Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 19 .. 2550 ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ และดร.ศรีชัย พรประชาธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันนำแสนองานวิจัยในหัวข้อ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม: มายาการความรุนแรงทางการศึกษา โดยการเสนองานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องสันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย โดยปีนี้จัดในหัวข้อ "ความรุนแรง:"ซ่อน-หา"สังคมไทย"


 


000


 


งานศึกษานี้ต้องการเผยให้เห็นการมีและดำรงอยู่ของวัฒนธรรมความรุนแรงในการศึกษาในระบบโรงเรียน คำถามคือมันมีอยู่และอยู่อย่างไร อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อดูว่าภาคปฏิบัติการจริงที่สร้างขึ้นผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียน เพื่อสนับสนุนและตอบสนองรองรับ ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงนั้น ทำอย่างไร


 


กรอบในการวิเคราะห์ ดูสองส่วนคือวิเคราะห์ภาคอุดมการณ์ เราเข้าไปดูการจัดระเบียบ หรือการสร้างความเป็นไปได้ที่จะคิด จะพูดหรือจะทำ และก็กำหนดให้ใครมีอำนาจในการที่จะทำได้ พูดได้ ขณะเดียวกันกฎระเบียบนี้ก็เข้าไปกดทับปิดกั้นสิ่งที่มีลักษณะต่างออกไป โดยมีเป้าหมายในการวิเคราะห์ในส่วนนี้ เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของกฎเกณฑ์ต่างๆ กับการสืบทอดความรุนแรงให้ดำรงอยู่ในระบบโรงเรียน  อีกส่วนหนึ่งคือการวิเคราะห์ภาคปฏิบัติการ จะวิเคราะห์ให้เห็นถึงการจัดการภายในโรงเรียน การใช้อำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่เข้ามาตอกย้ำให้เห็นจริงตามข้อกำหนด ทำให้เกิดการยอมรับในการใช้ความรุนแรง


 


ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ตัวบท ตัวบทนี้ก็ได้มาจากกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต สัมภาษณ์เชิงลึก จากครู จากผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐ


 


สิ่งที่ได้พบเกี่ยวกับความรุนแรงที่ส่งผ่าน เราเห็นว่ามันมีการจัดทำผ่านการจัดการพื้นที่ การจัดการร่างกาย การจัดการเวลา การจัดการภาษา การจัดการศึกษาของรัฐ


 


การจัดการพื้นที่ โดยวัฒนธรรมการจัดการพื้นที่ในโรงเรียนจะมีการแยกเด็ก เด็กที่เรียนดีก็จะจัดพื้นที่ไว้ให้ห้องหนึ่ง หรือส่วนหนึ่ง อาจจะมากกว่าหนึ่งห้อง และห้องนี้อาจจะมีชื่อเรียก ห้องก. ห้องพิเศษ ห้องหนึ่ง ห้องคิง อะไรก็แล้วแต่ หรืออาจจะไม่มีชื่อเรียก แต่เป็นที่รู้กันว่าห้องนี้ทางซ้ายติดห้องน้ำ หรือทางขวาติดบันได อะไรอย่างนี้ ก็จะรู้กันภายในโรงเรียนว่าห้องนี้เป็นห้องพิเศษ ห้องพิเศษนี้ก็จะมีความแตกต่าง อาจจะได้รับการสอนเสริมเพิ่มพิเศษ หรือจัดครูพิเศษเข้ามาสอน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือถ้าเป็นครูคนเดิมที่สอนห้องนี้ก็อาจจะมีเกร็ด มีบทเรียนที่เสริมเพิ่มไป พิเศษกว่าห้องปกติธรรมดา 


 


ลักษณะการจัดการเช่นนี้ มันเป็นการการสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกคน โดยใช้ระดับสติปัญญาเป็นตัวแบ่งแยก ให้เด็กยอมรับถึงความไม่เท่าเทียมกัน


 


