Skip to main content
sharethis

 


 


 


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น นำเสนอผ่านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานประวัติ 42 ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดแรก ก่อนที่จะสรรหาให้เหลือ 10 รายชื่อ เพื่อส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภา ประชาไทขอนุญาต นำมาเผยแพร่ต่อ


 


0 0 0


 


1.นายสุขุม มีนพัฒนสันติ อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชน เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญในวิชาชีพอัยการ มาหลายตำแหน่ง อาทิ อัยการศาลสูงเขต 6 พิษณุโลก อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษคดีแพ่ง อัยการจังหวัดนครสวรรค์ อัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุทัยธานี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย


 


2.นายอมรศักดิ์ นพรัมภา อดีตผู้พิพากษา เคยเป็นเลขานุการศาลอาญา อายุ 61 ปี ปัจจุบันลาออกจากการเป็นผู้พิพากษาแล้ว โดยทำงานภาคเอกชน เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)


 


นายอมรศักดิ์ เป็นผู้พิพากษาในสายของนายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนละสายกับนายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกาในช่วงวิกฤติตุลการ ทั้งนี้ เชื่อว่านายอมรศักดิ์ น่าจะได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาศาลฎีกาในสายของนายสวัสดิ์ ที่มีอยู่ในศาลฎีกาในขณะนี้เป็นจำนวนมาก โดยนายอมรศักดิ์ น่าจะเป็นตุลาการอีก 1 คนที่จะผ่านการเสนอชื่อต่อวุฒิสภา


 


3.นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สื่อมวลชนอิสระ ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกมีเดีย เอเยนซี่ จำกัด ผลิตรายการสื่อขนาดเล็กมีมูลค่าหุ้นในบริษัท 1.5 ล้านบาทเกินครึ่งของทุนจดทะเบียนของบริษัท  ล่าสุด ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่ถูกศาลปกครองพิพากษาว่า กระบวนการสรรหาได้มาโดยมิชอบและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์คดี


 


4.นายสุเมธ อุปนิสากร ผู้พิพากษาอาวุโสอาญากรุงเทพใต้ เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2481 อายุ 68 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนเกษียณราชการในปี 2542 ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค7 โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ดังนี้ในปี 2540 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ปี 2541 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศในศาลฏีกา ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัทหรือองค์กรธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น


 


5.นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในปี 2538 ซึ่งเป็นเกิดวิกฤติตุลาการ เขาถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่ง รัฐมนตรียุติธรรม และรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ไม่ให้ออกจากราชการ พร้อมกับได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ โอกาสที่นายวิชา จะเป็น 1 ใน 10 ว่าที่ กกต. มีสูงมากเพราะเป็นผู้พิพากษาที่มีความสามารถทางวิชาการที่สังคมรู้จักและให้การยอมรับซึ่งคาดว่าเขาน่าจะได้คะแนนเสียงจากที่ประชุมใหญ่มากถึง 80 เสียง


 


6.น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดนนทบุรี แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเกิดวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2483 อายุ 66 ปี จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเกษียณราชการในปี 2543 แล้ว ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาอาวุโสแผนกคดีเยาวชน ฯ จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมา ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัทหรือองค์กรธุรกิจแต่อย่างใด


 


7.นายสมภพ ระงับทุกข์ ผู้ตรวจราชการ 10 กรุงเทพมหานคร อายุ 54 ปี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทและเอกรัฐศาสตร์ ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลาว่าการ กรุงเทพฯ มาหลายตำแหน่ง เช่น อดีต ผอ.เขตลาดกระบัง บึงกุ่ม ดุสิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รอง ผ.อ.สำนักพัฒนาชุมชน ผ.อ.รักษาความสะอาด ผ.อ.สำนักสิ่งแวดล้อม และผู้ตรวจราชการ กรุงเทพฯ เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเลือกตั้ง กองปกครองและทะเบียน ผ่านงานเลือกตั้งมาแล้วทั้ง ส.ส. ส.ก. และ ส.ข.


 


8.นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อาจารย์พิเศษข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ผ่านมา วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และเคยเสนอตัวเป็น กกต. เกือบทุกครั้ง รวมไปถึงองค์กรอิสระแห่งอื่น แต่ก็ไม่เคยได้รับการคัดเลือกแต่อย่างใด


 


9.นายพีรพล จันทร์สว่าง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแพ่ง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เกิดวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2487 อายุ 61 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแพ่ง ซึ่งนายพีรพล เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2543 - 2546 และได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาในปี 2548 ก่อนจะครบเกษียณอายุราชการ โดยนายพีรพล ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัทองค์กรทางธุรกิจใด ๆ


 


10.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ อายุ 68 ปี ตำแหน่งหลังสุด คือประธานศาลอุทธรณ์ เคยผ่านตำแหน่งบริหารที่สำคัญ อาทิ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปี 2535 -2536 และขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกาปี 2536 -2540 ในปี 2540 เคยชิงเก้าอี้ประธานศาลฎีกา กับนายปิ่นทิพย์ สุจริตกุล ผลลัพธ์นายปิ่นทิพย์ ถึงเก้าอี้ประธานศาลฎีกา เขาจึงไปดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ความนิยมของเขาในหมู่ผู้พิพากษา ถือว่าได้รับการยอมรับอย่างสูงโดยเฉพาะในศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นแกนนำในสายนายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา คาดว่านายอุดม น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนระหว่าง 70 เสียงขึ้นไป


 


11.นายสุรีย์ คูณผล อดีต กกต.ประจำจังหวัดอุบลฯ รักษาการผู้พิพากษาสมทบศาลแขวงและครอบครัวกลาง เคยเป็น กกต.อุบลราชานี ระหว่างปี 2542-2545 เคยเป็นปลัดเทศบาล อ.แม่สอด และผู้อำนวยการกองกลาง กองประชาสัมพันธ์ การประปานครหลวง


 


12.นายบุญทรง จันกลิ่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง อดีตรองผู้ว่าฯ มุกดาหาร จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นรองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เช่น อ่างทอง เคยเป็นผู้ปฏิบัติอำนวยการเลือกตั้งส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่นใน 4 ภาค ของประเทศรวม19 จังหวัด ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอและปลัดจังหวัด


 


13.พลเรือโทธีรพันธ์ ทิมประเสริฐ ข้าราชการบำนาญ อายุ 63 ปี อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ผ่านการดำรงตำแหน่ง อาทิ อาจารย์อำนวยการวิทยาลัยการทัพเรือ รอง ผ.อ.สำนักวางแผนฝึกร่วมและผสมกองบัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ปรึกษากองทัพเรือ


 


สำหรับงานทางการเมือง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2521-22 กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โรงเรียนนายเรือและปริญญาโท โรงเรียนเสนาธิการนาวิกโยธิน สหรัฐฯ


 


14.นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตทนายความ เคยเป็น กกต.กรุงเทพฯ ชุดแรก หลังจากพ้นตำแหน่ง ยังมีบทบาทในการตรวจสอบ กกต.และเคลื่อนไหวภาคประชาชน และต่อมา ดำรงตำแหน่งเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลาง โดยมุ่งเน้นไปที่ตรวจสอบการเลือกตั้ง และกกต.ชุดนี้ จนเป็นความขัดแย้ง ไม่ยอมดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งร่วมกับกกต.อีกเลย นอกจากนี้ ยังเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาล ร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี 3


 


15.นายศักดา มหานันทโพธิ์ ฝ่ายกฎหมายธนาคารกรุงเทพ ตำแหน่งทนายความอาวุโส หัวหน้างานบังคับคดี 3 เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2490 อายุ 59 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีธรรมศาสตร์


 


16.นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมาหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสระแก้ว มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง คือ เคยเป็นรองประธานอนุกรรมการอิสระวุฒิสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการองค์กรอิสระวุฒิสภา มีประสบการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกำนันผู้ใหญ่บ้านจนถึง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง


 


17.นาวาอากาศตรีศักรวัฒน์ แก้วมณีโชติข้าราชการบำนาญ เป็นข้าราชการสังกัดกองบัญชาการกองทัพอากาศ เคยดำเนินรายการวิทยุเอฟเอ็ม 97.0 ดำเนินรายการ "เฝ้าบ้าน-สร้างเมือง "


 


18.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีแรงงานฯ ในศาลฎีกา ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค7 เคยไปเป็นพยานจำเลยในคดีอาญาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องหมิ่นประมาท และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่เขียนบทความดูหมิ่นตุลากาศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยคดีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ พ้นผิดในคดีซุกหุ้น ด้วยเหตุที่นายวสันต์ มีบุคลิกเป็นคนซื่อตรง มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จึงเชื่อว่านายวสันต์ น่าจะเป็นอีก 1 คนที่จะได้รับการลงมติมีชื่อติด 1 ใน 10 ด้วย


 


19.นายปรีชา ปิตานนท์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดจันทบุรี เคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองจันทบุรีติดต่อกันถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2528-2535 โดยในปี 2534 เคยเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง เทศบาลเมืองจันทบุรี มีปัญหากับการบินไทยที่ถูกลดชั้นให้เขาไปนั่งชั้นธรรมดา ล่าสุดเมื่อปี 2543 ได้รับเลือกเป็น ส.ว.จันทบุรี และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา มีปัญหาฉาวโฉ่จนเป็นที่รู้จัก กรณีทะเลาะกับเจ้าหน้าที่การบินไทย เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าการบินไทยจัดที่นั่งชั้นธรรมดาให้ จนต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณากรรมาธิการการปกครอง


 


20.พล.ต.ต.พงศ์ชัย สุขะหุต ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู อดีตเคยเป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจสอบสวนกลางเมื่อปี 2525-2530 เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายตำรวจรักษาความปลอดภัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจใน 14 จังหวัดภาคใต้


 


21.นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ที่ปรึกษาในศาลอุทธรณ์ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง หลังจากนั้นจึงถูกคัดเลือกมาดำรงตำแหน่งกกต.ชุดแรกและได้รับเลือกเป็นประธานด้วยอาวุโส อย่างไรก็ตามธีรศักดิ์ เป็นคนที่ดูจะมีบทบาทน้อยที่สุดในกกต.ชุดแรก เนื่องจากขณะนั้น มีการแบ่งงานใน กกต.อย่างชัดเจน ทำให้เขา ดูเหมือนจะไม่ได้รับผิดชอบอะไรอย่างชัดเจน ต่างกับกกต.คนอื่น ที่มีหน้าที่ในความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นการสืบสวนหรือการจัดการการเลือกตั้ง อีกทั้งเป็นคนพูดน้อยเลยไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนเท่าไหร่นัก


 


22.นายแก้วสรร อติโพธิ รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ เป็นคู่แฝดกับ นายขวัญสรวง อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ บุตรชายนายศิริ อติโพธิ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ประวัติการทำงาน เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539 ซึ่งบทบาทของ ส.ว.กลุ่มอิสระ ที่ไม่ยอมอยู่ใต้การครอบงำของรัฐบาล กล้าพูด กล้าโจมตีรัฐบาลในหลายๆครั้งและเป็นคนที่ ส.ว. บางกลุ่มสนับสนุนให้เป็น กกต. เขาเป็นผู้จัดทำเอกสาร"ชำแหละทักษิณ" จนถูกสันติบาลสั่งจับ-เก็บ ไม่ให้มีการเผยแพร่ ล่าสุดลาออกจากวุฒิสมาชิกเพื่อเข้าชิงเก้าอี้ กกต.


