รัฐเดินหน้าจัดระเบียบวิทยุชุมชนรอบใหม่ คุมให้เหลือ 1,556 สถานีตามเป้า

ขอนแก่น - กรมประชาสัมพันธ์รับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าโครงการจัดระเบียบวิทยุชุมชนอีกครั้ง หลักจากเงียบหายไปตั้งแต่ต้น ก.พ. 2549 เตรียมจัดโครงสร้างให้วิทยุชุมชนมาจดทะเบียนอีกครั้ง ก่อนให้คณะกรรมการที่บอร์ด กกช. ตั้งคัดวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่งให้เหลือเพียง 1,565 แห่งหลังเลือกตั้ง อ้างคัดตามหลักวิทยุชุมชนของยูเนสโก้ เลขานุการ รมต. ปฏิเสธจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อขู่ให้วิทยชุมชนเลือกข้างก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่นักวิชาการเสนอควรรอ กสช. เป็นผู้คัดเอง และเพิ่มสัดส่วนของอนุกรรมการคัดเลือกให้มีภาคเอกชนไม่น้อยกว่าภาครัฐ และให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

 

สำนักประชาสัมพันธ์เขตภาคอีสานตอนบน ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง "แนวทางการดำเนินการวิทยุชุมชน" ที่หอประชุมสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ดำเนินการจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนจากภาคอีสาน ในการเดินหน้าโครงการตามกรอบการดำเนินการวิทยุชุมชนของกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีนายกณพ เกตุชาติ เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ (สุรนันท์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน และมีนายบวร เตชะอินทร์ ผอ.กองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ นายอัศวิน มุงคุณคำชาว หัวหน้าสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุขอนแก่น นายชัยวุฒิ มนตรีรักษ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนท้องถิ่น ม.ราชภัฏ จ.เลย เป็นวิทยากร มีผู้แทนวิทยุชุมชนทั้งอีสานเข้าร่วมประมาณ 300 คน

 

นายกณพเปิดเผยว่า ในขณะที่ กสช.ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จากคดีคุณสมบัติและที่มา ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการอุทธรณ์สู่ศาลปกครองสูงสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2549 จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมี กสช. ได้หรือไม่ หรือจะต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องกินเวลาไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง ขณะที่ตัวเลขการร้องเรียนการรบกวนคลื่นวิทยุการบิน และคลื่นวิทยุและโทรทัศน์หลักเข้ามายังกรมประชาสัมพันธ์และ กทช. โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2549 มีสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ 2,565 สถานี ถูกร้องเรียนว่ามีคลื่นรบกวนวิทยุการบิน 308 กรณี รบกวนวิทยุกระจายเสียง 110 กรณี และรบกวนสถานีโทรทัศน์หลัก 294 กรณี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง จนเป็นเหตุให้รัฐต้องเดินหน้าดำเนินการตามกรอบเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งมีหนังสือร้องเรียนจากกรรมาธิการโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ส.ส. พรรคไทยรักไทยเป็นประธาน ซึ่งยื่นเรื่องมาและทำข้อเสนอให้ดำเนินการตามกรอบกับสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการยุบสภา

 

นายกณพเปิดเผยว่าหลังจากรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาคแล้ว อาจต้องเว้นไประยะหนึ่ง เพราะตรงกับช่วงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ความตั้งใจของรัฐถูกบิดเบือน หลังจากเลือกตั้งแล้วก็จะเริ่มกระบวนการให้วิทยุชุมชนทั่วประเทศมาจดทะเบียนภายใน 45 - 60 วัน เพื่อให้ผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนแจ้งที่ตั้งสถานี แจ้งคุณสมบัติว่าตรงกับหลักวิทยุชุมชนตามคำจำกัดความขององค์การยูเนสโก้หรือไม่ และอยู่ในกรอบ เสาสูง 30 เมตร กำลังส่ง 30 วัตร รัศมีการกระจายเสียง 15 กิโลเมตรหรือไม่ เพื่อให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบดูแลวิทยุชุมชนระดับจังหวัด ที่ตั้งขึ้นโดยบอร์ด กกช. จังหวัดละประมาณ 10 คน ร่วมกับชุมชนต่างๆ ที่จะช่วยตรวจสอบด้านเนื้อหา จากนั้นก็จะทดสอบการออกอากาศว่า ปฏิบัติตามคุณสมบัติที่แจ้งหรือไม่ และสุดท้าย เข้าสู่กระบวนการคัดให้เหลือ 1,556 จุดทั่วประเทศ ซึ่งเกิดจากการรียูสคลื่นความถี่ของกระประชาสัมพันธ์ 52 ความถี่ กระจายตามแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันขึ้นกับข้อเท็จจริงและปัจจัยของพื้นที่ ทั้งนี้ให้ดำเนินการไปได้เลยโดยไม่ต้องรอ กสช.

 

ทั้งนี้นายกณพได้ย้ำว่า หลักเกณฑ์การให้มีโฆษณาชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาทีนั้น เพียงพอที่วิทยุชุมชนจะหารายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว แต่ก็ยอมรับได้หากปรับวิธีการหารายได้ เช่นการกล่าวขอบคุณในรายการ การให้ชุมชนร่วมลงขัน หรือสมัครเป็นสมาชิก เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลของแหล่งทุนและการเมือง

 

นายชัยวุฒิได้เสนอต่อที่สัมมนาว่า อยากให้รัฐบาลยกเลิกกฎกระทรวงข้อ 14 อนุที่ 7 ที่ระบุห้ามการนำเสนอสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการปกป้องความมั่นคงของนักการเมืองแทน นอกจากนี้อนุกรรมการตรวจสอบดูแลวิทยุชุมชนที่ตั้งขึ้น ควรจะมีสัดส่วนของภาคที่ไม่ใช่ราชการไม่น้อยกว่าอนุกรรมการในส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพราะมีภารกิจมากเกินกว่าจะมีเวลามารับฟังรายละเอียดปลีกย่อย และด้วยฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัด มีส่วนโน้มนำความเห็นของอนุกรรมการที่คนอื่นที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะความเกรงใจ ทั้งที่ความจริงอาจไม่เห็นด้วยในเรื่องนั้น ๆ สมควรให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในจังหวัดนั้นเป็นประธาน เพื่อที่ประชาชนจะให้การสนับสนุนการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการ ในกรณีที่ต้องยกเลิกวิทยุชุมชนบางสถานี

 

นอกจากนี้นักวิชาการจาก ม.ราชภัฏ จ.เลยผู้นี้ ยังเรียกร้องให้รัฐสร้างหลักประกัน ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม ของผู้จัดรายการวิทยุชุมชนอย่างเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของภาครัฐ ทุน หรือการเมือง รวมทั้งเรียกร้องให้วิทยุชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรับตัวเองเข้าสู่อุดมการณ์ของวิทยุชุมชนตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญให้มากชึ้น

 

"วิทยุชุมชนควรจะถามตัวเองว่า ถ้าถูกสั่งให้ปิดไป จะมีประชาชนที่เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนนั้น มาเรียกร้องแทนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีวิทยุชุมชนจำนวนมาก ที่ประชาชนในชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้รู้สึกเป็นวิทยุของชุมชน ไม่ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของชุมชน ไม่ได้ให้ความรู้ที่ต้องการ ตลอดจนถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม อนุรักษ์ศิลปะประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ แล้วยังเอาเพลงจากกรุงเทพมาเปิดให้ฟัง เพราะมุ่งเน้นเชิงมูลค่า มากกว่าคุณค่าของความเป็นวิทยุชุมชน และผู้ที่ดำเนินการวิทยุชุมชนในลักษณะนี้ ไม่ใช่สื่อมวลชน แต่เป็นแค่นักตักตวงผลประโยชน์เท่านั้น" นายชัยวุฒิกล่าว

 

นายชัยวุฒิกล่าวให้สัมภาษณ์ด้วยว่า รัฐไม่ควรจะเป็นผู้ที่ดำเนินการคัดเลือกวิทยุชุมชนให้เหลือ 1,556 สถานีเอง แต่สามารถดำเนินการไปตามกรอบไปก่อน แล้วรอจนมี กสช. มาทำหน้าที่ดังกล่าว

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาคดังกล่าว จัดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. ก่อนวันเลือกตั้งที่กฤษฎีกากำหนดไว้คือวันที่ 15 ต.ค. ไม่นาน และเป็นเวทีที่มีลักษณะปิด คือเชิญเฉพาะวิทยุชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์มาร่วมฟัง ไม่มีการถ่ายทอดสดเหมือนครั้งก่อนๆ และโฆษกยังมีการประกาศเรื่องจัดเลี้ยงโต๊ะจีนในช่วงเย็น แต่หลังจากดำเนินรายการไปโดยที่รู้ว่ามีสื่อมวลชนจากภายนอกมาร่วมฟังด้วย รายการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกลับถูกยกเลิก นอกจากนี้ผู้เป็นวิทยากรในส่วนของ กกช. และ กทช. ก็ยังเน้นย้ำแต่กระบวนการจัดการเอาผิดทางกฎหมาย ซึ่งสร้างความรู้สึกกดดันแก่ผู้ดำเนินการวิทยุชุมชน จนกระทั่งหลายคนแสดงออกระหว่างแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่ยินดีจะรับนโยบายของรัฐบาล และเรียกร้องความเห็นใจจากรัฐ

 

อย่างไรก็ตามฝ่ายเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์อ้างว่า เป็นการสัมมนาที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมาร่วม แต่ออกหนังสือเชิญเฉพาะผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่รู้ที่อยู่ นอกนั้นมีการประชาสัมพันธ์ทางวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์และเวปไซด์แล้ว รวมทั้งเป็นแผนงานเดิมที่มีการเตรียมไว้นานแล้ว แต่เนื่องจากในช่วงต้นปี 2549 วุฒิสภาได้ดำเนินการคัดเลือก กสช. ต่อมากระบวนการแต่งตั้ง กสช. ชะงักเพราะคำสั่งศาลปกครอง แต่ก็ติดช่วงเลือกตั้ง และต่อเนื่องมาถึงการลาออกของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธาน กกช. โดยตำแหน่ง จึงทำให้โครงการต้องชะงัก จนมาถึงช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งมีการจัดสัมมนาในลักษณะเดียวกันแล้วที่ภาคใต้ 2 ครั้ง คือที่ จ.สงขลา และพังงา และหลังจากจัดที่ขอนแก่นแล้ว จะมีการจัดสัมมนาที่ จ. เชียงใหม่ในวันที่ 11 ส.ค. จ. นครสวรรค์ ในวันที่ 18 ส.ค. จังหวัดชลบุรี วันที่ 25 ส.ค. และสรุปผลการสัมมนาใหญ่ที่ กทม. ในวันที่ 1 ก.ย. ทั้งนี้ไม่ใช่การจัดประชุมเพื่อหวังผลทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามกลุ่มวิทยุชุมชนท้องถิ่นไทย ซึ่งมีสมาชิกจำนวนไม่น้อย ยืนยันว่าไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการในการร่วมสัมมนา จึงพากันเดินทางไปร่วมประชุมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ กทม. ในวันเดียวกันแทน โดยหลายคนแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อท่าทีของกรมประชาสัมพันธ์ และระแวงต่อการดำเนินการของรัฐในครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท