตุผลแบบสีข้างถลอกของ คมช.

ศรายุธ   ตั้งประเสริฐ

 

จากการแถลงข่าว พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช. ) ภายหลังการประชุม คมช. ในวันที่ 17 กันยายน  พ.ศ.2550 ว่าจะคงกฎอัยการศึกไว้เฉพาะ 26 จังหวัดเฉพาะตามแนวชายแดน และ จ.ปัตตานี ที่ยังคงมีสถานการณ์ความรุนแรงรวมเป็น 27 จังหวัด  จากเดิม 35 จังหวัด   ซึ่งหากมองโดยผิวเผินจากสายตาของคนชั้นกลางในเมืองแล้วก็คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดี สภาพสังคม การเมือง และที่สำคัญที่สุดก็คือเศรษฐกิจไทยก็น่าจะดีขึ้นด้วย

 

แต่หากจะมองในสายตาของประชาชนคนที่อยู่ในเขตกฎอัยการศึก โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่เป็นธรรมนักสำหรับพวกเขา  เมื่อเหตุผลของทาง คมช.คือการป้องกันลักลอบการลำเลียงยาเสพติด และการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งอาจดูว่ามีความรุนแรงของปัญหาจริง  แต่มีข้อสังเกตดังนี้

 

1.ปัญหายาเสพติดและปัญหาลักลอบเข้าเมือง รัฐมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว    แสดงว่าสภาพปัญหามีความรุนแรงขึ้น   หรือว่าหน่วยงานเดิมไม่มีประสิทธิภาพ     ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะนำข้อมูลมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่รับเหมาทำแทน

 

2.ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหวเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน    ถ้าทหารจะมาทำการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ ทหารมีศักยภาพแค่ไหน ( แน่นอนว่ากองทัพปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนเป็นหลักย่อมต้องมีประสบการณ์ในเรื่องขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดอยู่บ้างแต่ผู้เขียนจำกัดในด้านข้อมูล จึงไม่ทราบว่าเป็นประสบการณ์ในด้านไหน  ต้องรบกวนผู้รู้ท่านอื่นออกมาให้ข้อมูล )

 

3.ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี(จะได้รับการยกเลิกกฎอัยการศึกในครั้งนี้), ชุมพร และปราจีนบุรี (ยกเลิกเมื่อเดือนมกราคม 2550) ซึ่งก็เป็นจังหวัดชายแดนที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้นเช่นกันและระดับความรุนแรงของปัญหาก็ไม่ต่างจากจังหวัดชายแดนทางภาคเหนือและอีสาน แต่ทำไมทั้ง 5 จังหวัดนี้ คมช. จึงยกเว้น หรือว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีปัญหาในเรื่องผลการลงประชามติ  ดังเช่นจังหวัดชายแดนในภาคเหนือและอีสาน

 

ข้อสังเกตข้างต้น   ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนและรัดกุมกว่านี้จาก คมช.    และหากดูว่าพื้นที่กฎอัยการศึกที่  คมช. จะประกาศเพิ่มในภาคอีสาน อีก 3 จังหวัดได้แก่ นครพนม หนองคาย และ มุกดาหาร มีนัยยะอย่างไร    อยากให้ลองพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้

 

ตารางแสดงลำดับของผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ









อัน

ดับ

ที่


จังหวัด


จำนวนของผู้ไม่รับร่างฯ


ร้อยละของผู้ไม่รับร่างฯ


คะแนนปาร์ตีลิสต์ของพรรคไทยรักไทย พ.ศ.2548


ผลต่างระหว่างจำนวนผู้ไม่รับร่างและฐานคะแนนของไทยรักไทย ปี 2548


1


นครพนม


209,016 คน


76.42


    179,478 คน


29,538


2


ร้อยเอ็ด


374,774 คน


76.03


    334,785 คน


39,989


3


มุกดาหาร


104,907 คน


75.24


      49,709 คน


55,198


4


หนองคาย


243,007 คน


73.57


    258,124 คน


-15,117

(ดัดแปลงจาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 22  สิงหาคม พ.ศ.2550)

 

สิ่งที่เห็นได้จากข้อมูลข้างบน ก็คือ  จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ไปลงประชามติไม่รับร่างฯ สูงอยู่ในอันดับที่1 ,3 และ 4     กำลังถูกประกาศเพิ่มให้เป็นเขตกฎอัยการศึก  ด้วยเหตุผลที่ คมช.แถลง คือ เป็นจังหวัดชายแดน   แต่ถ้าดูอันดับดังกล่าว  และถ้าวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนไม่รับร่างฯ  กับคะแนนปาร์ตีลิสต์อันเป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย  ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เสียดแทงใจคณะรัฐประหารว่า   เสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่สูงขึ้นจากฐานเสียงเดิมของพรรคไทยรักไทย ของหลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสานมาจากไหนและเกิดจากอะไร...???   

ก็พอจะเห็นนัยยะว่าทำไมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดจึงจะถูกประกาศเพิ่มเข้าไปเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก    ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามที่ประธาน คมช.ได้ให้สัมภาษณ์ไว้   หลังจากที่ได้รู้ผลการลงประชามติว่า"หน่วยที่ดูแลรักษาความมั่นคงภายใน มีวิธีแก้ในอนาคตได้ไม่ยาก เพราะกองทัพอยู่ตรงนั้น เป็นคนอีสานทั้งนั้น สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้"  (ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 22 สิงหาคม  พ.ศ.2550) หรือว่านี่คือรางวัลหรือผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับเนื่องจากที่พวกเขาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติตามที่ คมช.เป็นผู้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย   ผู้เขียนคาดการณ์ว่าหาก คมช. หาเหตุผลที่พอฟังได้  จังหวัดอื่นๆ  ที่ไม่ติดชายแดนแต่มีผลการแสดงประชามติคล้าย  3 จังหวัดชายแดนข้างต้น (เช่น จ.ร้อยเอ็ด)ด็ดเ)็ ก็จะถูกประกาศเพิ่มหรือคงกฎอัยการศึกไว้เช่นกัน

ในสังคมประชาธิปไตยความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดา  แต่ในความคิดของผู้นำ คมช. ความเห็นใดที่ต่างไปจากตัวเองคือปัญหาที่ต้องแก้ไข  อุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ที่ความเห็นที่แตกต่างของคนในสังคม หรืออยู่ที่ความคิดของผู้นำคณะรัฐประหารกันแน่...???   และการประกาศใช้กฎอัยการศึก ในการแก้ปัญหา ถามว่ามันเป็นการแก้ปัญหาของสังคมไทย...???   หรือปัญหาของคณะรัฐประหารกันแน่....????

ในทัศนะของคนชั้นกลางหรือคนในเมือง กฎอัยการศึก อาจเป็นเรื่องธรรมดาหรืออาจเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตเสียด้วยซ้ำ หากผลของการประกาศไม่ได้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่พวกเขา  แต่สำหรับคนในชนบทกลับมีทัศนะที่แตกต่างออกไป   คนเมืองเมื่อเห็นรถถังหรือรถหุ้มเกราะอาจชวนลูกหลานมาขอถ่ายรูป แต่เมื่อคนยากจนในชนบทได้เห็นเขาจะเรียกลูกหลานกลับเข้าบ้านและปิดประตูหน้าต่าง อาจเป็นเพราะว่าความทรงจำของพวกเขาต่ออำนาจรัฐมีความแตกต่างกัน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆจากคนชั้นกลางถึงการมีอยู่ของกฎอัยการศึกในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา  แต่ความสูญเสียและความเจ็บปวดที่คนชนบทเคยได้รับจะถูกกระตุ้นให้ถูกรำลึกขึ้นมาอีกหรือไม่

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากแนวคิดของ คมช. เมื่อเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างในครั้งนี้  และที่ผ่านมาทั้งหมดก็คือ การเลือกปฏิบัติ หรือเลือกบังคับใช้กฎหมาย  ระหว่างฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร   และในครั้งนี้ระหว่างฝ่ายเห็นชอบกับไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ   และการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจทหาร  การคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกซึ่งไม่มีความชอบธรรมใดๆ  หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ตีความได้ว่าคงไว้เพื่อให้ทหารมีพื้นที่ในการใช้อำนาจ ทั้งอำนาจในการอำนวยการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.คนดีที่เป็นนอมินีหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหาร  และอำนาจในทางนามธรรมที่ไม่ต้องปฏิบัติการใดๆ ก็เป็นที่หวาดกลัวและยำเกรงของประชาชนคนยากคนจนทั่วไปอยู่แล้ว   และยังอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นช่องทางในการใช้งบประมาณด้านความมั่นคง ซึ่งในปี 2551 มีสูงถึง 219,690.3 ล้านบาท

หลังการลงประชามติ คมช.เห็นว่าคนยากจนที่แสดงความคิดเห็นต่างจาก คมช.ในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา  จึงใช้กฎหมายที่ให้อำนาจทางการทหารเข้าไปแก้ไขปัญหา  แต่สิ่งที่ทหารถนัดก็คือการใช้อำนาจและอาวุธ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิด หรือแม้แต่แก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศไม่ได้  มีแต่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยกลับลุกลามบานปลายขึ้น ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ,  เหตุการณ์เดือนตุลา, พฤษภาทมิฬ,  กรณีสามจังหวัดภาคใต้  และที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ล่าสุด คือ กรณีรัฐประหาร 19 กันยา!!!     

หนทางที่สังคมไทยจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้ความแตกต่างในด้านต่างๆ นั้น ผู้รู้หลายๆ คนได้ชี้แนะไว้แล้ว แต่บรรดาชนชั้นนำทั้งหลายไม่เคยสนใจ  ก็คือการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น ทั้งความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย  การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการและการพัฒนาจากรัฐ ฯลฯ   และสิ่งที่ คมช.สามารถทำได้ในทันทีขณะนี้ก็คือประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ และกลับเข้าสู่กรมกองทำหน้าที่ทหารที่ควรจะเป็นในสังคมประชาธิปไตย เท่านี้ประชาชนก็จะรู้สึกสำนึกในบุญคุณไม่รู้เลือนและคงจะจดจำความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาไปจนวันตายแล้ว มิฉะนั้นแล้ว  ปัญหาในด้านทัศนะคติทางการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมจะบานปลายไปอย่างน่าห่วงใยยิ่งนัก

 

หากว่าผู้นำทหารในอดีตรวมถึง คมช. ด้วยจะมองว่าภารกิจหลักของทหารไทย ก็คือการพัฒนาประชาธิปไตย  ซึ่งหมายถึงการรอจังหวะในการทำรัฐประหารจากประชาชนแล้ว ซึ่งเมื่อดูจากสถิติแล้วทหารพยายามทำรัฐประหารทั้งสิ้น 25 ครั้ง สำเร็จถึง 11 ครั้ง  ฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วทั้งสิ้น 9 ฉบับ ในเวลา 75 ปีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกเห็นใจภารกิจอันยากลำบากในการคิดหาเหตุผลเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปของพวกท่านจึงอยากจะเสนอให้พวกท่านได้ลองไปปรึกษาแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( สปป.)  หรือรัฐบาลทหารของพม่าดูสักครั้ง เผื่อว่าจะได้เงื่อนไขหรือเหตุผลที่เท่และเนียนกว่านี้ ในการสืบทอดอำนาจหรือทำการรัฐประหารครั้งต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท