Skip to main content
sharethis

 



 


 


รายงานโดย ณภัค เสรีรักษ์ , ภารุต เพ็ญพายัพ , นพพล อาชามาส


 


 


จากกรณีภาพยนตร์ "แสงศตวรรษ" ของ "เจ้ย" อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไม่ผ่านการพิจารณาของกองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ โดยคณะกรรมการมีเงื่อนไขให้ฉายหนังเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อต้องตัดฉากที่มีปัญหาบางฉากออกไป ได้แก่ ฉากแรกพระสงฆ์กำลังเล่นกีตาร์ ฉากที่สองมีภาพของพระปรากฏในฉากที่มีการเล่นเครื่องร่อน ฉากที่สามหมอดื่มเหล้าก่อนออกรายการโทรทัศน์ และฉากที่สี่อวัยวะเพศของหมอชายเกิดแข็งตัวในโรงพยาบาล โดยคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์เห็นว่าทั้งสี่ฉากที่มีปัญหานั้น ไม่เหมาะสมที่นำเสนอต่อสาธารณชน อ้างจาก มาตรา 4 ของ "พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473" [1] ว่าฉากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นส่งผลกระทบต่อ "ศีลธรรมอันดี" [2]


 


และได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และ 7 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การห้ามฉายภาพยนตร์ ห้ามนำภาพยนตร์ออกนอกราชอาณาจักร และยึดภาพยนตร์นั้นไว้ [3]


 


ข้อมูลจาก "มูลนิธิหนังไทย" (Thai Film Foundation) ทำให้ทราบว่า ปกติคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์จะถูกตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาภาพยนตร์เป็นเรื่องๆ ไป โดยเป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เช่น ตัวแทนสำนักงานตำรวจ ตัวแทนสมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนสื่อ และตัวแทนจากองค์กรซึ่งปรากฏ "ตัวตน" ในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ไม่ได้เป็นคณะกรรมการที่จะพิจารณาภาพยนตร์ในทุกๆ เรื่อง


 


คณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ของภาพยนตร์ "แสงศตวรรษ" นั้น นอกเหนือไปจากตัวแทนสำนักงานตำรวจ ตัวแทนภาพยนตร์ และตัวแทนสื่อแล้ว จึงมีตัวแทนจากแพทยสภา ตัวแทนจากกรมการศาสนา ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม รวมไปถึงตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย โดยการตัดสินว่าฉากใดควรถูก "เซ็นเซอร์" นั้น ก็ไม่มีบรรทัดฐานใดๆ เป็นแกนกลางประกอบการพิจารณา



 


 



 


 


ในกรณีนี้จึงทำให้เห็นว่า การพิจารณาของกองเซ็นเซอร์เป็นการใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการแต่ละบุคคล ซึ่งก็มาจากแต่ละองค์กร ไม่ได้มีการพิจารณาอย่างมีมาตรฐานเดียวกันสำหรับภาพยนตร์ที่ส่งเข้ามาสู่กองเซ็นเซอร์ ดังนั้นเราจึงพบว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันไป


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่พลาดโอกาสได้รับชม "หนังอาร์ต" ซึ่งก้าวขึ้นไปมีชื่อเสียงในระดับโลกเรื่องนี้ โดย "แสงศตวรรษ" นั้นได้เข้ารอบสุดท้ายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิสประจำปี ครั้งที่ 63 ที่ประเทศอิตาลีซึ่งมีเพียงภาพยนตร์เพียง 20 เรื่องเท่านั้นที่ได้รับการคัดสรร ร่วมทั้งยังคว้ารางวัลตัดต่อภาพยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง ครั้งที่ 31 ได้ไว้อีกด้วย


 


ยิ่งไปกว่านั้น "หมู" สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการนำภาพยนตร์ "แสงศตวรรษ" เข้ามาฉาย ให้ข้อมูลว่า ทีมงานภาพยนตร์ "แสงศตวรรษ" ตัดสินใจยุติการเข้าฉายในประเทศไปแล้ว เพื่อแสดงจุดยืนที่จะไม่ตัดฉากต่างๆ ที่ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ เพราะต้องการรักษาคุณภาพของผลงานไว้ให้ตรงกับความตั้งใจในการสร้างมันขึ้นมา



 



 


ในวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ทีมงานจึงติดต่อเพื่อขอรับฟิล์มภาพยนตร์คืนในสภาพเดิม โดยได้ทำจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งแก่คณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ว่าจะยุติการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ และยืนยันว่าจะไม่มีการยื่นอุทธรณ์อีก เนื่องจากไม่ต้องการฉายในระบบอีกต่อไป แต่คณะกรรมการกองเซ็นเซอร์กลับไม่ยอมคืนฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่ทีมงานในสภาพเดิม โดยชี้แจงกลับมาว่าจะคืนให้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ได้นำฟิล์มไปทำการตัดฉากดังกล่าวออกเสียก่อน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกองเซ็นเซอร์อาจขัดต่อมาตรา 19 ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ได้ [4]


 


นอกจากนี้ยังได้เสริมว่า ถ้ามีการตัดฉากดังกล่าวทิ้งโดยที่ผู้จัดทำไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำลายทรัพย์สิน และอาจมีการฟ้องร้องกันต่อไป ด้านของ "เจ้ย" อภิชาติพงษ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ อยู่ระหว่างเดินสายแถลงข่าวในต่างประเทศ 


 


ล่าสุดวันนี้ (12 เม.ย.50) "ประชาไท" ได้รับอีเมล์จากนิตยสาร Bioscope แจ้งว่า การติดต่อขอฟิล์มภาพยนตร์ "แสงศตวรรษ" คืนจากคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ยังคงไม่ประสบผลสำเร็จ สถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไร "ประชาไท" จะตามติดสถานการณ์ต่อไป


 

เชิงอรรถ


[1]        http://thaifilm.com/inc/download.asp?file=../download/article1_filmact.doc


[2]        มาตรา 4 ห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดงสถานที่มหรสพซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำ การฉาย หรือการแสดงภาพยนตร์ หรือประกาศนั้นๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ท่านก็ห้ามดุจกัน


[3]        มาตรา 5 ภายในบังคับมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติ นอกจากที่ได้รับใบอนุญาตก่อนแล้ว ท่านห้ามมิให้


(1)    ฉายภาพยนตร์ ณ สถานที่มหรสพ


(2)    นำหรือส่งภาพยนตร์ซึ่งทำในพระราชอาณาจักรออกนอกพระราชอาณาจักร


(3)    ประกาศด้วยภาพหรือรูปถ่ายแสดงเรื่องของภาพยนตร์หรืออื่นๆ ไว้ในที่เปิดเผย หรือ แจก หรือเสนอแจก หรือสำแดงด้วยวิธีใดๆก็ตาม


[ความใน มาตรา  5 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479]


 


พระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับที่ 2)  พุทธศักราช 2479


มาตรา 6  ผู้ใดฉาย หรือส่งให้ผู้อื่นฉายฟิล์มภาพยนตร์โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 5  แห่งพระราชบัญญัตินี้  ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท


(รก.2479 / - / 670 / 22 พฤศจิกายน  2479)


 


มาตรา 7  เมื่อนายตรวจเห็นว่าภาพยนตร์ใดมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4 ให้มีอำนาจ


(1)    ห้ามมิให้ทำภาพยนตร์นั้นต่อไป


(2)    ยึดภาพยนตร์ที่ทำเสร็จแล้วหรือที่ยังไม่เสร็จและส่งภาพยนตร์นั้นๆ แก่เจ้าพนักงานผู้พิจารณาขอให้พิจารณา


[4]        มาตรา 19   ในกรณีต่อไปนี้ ท่านว่าไม่ต้องมีใบอนุญาต


(1)  กรมใดในรัฐบาลฉายภาพยนตร์เพื่อการศึกษา หรือสาธารณประโยชน์อย่างอื่น   หรือกรมใดในรัฐบาล            ส่งภาพยนตร์ซึ่งทำในพระราชอาณาจักรออกนอกพระราชอาณาจักร


(2)  ฉายให้ญาติมิตรดูเป็นการส่วนตัว หรือภายในสมาคมหรือสโมสรซึ่งภาพยนตร์อันได้ทำขึ้นมิได้หวังผลในทางค้า  หรือนำหรือส่งภาพยนตร์ที่ทำในพระราชอาณาจักรอันมีลักษณะเช่นว่านี้ออกนอกพระราชอาณาจักร


ในกรณีที่กล่าวในอนุมาตรา 2 นี้ ถ้าปรากฏว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 4  นายตรวจมีอำนาจยึดภาพยนตร์นั้นได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้


 


 


 


ขอเชิญร่วมลงชื่อและแสดงความคิดเห็นที่ท่านมีต่อระบบการเซ็นเซอร์ไทย โดยมีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษเป็นกรณีศึกษา


 


ภาพประกอบจาก


http://www.kickthemachine.com/works/Syndromes.html


http://filmsick.exteen.com/20060822/syndrome-and-a-century

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net