การจัดการร่างกาย จะมีระเบียบเข้ามาจัดการเครื่องแบบนักเรียน หรือทรงผม ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของทรงผม ทรงผมจะมีการกำหนดไว้เลยว่าตัดอย่างไร ผมต้องสั้นตัดเกรียนรอบศีรษะ ความยาวไม่เกิน 4 เซนติเมตร หรือรองทรงในระดับมัธยมปลาย


 


การจัดการอย่างนี้ วันดีคืนดี ถ้าเด็กทำเกิน ผมยาวเกิน ถ้าเป็นผู้ชาย ครูก็เอาแบตตาเลี่ยนไถเลย ไถไปบางส่วน ถ้าเป็นผู้หญิงไม่ให้ไว้ผมซอย เด็กเขาก็จะรู้ว่าถ้าเขาไว้ผมซอย เขาก็จะรวบไว้ให้เรียบร้อย เป็นหางม้าหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าพอผมมันซอยรวบไว้ มันก็ไม่เสมอ ครูมาถึงก็ตัดฉับไปเลย


 


สิ่งเหล่านี้มันมาทำกับร่างกายแล้วก็กระทบกระเทือนจิตใจของเด็กที่โดนกระทำโดยตรง การที่ทำอย่างนี้ เขาให้เหตุผลว่าเพื่อที่จะรักษาระเบียบและเพื่อที่จะลดการต้องมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องทรงผม การไปห่วงกับเรื่องนี้ของเด็กนักเรียน และลดการดูแลของผู้ปกครองไป จริงๆ ทำอย่างนี้กลับเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องกฎระเบียบมากกว่าเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล และก็เป็นการปิดกั้นไม่ให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เด็กในวัยรุ่นกำลังอยู่ในวัยที่สร้างสรรค์ ทรงแบบไหนดีที่จะเหมาะกับตัวเรา เป็นการทำให้เด็กกลัวและคิดอยู่แต่ในกรอบ ไม่กล้าที่จะคิด แม้แต่สิ่งที่เขามีส่วนได้ส่วนเสีย พูดสั้นก็อาจพูดได้ว่า "ทำให้เชื่อง"


 


การจัดการเวลา โดยการจำแนกแยกแยะวิชาความรู้ในสาขาวิชาบางกลุ่มให้มีความสำคัญเหนือกว่าวิชาบางวิชา อย่างเช่นจัดให้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ พวกนี้เป็นวิชาหลัก ส่วนวิชาสังคม พลานามัย การงานอาชีพเป็นวิชาที่รองลงมา พอเป็นระบบหน่วยกิจ ชั่วโมงเรียนมันจะไปพ้องกับหน่วยกิจ ถ้าหน่วยกิจมากก็ใช้เวลาเรียนมาก หน่วยกิจน้อยเวลาก็น้อย


 


แต่การจัดการอย่างนี้ ในขณะที่วิชาหลักมันเป็นเรื่องที่แปลกแยก ไม่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต วิถีชีวิตเราก็ไม่ได้มานั่งคิดคำนวณฟิสิกส์ เดินไปตรงนี้แล้วจะไปกระทบชิ่งกับอะไรยังไง ไม่ได้มีการคิด แต่วิชาที่มีหน่วยกิจน้อยกลับเป็นวิชาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตโดยตรง


 


การจัดการนี้ ประกอบกับการจัดการเรียนในแบบ "ต่อยอด" ก็คือประถมก็พื้นๆ พื้นขึ้นมา พื้นขึ้นมาหน่อย ทั้งหมดนี้พื้นหมดเพราะเป็นพื้นฐาน ความรู้พื้นฐานมันก็มักไม่ได้ใช่ประโยชน์ ใช้ได้อย่างเดียวคือเป็นใบเบิกทาง เข้าไปสู่การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ถ้าใครโชคไม่ดี ไม่ถึงพื้นฐาน ได้เพียงแค่การศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือน้อยกว่านั้น สิ่งที่คุณทำได้ก็คือเข้าไปในพื้นเดิมของครอบครัว ถ้าครอบครัวทำนาหรือทำสวนทำไร่ คุณก็กลับไปส่วนนั้นเลย แต่การที่คนเฉพาะส่วนนี้กลับไปสู่ตรงนั้น ไอ้สิ่งที่เราคาดหวังจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือสิ่งทีมีแต่ดั้งเดิม มันไม่มีโอกาส เพราะการจะบูรณาการความรู้ในยุคเก่ากับความรู้ร่วมสมัยยุคใหม่ มันทำไม่ได้ เพราะคนที่กลับไปสู่พื้นนั้น มันไม่มีความรู้อันใหม่ มันมีความรู้แค่พื้นฐานหรือต่ำกว่าพื้นฐาน


 


การจัดระบบภาษา ภาษาที่แบ่งออกเป็นคู่ตรงข้ามเช่น โง่กับฉลาด เก่งกับอ่อน เกเรกับเรียบร้อย การจัดอย่างนี้เป็นการกำหนดคุณค่าให้สิ่งหนึ่งเหนืออีกสิ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา อีกสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หรือควรขจัดทิ้งไป


 


การกำหนดอย่างนี้ พร้อมกับมีภาคปฏิบัติการขึ้นมารองรับ เช่น"เด็กเก่ง"ก็ให้ทุนการศึกษา ให้เกียรติบัตร ส่วน"เด็กไม่เก่ง"ไม่พูดถึง ไม่ได้ให้ทุนอยู่แล้ว นอกจากนั้นซ้ำร้าย ยังถูกจ้องมองจากหมู่เพื่อน ครูอาจารย์อีกว่า "ไม่เก่ง" "พูดอะไรไม่ฟัง" หรือเด็กที่เกเร ถูกติดฉลากไว้ว่า"เกเร" ไปบังเอิญทำผิดกฎระเบียบอะไรเข้าไปสักหน่อย ก็เป็นเรื่อง อาจจะได้รับการลงโทษสถานหนัก แต่ถ้าคุณถูกตีตราว่าเป็น "เด็กเรียบร้อย" เรียนดีเข้าไปอีก ถึงทำผิดครูก็อาจจะเมิน ไม่มอง ยกให้ไปก่อน


 


การปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้เยาวชนให้คุณค่ากับบางอย่างสำคัญกว่าบางอย่าง มันทำให้เขาต้องยอมรับถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม


 


การจัดการศึกษาของรัฐ เป็นภาคปฏิบัติการสืบทอดมาจากอดีต ตั้งแต่สมัยแรกที่มีระบบโรงเรียนขึ้นมา ระบบโรงเรียนแรกเลยเป็นระบบที่จัดขึ้นในรั้วในวังก่อน คนสามัญก็ชะเง้อ ไม่ได้ ตอนหลังเขาก็สร้างให้เห็นความสำคัญของการศึกษา แล้วพยายามกระจายการศึกษาออกไป ในเรื่องของ"การศึกษาเพื่อทวยราษฎร์" จัดระบบโรงเรียนเข้าไปให้กับคนชั้นสามัญเข้าไปในทุกพื้นที่ แต่รัฐเองมันก็ไม่มีกำลัง ทรัพยากรพอ ด้วยข้อนี้ รัฐก็ไม่สามารถจัดได้


 


แต่โรงเรียนในยุคนั้นกลายเป็นเครื่องหมายของ"ความทันสมัย" ซึ่งมันตรงข้ามกับ"ความล้าหลัง" ฉะนั้นชาวบ้านเองในพื้นที่ เขาไม่อยาก"ล้าหลัง" เขาต้องมีโรงเรียนในพื้นที่ เขาก็ช่วยกันสร้างโรงเรียน หาพื้นที่ หาสิ่งปลูกสร้าง ทำเป็นอาคารขึ้นมา ถึงแม้จะเป็นวัสดุพื้นบ้าน ไม่ได้เป็นอาคารมั่นคง ไม่ได้ทำด้วยคอนกรีต อาจทำด้วยมุงจาก มุงกระเบื้อง รัฐก็สนับสนุนโดยการคัดคนในพื้นที่เข้าไป ครูในตอนนั้นไม่ใช่ครูที่จบมหาลัย แค่ผ่านโรงเรียนมาก็แล้วกัน ไม่ต้องจบป.4ก็ได้ แค่จบป.2 ก็ได้ ก็สามารถจะมาเป็นครูได้ในยุคนั้น


 


พอยุคของ"ความทันสมัย" โรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ก็พัฒนาเป็นฌรงเรียนที่จัดให้ในระดับประถม แล้วก็เริ่มพัฒนาครูที่จบการศึกษาเข้าไปสอน ยุคนี้พยายามปรับโรงเรียนประถมที่มีในพื้นที่ ให้เป็น"โรงเรียนขยายโอกาส" ตลอดการดำเนินการที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่ารัฐก็พยายามให้โอกาสไปถึงกับพื้นที่ในชุมชน ในทุกพื้นที่ คือมีโรงเรียนเข้าไปในพื้นที่เรา คนในชุมชนก็พอใจ


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในโรงเรียนในพื้นที่ชนบทกับโรงเรียนในเมือง มันแตกต่างกันอย่างมาก ความแตกต่างนี้มีมาตั้งแต่ยุคสมัยของการมี"การศึกษาเพื่อทวยราษฏร์" แล้ว เขาบอกว่าต้องแบ่งการศึกษาเป็นกลุ่ม เพราะต้องการจะกันตระกูลผู้ดีออกจากไพร่ มิให้ปะปนกัน โรงเรียนประจำตำบลสำหรับคนทั่วไป คือโรงเรียนประจำตำบลที่มีได้หลายโรงเรียน ส่วนโรงเรียนประจำอำเภอ จังหวัด และมณฑลนั้น มีที่ละแห่ง สำหรับคัดเลือก"ช้างเผือก"


 


แต่ช้างทุกตัวนั้นไม่ได้เป็นช้างเผือก ด้วยวิธีคิดแบบนี้จึงเป็นการจัดการศึกษาเพื่อคัดคนออก คนเฉพาะบางส่วนเท่านั้นที่จะได้เข้ามาถึงการศึกษาในเมือง ถึงแม้ในปัจจุบันที่มีการศึกษาที่เรียกว่า"ขยายโอกาส" มีโรเงรียนมัธยมในพื้นที่ต่างๆ ก็ตาม การศึกษาตรงนั้นกับในเมืองนี้ก็ต่างกันอย่างมาก เช่นถ้าเราเลือกเรียนแผนกศิลป์ ที่จะใช้ภาษา ถ้าคุณอยู่ในเมือง คุณเลือกได้หลายภาษา ภาษาอังกฤษก็ได้ ฝรั่งเศสก็มี เยอรมัน จีน ญี่ป่น รัสเซีย ฯลฯ แต่ถ้าในพื้นที่ชนบท กลับมีให้เลือกแค่อย่างเดียว ก็คือภาษาอังกฤษ


 


ฉะนั้นทางเลือกของคนมันไม่มีมาก ในพื้นที่นั้นการจัดการศึกษาที่เรียกว่า"ขยายโอกาส" จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เป็นไปตามความสนใจ และไม่ได้เป็นไปตามความถนัด มันจึงเป็นการปิดกั้นศักยภาพของคนในพื้นที่ชนบทไปอย่างมาก


 


แต่ด้วยวาทกรรม"การขยายโอกาส"เช่นนี้ จึงเป็นการปิดกั้นระบบคิดของคนให้ยอมรับการจัดการศึกษาลักษณะนี้ ว่ามีการขยายโอกาสมาถึงพื้นที่แล้ว มันจึงทำให้คนไม่เห็นช่องว่างทางการศึกษาระหว่างการศึกษาในเมืองกับชนบท ทำให้เราคิดไม่ได้ ไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้รับการแก้ไข


 


 


..........................................


งานที่เกี่ยวข้อง


เกษม เพ็ญภินันท์ : สิทธิที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือเหตุผลของรัฐต่อความชอบธรรมทางการเมือง


ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ : เพศสภาพของความรุนแรง (ซ่อน - หา)


บทสะท้อน "ความรุนแรง" จากวรรณกรรมของขบวนการท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


พวงทอง ภวัครพันธุ์: "ปฏิบัติการสงคราม" ของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net