Skip to main content
sharethis

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


19 กันยายน 2550


 


ในโอกาสที่ครบรอบ 1 ปีของการตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงอาศัยโอกาสนี้แถลงความคืบหน้าของเหตุผล 4 ข้อในการรัฐประหาร คือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ความแตกแยกในสังคม การแทรกแซงองค์กรอิสระ และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


แต่สำหรับเรา - "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" แล้ว ทั้ง 4 ข้อข้างต้นมีค่าเป็นเพียง "ข้ออ้าง" ในการรัฐประหารเท่านั้นเอง ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ข้ออ้างที่ว่านั้นไร้สาระสักเพียงใด


 


"ปัญหาการทุจริตของรัฐบาลชุดก่อน" คณะรัฐประหาร โดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ซึ่งทำหน้าที่เพียงรวบรวมหลักฐาน แม้จะแถลงข่าวรายวันแต่ก็สั่งฟ้องได้เพียงคดีเดียว (มูลค่า 700 ล้านบาท) แต่กลับปรากฏการทุจริตรูปแบบใหม่และร้ายแรงกว่าของรัฐบาลคณะรัฐประหาร คือ การเพิ่มงบประมาณทหาร ถึง 57,064 ล้านบาท หรือประมาณ 66.40% หลังจากรัฐประหาร นอกจากนี้กองทัพยังตั้งงบผูกพันไว้อีก 4 ปี ปีละไม่ต่ำกว่า 140,000 ล้านบาท


 


"ความแตกแยกทางสังคม" (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก) ไม่มีทีท่าจะสงบลง แต่กลับเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากสาเหตุการรัฐประหาร มรณานุสติของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" เป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี ส่วนปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งฝ่ายคณะรัฐประหารและลิ่วล้อยกให้เป็น "ทุกสิ่งทุกอย่างของปัญหา" แล้ว ก็หาได้ยุติลงไม่ แต่กลับยกระดับความรุนแรงไปสู่เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น จนบัดนี้ยังไม่มีใครกล้าออกมารับประกันอีกแล้วว่า ปัญหาจะยุติลงเมื่อไร นอกจากการแก้ตัวไปวันๆ ว่า "เรามาถูกทางแล้ว แต่ต้องใช้เวลา"


 


"การแทรกแซงองค์กรอิสระ" แม้จะไม่มีอีกแล้วกับองค์กรอิสระแบบเดิมที่ส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในองค์กรต่าง ๆ หรือการ "บล็อกโหวต" แต่คณะรัฐประหารลงไปแต่งตั้งองค์กรเหล่านั้นเอง เท่านั้นยังไม่พอ บรรดานายทหารกลับเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกนับสิบแห่งโดยที่ไม่มีความสามารถแม้แต่น้อย ความเสียหายใน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี 


 


"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ไม่เพียงแต่ไม่เอาผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เพราะอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกคดีแล้ว แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีอื่นๆ ซึ่งเป็นการเล่นงานทางการเมือง ก็ยังดำเนินการต่อไป เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลคณะรัฐประหาร ก็ยังใช้ข้อหานี้เล่นงานคนที่มีความคิดทางการเมืองต่างจากตน เช่นเดียวกับรัฐบาลก่อนหน้าอีกด้วย


 


ปรากฏการณ์ข้างต้น ไม่เพียงแต่เป็นดัชนีชี้วัดว่า นอกจาก "การรัฐประหาร" จะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมการเมืองได้แล้ว แต่กลับเพิ่มความรุนแรงของปัญหาให้มากยิ่งขึ้น


 


ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่ว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็น "รัฐประหารที่ล้มเหลว" เพราะนั่นเป็นทัศนะของบรรดาผู้สนับสนุนรัฐประหารที่มองว่ารัฐบาลชุดนี้อ่อนแอเกินไป เนื่องจากไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการมากพอ (ดู "ธีรยุทธ' เปรียบ รบ.ฤาษีเลี้ยงเต่า! ให้แสดงผู้นำแบบ ' ขุนพันธ์' " เดลินิวส์ 26 ก.พ. 50)  


 


แต่มันเป็นความล้มเหลวของสังคมการเมืองไทย ที่ปล่อยให้เกิดรัฐประหาร และปล่อยให้ระบอบนี้ลอยนวลมากว่า 1 ปี


 


แม้สังคม การเมืองไทยจะกลับเข้าสู่ "ความปกติ" หลังการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.50 แต่เป็นความปกติก่อนที่จะมีรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 คือ การมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ และเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ได้ด้วยการการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมือง การเมืองแบบนี้นักการเมืองไม่จำเป็นต้องนำเสนอนโยบายต่อประชาชน เพราะระบบราชการได้จัดไว้ให้หมดแล้ว ขณะที่พรรคการเมืองที่เข้มแข็งกลายเป็นที่น่ารังเกียจ เพราะจะมาแข่งบารมีกับพระมหากษัตริย์ ฯลฯ


 


แต่ที่อาจจะเลวร้ายไปกว่านั้นคือ การที่เราต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มุ่งฟื้นฟูอำนาจอำมาตยาธิปไตย ซึ่งมีคณะตุลาการที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นแกนนำ และชุดกฎหมายความมั่นคง ซึ่งมีกองทัพที่ถือปืนอยู่เป็นผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จ


 


ลำพังเพียงการเรียกร้อง ฟื้นฟู สิทธิเสรีภาพ และโครงสร้างทางการเมืองให้กลับคืนสู่สภาวะก่อนหน้ารัฐประหาร 19 ก.ย.49 นั้น ก็คงเป็นภารกิจที่ยากลำบากและไม่แน่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และจะใช้เวลายาวนานสักเพียงไหน โดยที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าในระหว่างนั้นสังคม การเมืองไทยจะต้องสูญเสียอะไรบ้างเพื่อที่จะบรรลุภารกิจต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net