ฟังคน "รับ" รัฐธรรมนูญ "อย่างมีเงื่อนไข": "สุริยะใส กตะศิลา"

คุยกับสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. ว่าเหตุใดเขาจึงประกาศรับรัฐธรรมนูญ 2550 เหตุใดจึง "รับ อย่างมีเงื่อนไข" เขามองเห็นว่าอำมาตยาธิปไตยจะกลับเข้ามาในการเมืองไทยเหมือนกับที่มีหลายฝ่ายกังวลหรือไม่ และสิ่งที่เขาเรียกว่าวาระประชาชนคืออะไร ทั้งหมดนี้มีให้ติดตามใน "ประชาไท"

 

 

สัมภาษณ์โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 

เมื่อปีที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นบทบาทของเขา "สุริยะใส กตะศิลา" เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กับบทบาทของ "ผู้ประสานงาน" กลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พปป.) ที่เขาทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการขับโค่นระบอบทักษิณ

 

นับตั้งแต่การชุมนุมในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งแรก ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 กระทั่งมีการประกาศขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยอาศัยมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ในเวลา 22.00 น.ของวันที่ 23 มีนาคม 2549 หลังพ้นประกาศเส้นตาย 48 ชั่วโมงของพันธมิตรฯ ในการให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุกนี้เองทำให้ พันธมิตรฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย

 

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แม้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะประกาศยุติบทบาท แต่เรายังพบความเห็นทางการเมืองของอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ผู้นี้ผ่านสื่อฉบับต่างๆ

 

อย่างเช่นการให้สัมภาษณ์ขนาดยาวของเขาผ่าน โอเพ่นออนไลน์ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ด้วย ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์หลังวันที่ 19 กันยายน ซึ่งจากปากคำของเขาได้เผย "วรรคทอง" เรื่องการรัฐประหารออกมา นั่นก็คือคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า

 

"วันนี้ก็เห็นโดยพฤตินัยได้อย่างชัดเจนว่า พลเอกเปรมใช้อำนาจนั้นผ่าน คปค. ท่านนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ และไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าทำ หรือไม่มีใครคิดตอนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า การรัฐประหารครั้งนี้องคมนตรีจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเปิดเผยขนาดนี้"

 

 "วรรคทอง" ดังกล่าวเป็นทั้งที่ฮือฮาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลังการรัฐประหาร ไม่ว่าเจ้าตัวจะออกมาระบุผ่าน ผู้จัดการออนไลน์  เมื่อ 4 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา ว่า "คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์และมีความสุจริตใจที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในคืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ได้มีเจตนาไปกล่าวหา โจมตี หรือทำลายความชอบธรรมของ พล.อ.เปรม แต่อย่างใด"

 

แต่ฝ่ายต้านรัฐประหาร อย่างเครือข่าย 19 กันยา ก็ถือว่าการให้ "ปากคำ" ดังกล่าว เป็นหลักฐานมัดตัวประธานองคมนตรีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการรัฐประหาร และยกพลพรรคไปประท้วงถึงหน้าบ้านป๋า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ การตั้ง สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ขึ้นมาแทนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยุติบทบาท โดยมีแกนนำพันธมิตรหลายคนเข้ามามีบทบาท เช่น สมศักดิ์ โกศัยสุขในฐานะผู้อำนวยการ พิภพ ธงไชยเป็นกรรมการ และมีสุริยะใส กตะศิลาเป็นผู้ประสานงาน โดย สปป. ได้จัดเวทีคู่ขนานกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ

 

ก่อนออก "คำประกาศ สปป. เหตุผลสำคัญในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ..2550" เมื่อ 15 กรกฎาคม 2550 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ประกาศรับรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างมีเงื่อนไข แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา! โดยในคำประกาศดังกล่าว ระบุว่า "สปป.จะรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ มาตรา 291 (1) (ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2550) เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง"

 

ซึ่งนั่น ทำให้ในวันต่อมาเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารออกแถลงการณ์ "ยุติการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร" เพื่อประณาม สปป. ว่าข้อเสนอให้ประชาชนไปรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนนั้นจะเป็นการ "เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำกองทัพและระบบเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้ไม่เป็นคุณต่อการพัฒนาประชาธิปไตย"

