รวมแถลงการณ์หลายเครือข่าย ต่อกรณีการปะทะกันของกลุ่ม พธม.และนปช. เมื่อกลางดึกวันที่ 1 ก.ย.

แถลงการณ์คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 ตามที่ได้มีความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้ลุกลามไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธของกลุ่มประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเช้าวันที่ 2 ก.ย.2551 นั้น

          อธิการบดี รองอธิการบดี  คณบดี ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสถาบัน ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน  42 คน ที่มีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ ใคร่ขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการคลี่คลายวิกฤติและหาทางออกให้แก่ชาติบ้านเมืองโดยไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อและก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ ดังต่อไปนี้

 

          1. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจงดเว้นการใช้กำลังและการใช้ความรุนแรงใด ๆ ต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย โดยขอให้ทำหน้าที่ในการรักษาความเรียบร้อย ควบคุมสถานการณ์ และป้องปรามมิให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีกเท่านั้น

 

          2. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุติการเคลื่อนไหวออกนอกที่ชุมนุมของตน ไม่กระทำการยั่วยุอีกฝ่ายหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ใช้อาวุธหรือดำเนินการด้วยความรุนแรงใดๆ ต่อกันอีก

 

          3. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาใช้ดุลพินิจในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยการเสียสละให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่อันเป็นกระบวนตามวิถีทางประชาธิปไตยเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองที่มิอาจหาทางออกในระบอบทางการเมืองโดยปกติได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เวลาและให้โอกาสแก่สังคมไทย ในการเยียวยาความเสียหาย  และความลดระดับความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและเหตุการณ์นองเลือดในระหว่างประชาชน ชาวไทยด้วยกันเองลงได้

 

          คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอวิงวอนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อโปรดพิจารณาและใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้มีช่องทางในการหลีกเลี่ยงความรุนแรงและสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา และเพื่อให้ประเทศได้มีหนทางในการพลิกฟื้นกลับมายืนอย่างมั่นคงในวิถีทางประชาธิปไตยได้อีกในอนาคต

 

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์                 อธิการบดี

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์                คณบดีคณะนิติศาสตร์

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ                       คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์          คณบดีคณะรัฐศาสตร์

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร                คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา          คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ            คณบดีคณะศิลปศาสตร์

รศ.มาลี บุญศิริพันธ์                      คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

ผศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์              คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

รศ.สายทอง อมรวิเชษฐ์                คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รศ.ดร.อุรุยา วีสกุล                       คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์

รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์            คณบดีคณะแพทยศาสตร์

ศ.ดร.วิฑูรย์ ไวยนันท์                    คณบดีคณะสหเวชศาสตร์

อาจารย์ ทันตแพทย์ ยุวบูรณ์ จันทร์แจ่มจรูญ         คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์

รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์                คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์

ศ.ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร                คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง

อาจารย์ สุธิดา กัลยาณรุจ               คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์

รศ.ดร.นันทนา รณเกียรติ                คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ

รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ        คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์

รศ.ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล             คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

รศ. ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์       คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม
รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต                      รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์

รศ.ดร.ศิริพร ขัมภลิขิต                  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์รังสิต

รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ                  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์ลำปาง

ศ.ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย       รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

รศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล        รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร                      รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล

ดร.สมประสงค์ โกศลบุญ                 รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล              รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ                 รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

รศ. นพ.ปรีชา วาณิชยเศรษฐกุล       รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย

ดร.อนุชา ทีรคานนท์                     ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา

รศ. ดร.วรวุฒิ หิรัญรักษ์                  ผอ.สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ                   ผอ.สำนักหอสมุด

รศ.ไว จามรมาน                            ผอ.สถาบันทรัพยากรมนุษย์

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข                         ผอ.สถาบันประมวลข้อมูลฯ

ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล                     ผอ.สำนักทะเบียนและประมวลผล

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ                ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา

รศ.ดร.ประทิน พิมสาร                     ผอ.สถาบันภาษา

รศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์                    ผอ.สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม

ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์                   ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี              ผอ.สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่ง มธ.

รศ.นพ.ศุภชัย ฐิติอาชากุล               ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ฉบับที่ ๖/๒๕๕๑

เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรง

 

                        ด้วยสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องกว่า ๑๐๐ วัน และการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถือได้ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามและมีความขัดแย้งต่อกัน จนกระทั่งเกิดเหตุปะทะของทั้งสองฝ่ายเมื่อเช้าวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ควบคุมให้เกิดความสงบ ไม่ได้มีท่าทีที่จะหยุดการปะทะนั้นในที่เกิดเหตุ ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานประเทศไทย (UNI-TLC) จึงขอแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

 