 


23.นายสมชัย จึงประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เกิด 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 อายุ 59 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต และเนติบัณฑิตไทย ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 3 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งเป็นอย่างดี เคยพิจารณาคดีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มาหลายคดี


 


24.นางสดศรี สัตยธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อายุ 60 ปี ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาพิจารณาคดีชำนัญพิเศษแผนกคดีปกครองของศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตและมหาบัณฑิตจากจุฬาฯ


 


25.นายประเสริฐ เขียนนิลศิริ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น เกิดวันที่ 10 ก.ค.2497 อายุ 63 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนเกษียณราชการนายประเสริฐ ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็น ผู้พิพากษาศาลฎีกาในปี 2545 -2547 ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่นายประเสริฐ ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยดำรงตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทหรือองค์กร ธุรกิจ ทั้งนี้ในประสบการณ์การทำงาน นายประเสริฐ ได้เคยผ่านการพิพากษาคดีเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและการเลือกตั้ง ส.ส. โดยนายประเสริฐ ยังได้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย


 


26.นายกรสันต์ กันยะพงศ์ ผู้ประนีประนอมในศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นกรรมการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่นและประธานองค์การเครือข่ายการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นผู้ฟ้องคดีหันคูหากาบัตรลงคะแนนไม่เป็นความลับ และในปี 2544 เคยเป็นผู้อำนวยการ กกต. เขตเลือกตั้งที่ 4 (พญาไท-ราชเทวี) ปี 2529 เคยลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต 1จ.หนองคายในนามพรรคราษฏร ซึ่งมีหัวหน้าพรรค คือ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังเคยเป็นอนุกรรมาธิการวุฒิสภา ศึกษากลไกควบคุมการทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร


 


27.นายปรีชา ธนานันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ อายุ 68 ปี เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งด้วยกัน อาทิ อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต ธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย


 


28.นายประพันธ์ นัยโกวิท รองอัยการสูงสุด เป็นรองอัยการสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีความรู้ความชำนาญในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ ( ก.อ.) อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ เคยรับผิดชอบคดีสำคัญ อาทิ ค่าโง่ทางด่วน 6,400 ล้านบาท ด้วย เคยเข้าชิงเก้าอี้อัยการสูงสุดในการโยกย้ายเมื่อปีกลายมาแล้ว แต่พลาดให้กับนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน


 


29.นายศรีสงคราม แสงจันทร์ ข้าราชการบำนาญธนาคารออมสิน อายุ 63 ปี อดีตผู้จัดการธนาคารออมสินสาขากรุงเทพ จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งเขตพื้นที่ 36 ปี 2543 และประธานเครือข่ายการเลือกตั้ง พ.ศ. 2540-2549


 


30.นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็น กกต.ชุดแรกและอดีตประธานศาลฎีกา แม้จะไม่ได้เป็นประธาน กกต. แต่ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุด เพราะนอกจากจะดูแลด้านงานสืบสวนสอบสวนของ กกต. จนนำมาซึ่งการแจกใบเหลือง-ใบแดงและแสดงอิทธิฤทธิ์จนฝ่ายการเมืองเริ่มเห็นความสำคัญและต้องส่งคนเข้ามาแทรกแซง กกต. ในช่วงวิกฤตตุลาการ มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำต่อสู้กับฝ่ายนายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา เขา จึงมีทายาทเป็นผู้พิพากษาจำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่าเสียงที่สนับสนุนนายสวัสดิ์ จะทำให้เขามีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ ด้วยเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการกฤษฎีกา


 


31. ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล รักษาการ ส.ว.เลย เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 อายุ71 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการปกครอง .เคยได้รับพิษสงจาก กกต. ชุดแรก โดยไม่ยอมประกาศรับรองผลให้เขาได้เป็น ส.ว. อีกทั้งเมื่อได้รับการรับรองจาก กกต.แล้วก็ยังมีเรื่องร้องเรียน เมื่อเขาได้เป็นส.ว.จึงทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ เคยจับผิดมาแล้วหลายองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือ ปปช. จัดอยู่ในกลุ่ม ส.ว. อิสระ ประวัติการทำงานเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รองผู้ว่าฯ จ. เลย เคยเป็นผู้อำนวยการ กองงานความมั่นคง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานด้านการข่าวและยุทธการในสายงานของกรมการปกครอง


 


32.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เกิด 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 อายุ 60 ปี ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนี้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5และ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2


 


33.พล.อ.ธีระพงศ์ ศรีวัฒนกุล หัวหน้าสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เกิดเมื่อวันที่ 23สิงหาคม พ.ศ. 2489 อายุ 59 ปี เคยเป็นตุลาการศาลทหารสูงสุดและหัวหน้านายทหารประสานภารกิจทางทหารกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.)


 


34.พันตำรวจสุเทพ สัตถาผล ผู้บัญชาการสำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ 2490 อายุ 59 ปี จบนิติศาสตร์บัณฑิตและรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่วงด้วยศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นรองสารวัตร สภอ. อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชสภอ.เมืองแพร่ สภอ.เมืองน่าน และสภอ.เมืองอุตรดิตถ์ฯลฯ


 


35.นางจิระวรรณ ศิริบุตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2489 อายุ 60 ปี จบนิติศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทยและศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกา เคยทำคดีเลือกตั้งมา 7 คดี


 


36.นายพีระ ดุลยานุรักษ์ อดีตผู้พิพากษา ปัจจุบันเป็นทนายความ เป็นเจ้าของสำนักกฎหมาย "พีระ ดุลยานุรักษ์" เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2491 อายุ 58 ปี จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย เคยเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ปี 2517-2522 อุปนายกสภาทนายความฝ่ายวิชาการ กรรมการเนติบัณฑิตยสภาระหว่างปี 2536-2540


 


37.นางสุธีรา วิจิตรานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทวีเทรนอินเตอร์ เนชั่นแนลเฮ้าส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีตั้งขึ้นเพื่อหารายได้สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2480 อายุ 68 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค


 


38.นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของ กกต. ในยุคของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน กกต. ทำหน้าที่เป็นอนุกรรมการในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านต่างๆ แต่มาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณีพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งและตัดสินให้พรรคไทยรักไทยเป็นผู้ผิด ทั้ง ๆที่ต้องขัดแย้งกับ กกต. แต่นายนามก็ยังยืนยันที่จะชี้ผลการสอบตามข้อมูลที่ปรากฏ


 


39.นางมาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ8 ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยเป็นอนุกรรมการสิทธิแรงงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ประธานมูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง ที่ปรึกษาอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง 2 วาระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งและร่วมกันสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม


 


40.นายพีระพงษ์ ไพรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. )เคยเป็น ผอ.กกต.ประจำจังหวัดอยู่หลายจังหวัด สุดท้ายเข้ามาประจำอยู่ที่สำนักงานกกต.ในอดีตเคยออกมาโจมตีกกต.ชุดแรกอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาสู่ กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ กลับเป็นผู้ที่ปกป้อง กกต. เคยถึงขนาดที่ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ยอมสรรหา กกต.มาเพิ่มอีก 2 คน แต่ศาลปกครองไม่รับคำร้อง ที่ผ่านมา เสนอตัวเป็น กกต. ทุกครั้งแต่ก็ไม่ได้รับคัดเลือก


 


41.นายพรชัย รัศมีแพทย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชั้นต้น เกิดเมื่อวันที่ 31มกราคม พ.ศ 2488 อายุ 61 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิตและรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สอนกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายล้มละลาย เคยบรรยายกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง


 


42.นายไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดสมุทรสาคร เกิดเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2486 อายุ 63 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ ประธานศาลอุทธรณ์


 


..................................


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net