 

สุริยะใสยังคงเกาะติดเช็คบิล "ระบอบทักษิณ" อย่างแข็งขัน ดังการแถลงข่าวของเขาในนาม ครป. ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า ครป. "จะทำหนังสือ และขอเข้าพบเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อขอความชัดเจน" หากอังกฤษมีการตุกติก หรือมีเงื่อนงำ กรณีรัฐบาลไทยร้องขอให้อังกฤษมีการส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

 

นี่คือการแนะนำ "สุริยะใส กตะศิลา" อย่างย่นย่อ

 

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ "สุริยะใส กตะศิลา" เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ว่าเขามองรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างไร เหตุใดจึง "รับ" อย่างมีเงื่อนไข ทั้งที่เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2550 เขาคิดถึงการเมืองหลังวันลงประชามติว่าอย่างไร และการปฏิรูปการเมืองในความเห็นของเขาคืออะไรกันแน่

 

"ประชาไท" มีให้คุณติดตาม

 

000

 

 

 

มองการเมืองไทยก่อนและหลังลงประชามติอย่างไรบ้าง ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะมีผลอย่างไร จะเป็นไปตาม สโลแกนของ ส.ส.ร. ที่ว่า รับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ให้ประเทศเดินหน้า จริงหรือ

 

มันไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ ผมไม่เห็นด้วยที่ สสร. รัฐบาล หรือฝ่ายรับร่าง จะเอาเรื่องการเลือกตั้งมาเป็นตัวประกัน เสมือนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ผ่านจะไม่มีการเลือกตั้ง คนละเรื่องครับ เพราะยังไงการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นเพราะนอกจากเป็นสัญญาประชาคมของ คมช.และรัฐบาลแล้ว การเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ก็ตามมันเป็นรูหายใจเดียวที่จะคลี่คลายสถานการณ์การเมืองได้ในระดับหนึ่ง หมายความว่ามิติความขัดแย้งมันจะเปลี่ยนไปสู่สภาวะปกติมากขึ้นไม่ไร้ระเบียบไปมากกว่านี้ แน่นอนมันอาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของสถานการณ์ที่โจทย์การเมืองซับซ้อนกว่าที่ผ่านๆ มาหลายเท่าตัว

 

ฉะนั้นเวลาเราพูดว่ารับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนเพื่อเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้านั้น จริงๆ แล้วรับหรือไม่รับมันก็ต้องเดินหน้าต่อไป อันนี้อาจเป็นจุดอ่อนของ สสร.หรือฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะตรรกมันหยาบเกินไป ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยตรรกหยาบๆ แบบนี้

 

แต่ถ้า สสร.หรือฝ่ายรับบอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไม่รู้จะใช้ฉบับไหน จะเกิดวิวาทะจนกลายเป็นวิวาทกลางเมืองอีกรอบหรือไม่ ว่าเอาหละ เอาฉบับ 2540 มาประกาศใช้ตามข้อเสนอนักวิชาการย้ำนะครับว่าข้อเสนอนักวิชาการ จะจบแค่นั้นหรือเปล่า เพราะฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีจุดมุ่งหมายต่างกันกลุ่ม ทรท.ก็ต้องการเอาคุณทักษิณกลับมา ไม่ได้เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา ฉะนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ผ่านก็เป็นบันใดขั้นแรกที่จะเอาคุณทักษิณกลับคืนสู่อำนาจ และกดดันให้ยกเลิกกระบวนการตรวจสอบในขณะนี้ทั้งหมด ในขณะที่ข้อเสนอนักวิชาการอย่างกลุ่มนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกว่ารับได้กับการทำหน้าที่ของ คตส. ตุลาการรัฐธรรมนูญ ปปช.ที่ตั้งโดยคำสั่ง คมช.