                        ๑. ขอประณามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการเคลื่อนผู้ชุมนุมกลุ่มของตนเองไปที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่ากลุ่มผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีการชุมนุมอยู่ที่นั่น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจงใจที่จะเคลื่อนผู้ชุมนุมของตนไปปะทะกับผู้ชุมนุมของอีกกลุ่มหนึ่ง

 

                        ๒. ขอประณามเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งไม่มีท่าทีที่จะจัดการกับสถานการณ์การปะทะดังกล่าวที่เกิดขึ้นในขณะที่เกิดเหตุนั้น คล้ายกับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในการเข้าปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

                        ๓. ขอประณามการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล นอกจากนี้ยังดูเหมือนรัฐบาลพยายามสร้างอำนาจที่ชอบธรรมให้ตนเองโดยการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลเป็นคู่กรณีและเป็นสาเหตุในความขัดแย้งเหล่านี้ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม

 

                        ๔. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยการลาออกทั้งคณะ

 

                        จึงแถลงการณ์ให้ทราบโดยทั่วกัน

 

แถลงเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

และเครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานประเทศไทย (UNI-TLC)

 

 

 

แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

รัฐบาลต้องยุติสถานการณ์กันยายนทมิฬ นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบด้วยการ "ลาออก"

 

            สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันจากความขัดแย้งทางการเมืองของกองกำลังมวลชนระหว่างกลุ่มแนวร่วมประชาชนขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (PAD) เมื่อเช้าวันนี้ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก และได้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยให้อำนาจผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามอำนาจของพรก.ดังกล่าว รวมทั้งการประกาศเคอร์ฟิวส์ การห้ามการเดินทางและคมนาคม การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป และการตรวจควบคุมการเสนอข่าวและความคิดเห็นของสื่อมวลชนทุกประเภทนั้น

 

            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ติดตามสอดส่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่า รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช บกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างร้ายแรง ไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนได้ โดยเพิกเฉยต่อสถานการณ์ความรุนแรงของกองกำลังมวลชนที่มีการจัดตั้งทางการเมืองเข้าปะทะกัน ทั้งยังปรากฏชัดว่า คนของรัฐบาลส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าในการสนับสนุนให้กองกำลังมวลชนของ นปช. เดินขบวนจากสนามหลวงมาปะทะมวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ถนนราชดำเนิน หน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ(UN) มีการทำร้ายและคุกคามทางร่างกายทั้งสองฝ่ายจนเกิดวิกฤติการณ์ความรุนแรง โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิกเฉยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งสมควรต้องถูกประณาม โดยเฉพาะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และ รักษาการผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจนครบาล (บช.น.)

 

            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเรียกร้องอย่างจริงจัง ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบความบกพร่องและการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของคนในรัฐบาลด้วยการ "ลาออก" จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาบริหารราชการแทนตามวิถีประชาธิปไตย เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นทางออกของสังคมในสถานการณ์วิกฤติการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปัจจุบัน

 

            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ขอประณามการใช้ความรุนแรงของกองกำลังมวลชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพา นปช.ที่ส่งกำลังมวลชนเข้าโจมตีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร จนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเฉพาะแกนนำ ผู้ควบคุมและผู้อยู่เบื้องหลัง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถึงที่สุด

 

            รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์กรุงเทพมหานคร จะต้องไม่ใช้พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะจะเป็นการเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อย่างกระหายเลือด ภายใต้การบงการและกำกับของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่ต่างจากการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเขาเคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว

            รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต้องหยุดเดินตามเส้นทางของอดีตรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ดำเนินนโยบายอำนาจนิยมและนำพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ การออกประกาศบังคับใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเกิดจากสถานการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเองแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องแจ้งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR.) มาตรา 4 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกผ่านเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ(UN) ก่อนบังคับใช้ เพื่ออธิบายความชอบธรรมของรัฐภาคีในการประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ซึ่งมีข้อบังคับในการรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

2 กันยายน 2551

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)

 

 

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 4
เรื่อง ขอให้ยกเลิกประกาศ พรก. ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก



จากการที่ กลุ่ม นปช. ได้ปลุกระดมมวลชนและเคลื่อนกำลังเข้าปะทะทำร้ายประชาชนฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเวลาประมาณหนี่งนาฬิกา ของวันที่ 2 กันยายน 2551 นั้น ซึ่งทำให้มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และต่อมารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ประกาศ พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นั้น กลุ่มอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้

1. ขอประณามการกระทำที่ยั่วยุ เผชิญหน้าและใช้กำลังเข้าทำร้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งการกระทำของ กลุ่ม นปช. นั้น ไม่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ

2. ขอให้ยกเลิกประกาศ พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ของรัฐบาล เพราะฝ่ายรัฐฯ เป็นผู้สร้างสถานการณ์โดยการใช้ กลุ่ม นปช. และเพียงเพื่อหลบหลีกข้อกฎหมายในการสั่งทำร้ายประชาชน

3. เราขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กระทำอย่างสงบสันติอหิงสา
แม้ว่าการอารยะขัดขืนจะทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นธรรมดาของการประท้วงที่ปรากฏอยู่ในสากล และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพนี้ไว้

4. เราขอให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
ต้องหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสงบ
และขอให้รัฐบาลฯลาออกเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของชาติบ้านเมือง

5. ถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่เคลื่อนไหวอย่างสงบอหิงสา
กลุ่มอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะร่วมมือกับนักศึกษา
แสดงการอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐในทุกรูปแบบ

ด้วยความสำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน

กลุ่มคณะอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2 กันยายน 2551

 

 

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรื่องปัญหาวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยความเห็นพ้องต้องกันของผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภาอาจารย์ สภาข้าราชการและบุคลากรเกี่ยวกับความไม่สงบในสังคมไทย ที่ประชุมมีความเห็นในประเด็นดังต่อไปนี้

1.ที่ประชุมเห็นความสำคัญของการเมืองภาคประชาชนเคารพในสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ใช้ความรุนแรงและไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง

2.ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชุมมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวโดยเร็ว

3.ที่ประชุมเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองได้เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งมายาวนาน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายมากขึ้น จึงขอวิงวอนให้ผู้นำรัฐบาลได้พิจารณาลาออกหรือยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการนำความสงบกลับสู่บ้านเมือง

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2 กันยายน 2551

เวลา 13.30น.

 

 

 

แถลงการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง ขอคัดค้านการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน
เขตกรุงเทพมหานคร

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ ด้วยความห่วงใยและวิตกกังวลในแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปแล้วในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม ความรับผิดชอบของรัฐบาล" โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงจุดยืนที่เด่นชัดว่า ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น

 

การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ในช่วงเวลาตั้งแต่ตีหนึ่งวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ ทำให้เกิดความเศร้าเสียใจ ต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้ควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้แล้ว แต่รัฐบาลกลับใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา หากแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเกิดความรุนแรงบานปลายยิ่งขึ้น

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยมีข้อเสนอแนะท้วงติง การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และคัดค้านการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๐ และในครั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอคัดค้านอีกเช่นเดียวกัน เพราะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะนอกจากจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในประการสำคัญยังละเลยและมองข้ามปัญหาหลักของประเทศ กล่าวคือ บทบาทและความรับผิดชอบของรัฐสภาและ นักการเมือง ซึ่งต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารให้ใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ และถูกต้องทำนองคลองธรรม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒ กันยายน ๒๕๕๑

 

 

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ (ฉบับที่ 1)

จากเหตุการณ์กลางดึกเมื่อคืนนี้ (2 กันยายน 2551) ที่กลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมจากบริเวณท้องสนามหลวงมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อหวังที่จะปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นปช. จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บกว่า 20 รายนั้น เป็นเหตุให้รัฐบาล ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร นั้น

 

เราในนาม "เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ" มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะอาจจะนำไปสู่การล้อมปราบประชาชน และนำไปสู่ความรุนแรงและการรัฐประหารอีกครั้ง และสังคมไทยมีลักษณะของการเป็นฝักฝ่ายแยกขั้วกันอย่างชัดเจน

เราจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

 

1.ขอให้แกนนำกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และนปช.ยุติการสร้างเงื่อนไขสู่การใช้ความรุนแรง อันจะนำมาซึ่งการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตประชาชน และรัฐประหาร

 

2.ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ และยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นเครื่องมือให้กับนายกรัฐมนตรีในการใช้อำนาจกับประชาชน

 

3.ให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพราะการบังคับใช้ดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีในการใช้อำนาจรุนแรงกับประชาชนได้ นอกจากนี้ยังมีหลายมาตราของ พ.ร.ก. เช่นมาตราที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้นก็จะถูกควบคุมการนำเสนอจากนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ประชาชนควรจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน

 

4.ขอให้บุคคล กลุ่ม และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมแสดงออกในการเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งนี้ โดยร่วมกันยุติความรุนแรง และใช้วิถีทางสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการสวมเสื้อสีดำ ติดริบบิ้นสีดำที่รถยนต์ แขวนป้ายผ้าที่บ้าน ที่ทำงานเพื่อเป็นสัญลักษณ์

 

5.เราเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้จะต้องแก้ด้วยการปฏิรูปการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องหาทางออกร่วมกัน.

 

ปฏิรูปสังคมใหม่ ด้วยใจสันติภาพ

 

เครือข่ายประชาสังคมประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) 64 องค์กร
เครือข่ายสื่อประชาชนภาคเหนือ
นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
โครงการปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปที่ดิน
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ
เครือข่ายสุขภาพและชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
กลุ่มประชาธิปไตยหลากสี แอนตี้ความรุนแรง

 

แถลงการณ์
ยุติความรุนแรงทั้งปวง ยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน
ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

 

ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชั้นนำในภาวะปัจจุบัน ในที่สุดก็ได้นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ เรามีข้อเสนอและขอเรียกร้อง ดังนี้

 

1.เราขอยืนยันว่า รัฐบาลต้องยกเลิกพรก.ฉุกเฉินโดยเร่งด่วน ขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องยุติการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

 

2.เราเห็นว่าทุกกลุ่มทุกองค์กรมีสิทธิการชุมนุมด้วยหลักการสันติวิธีอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นด้วย และต้องหยุดสร้างเงื่อนไขใดๆทั้งปวงที่นำสู่ความรุนแรงและการรัฐประหาร

 

3.เราขอเรียกร้องให้สื่อสารมวลชน ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง มิใช่เป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐบาล หรือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีความลำเอียงในการเสนอภาพ การใช้มุมกล้อง การตัดต่อภาพ การเลือกสัมภาษณ์เฉพาะบุคคล การใช้ภาษาก้าวร้าว ฯลฯ ตลอดทั้งการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโน้มนำให้ผู้ชมหลงเชื่อไม่ว่าจะโดยแนบเนียนหรือตรงๆก็ตาม จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จนก่อให้เกิดอคติ สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน มองผู้อื่นเป็นศัตรู มากกว่าการสร้างหลักการความเป็นเหตุเป็นผลในสังคมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

 

4.เราขอเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งนับเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาควบคู่กับการเปิดให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และในช่วงการรณรงค์การเลือกตั้งเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์กรต่างๆ ได้เสนอประเด็นความขัดแย้งต่างๆที่ผ่านมา ในการหาเสียง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองใหม่ ประชานิยม รัฐสวัสดิการ การปฏิรูปการเมือง ฯลฯ ถือเป็นการฟังเสียงประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาประเด็นดังกล่าวอย่างสันติวิธี

 

ด้วยความเชื่อมั่น

 

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ
กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย ม.เชียงใหม่
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)
สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยท้องถิ่น
ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ ตอนล่าง

 

 

แถลงการณ์กลุ่มพี่น้องมหิดล ฉบับที่ 3

 

            จากเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 29 สิงหาคมและล่าสุดในวันที่ 2 กันยายน นี้ แสดงถึงความป่าเถื่อน มัวเมาอำนาจของรัฐบาลทรราช เป็นอันธพาลเกรี้ยวกราดทั้งในและนอกรัฐสภา ใช้อำนาจทำลายล้างการเมืองภาคประชาชน ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนรบราทำลายล้างกันเอง เพื่อให้ตนได้อยู่ในฐานอำนาจต่อไป โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมในทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น และมีแนวโน้มลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติสังคม ที่กำลังนำไปสู่การนองเลือด และความเสียหายครั้งใหญ่ของประเทศ กลุ่มพี่น้องมหิดลจึงขอประณามและเรียกร้อง ดังนี้

 

1. ขอประณามการก่อความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บในคืนวันที่ 1-2 กันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ

 

            2. การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการยั่วยุให้เกิดเหตุความรุนแรง จึงขาดความชอบธรรมในการบังคับใช้ จึงขอให้รัฐบาลถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงและบานปลายมากยิ่งขึ้น

 

            3 ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่สื่อสารข้อเท็จจริงให้กับสังคมอย่างตรงไปตรงมา และขอประณามการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

 

            4 ขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลออกมาร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองในการคัดค้าน หรือยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง

 

            ขอเรียกร้องให้ข้าราชการ และพนักงานร่วมเรียกร้องให้วิกฤตการณ์ในขณะนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด

ด้วยการลางาน หรือหยุดงาน ยกเว้นการบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือด้านชีวิต

 

            6. กลุ่มพี่น้องมหิดลในฐานะเครือข่ายทางการแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ยังคงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่าขัดขวางและให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตามสิทธิพื้นฐานและหลักกาชาดสากล

 

            กลุ่มพี่น้องมหิดลขอแสดงความห่วงใยถึงเพื่อนๆพี่น้องกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของรัฐบาลทรราช และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านยืนหยัดต่อสู้ขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช เผด็จการกระหายเลือดและรัฐบาลทรราชต่อไป จนกว่าพวกเราจะได้รับชัยชนะ

 

                                                                                                  กลุ่มพี่น้องมหิดล

                                                                                                            2 กันยายน 2551

 

 

แถลงการณ์จากเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวและนักวิชาการด้านสื่อ

ขอให้ยุติการสื่อสารที่สร้างความรุนแรง แตกแยกในสังคมไทย

 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุม ๒ กลุ่ม เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้บาดเจ็บ รวมทั้ง การชุมนุมที่ยืดเยื้อของพันธมิตรฯ ทางเครือข่ายเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนในลักษณะที่มีความล่อแหลมต่อการสร้างความรุนแรง มีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่รอบด้าน มีการผลิตซ้ำภาพของความรุนแรง การเลือกแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลที่ยั่วยุ รวมทั้ง การชี้นำของผู้สื่อข่าว เป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกันมากขึ้น

 

ทางเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว นักวิชาการด้านสื่อ และภาคีทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้

 

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

(1)ให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีผลให้มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร อันอาจเป็นผลให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวโดยเฉพาะจากสื่อของรัฐ และสื่อของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นเหตุให้ประชาชนตกอยู่ในความตระหนก หวาดกลัว และ ง่ายต่อการถูกยุยง ปลุกปั่น ให้เข้าร่วมกับการก่อความรุนแรงได้

 

(2)ให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี มีความระมัดระวังในการแสดงออกซึ่งท่าที วาจา ทัศนคติต่อสถานการณ์ดังกล่าวในที่สาธารณะ ที่มีลักษณะ ตอบโต้ ยั่วยุ อันมีผลกระตุ้นให้เกิดสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกลับกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงข้าม โดยที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้นำรัฐบาลมีส่วนกระตุ้นผ่านท่าทีและวาจาที่แสดงออก

หากสถานการณ์ความรุนแรงยังคงลุกลามต่อไป รัฐบาลควรพิจารณาลาออกทั้งคณะเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน

 

ข้อเรียกร้องต่อสื่อสารมวลชนทุกแขนง

(1)ไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว หรือมีมีลักษณะการนำเสนอที่นำไปสู่ความแตกแยก การใช้ความรุนแรง การปลุกระดม การยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้น สื่อควรต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอประเด็น เลือกแหล่งข่าว และ สนับสนุนให้กลุ่มสันติวิธีได้มีพื้นที่ โอกาส ในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านสื่อมากขึ้น

 

(2)ขอให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐ และ สถานีวิทยุชุมชน ระงับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทีมีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง

เรียกร้องให้สื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนด้วยการจัดรายการหรือนำเสนอรายงานพิเศษที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตย การเมืองภาคประชาชน และการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติวิธี รวมทั้ง การปลูกฝังค่านิยมจริยธรรมทางการเมือง อย่างต่อเนื่อง

 

ข้อเรียกร้องต่อครอบครัว

(1)ช่วยเด็กและเยาวชนในการคัดกรอง แยกแยะและวิเคราะห์การรับสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย สันติวิธี และจริยธรรมทางการเมือง

 

(2)ให้ผู้ปกครองระมัดระวังไม่ถ่ายทอดซ้ำความรุนแรงที่ได้รับจากสื่อหรือเหตุการณ์ไปยังเยาวชน อันอาจจะนำไปสู่ความกดดัน ความเครียด ปัญหาสุขภาพจิตความสัมพันธ์ในครอบครัว และ การปลูกฝังค่านิยมการใช้ความรุนแรงในระยะยาว

 

สันติจงเกิดแก่สังคมไทย

เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว

วันที่ 2 กันยายน 2551

 

           

เครือข่ายเพื่อสื่อสาธารณะ

เครือข่ายนักวิชาการนิเทศศาสตร์ 12 สถาบัน

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

เครือข่ายเด็กผลิตสื่อ

เครือข่ายต้นกล้าสื่อ จ.สงขลา

เครือข่ายเท่าทันสื่อ

เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ

สงขลาฟลอรั่มเพื่อประชาคมพลเมืองเด็ก

เครือข่ายวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว

ขบวนการตาสับปะรด

สภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ

เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา 4 ภูมิภาค

เครือข่ายเด็กและเยาวชน จ.บุรีรัมย์

เครือข่ายเยาวชนภาคอีสาน 19 จังหวัด

 

 

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

ภาคอีสาน ให้ยุติการใช้ความรุนแรง

 

            จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลางดึกของคืนวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่กลุ่มประชาชนแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เคลื่อนผู้เข้าร่วมชุมนุมจากสนามหลวงมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อที่จะทำการปิดล้อมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนทำให้เกิดการปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมดูแลเท่าที่ควร จนมีผู้เสียชีวิต ๑ ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นผลให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมานั้น

 

            เรา - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ขอแสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้งต่อการสูญเสียครั้งนี้ และขอประณามการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย อันเป็นสังคมที่ใฝ่สันติสุขมายาวนาน

 

            เราจึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

๑. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการบังคับใช้ พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เขตกรุงเทพมหานคร เพราะจะนำไปสู่การใช้อำนาจรัฐที่เด็ดขาดและรุนแรงต่อประชาชนยิ่งขึ้น

๒. ขอให้นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจากปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายจนกระทั่งเกิดการจลาจล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว

๓. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและทำลายล้างกันทุกรูปแบบ ทำให้เกิดบาดแผลที่ลึกซึ้งในหมู่ประชาชน อันยากที่จะเยียวยาได้ในระยะยาว

๔. เราขอเรียกร้องไม่ให้มีการควบคุม ปิดกั้น การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และคัดค้านการผูกขาด บิดเบือนข่าวสารโดยฝ่ายรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

            วิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ เราขอแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ ในการยุติการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด และต้องเปิดโอกาสให้พลังทางสังคมทุกส่วนได้หาทางออกร่วมกันโดยเร่งด่วน

 

ด้วยจิตคารวะ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน

วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

 

 

 

แถลงการณ์

(ฉบับที่ 2)

สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เรื่อง ขอเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากนายกรัฐมนตรี

และยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที

            ตามที่นายสมัคร สุนทรเวช ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในเช้าวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2551 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่ามีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการออกข้อกำหนดอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามมานั้น

 

            สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะศูนย์กลางเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม 180 องค์กรทั่วประเทศ ได้ทำการตรวจสอบเหตุผลของการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวแล้วพบว่า รัฐบาลโดยสมาชิกพรรคการเมืองแกนนำในรัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การปะทะกันของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 2 กันยานที่ผ่านมา จนนำไปสู่การบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสมอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะตำรวจไม่ได้พกอาวุธหรือกระบองเพื่อป้องกัน ทั้งที่ตำรวจรู้สถานการณ์ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น แต่ก็มิได้เตรียมการป้องกันไว้

 

            พฤติการณ์ดังกล่าวสมัชชาฯ ถือว่าเป็นเล่ห์ฉลที่น่าเกลียดของรัฐบาลและสมุนรับใช้ ที่รักษาอำนาจการปกครองบนซากศพ คราบน้ำตา และความเดือดร้อนของประชาชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ ต่อสายตาชาวโลก และการออกข้อกำหนดตามมาอีกหลายข้อนั้น เป็นข้อกำหนดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยสิ้นเชิง ทั้งมาตรา 29 วรรค 2 มาตรา 32 วรรค 3 และวรรค 4 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 43 มาตรา 45 วรรค 4 มาตรา 63 และมาตรา 69 สมัชชาฯ จึงขอเรียกร้องขอให้

 

1) นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที เพราะหมดความชอบธรรมแล้ว

2) ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที เพราะถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ขอให้ผองมิตรและประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกันกดดัน และออกมาแสดงพลังผลักดันให้เกิดการปฎิรูปการเมืองการปกครองในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยและพร้อมเพรียงกัน

 

แถลง ณ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2551

สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

จดหมายถึงทุกท่าน

 

สถานการณ์การเมืองในสังคมไทยขณะนี้ จะไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาทางการเมืองที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าฝ่ายใดในสองฝ่ายหลักซึ่งขัดแย้งกัน จะประสบความสำเร็จจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการไม่นำเอาสติปัญญาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่เน้นการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบมาเป็นเครื่องชี้นำในการหาทางคลี่คลายปัญหาร่วมกัน โดยหลักใหญ่ใจความจะต้องเห็นความสำคัญของความมีสันติภาพที่แท้จริงของราษฎร มีประชาธิปไตยที่แท้จริงของราษฎร มีความเป็นธรรมของราษฎร ทุกชนชั้นชนชาติที่มาประกอบเข้าเป็นสังคมไทย ไม่เช่นนั้น สังคมไทยจะยังห่างไกลจากคำว่า "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ที่มีหลักการสำคัญว่า "อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" อย่างแท้จริง

ขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง ทั้งฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า การเมืองภาคประชาชน หรือผู้ที่มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของทุกฝ่าย น้อมนำรับฟัง ความคิดเห็นที่แตกต่างใช้วิจารณญาณ ใช้สติสัมปชัญญะ มองเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีเหมือนกัน ไม่พยายามคิดแก้ปัญหาโดยอคติ มุ่งเน้นความรุนแรง ซึ่งจะนำพาไปสู่การประหัตประหารกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ได้เก็บรับเอาการเผชิญหน้าทางการเมือง ด้วยความรุนแรงในอดีตที่ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า มาเป็นบทเรียน

มีแต่ต้องเปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล ยอมรับความแตกต่างทางความรู้สึกนึกคิด โดยตั้งความหวังไว้ที่การร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงการเมืองในสังคมไทยให้ก้าวหน้า ยอมรับการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างได้มีที่ยืนอย่างเท่าเทียม จึงจะเป็นทางแก้ไขปัญหาโดยไม่กลับไปสู่วังวนเดิมอีก เป็นหนทางหนึ่งของจุดเริ่มต้นเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของราษฎร

...................
สังคมไทย ยังมีความหวัง

ด้วยรักและศรัทธาในสันติธรรม

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
อดีตผู้ประสานงานแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย
(ประจำตึก กตป.) พ.ศ.๒๕๑๘
๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑

 

แถลงการณ์หยุดการก่อโทษกรรมต่อประชาชนโดยรัฐ
ยุติสถานการณ์นองเลือด สร้างมิคคสัญญีแก่คนในชาติ

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ดำเนินการโดยอาศัยกลไกของรัฐ สั่งการให้ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. จัดชุมนุมประชาชนในศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อต่อต้านการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นกระบวนการสร้างเงื่อนไขเพื่อการประกาศ พ.ร.บ.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อการปราบปรามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การใช้วิทยุและโทรทัศน์ ออกข่าวโจมตีฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยราวกับว่าเป็นศัตรูของชาติที่ต้องทำลายล้าง และยังออกข่าวผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากที่นายสมัคร สุนทรเวชได้เคยกระทำมาแล้วก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งนายสมัคร ได้เคยออกข่าวโจมตีให้ร้ายนักศึกษาและก่อให้เกิดความเกลียดชังในจิตใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอันธพาลการเมืองในยุคนั้นใช้เป็นเหตุในการเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน อย่างโหดร้ายทารุณ ที่มหาวิทย่าลัยธรรมศาสตร์

วันนี้ โดยอาศัยสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที (NBT) และสถานีวิทยุกระจายเสียงของเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ นายสมัคร ได้ใช้วิธีการเช่นเดียวกับอดีตในการก่อความเกลียดชังขึ้นแก่ประชาชน ปลุกระดมประชาชนให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ออกรายการโทรทัศน์อันเป็นสื่อของรัฐ ทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยการบิดเบือนให้ร้ายอย่างเกินจริงอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะที่นายสมัคร เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกระทำการที่รังแต่จะก่อความแตกแยกร้ายแรงในหมู่ประชาชน ด้วยการยุยง สร้างความเกลียดชังจยถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดการเข่นฆ่ากันกลางเมือง การสั่งการให้ตำรวจเข้าทำร้ายประชาชนอย่างเกินเหตุ และใช้ประชาชนที่ขาดข้อมูลข่าวสารมาเป็นเครื่องมือให้กลุ่มอันธพาลก่อเหตุนองเลือด จะเป็นการก่อหนี้เลือดครั้งใหม่ในขณะที่หนี้เลือดครั้งเก่ายังมิเคยได้รับการสะสาง

ในฐานะองค์กรประชาชนซึ่งรู้เท่าทันการดำเนินการอันโฉดเขลาดังกล่าว และขอเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช จงหยุดพฤติกรรมเช่นนั้น รวมทั้งสำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วน ยอมรับชะตากรรม ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ประชาชนจะเป็นผู้ลงโทษทัณฑ์ด้วยตนเอง

 

เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนตุลา
กลุ่มนิเวศประชาธรรม
สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง(สxส)
เครือข่ายประชาธิปไตยยาตรา

เครือข่ายนิทรรศการภาคประชาชน
ญาติวีรชน 6 ตุลาคม
(2 ก.ย. 51)

 

 

 

แถลงการณ์

 

สถาบันพัฒนาและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดสุรินทร์

๒ กันยายน ๒๕๕๑

 

ตามที่ รัฐบาลได้ประกาศใช้ พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งไม่ชอบด้วยธรรมและขาดเหตุผลอันสมควร สถาบันพัฒนาและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดสุรินทร์ ขอประกาศว่า

 

๑. ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากการปะทะของมวลชน เมื่อคืนวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นการสร้างเงื่อนไขของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลโดยเจตนา ใช้มวลชนฝ่ายตน เข้าปะทะมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยที่ นปก.เตรียมการขนอาวุธเดินทางมาจากสนามหลวง โดยตั้งใจที่จะให้เกิดการปะทะ ตั้งใจให้เกิดความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ทำหน้าที่ป้องกันและระงับเหตุดังกล่าว

 

๒. ประกาศภาวะฉุกเฉินตาม พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน เป็นการตัดสินใจใช้อำนาจ ของรัฐบาลซึ่งจะนำมาซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแสดงออกด้วยการชุมนุม การพูด การเผยแพร่ข่าวสาร

 

๓. การประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเพียงการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น มิได้แก้ชนวนเหตุของปัญหาแท้จริงให้หมดลงไปด้วยไม่ ตรงข้าม ยิ่งเพิ่มความร้าวฉาน แตกแยกให้บานปลายยิ่งขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแท้จริงก็คือ ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และความไม่ชอบมาพากลของการบริหารแผ่นดิน จนรัฐบาลไร้ความน่าเชื่อถือ หมดความน่าไว้วางใจอีกต่อไป

 

เราจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อแสดง

ความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการดับชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

 

กลุ่มสุรินทร์เสวนา

โครงการทามมูล

สถาบันชุมชนอีสาน

สมาคมป่าชุมชนอีสาน

ศูนย์ข้อมูล กป.อพช.อีสาน

โครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์

ศูนย์เรียนรู้ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์

 

 

 

แถลงการณ์

เครือข่ายประชาสังคมภาคอีสาน 6 จังหวัด

(อุบลราชธานี เลย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์)

             

จากสถานการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) กับประชาชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงดึกของวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธในกลุ่ม นปช. บุกเข้าไปที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยมีเจตนามุ่งเข่นฆ่า และทำร้ายร่างกายประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกทำร้ายร่างกายจำนวนไม่น้อย ทำให้รัฐบาลซึ่งนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้สร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเช้าตรู่วันที่ 2 กันยายน 2551 ดังจะเห็นได้จาก สส. พรรคพลังประชาชน นปช. และมีนายทหารบางคนที่สายสัมพันธ์กับพรรคพลังประชาชนอยู่ร่วมในเหตุการณ์

 

การกระทำของรัฐบาลส่อเจตนาให้เห็นว่า ต้องการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ อีกทั้งใช้สิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยในการชุมนุมเพื่อแสดงการมีส่วนร่วมทางตรงในทางการเมืองต่อการบริหารงานอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และได้พิสูจน์แล้วว่า มีประชาชนคนไทยจำนวนนับแสนแสดงความเห็นด้วยและตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่มีการชุมนุมมา

 

เครือข่ายประชาสังคมภาคอีสาน 6 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี เลย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เห็นร่วมกันว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียทั้งชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง

 

เพื่อนำไปสู่ความสงบและสันติสุขของบ้านเมือง เครือข่ายประชาสังคมภาคอีสานทั้ง 6 จังหวัด จึงมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1. ขอคัดค้านการออกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นการออกโดยขาดความชอบธรรม และจะเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินทันที

 

2. รัฐบาล โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง อาวุธ เข้าปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุม ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการเข่นฆ่า ทำร้ายร่างกายและจิตใจของประชาชน ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ พร้อมกันนี้ ทหาร ตำรวจ ต้องป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรฯ เข้ามาก่อกวน ยั่วยุ และใช้ความรุนแรง ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 2 กันยายน และเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี

 

3. รัฐบาลต้องไม่แทรกแซง ปิดกั้น และบิดเบือน การทำงานของสื่อสารมวลชนในทุกกรณี สื่อมวลชนต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา มีอิสระ และรายงานความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

 

4. รัฐบาลต้องยุติการยั่วยุหรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรประชาธิปไตย เพื่อป้องกันความแตกแยก แบ่งข้าง และมุ่งทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง เพราะรังแต่จะนำความสูญเสียให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ

 

5. นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันที เพราะขาดความชอบธรรม และขาดความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน

 

แถลง ณ วันที่ 2 กันยายน 2551

 

 

1.นายคำพอง เทพาคำ       สมาพันธ์วิทยุชุมชน คนอีสาน อุบลราชธานี

2.นายจำนง จิตรนิรัตน์       คณะทำงานฟื้นฟูภัยพิบัติสินามิ

3.นายธนวรรณ พวงผกา     สถาบันการเงินและสวัสดิการชุมชน

4.นายพงษ์ศักดิ์ สายวรรณ์  เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

5.นางมยุรี หยาดทอง         เครือข่ายชุมชนอุบลราชธานี

6.น.ส.กิตติกาญจน์ หาญกุล  องค์กรเข้าถึงสิทธิ จังหวัดอุบลราชธานี

7.น.ส.บูรณา แสงทอง         เครือข่ายชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี

8.น.ส.พัฒนาพร แดงสอาด   เครือข่ายชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี

9.นายเฉลิมชัย การมั่งมี        อาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

10.นายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล           เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคอีสาน

11.น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ            มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี

12.น.ส.กาญจนา ทองทั่ว                มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต

 

 

 

แถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ต่อสถานการณ์ความรุนแรง

ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศก้าวเข้าสู่การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัยหา ความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่การเกิดการจลาจลนองเลือด ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีความกังวลและห่วงใยในสถานการณ์ตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทยทุกฝ่าย จึงขอเรียกร้องมายังยู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโปรดดำเนิน การดังต่อไปนี้

 

1. ละเว้นการใช้วิธีการใด ๆ ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง อันอาจเกิดการทำร้ายร่างกาย การสูญเสียเลือดเนื้อ และชีวิตโดยเด็ดขาด

 

2. ละเว้นการปฏิบัติการหรือใช้วิธีการใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน

 

3. ยุติการสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลหรือข่าวสารที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก หรือแบ่งฝ่ายในชาติ

 

4. สนับสนุนให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ตามความเป็นจริง และสร้างสรรค์อันเป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโปรดร่วมมือกันและใช้ ความพยายามในการเคลี่ยคลายสถานการณ์สบ้านเมืองให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดและสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสของประเทศชาติโดย สันติวิธี

วันที่ 2/9/2008

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท