Skip to main content
sharethis

การอ่านเป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อมูล ข่าวสาร ตำรา วรรณกรรม ฯลฯ และไม่ว่าการสื่อสารแขนงอื่นอย่างวิทยุ โทรทัศน์ จะเฟื่องฟูขนาดไหน การอ่านก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมในฐานะการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สุด... แต่การอ่านจะนำมาซึ่งสิ่งใดต่อไป? มีพลังหรือไม่? เป็นเพียงสิ่งฟุ่มเฟือยของชีวิตที่ไม่ต้องมีก็อยู่ได้? วารสาร "อ่าน" จึงร่วมชวนถกในงานเสวนา "พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์" โดยนักวิจารณ์วรรณกรรมและนักวิชาการ มาหาคำตอบร่วมกันว่า การอ่านจะนำไปสู่สิ่งใด และเพดานของการวิจารณ์คืออะไร?


 



 



จากซ้ายไปขวา ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ไชยันต์ รัชชกูล และ คำ ผกา


 


โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมา ที่ร้าน "เล่า" ร้านหนังสือ ย่านถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ วารสาร "อ่าน" ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง "พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์"  นำการเสวนาโดย คำ ผกา นักเขียน/นักวิจารณ์ ผู้เคยมีผลงานเรื่อง "กระทู้ดอกทอง", ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักเขียน/นักวิจารณ์ จากผลงาน "อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง" ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ในวงเสวนา คำ ผกา ออกตัวว่าเป็นนักวิจารณ์เถื่อน "ที่ได้รับเรียกว่าเป็นนักวิจารณ์เพราะดันทะลึ่งไปเขียนกระทู้ดอกทอง โดยที่ไม่ได้รู้ทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีวิจารณ์ เขียนขึ้นมาด้วยความทะลึ่ง ด้วยความเป็นปมด้อยของตัวเองเพราะว่าหมั่นไส้พวกนางเอก มันสวยเราไม่สวย ทำไมมันต้องมาแย่งพระเอกจากเราไปตลอด"


 


000


 


 


การอ่านคือความฟุ่มเฟือยของชีวิต?


 



"แต่ทำไมนิยายที่ดูไม่มีคุณค่าพวกนี้มันกลับทำให้เรา อยู่กับหนังสือมาจนโต"


 



"พวกผู้ดีอังกฤษเขาก็ถือว่าการอ่านวรรณคดีเป็นแค่อาภรณ์ประดับตัว ไม่ได้เอาไว้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว เพราะถ้าคุณอยากเป็นผู้ดี คือคุณก็ "ไม่ต้องทำอะไร" อยู่แล้ว โดยนิยามของผู้ดีคือคุณจงเป็นไอดอล ใครที่ "ทำอะไร" ก็คือพวกกเฬวราก คือไพร่"


 


000


 


จากนั้นจึงมีการเปิดประเด็นโดย อาจารย์ไชยันต์ว่าการอ่านมันจะทำให้เกิดพลังอะไรได้จริงหรือไม่ เพราะมีคำตอบอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ การอ่านมันไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย มีคนเคยบอกว่าการอ่านเป็นของฟุ่มเฟือย เหมือนที่เราไม่ได้กินชาก็ไม่เป็นไร


 


คำ ผกา เผยว่าเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีบรรยากาศการอ่านอะไรเลย เวลาจะอ่านหนังสือต้องคลุมโปงแล้วเอาไฟฉายส่อง นอกจากหนังสือเรียนแล้ว หนังสือแนวอื่น ๆ ต้องห้ามหมดเพราะมันจะนำพาให้เด็กมีจินตนาการเตลิดเปิดเปิงรู้จักเรื่องรักใคร่ก่อนวัยอันควร แล้วที่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือก็เลยไม่มีคนมาคอยบอกว่าต้องแบบนี้นะ หนังสือสำหรับเด็กเป็นแบบนี้นะ ก็เลยโตมากับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับนิยายเล่มละบาท เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านกัน มีนิยายรัก ๆ ใคร่ ๆ แล้วก็ที่ขายตามสถานีรถทัวร์ที่หน้าปกเป็นดารา  ไม่เคยได้สัมผัสกับวรรณกรรมเยาวชนเลย


 


คำ ผกา พูดต่อว่า โดยส่วนตัวก็อ่านสิ่งเหล่านี้เพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ได้คิดว่าเป็นความรู้ แต่ทำไมนิยายที่ดูไม่มีคุณค่าพวกนี้มันกลับทำให้เรา อยู่กับหนังสือมาจนโต


 


ด้าน ชูศักดิ์ ก็เล่าถึงประสบการณ์สมัยสอนหนังสือให้ฟังว่า เวลาสอนวรรณคดีอังกฤษอยู่ที่ธรรมศาสตร์นักศึกษาจำนวนหนึ่งก็มาบ่นว่า เรียนวรรณคดีไปทำไม ไม่เห็นเอาไปทำอะไรได้เลย เรียนก็ยาก ทำงานก็ไมได้เอาไปใช้ "อย่างเวลาสอน สอนเชคสเปียร์ แต่จบไปก็ไปเป็นแอร์ฮอสเตสเสียส่วนใหญ่  ก็ไม่รู้จะไป Quote เชคสเปียร์กับผู้โดยสารยังไง"


 


ชูศักดิ์ เผยต่อว่า ถ้าให้พูดประชด ๆ หน่อย คือจริง ๆ แล้ววรรณคดีเป็นวิชาฟุ่มเฟือยของชีวิต "พวกผู้ดีอังกฤษเขาก็ถือว่าการอ่านวรรณคดีเป็นแค่อาภรณ์ประดับตัว ไม่ได้เอาไว้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว เพราะถ้าคุณอยากเป็นผู้ดี คือคุณก็ "ไม่ต้องทำอะไร" อยู่แล้ว โดยนิยามของผู้ดีคือคุณจงเป็นไอดอล ใครที่ "ทำอะไร" ก็คือพวกกเฬวราก คือไพร่"


 


ชูศักดิ์ พูดตอบประเด็นเรื่องพลังของการอ่านว่า มันไม่ได้มีพลังอะไรแต่มันมีมูลค่าว่าคุณอ่านเพื่อจะแสดงตัวว่าเป็นผู้มีวัฒนธรรม เป็นผู้มีอารยธรรม "ซึ่งอันนั้นก็เป็นวันชื่นคืนสุขของโลกสิ่งพิมพ์ ในยุคนี้คงเปลี่ยนไปแล้ว การอ่านสิ่งพิมพ์อาจไม่ได้มีมูลค่าอะไร"


 


ในส่วนของ คำ ผกา ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า สมัยที่ทำงานทั้งวันหรือตอนไปเป็นแม่ครัวที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงตีหนึ่ง มันอ่านอะไรไม่ได้เลยนอกจาก Hello เพราะไม่มีพลังจะมาใช้สมาธิกับการอ่านหนังสือยาว ๆ จึงยอมรับว่าการอ่านมันเป็นความฟุ่มเฟือยของชนชั้นที่มีเวลาว่างพอที่จะได้อ่าน "ถ้าไม่เจอกับตัวเองก็คงไม่รู้ว่าทำไมเราถึงมีแรงอ่านได้แต่ Hello แล้วที่อ่านมันต้องมีดาวล้อมรอบด้วย วัน ๆ เรารู้แค่ว่าวิคตอเรีย เบคแฮม มันใส่ชุดอะไร ไปไหนกับสามีบ้าง"


 


000


 


 


ติดอาวุธทางความคิด


ด้วยการวิจารณ์และเพดานที่มองไม่เห็น


 



"ผมเคยคุยกับแท็กซี่คนหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องการประท้วงที่กรุงเทพว่า เป็นได้ไหมว่าที่มีคนบอกว่านักการเมืองโกง เพราะมีคนอ้างว่าตำราเราเขียนไว้อย่างนั้น นั่นหมายความว่าการอ่านก็จะกลายเป็นการตีกรอบทางสังคมอย่างหนึ่ง"


 



"แต่การวิจารณ์ที่จะมีพลังทางปัญญาเราต้องยอมรับว่าคนเราเท่าเทียมกันก่อน 
พอคนเราไม่เท่าเทียมกัน คุณวิจารณ์ไม่ได้หรอก"


 



 "คือคิดไม่ออกว่าจะมีหนังสือธรรมะวิจารณ์ในแมกกาซีนยังไง หรือน่าจะมีคอลัมน์วิจารณ์ตำราเรียนในแต่ละยุคสมัยได้ยังไง ถ้ามันไม่ได้เป็นงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์"


 


000


 


มีผู้ฟังร่วมแลกเปลี่ยนคนหนึ่งแสดงความเห็นว่าการอ่านเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยมนุษย์ถ้ำแล้ว ก่อนที่กูเตนเบอร์กจะผลิตแท่นพิมพ์ตัวอักษร โดยส่วนตัวมองว่าโลกคือละคร แล้วการอ่านมันทำให้คนอ่านลอกเลียนแบบสิ่งที่ตัวเองอ่านเอาไปแสดงในชีวิตจริง "ผมเคยคุยกับแท็กซี่คนหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องการประท้วงที่กรุงเทพว่า เป็นได้ไหมว่าที่มีคนบอกว่านักการเมืองโกง เพราะเขาอ้างว่าตำราเราเขียนไว้อย่างนั้น นั่นหมายความว่าการอ่านก็จะกลายเป็นการตีกรอบทางสังคมอย่างหนึ่ง"


 


ชูศักดิ์ ได้พูดถึงประเด็นที่ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนต่อว่า การอ่านแบบที่ว่ามันเป็นการปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์บางอย่าง ให้กับเรา ขณะที่ "การวิจารณ์" จะเหมือนเป็นการติดอาวุธความคิดให้กับเรา ไม่ให้เราเชื่อตามคำพูดไปทั้งหมด จากประวัติศาสตร์การวิจารณ์วรรณกรรมในเมืองไทยก็มีการพยายามหลายชั่วอายุคนในการที่จะทลายกรอบทำให้การวิจารณ์มีบทบาท


 


ชูศักดิ์ พูดต่อว่า แต่การวิจารณ์ในสังคมและวัฒนธรรมไทยมันมีบางอย่างที่เป็นเพดานที่มองไม่เห็น คอยกำกับว่าคุณวิจารณ์ไปมากกว่านั้นไม่ได้ โดยยกตัวอย่างกรณีสุนทรภู่ที่วิจารณ์บทกลอนของรัชกาลที่ 3 หรือตอนนั้นเป็นกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์  บทที่เขียนว่า "น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว" กรมหมื่นฯ ก็ให้สุนทรภู่ช่วยวิจารณ์หน่อย ต่อหน้าสุนทรภู่ก็ไม่ได้วิจารณ์อะไร แล้วพอตอนประชุมกวีมี ร.2 อยู่ด้วย สุนทรภู่ก็วิจารณ์ในที่ประชุมว่ามันขัด ๆ หู ไม่ค่อยลื่นหู  แล้วก็เสนอเวอร์ชั่นใหม่ให้เป็น "น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมมาอยู่ไหวไหว" ซึ่งรัชกาลที่ 3 ก็โกรธมาก เพราะเหมือนกับไปฉีกหน้าท่าน แล้วเมื่อรัชการที่ 3 ขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่ก็กลัวราชภัยเลยต้องลาบวชไป


 


"นักวิจารณ์วรรณคดีหลายท่านเลยถือว่า การที่สุนทรภู่วิจารณ์ ร. 3 นี่คือบทวิจารณ์วรรณกรรมชิ้นแรกของประเทศไทย" ชูศักดิ์กล่าว "ผมจึงอยากเอากรณีนี้มาให้เห็นถึงเพดานบางอย่างในการวิจารณ์"


 


ชูศักดิ์บอกอีกว่าไม่ว่าเราจะวิจารณ์กันในแง่ของสุนทรียศาสตร์กันยังไง สุดท้ายแล้วการวิจารณ์มันก็เป็นเรื่องของอำนาจ ในตอนนั้นสุนทรภู่เป็นกวีหลวงเป็นกวีที่โปรดปราน ของ ร.2 แต่อำนาจก็ย้อนมาเล่นงานสุนทรภู่ตอน ร.3 ขึ้นครองราชย์ นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างกวีอิศรญาณ ที่มีอยู่ว่า "ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ" ตอนนั้นเป็นสมัย ร.4 แม้ในปัจจุบันนี้เราก็ยังคงอยู่ใน "ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครเลยเล่าจะไม่งามเท่าตามเสด็จ"


 


ชูศักดิ์กล่าวว่านี่เป็นเพดานที่มองไม่เห็น ทำให้เราสามารถวิจารณ์ได้ถึงจุด ๆ หนึ่ง พอพ้นจุด ๆ นั้นไปจะวิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งขัดกับหลักวิจารณ์ เราเคยเชื่อว่าการวิจารณ์ที่จะมีพลังได้คือการวิจารณ์ที่มีพลังทางปัญญา แต่การวิจารณ์ที่จะมีพลังทางปัญญาเราต้องยอมรับว่าคนเราเท่าเทียมกันก่อน พอคนเราไม่เท่าเทียมกัน คุณวิจารณ์ไม่ได้หรอก พอคุณวิจารณ์ไม่ได้มันก็จะออกมาเป็นแบบนี้ ยกตัวอย่างการวิจารณ์ในวงวิชาการของตะวันตก จะเรียกแต่ชื่อ ไม่เรียกว่าอาจารย์ จะเรียกเป็นมิสเตอร์อันนั้นอันนี้ไป แต่ในสังคมเราเหมือนเราเอาเรื่องของอำนาจเข้าไปกำกับในลักษณะหนึ่ง "โดยสำหรับผมแล้ว การวิจารณ์ที่จะเกิดพลังทางปัญญาได้นั้น จะต้องยอมรับเสียก่อนว่าผู้วิจารณ์และผู้ถูกวิจารณ์ เท่าเทียมกัน ถ้าไม่ยอมรับอันนี้ ไม่มีพื้นฐานอันนี้ คุณโปรโมทเท่าไหร่ ให้ทุนวิจัยไปอีก 20 ปี พลังทางปัญญามันจะขึ้นมาได้แค่ระดับหนึ่ง แต่จะมีเพดานบางอย่างที่ทำให้ทะลุไปไม่ได้"


 


ในส่วนของ คำ ผกา ได้นำเสนอเรื่องเพดานของการวิจารณ์ในระดับที่ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย โดยเล่าว่าช่วงที่ยังคงเป็นนักวิจารณ์เถื่อนออกมาวิจารณ์เรื่อง "ข้างหลังภาพ" ด้วยความทะลึ่งเป็นการส่วนตัว โดยไม่ได้คิดอะไร ศรีบูรพาก็ตายแล้วคงไม่ต้องกลัวอะไร จะเขียนวิจารณ์ยังไงก็ได้ แต่พอขยับมาถึงนักเขียนรุ่นใหม่ เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นก็อาจกลายเป็นเพดานได้ เพดานไม่จำเป็นต้องเป็นอำนาจของคนที่สูงกว่าเสมอไป "พอเจอคนนู้นก็พี่ คนนี้ก็น้อง มันทำให้เราเริ่มมองว่าความเมตตามันอยู่ตรงไหน ความที่จะรอให้เขามีวุฒิภาวะมากกว่านี้แล้วค่อยตัดสินเขาไหม หรือพอเราเริ่มเขียนหนังสือแล้วจำเป็นต้องเลี้ยงชีวิตด้วยการเขียนแล้วเห็นว่าสำนักพิมพ์นี้ทำอะไรไม่เข้าท่า เราจะวิจารณ์มันดีไหม ถ้ามันไม่พิมพ์หนังสือเราอีกจะทำยังไง อันนี้เป็นเพดานที่ไม่ซับซ้อน"


 


คำ ผกา บอกอีกว่า เวลาที่เราวิจารณ์ เราจะอยู่กับแค่การวิจารณ์วรรณกรรมแล้วก็มีหลักการของสุนทรียศาสตร์ หรืออาจจะไปถึงขั้นสังคม ค่านิยม หลังอาณานิคมอะไรไปอีกหลาย ๆ ทฤษฎี แต่เรากลับคิดว่างานบางอย่างมันเป็นงานที่เราไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามแล้ว แล้วก็จะไม่วิจารณ์มันไปโดยปริยายเช่น หนังสือที่เราคิดว่าเป็นตำรา หนังสือธรรมะ "คือคิดไม่ออกว่าจะมีหนังสือธรรมะวิจารณ์ในแมกกาซีนยังไง หรือน่าจะมีคอลัมน์วิจารณ์ตำราเรียนในแต่ละยุคสมัยได้ยังไง ถ้ามันไม่ได้เป็นงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์"


"งานบางอย่างที่ไม่ได้ถูกวิจารณ์เพราะเราถือว่ามันเป็นการบอกกล่าวข้อเท็จจริง แต่งานที่เราจะวิจารณ์ได้เราจะวิจารณ์ในส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่ กขคง. ขยายได้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด" คำ ผกา กล่าว


 


รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประติศาสตร์ ที่ร่วมฟังการเสวนาออกมาแสดงความเห็นว่า  ในสังคมเรามันมีเรื่องของอำนาจอยู่จริง จึงมีการกำหนดว่าอะไรบ้างที่ยอมให้อ่าน อะไรบ้างที่ไม่ยอมให้อ่าน ถ้ามันมีเสรีภาพว่าถ้าใครอยากเสนออะไรออกมาให้อ่านก็ทำได้หมด เช่น พอหนังสือฝ่ายซ้ายออกมาก็ไม่ถูกเบียดขับออกไป ถ้าแบบนี้พออ่านแล้วมันจะวิจารณ์ความรู้ต่าง ๆ ในตัวของมันเอง


 


000


 


 


อินเทอร์เน็ต


และการทะลุเพดานการวิจารณ์ในชุมชนเล็ก ๆ


 



"แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมันตรวจสอบง่ายที่สุด สมัยก่อนถ้าไปทิ้งใบปลิวหรือบัตรสนเท่ห์เอาไว้มันยังจับมือใครดมยาก ถ้าคุณโพสท์เว็บบอร์ดเช็กจาก ไอพี ก็รู้แล้วว่ามาจากบ้านไหน"


 



 "หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพราะการวิจารณ์ในเมืองไทยไม่มีการสถาปนาศาสตร์ว่าด้วยการวิจารณ์ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริง เป็นจัง เมื่อเอาศาสตร์ไปห่อหุ้มซะความเป็นส่วนตัวก็จะน้อยลง แล้วไม่ว่าชุมชนจะเล็กแค่ไหนก็ตามเราก็อาจจะทะลุเพดานขึ้นไปอีกหน่อย"


 


000


 


ไช ยันต์ เริ่มเปิดประเด็นเรื่องของการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตกับการอ่าน บอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่โต้ตอบได้ฉับพลัน ถือเป็นพื้นที่ใหม่ จึงตั้งคำถามต่อว่าสื่ออินเทอร์เน็ตจะสามารถพังเพดานได้หรือไม่


 ชู ศักดิ์ เสนอว่า อินเทอร์เน็ตเป็นดาบสองคม ทีแรกอาจจะดูเหมือนว่ามันเกิดกว้างให้เราทำอะไรก็ได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมันตรวจสอบง่ายที่สุด สมัยก่อนถ้าไปทิ้งใบปลิวหรือบัตรสนเท่ห์เอาไว้มันยังจับมือใครดมยาก ถ้าคุณโพสท์เว็บบอร์ดเช็กจาก ไอ.พี ก็รู้แล้วว่ามาจากบ้านไหน


 


มี ผู้ฟังคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ตัว พรบ.คอมพิวเตอร์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ทำให้ ทีโอที ฟ้องผู้ใช้ไปแล้ว 6,000 รายกรณ๊เรื่องข้อความไม่เหมาะสม ทางร้านอินเทอร์เน็ตเองก็ถูกบังคับให้ต้องรักษาไฟล์เอาไว้ในเครื่องเป็นเวลา 90 วัน เป็นอย่างต่ำ แล้วก็จะมีกล้องตรวจหน้าจับหน้าไว้ด้วย


 


ด้าน คำ ผกา เสนอว่าถ้ามันไม่มีเสรีภาพ ก็คงไม่ต้องมานั่งพูดถึงเรื่องการวิจารณ์ แล้วการอ่านมันก็จะไร้พลังไปโดยสิ้นเชิง "สิ่งที่เราพูดกันไม่รู้ว่ามันอยู่ในจินตนาการของพวกเราเองหรือมันอยู่ใน สังคมจริง ในวงการ"


 


"เรา เริ่มมาจากพื้นฐานว่าการอ่านเป็นพฤติกรรมของชนชั้นทีมีเวลาฟุ่มเพือยในชีวิต พอที่จะอ่านและเขียน แล้วในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทย เราจำเป็นต้องยอมรับอีกว่า ชนชั้นที่ว่ามีอยู่นิดเดียว แล้วชนชั้นที่มีอยู่นิดเดียวนี้ คนที่ลุกขึ้นไปเขียนก็มีอยู่น้อยลงไปอีก แล้วกลุ่มนี้มันก็เลยกลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ในสังคม 70 กว่าล้าน ท้ายที่สุดแล้ว คนพวกนั้น คุยกันไปคุยกันมาเราจะนับญาติกันได้หมดเลย ดังนั้นการที่รู้จักกันเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ก็ยากที่จะพัฒนาการวิจารณ์ที่ จะไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง" คำ ผกา เผย ก่อนตั้งข้อสงสัยต่อว่า หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพราะการวิจารณ์ในเมืองไทยไม่มีการสถาปนาศาสตร์ว่าด้วยการวิจารณ์ ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริง เป็นจัง เมื่อเอาศาสตร์ไปห่อหุ้มซะความเป็นส่วนตัวก็จะน้อยลง แล้วไม่ว่าชุมชนจะเล็กแค่ไหนก็ตามเราก็อาจจะทะลุเพดานขึ้นไปอีกหน่อย


 


ไชยันต์  บอกว่า เรื่องที่กล่าวมาน่าสนใจ จะได้ไม่ใช่แค่ไปวิจารณ์ว่าเรื่องนี้ไม่ดีแล้วก็ไม่มีการขยายความอะไร แต่มีแนวทางเหตุผล หลักเกณฑ์ในการวิจารณ์ ก็จะทำให้ยกระดับการวิจารณ์ ส่วนเรื่องวงแคบ ๆ ก็สามารถจะใช้นามปากกาได้ แต่ คำ ผกา แย้งว่า หากใช้นามปากกาก็จะมีคนหาว่าไม่แสดงความรับผิดชอบในการสิ่งที่ตนเองเขียน


 

 

000


 


 


บริบทการวิจารณ์แบบสาธารณะ


และพลังแห่งการซ้อนวิจารณ์


 



"ข้อเขียนทางวรรณกรรมเมื่อเขียนออกมาแล้วถือเป็นสมบัติสาธารณะ ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีสิทธิในนั้น ฉะนั้นการวิจารณ์ก็เป็นการวิจารณ์สมบัติสาธารณะ ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว"


 



"ผมรู้สึกว่าการวิจารณ์จะไม่มีพลังเลยหากไม่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ...เพราะการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์มันเป็นการยืนยันว่าไม่มีคำตอบคำตอบเดียวในการอ่านทุกแบบ การอ่านทุกแบบสามารถรับฟังได้"


 



 "มันไม่ลงมาถึงคนอ่านไทยรัฐ เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์มันก็น้อย เว้นแต่นักวรรณคดีศึกษาสองสามร้อยคนในเมืองไทยจะวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์กันเอง จะมีวิธีอะไรไหมที่จะทำให้มันลงไปสู่มวลชนได้ ทำให้สคูลต่าง ๆ เดินลงจากหอคอยงาช้าง ออกมาคุยกับมวลชนมากขึ้น"


 


000


 


ด้าน ชูศักดิ์ ให้ความเห็นว่าจากประวัติศาสตร์การวิจารณ์ในเมืองไทยพัฒนามาพอสมควร สมัยก่อนผู้เขียนมักจะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนผู้วิจารณ์ก็มักจะทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ทะเลาะตบตีเป็นเรื่องบาดหมางกัน


 


ชูศักดิ์ บอกว่าหากนับว่าข้อเขียนเป็นสมบัติสาธารณะ การวิจารณ์จะทำให้เกิดการบาดหมางส่วนตัวน้อยลง เพราะผู้วิจารณ์ก็ถือว่าวิจารณ์งาน ไม่ได้วิจารณ์ผู้สร้างงาน


 


"จุดที่เป็นหลักหมายสำหรับการพัฒนาการวิจารณ์ คือสิ่งที่ อ.เจตนา (เจตนา นาควัชระ) กล่าวไว้ว่า ข้อเขียนทางวรรณกรรมเมื่อเขียนออกมาแล้วถือเป็นสมบัติสาธารณะ ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีสิทธิในนั้น ฉะนั้นการวิจารณ์ก็เป็นการวิจารณ์สมบัติสาธารณะ ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว ตรงนี้มันทำให้ความคิดที่ว่าข้อเขียนนี้เป็นของฉัน การที่มีคนมาวิจารณ์เท่ากับคนมาวิจารณ์ตัวฉันเบาบางลงมาก แล้วก็ทำให้เรื่องการวิจารณ์ซึ่งเป็นเรื่องของหลักวิชา หรือแม้แต่เขาจะไม่ใช้หลักวิชาก็ตาม แต่อย่างน้อยทั้งผู้เขียนและผู้วิจารณ์ไม่ได้รู้สึกว่า กำลังวิจารณ์ตัวผู้เขียน ทำให้โอกาสที่จะเกิดความบาดหมางใจกันหายไปเยอะ ข้อเสนอนี้มันก็ทำให้การวิจารณ์ในบ้านเราเฟื่องฟูขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทำให้คนกล้าวิจารณ์มากขึ้น คนวิจารณ์จะรู้สึกว่าเขากำลังวิจารณ์งาน ไม่ได้วิจารณ์ตัวเขาอยู่"


 


แต่ขณะเดียวกัน ชูศักดิ์  ก็พูดถึงเรื่องการทำให้การวิจารณ์เป็นศาสตร์ว่ามีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือลดความเป็น ส่วนตัวลง แต่ข้อเสียของการเป็นศาสตร์คือ จะทำให้งานวิจารณ์กลายเป็นอะไรที่โต้เถียงไม่ได้แล้ว เมื่อคุณวิจารณ์อะไรออกมาก็กลายเป็นคำตอบสุดท้าย ทุกคนก็ตามกันหมด อ.เจตนา พูดถึง "คนนอก" ของกามูส์ (อัลแบร์ กามูส์) เวลาอื่นพูดถึง "คนนอก" ก็พูดตามของ อ.เจตนา หมดทุกคน หรือไม่ถ้าเราเป็นนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะในระดับมัธยมฯ เวลาเราตอบเรื่องวรรณกรรมไม่ตรงกับครูก็จะถูกหักคะแนน ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นคือสิ่งที่เรียกว่าวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ แบบที่คนนั้นเสนอมาอย่างนี้คนนี้เสนอมาอีกแบบหนึ่ง เลือกตีความต่างกัน มันน้อยลงไป


 


"ผมรู้สึกว่าการวิจารณ์จะไม่มีพลังเลยหากไม่มีการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์" ชูศักดิ์กล่าว "เพราะการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์มันเป็นการยืนยันว่าไม่มีคำตอบคำตอบเดียวในการอ่านทุกแบบ การอ่านทุกแบบสามารถรับฟังได้"


 


ชูศักดิ์ กล่าวไปถึงประเด็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันว่า ในยุคที่มีความขัดแย้งกัน เราก็ไม่ค่อยเห็นนักวิชาการลุกขึ้นมาเถียงกัน "เห็นว่ามีน้อย ทุกคนอยู่ในมุมของตัวเองแล้วต่างทำอะไรของตัวเองไป ไม่ค่อยมีวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์กัน พอมีคนมาบอกว่ารัฐประหารดี ไม่ค่อยมีคนออกมาโต้เท่าไหร่ หมายถึงโต้กันในทางวิชาการ"


 


คำ ผกา พูดถึงการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ในระดับของ อ.เจตนา หรือในแนวคิดต่าง ๆ ว่า มันลงมาไม่ถึงมวลชน มันก็ยังอยู่แต่ในแวดวงของนักวรรณคดีศึกษา "มันไม่ลงมาถึงคนอ่านไทยรัฐ เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์มันก็น้อย เว้นแต่นักวรรณคดีศึกษาสองสามร้อยคนในเมืองไทยจะวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์กันเอง จะมีวิธีอะไรไหมที่จะทำให้มันลงไปสู่มวลชนได้ ทำให้สคูลต่าง ๆ เดินลงจากหอคอยงาช้าง ออกมาคุยกับมวลชนมากขึ้น"


 


โปรดติดตาม


พลังของการอ่าน เพดานของการวิจารณ์ (2): มาตรฐานที่ผูกขาดและความเป็นไปได้ของพลังการวิจารณ์


 ได้ทางประชาไทในวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net