 

เห็นไหมครับแค่นี้มันก็ยุ่งเหยิงจนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางการเมืองได้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คือต้องเข้าใจว่าด้วยข้อเท็จจริง คมช.จะเอาฉบับไหนมาใช้แทนก็ตาม มันก็ต้องถูกประณามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการคุณจะยอมได้หรือ

 

000

 

 

 

ตามที่สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (สปป.) ประกาศรับรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างมีเงื่อนไขนั้น

 

ในส่วนของคุณสุริยะใส มีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร และพอจะขยายความได้หรือไม่ว่าทำไม สปป. ถึงรับรัฐธรรมนูญ ทั้งที่แกนนำหลายคนรวมถึงคุณสุริยะใสเองก็มองเห็นจุดด้อยของรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับจุดยืนของผมนั้น แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายมาตราโดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจรัฐราชการหรือการขยายเขตอำนาจของฝ่ายตุลาการ หรือบทบาทของอำมาตยาธิปไตย ผ่านช่องทางการสรรหา สว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ หรือระบบราชการส่วนภูมิภาคที่จะใหญ่โตแข็งแกร่งมากขึ้น ผมเห็นไม่ต่างจากทางปีกวิชาการที่ออกมาค้าน

 

เพียงแต่ผมอาจจะพิจารณาจากฐานของการเมืองภาคประชาชนมากกว่าว่ามันขยับขยายมีที่ทางมากขึ้นหรือไม่ แน่นอนมันชัดเจนกว่าฉบับ 2540 ซึ่งฝ่ายไม่รับร่างก็ไม่ปฏิเสธ เอาเข้าจริงๆ แล้วแม้เราจะอ่านทั้งฉบับแต่เวลาตัดสินใจรับหรือไม่รับ มันยุติจากความเชื่อของแต่ละคน ผมก็เชื่อแบบนี้ เชื่อแบบว่ามาเลยอำมาตยาธิปไตยหรือ รัฐราชการหรือ ทหารหรือ เบ่งกล้ามกันเข้ามา ผมไม่เห็นจะกลัวถ้าภาคประชาชนมีพื้นที่มากขึ้นก็มาสู้กัน ดีด้วยซ้ำที่ลากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ เปิดเผยตัวตน ดีกว่าใช้อำนาจแบบปิดบังอำพราง  ที่ผ่านมาเราก็เหน็ดเหนื่อยกันกับสภาวะอำนาจซ้อนอำนาจ หรือรัฐซ้อนรัฐ หรืออำนาจอำพรางมิใช่หรื

 

ผมไม่เห็นใครปฏิเสธว่า อีกด้านหนึ่งร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เปิดพื้นที่และช่องทางให้กับการเมืองภาคประชาชนได้มีสิทธิริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิทธิทางตรงและขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม  และเป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนาประชาธิปไตย ในระยะยาว ซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องเริมต้นและสร้างจากข้างล่าง   คุณไปดู มาตรา 67 และ 287 วรรค 2 และ3 ผมว่ามันเด่นมากเรื่องของการสถาปนาอำนาจชาวบ้าน ต่อไปโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเขาบังคับเลยคุณต้องถามความเห็นฟังชาวบ้าน ฟังการประเมินผลกระทบจากองค์กรอิสระ หรือต้องลงประชามติกันเลยว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่ ผมว่ามันเปิดทางให้คนข้างล่างได้สู้อย่างมีศักดิ์ศรี มันเริ่มจากตรงนี้มันไม่ได้เริ่มจากรออำมาตยาธิปไตยตายหรือเป็นอัมพาตไปเอง ผมจึงรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550  เขาสถาปนาอำนาจเขาได้ทำไมเราจะสถาปนาอำนาจประชาชนไม่ได้ คุณอย่าลืมสิรัฐธรรมนูญมันเป็นผลผลิตของการต่อสู้กันทางอำนาจเท่านั้น

 

แต่ไม่ใช่การสนับสนุนแบบสุดโต่งหรือสุดจิตสุดใจ ผมก็มีเงื่อนไขในการรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว เราจะรณรงค์เพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าผลประชามติออกมาไม่ห่างกันมาก จะทำให้กระแสแก้ไขทำได้ง่าย แต่ถ้ามันห่างกันมากก็คงแก้ลำบาก

 

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางการเมืองขึ้นได้ โดยเฉพาะขบวนการฉวยโอกาสของขั้วอำนาจเก่าที่กำลังขี่กระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของนักวิชาการบางกลุ่มที่อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่บริสุทธิ์ เพียงเพื่อทวงอำนาจคืนให้นายเก่า โดยจะยกเป็นข้ออ้างปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านกระบวนการตรวจสอบความผิดของรัฐบาลที่แล้ว และทวงคืนอำนาจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอีกครั้งหนึ่ง สถานการณ์ตอนนั้นเชื่อเถอะครับกลุ่มไทยรักไทยจะไม่สนใจหรอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 มาตราไหนบ้างเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไป

 

กระแสรณรงค์ของทั้ง 2 ฝ่าย มันเป็นไปแบบหัวชนฝ่า มีวาระต่างๆ ซ่อนอยู่ ไม่ได้อยู่บนฐานของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 309 มาตราอย่างจริงจัง มันมีอะไรมากกว่านั้น และอาจเกินความจริงไปด้วยซ้ำ ผมจึงไม่เอาด้วยกับทั้ง 2 กระแส เลยเลือกอยู่เฉยๆ ไม่รณรงค์ประชันขันแข่งกับใคร เดิมที สปป. ครป. และเครือข่ายที่แถลงไปก็เคยประกาศว่าจะรณรงค์ มานึกดูอีกทีแล้วมันไปอยู่ในเกมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยไม่จำเป็น ผมก็ไม่เอาด้วย เพราะมันกำลังจะทำให้สังคมเดินไปสู่ความพ่ายแพ้ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็ตาม คุณหนีความแตกแยกรอบใหม่ได้ยากจริงๆ

 

000

 

 

 

ในขณะที่หลายฝ่าย เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือกลุ่มคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะนำสังคมไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย คุณสุริยะใสไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้หรืออย่างไร

 

ตระหนักครับ ผมเห็นด้วยว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ แต่ผมว่าเรากังวลเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับที่คุณกำลังบอกผมว่ากลัวผีทักษิณเกินไปหรือเปล่าทำนองนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มันคือการสถาปนาระบอบอำมาตยาธิปไตย ต่อให้มันเป็นจริงก็ไม่ยั่งยืนหรอก เพราะตัวรัฐราชการหรือหลักคิดแบบอำนาจนิยมมันกำลังเป็นสิ่งเสื่อมทรุดจากประวัติศาสตร์ไปทุกขณะ คุณต้องเชื่อว่าชาวบ้านเขาลุกขึ้นสู้แล้วแม้ยังไม่เข้มแข็งอย่างที่คุณอยากเห็นแต่คุณกดหัวเขาอีกไม่ได้แล้ว คุณต้องยอมรับศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม กระแสความตื่นตัวของภาคประชาชนมันเกิดขึ้นแล้ว เร็วด้วย แรงด้วย หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจทหาร หรือเกิดตุลาการภิวัฒน์แบบถาวร ผมก็รู้สึกว่ากลัวเกินเหตุ ผมถามหน่อยว่าถ้าอยู่ๆ วันหนึ่ง คมช.บอกว่ายังไม่พร้อมเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเงื่อนไขอะไร  คมช.กับรัฐบาลจะอยู่ได้ไหม ไม่ได้หรอกครับ

 

มองอีกด้านหนึ่ง อันนี้ลองมองดูนะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมว่าเป็นการดีด้วยซ้ำเอาทุกองค์อำนาจที่มีอยู่จริงในสังคมการเมืองไทยมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาอยู่ในที่แจ้ง ทุกคนจะได้ภายใต้อยู่สปอร์ตไลน์ด้วยกัน ผมว่ามันอาจทำให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองไปอีกขั้นหนึ่งก็ได้นะ

 

อย่างน้อยองค์อำนาจเหล่านั้นเมื่อมาอยู่ในที่แจ้งคุณก็ต้องปรับตัวมากขึ้น เลือกที่เลือกทางมากขึ้น   ถ้าเขาไม่ปรับตัวก็อยู่ยาก หรืออาจอยู่ไม่ได้

 

000

 

 

คุณสุริยะใสเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มากนัก และค่อนข้างให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอ จึงมีคำถามต่อไปว่ามองกรณีที่อาจารย์นิธิและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอให้โหวตล้มไม่รับ เพื่อรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร

 

ผมให้ความสำคัญอยู่บ้างครับในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นแผนผังอำนาจทางการเมืองการปกครอง เพียงแต่เราอย่าไปคิดว่ามันเป็นยาวิเศษ หรือแก้วสารพัดนึก ปัญหาที่เราถกแถลงแรกหรือเผชิญหน้ากันในช่วง 2-3 ปีมานี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ ปัญหาในรัฐธรรมนูญ ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นปัญหานอกรัฐธรรมนูญทั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ ผมยกตัวอย่างซักเรื่อง 2 เรื่องแล้วกัน เช่น วาทกรรมที่ว่าระบอบทักษิณ ถามว่ามันคืออะไร มันไม่ใช่แค่การบิดเบือนรัฐธรรมนูญ 2540 หรอกครับ แต่มันเป็นการเบ่งกล้ามของพวกทุนผูกขาดสามานย์ที่ใช้อำนาจการเมืองตักตวงผลประโยชน์ให้กลุ่มตัวเองในวงแคบๆ ในขณะเดียวกันมันก็ ไปปะทะคะคานกับองค์อำนาจพิเศษบางอย่างที่ดำรงอยู่จริงในสังคมการเมืองไทย

 

เขาก็ต้องออกมารบหรือปกป้องพื้นที่ทางอำนาจของเขาไว้ถามว่าผิดไหม ไม่ทราบหรอกครับแต่ถ้าใครถูกรุกรานเขาก็มีสิทธิตอบโต้หรือป้องกันตัว ผมไม่อยากพูดมากในประเด็นนี้ เอาเป็นว่ามันเป็นปัญหานอกรัฐธรรมนูญ

 

หรือกรณีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เอาล่ะเถียงกันดีนักว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับ รัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับไหนดีกว่ากัน ผมเสนออย่างนี้เลยให้รัฐบาลใช้รัฐธรรมนูญพร้อมๆ กันทั้ง 2 ฉบับเลย ผมถามหน่อยว่าแก้ปัญหาภาคใต้ได้ไหม ไม่มีทางได้หรอกครับ คือตัวรัฐธรรมนูญคุณต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้มีน้ำยาอะไรมากมายหรอก แล้วทำไมเราต้องย่อส่วนหรือลดรูปปัญหาประเทศที่สลับซับซ้อนมาเหลือแค่เพียงรับ หรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเอาเป็นเอาตายกันให้ได้ในวันที่ 19 สิงหาคม 50

 

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านฝ่ายรับร่างก็บอกว่าการเมืองจะถูกปฏิรูป ฝ่ายไม่รับร่างบอกว่าจะถอยหลังไปอีก 10 - 20 ปี ผมไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 ฝ่าย นี่ถ้าบัตรออกเสียงมีช่องกากบาทว่างดออกเสียงได้ ผมจะไปกาช่องงดออกเสียง เพราะอยากจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับพวกคุณทั้ง 2 ฝ่าย

 

ผมเคารพการเคลื่อนไหวคัดค้านของปีกวิชาการที่ถือธงนำโดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งผมไม่คิดมาก่อนว่าอาจารย์จะออกมาถือธงนำด้วยซ้ำ บนเงื่อนไขทางการเมืองที่สลับซับซ้อนมากๆ แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องกลัวอาจารย์เปลืองตัวหรอกครับ เพียงแต่ผมเป็นห่วงว่าคุณค่าที่ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือด้วยเหตุผลทางวิชาการจริงๆ นั้น มันกำลังถูกกลุ่มเสียประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจเก่าที่ปู้ยี่ปู้ยำรัฐธรรมนูญ 2540 มากับมือ เอาไปแอบอ้าง และไปกันใหญ่ อดีต สส.พรรคไทยรักไทยขยันพูดเหลือเกินกับคำว่าอำมาตยาธิปไตยกันทุกวัน หรือเกิดอาการหวงแหนหลงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 มาฉับพลัน ทั้งที่ตอนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 8 ต่อ 7 เสียงให้คุณทักษิณ พ้นคดีซุกหุ้นนั้นท่ามกลางข้อครหามากมาย จนเรียกกันว่าคำวินิจฉัยสีเทา  สำหรับผมแล้วมันคือการนับหนึ่งของการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ไม่เห็นใครออกมาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 40 กันเลย ซ้ำร้าย กลุ่มคนที่ไชโยโห่ร้องประกาศก้องชัยชนะในวันนั้น ก็กำลังมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ 2540 ในวันนี้คุณกำลังจะบอกว่าทุนสามานย์ดีกว่าอำมาตยาธิปไตยหรือไง มันตลกไหมหละ

 

คือคุณค่าของผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หรือคุณค่าและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 มันถูกบดบังหรือกดทับด้วยข้อเสนอเอาทักษิณกลับมา นี่คือความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราสร้างพื้นที่ให้ความเห็นที่สามที่แน่นอน หรือสร้างทางสายที่สามไม่ได้ อย่าง อ.เกษียร เตชะพีระ พูดไว้ ยิ่งวันดีเบตที่ทางพีเนตจัด เอาอาจารย์นิธิไปอยู่ทีมเดียวกับจาตรุนต์ ฉายแสง ดูไม่จืดเลยครับ ถามชาวบ้านทั่วๆ ไปเขาอาจเข้าใจว่า อ.นิธิ เป็นพวกไทยรักไทยไปแล้วหรือ

 

ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์หรือฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรอกครับ แต่เราทุกคนอยู่บนสถานการณ์แบบเขาควาย  เราอยู่ตรงกลางจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะผู้คนยังจมอยู่กับการเลือกข้างเลือกขั้ว ทั้งที่มันอาจเลยเวลาแห่งการเลือกข้างไปแล้ว

 

หรือแม้แต่การชูคำขวัญว่า  ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคือการไม่รับรัฐประหารนั้น ผมรู้สึกว่าวางกับดักให้ตัวเองชัดๆ  เพราะถ้าคุณนิยามว่าการลงประชามติครั้งนี้มีความหมายถึงการต่อต้านเผด็จการ คนที่ไม่เห็นด้วยกบเผด็จการก็ควรนอนอยู่บ้าน หรือไม่ต้องไปลงประชามติจะดีกว่า ผมเห็นด้วยที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเสนอไว้ เพราะถ้าเราไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่ากับเราไปรับกระบวนการประชามติที่ออกแบบโดยเผด็จการที่พวกคุณกำลงัโจมตีว่าประชามติแบบมัดมือกชก ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านก็ยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการไปอีก หรือก็จะกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งไม่น่าจะใช่ทั้งหมด เพราะคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่อาจจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ในขณะเดียวกันคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นพวกรักทักษิณทั้งหมดเช่นกัน

 

หรือแม้แต่ข้อเสนอของ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียกร้องให้เอาฉบับ 2540 มาใช้ ผมถามหน่อยว่าจะรองรับอำนาจหรือคำสั่งใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน หรือไม่ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งอายัดทรัพย์ของ คตส. คำวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะโมฆะไปด้วยหรือไม่เพราะทั้ง 2 องค์กรถูกตั้งโดยคำสั่ง คปค.ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 รองรับ

 

และหากจะไปแก้รัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อรองรับการทำหน้าที่ของ คตส. ตุลาการรัฐธรรมนูญ ปปช. คตง. หรือองค์กรอื่นที่ตั้งโดยคำสั่งรัฐประหารก็เท่ากับไปแก้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 คือกลไกถ่วงดุลตรวจสอบอิสระนั่นเอง   ถึงตอนนั้นก็คงมีปัญหาวุ่นวายตามมาไม่รู้จบแน่นอน ว่าจะแก้ไขแค่ไหนอย่างไร  สุดท้ายมันคงแปล่งๆ ถ้าจะเรียกรัฐธรรมนูญ 2540 มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแก้ไขปรับปรุงโดยเผด็จการทหาร

 

ผมว่ามันเป็นข้อเสนอที่ยังไม่มีพลังพอที่จะฝ่าข้ามวิกฤติหรือสอดคล้องกับอารมณ์ของสังคม คนทั่วไปเลยอาจไม่ตอบรับ ในขณะเดียวกันข้อเรียกร้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาคุณทักษิณกลับมา  ต้องตาต้องใจคนได้มากกว่า คุณค่าของฝ่ายไม่รับร่างร่างรัฐธรรมนูญด้วยความสุจริตใจมันจึงอาจหดหายหรือถูกบิดเบือนไป ทั้งๆ ที่มันควรเป็นโจทย์ข้อใหญ่ให้ถูกนำไปขบคิดหากมีการปฎิรูปการเมืองที่เป็นจริงเป็นจังในอนาคต

 

000

 

 

 

ไม่ว่าคุณจะเบื่อคำถามของนักข่าวที่ชอบตั้งคำถามถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการลงประชามติหรือไม่ … แต่อยากถามว่า วันลงประชามติที่ 19 ส.ค. 2550 ที่ 35 จังหวัดยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษด้วยนั้น ดังนั้นตั้งแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญส่งไปถึงบ้านทั่วประเทศ 31 ก.ค. กระทั่งวันลงประชามติ หลายบ้านก็ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก จึงขอให้พี่ลองนิยาม "การลงประชามติ" ครั้งนี้หน่อย

 

ผมถึงบอกไงว่ามันเป็นประชามติที่ผลมันจะออกมาอย่างไร มันก็ไม่น่าภาคภูมิใจ เพราะมันเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองบางอย่าง จริงๆ แล้วไม่เห็นจำเป็นต้องลงประชามติด้วยซ้ำ สสร.ร่างเสร็จก็ส่งให้ สนช.พิจารณาไปเลยก็สิ้นเรื่อง ผมไม่ได้ประชดนะ เพราะเดิมที่ก็เห็นด้วยอยู่กับการนำร่างรัฐธรรมนูญมาให้ประชาชนตัดสินโดยตรง แต่เผอิญว่ามันอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ มีกฎอัยการศึกเกือบครึ่งประเทศ มีรัฐบาลมาจากรัฐประหาร มีการเข้มงวดการการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในภาพรวม คือมันประหลาดที่สุดในโลกก็ว่าได้ ทูตหลายประเทศนัดผมคุยผมบอกเขาไปว่าผมอยากให้วันที่ 19 สิงหามาถึงเร็วๆ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่านผมไม่ให้ความสำคัญมันมากแล้ว เพียงแต่อย่าให้วันที่ 19 สิงหาเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองอีกลูกก็แล้วกัน

 

น่าเสียดายครับที่เราทำให้คำว่า ประชามติ มันกลายเป็นภัยคุกคามทางทางการเมืองมากกว่ามิตรผู้มาใหม่ น่าเสียดายที่การทำประชามติมัน คือโมเดลที่ก้าวหน้าที่สุดของรูปแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่ว่ามันกำลังจะถูกทำลายคุณค่าลง ต่อไปเวลาเราพูดถึงคำนี้ในอนาคตผมไม่แน่ใจว่ามันจะได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านอีกหรือไม่ มันน่าเสียดายครับ

 

000

 

 

ท้ายที่สุด ต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองเห็นด้วยในบางประเด็น และประกาศ "รับ" อย่างมีเงื่อนไขนั้น แล้วหลังจากลงประชามตินี้ สปป. จะเดินไปอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตาม "เงื่อนไข" ของธง "การรับรัฐธรรมนูญอย่างมีเงื่อนไข" ตามที่ได้ตั้งเอาไว้

 

เราเตรียมผลักดันเรื่องคณะกรรมการยกร่างกฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนภาคประชาชน ควบคู่ไปกับองค์กรปฏิรูปกฎหมายภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 308 สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นฉบับไหนระหว่าง 2540 หรือ  2550 ก็ตามกฎหมายลูกสำคัญมากๆ ถ้าเราไม่สามารถสร้างพลังในการติดตามผลักดันได้ สุดท้ายนักการเมืองก็เข้ามาบิดเบือนจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปด้วยการตรากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเลย เฉกเช่นบทเรียนจากความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 40 นอกจากนี้เรายังต้องติดตามผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเก่าที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งมีมากกว่า 600 ฉบับเฉพาะที่กระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวก็เกือบๆ 100 ฉบับแล้ว รวมทั้งการเตรียมผลักดันวาระประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง

 

ซึ่งผมให้ความสำคัญกับช่วงนั้นมากกว่าด้วยซ้ำไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท