Skip to main content
sharethis

เรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจจะดูไกลห่างจากวิถีชีวิตของคนไทย แต่ภาพการสู้รบและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันในเขตปาเลสไตน์ เลบานอน รวมถึงอิสราเอล ก็ทำให้ผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวด้วยความจริงจังมากขึ้น


 


แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยังไม่มีท่าทีอะไรอย่างเป็นทางการต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งเกิดการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกองกำลังฮิซบัลเลาะห์ของเลบานอนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 สัปดาหห์ รวมถึงการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ องค์กรภาคประชาชนของไทยส่วนหนึ่งจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนต่อปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว โดยจัดให้มีการเสวนาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในหัวข้อ วิกฤตในตะวันออกกลาง: ความปวดร้าวของเลบานอนและความป่าเถื่อนของอิสราเอล ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 2 สิงหาคม 2549


 


ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งหมด ได้แก่ ตัวแทนจากพรรคแนวร่วมภาคประชาชนและหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพใน 3 จังหวัดภาคใต้ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย (Forum Asia) สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มเสียสละเพื่อส่วนรวม และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม


 


"จักรวรรดินิยม" ต้นตอที่แท้จริงของปัญหาตะวันออกกลาง


อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวพันกับความขัดแย้งดังกล่าว เนื่องด้วยแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในอิสราเอลคือแรงงานจากประเทศไทย ซึ่งเข้าไปแทนที่แรงงานปาเลสไตน์ที่ถูกบีบให้ออกจากงาน อันเป็นหนึ่งในกลวิธีที่อิสราเอลใช้ในการจำกัดเขตให้ชาวปาเลสไตน์อยู่แต่ในพื้นที่ที่รัฐบาลอิสราเอลกำหนดให้อยู่เท่านั้น


 


หากศึกษาประวัติศาสตร์การก่อตั้งรัฐอิสราเอลจะพบว่าการความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายมิได้มาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา แต่เกิดจากการแสวงหาอำนาจของพวกจักรวรรดินิยมที่พยายามจะใช้ประเด็นทางเชื้อชาติและศาสนามาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามเท่านั้น


 


"ตอนนี้ถือได้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับภัยของสงครามที่จะลามไปทั่วตะวันออกกลาง และเราก็จะต้องเข้าใจที่มาของเรื่องนี้ เพราะว่าสื่อหลักจะไม่อธิบายประวัติศาสตร์เลย จริงๆ แล้วเราต้องเริ่มที่กำเนิดของรัฐอิสราเอล ผมขอฟันธงเลยว่าอิสราเอลเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกา ในการที่จะก่อความวุ่นวาย ในกรณีที่จะสกัดกั้นแนวความคิดกู้ชาติของชาวอาหรับในตะวันออกกลาง และแนวทางที่จะจัดการทรัพยากรของตนเอง"


 


"บางคนมีความคิดที่เสนอว่าจริงๆ แล้วอิสราเอลควบคุมสหรัฐอเมริกา แต่ไม่จริง สหรัฐฯ เป็นคนที่ควบคุมอิสราเอลต่างหาก แนวความคิดที่มองว่ายิวมีเบื้องหลังเป็นการสร้างปัญหาในโลก เป็นเรื่องของความคิดยิวที่เหยียดสีผิว ซึ่งเดิมทีเดียวมาจากฮิตเลอร์ ผมเข้าใจดีว่าบางคนอาจจะแค้นเวลาอิสราเอลทำอะไรในนามของยิว แต่เราต้องมองทะลุตรงนั้น มันเป็นกลอุบายของอิสราเอล ที่จะเอาเรื่องเชื้อชาติขึ้นมาเป็นหลัก เพราะว่ายิวเป็นเชื้อชาติที่ถูกกดขี่มาตลอดในยุโรป และมันก็เกิดแนวความคิด 2 แนวความคิดที่จะจัดการกับเรื่องนี้ แนวความคิดที่ 1 คือแนวความคิดสังคมนิยม เป็นแนวความคิดที่มองว่ายิวกับคนอื่นอยู่ด้วยกันได้ ต่อสู้กับการเหยียดสีผิวได้ ตัวอย่างของคนที่มีแนวความคิดแบบนี้ก็คือคาร์ล มาร์กซ์, ลีออน ทรอตสกี, โรซา ลักเซมเบิร์ก และโทนี คลิฟฟ์ ซึ่งก็คือผู้นำคนสำคัญๆ ของแนวมาร์กซิสต์ แต่มันมีอีกแนวหนึ่ง ก็คือแนวไซออนนิสม์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยธีโอดอร์ เฮิร์สซีย์ เสนอว่าถ้ายิวจะอยู่แบบสบายๆ โดยไม่ถูกกดขี่รังแกโดยคนอื่นก็ต้องหาประเทศของตน"


 


"ปัญหาก็คือในโลกนี้มันไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่ว่างเปล่า ดังนั้น พวกไซออนนิสม์จึงกลายเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม และจักรวรรดินิยมประเทศแรกที่ใช้ไซออนนิสม์เป็นเครื่องมือก็คืออังกฤษ ภายใต้รัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษ ลอร์ดเบาร์ฟลอร์ ซึ่งเสนอให้เอาคนยิวไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อนหน้านั้นก็มีคนยิวอาศัยอยู่ในพื้นที่ มันไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ก็มีข้อเสนอว่าควรจะสร้างรัฐยิวขึ้นมาในปาเลสไตน์ และยิวก็จะเป็นประเทศที่จงรักภักดีต่อประเทศตะวันตก ซึ่งอังกฤษเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพราะรัฐบาลอังกฤษเคยเอาคนสกอตแลนด์ไปอยู่ทางตอนเหนือของไอร์แลนด์มาแล้ว และก็สร้างปัญหาในไอร์แลนด์มาตลอด"


 


"ตอนแรกคนยิวมีไม่กี่คนหรอกในปาเลสไตน์ และผมต้องเน้นว่าตามประวัติศาสตร์แล้วคนยิวในตะวันออกกลางสามารถอยู่ได้อย่างสันติกับคนอาหรับหรือคนมุสลิม ตามประวัติศาสตร์แล้ว อาณาจักรมุสลิมมักจะปกป้องชาวยิวด้วยซ้ำไป ชาวยิวในอิรักเป็นชุมชนที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลตะวันตก และการสร้างรัฐอิสราเอลได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยคนยิวเอง หลังจากที่เขาประสบโศกนาฏกรรมการล้างเผ่าพันธุ์ ฉะนั้นแนวที่มองว่าอยู่ด้วยกันได้จึงเป็นแนวที่ไม่ค่อยมีคนฟังเท่าไหร่ อันนี้เป็นผลจากชัยชนะของฮิตเลอร์ ซึ่งก็เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับทุกคนในโลกเหมือนกัน"


 


"ประเทศอิสราเอลถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะที่ชาวยิวเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง และคนชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ในพรมแดนเป็นพลเมืองชั้นสอง ทุกองค์กรของชาวยิวจะเน้นที่ความบริสุทธิ์ของชาวยิว แม้แต่สหภาพแรงงานก็ไม่ให้คนอาหรับเข้าไปอยู่ตรงนั้น และตอนแรกก็พยายามกวาดซื้อที่ดิน และพอกวาดซื้อที่ดินไม่ได้ก็ใช้วิธีก่อการร้ายในการขับไล่ชาวบ้านปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ ที่แย่ที่สุดก็คือในปี 1948 ที่หมู่บ้านเดียห์ยัสซิน มีกองกำลังก่อการร้ายบุกเขาไป และผู้นำกองกำลังก่อการร้ายเหล่านั้น ช่วงต่อมาก็กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอิสราเอล กองกำลังเหล่านี้บุกเข้าไปฆ่าเด็ก บุกเข้าไปฆ่าผู้หญิง 300 กว่าคน ฆ่าเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความกลัว และชาวปาเลสไตน์ก็เลยต้องหนีออกไป"


 


"ในที่สุดชาวปาเลสไตน์เกือบ 1 ล้านคนต้องหนีออกไปจากพื้นที่ที่อิสราเอลค่อยๆ ยึด และสหประชาชาติก็มีการแบ่งดินแดนให้ชาวไซออนนิสม์ซึ่งเป็นแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ได้ที่ดิน 57 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หลังจากนั้นอิสราเอลก็มีลักษณะที่จะขยายดินแดนออกไปตลอดเวลา ภายใต้การใช้ความรุนแรง ฉะนั้นลักษณะของรัฐอิสราเอลมันเป็นรัฐที่เหยียดสีผิว เหยียดคนอื่นที่ไม่ใช่ยิว แต่ไม่ใช่รัฐยิว นี่เป็นรัฐไซออนนิสม์ ผมอยากจะเน้นตรงนี้ อิสราเอลเป็นรัฐไซออนนิสม์ชาตินิยมฝ่ายขวา และเป็นรัฐที่ขยายพื้นที่ตลอดเวลาโดยใช้ความรุนแรง แค่พื้นที่ที่สหประชาชาติแบ่งให้ในปี 1947 ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมอยู่แล้วกับชาวปาเลสไตน์ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องบุกรุกประเทศรอบข้างตลอดเวลาเพื่อขยายพื้นที่"


 


"ดังนั้นอิสราเอลจึงเป็นประเทศที่บุกรุกพื้นที่ของประเทศอื่นตลอดเวลา ใช้ความรุนแรง เป็นฝ่ายเริ่มความรุนแรง กองกำลังของชาวปาเลสไตน์หรือชาวอาหรับที่เกิดขึ้นเพื่อสู้กับอิสราเอล เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยาต่อการลุกสู้การกดขี่อันนี้ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ คนที่ก่อเรื่องขึ้นมาคือนักการเมืองฝ่ายขวาของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สมคบกับนักการเมืองฝ่ายขวาไซออนนิสม์ของอิสราเอล พวกนี้แหละเป็นคนที่ก่อเรื่อง เป็นคนที่ใช้ความรุนแรงแต่แรก"


 


"อีกลักษณะหนึ่งของรัฐอิสราเอลก็คือว่ามักจะเป็นรัฐที่กระทำในสิ่งที่อังกฤษหรือสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ เกรงใจที่จะทำ ก็คือจริงๆ อยากทำนะ แต่ว่าต้องอาศัยอิสราเอลให้ทำแทน คืออย่างแรก ในปี 1956 เกิดรัฐบาลชาตินิยมขึ้นมาในประเทศอียิปต์ และอียิปต์ก็มีคลองสุเอซผ่าน ก่อนหน้านั้นชาติตะวันตกคุมคลองสุเอซอยู่ ทั้งๆ ที่มันอยู่ในพื้นที่ของอียิปต์ รัฐบาลของประธานาธิบดีนาเซอร์ก็เลยบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเป็นเจ้าของคลองสุเอซ อังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการจะใช้กำลังทหารกับอียิปต์ แต่ไม่กล้าทำ เพราะไม่หน้าด้านพอ ก็เลยแอบทำแผนลับกับอิสราเอล ให้อิสราเอลบุกแทน อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ส่งกองทัพเข้าไปเพื่อ "รักษาความสงบ" เพื่ออ้างแบบนี้"


 


"ทีนี้รัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสโชคร้ายหน่อย ตรงที่ตอนนั้นมันเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสองรัฐบาลนี้ยังหลงคิดว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจอยู่ แต่ที่ไหนได้ สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่แท้จริงของตะวันตก และก็ไม่อยากให้อังกฤษแล้วก็ฝรั่งเศสหลงตัวเองมากเกินไปก็เลยห้ามไว้ รัฐบาลอังกฤษเสียหน้า ต้องล้มไป แต่อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในการอาศัยอิสราเอลเป็นเครื่องมือสร้างความปั่นป่วน"


 


กลยุทธ์สร้างความร้าวฉาน "แบ่งแยก" และ "ปกครอง"


เลบานอนเป็นประเทศที่ถูกแทรกแซงมาตลอดโดยตะวันตก โดยตอนแรกขึ้นอยู่กับอาณาจักรออตโตมัน-เติร์ก แต่พอตะวันตกเริ่มเข้ามาก็สนใจเลบานอนในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่ใกล้เคียงกับประเทศที่มีน้ำมัน จากนั้นผรั่งเศสก็เข้าไปยึดเลบานอน


 


วิธีการที่ฝรั่งเศสใช้คือวิธีการสามัญของการใช้อำนาจแบบจักรวรรดินิยม คือถ้าคนในพื้นที่มีหลายเชื้อชาติ ก็จะพยายามปลุกปั่นประเด็นเรื่องเชื้อชาติขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือการปกครอง วิธีนี้เรียกว่าการแบ่งแยก (Divide) และปกครอง (Rule) ซึ่งเชื้อชาติที่ฝรั่งเศสเลือกมาสนับสนุนก็คือพวกมารอนไนต์ (Maronite) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ และพวกที่กลายเป็นพลเมืองชั้นสองก็คืออาหรับ เชื้อสายดรูซ์ (Druze) และพวกชีอะห์ ฉะนั้นในเลบานอนจึงมีประชาชนชาวดรูซ์ ชีอะห์ และมารอนไนต์ เป็นเชื้อชาติสำคัญๆ ซึ่งนับถือศาสนาแตกต่างกัน


 


ปกติแล้วคนเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบ แต่พอตะวันตกเข้าไปแทรกแซงก็ทำให้เกิดการแบ่งแยกการปกครอง จนเลยเถิดเป็นความเกลียดชังกัน


 


ในปี 1943 ซึ่งเป็นช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากเลบานอน แต่ก็ยังทิ้งมรดกไว้คือรัฐธรรมนูญที่ปกป้องพวกคริสเตียนมารอนไนต์และให้สิทธิพิเศษเอาไว้มาก ซึ่งชาวมารอนไนต์มีเพียงร้อยละ 30 ในขณะเดียวกัน เวลานั้นก็มีการก่อตั้งรัฐอิสราเอลขึ้น ทำให้ชาวปาเลสไตน์หนีตายเข้ามาในเลบานอนมากขึ้น จนมีกลุ่มสำคัญเกิดขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวปาเลสไตน์


 


ในปี 1975 ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกจากจอร์แดนอีก เริ่มมีกองกำลังเกิดขึ้น ฉะนั้นชาวปาเลสไตน์ในเลบานอนจึงเริ่มก่อการกบฎโดยจับมือกับฝ่ายซ้ายในเลบานอน ซึ่งก็คือชาวอาหรับที่เป็นนักสังคมนิยม จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างชาวปาเลสไตน์กับเลบานอนฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้กับผู้มีอภิสิทธิ์ ซึ่งก็คือมารอนไนต์คริสเตียน


 


เมื่อกองกำลังปาเลสไตน์และฝ่ายซ้ายของเลบานอนกำลังจะชนะในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1975 ถึง 1976 ชาติตะวันตกก็สนับสนุนให้ซีเรียส่งกองทัพเข้าไประงับการต่อสู้เพื่อยับยั้งชัยชนะของฝ่ายซ้ายและปาเลสไตน์


 


จะเห็นได้ว่าซีเรียไม่ได้เป็นที่พึ่งอะไรของชาวปาเลสไตน์เลย และประเทศอาหรับรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น จอร์แดน อียิปต์ ซีเรีย หรืออิรัก ก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่กดขี่ประชาชนของตนเอง และหวั่นกลัวว่าถ้าชาวปาเลสไตน์จับมือกับชนชั้นล่างในเลบานอนลุกขึ้นมาสู้ ตัวเองก็จะเสียอำนาจไป เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางสร้างความโกรธให้เกิดขึ้นในหมู่ของประชาชนคนธรรมดา


 


ในปี 1979 หรือประมาณ 3 ปีหลังสงครามกลางเมืองครั้งแรกในเลบานอนก็เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน และอิหร่านกลายเป็นหัวหอกสำคัญในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาในตะวันออกกลาง และในปี 1982 ได้เกิดสงครามครั้งที่สองในเลบานอน อิสราเอลจึงส่งกองทัพเข้าไปยึดเกือบครึ่งหนึ่งของเลบานอน และก็ล้อมเมืองเบรุต กองทัพของอิสราเอลเข้าไปล้อมค่ายลี้ภัยซาบรา (Sabra) และชาติลา (Shatila) โดยร่วมมือกับกองกำลังฟาสซิสม์คริสเตียน ซึ่งเรียกตัวเองว่าฟาลาน (Phalangist) ซึ่งมีแนวคิดแบบฟาสซิสม์ และฮิตเลอร์ซึ่งสั่งฆ่าชาวยิวมากมายก็เป็นฟาสซิสม์ แต่กองทัพของอิสราเอลภายใต้การนำของเอเรียล ชารอน กลับเปิดโอกาสให้พวกฟาสซิสม์เข้าไปฆ่าเด็กและผู้หญิงกว่า 2,000 คนในค่ายลี้ภัยซาบรา-ชาติลา ฆ่าอย่างเลือดเย็น การกระทำของอิสราเอลและกองกำลังฟาลานจึงไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นความขัดแย้งในเรื่องของแนวคิดทางการเมือง


 


หลังจากนั้นตะวันตกก็ส่งกองทัพรักษาความสงบเข้าไป โดยสหรัฐอเมริกาส่งนาวิกโยธินเข้าไป แต่โดนระเบิดพลีชีพตายไปเกือบสองร้อยคน จนต้องถอนตัวออก เช่นเดียวกับซีเรียที่ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือ แต่กลายเป็นว่าเลบานอนถูกบีบจากซีเรียด้านหนึ่ง กับอิสราเอลอีกด้านหนึ่ง แต่ในที่สุดการที่จะเข้าไปยึดครองในเลบานอนก็ทำให้เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือฮิซบัลเลาะห์ และฮิซบัลเลาะห์สามารถที่จะขับไล่อิสราเอลออกไปจากพื้นที่ของเลบานอนได้ในที่สุด


 


ด้วยเหตุนี้ หัวหอกสำคัญในการสู้กับอิสราเอลจึงได้แก่กองกำลังฮิซบัลเลาะห์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ปาเลสไตน์ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการที่ประเทศตะวันตกพยายามบีบให้อิหร่านเลิกผลิตพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเกรงว่าอิหร่านจะพัฒนาไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับประเทศตะวันตกที่มีอาวุธนิวเคลียร์ครบมือ


 


แม้แต่อิสราเอลก็มีอาวุธนิวเคลียร์ ประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นการจัดการปัญหาแบบสองมาตรฐาน และเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่การต่อสู้ เมื่อสงครามเกิดขึ้นก็มีการยิงถล่มฉนวนกาซา ฮิซบัลเลาะห์ก็เลยเข้ามาช่วยฮามาสในปาเลสไตน์


 


ความเกี่ยวข้องของไทยและปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง


สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่ มีการให้อาวุธกับอิสราเอลมากกว่าทุกประเทศ และให้ความช่วยเหลือกับอิสราเอลมากกว่าทุกประเทศในโลก ประมาณปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ และช่วยให้อิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปอยู่ในค่ายลี้ภัยต่างๆ จึงเกิดความไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ ของตน ชาวปาเลสไตน์จึงตั้งองค์กรที่จะปลดแอกตนเองขึ้นมา ซึ่งองค์กรสำคัญก็คือขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือพีแอลโอ (PLO: Palestinian Liberation Organization) ซึ่งมีผู้นำเป็นยัสเซอร์ อาราฟัต


 


เมื่อพีแอลโอลุกขึ้นต่อสู้ก็จะโดนปราบปรามโดยหลายฝ่าย และการหวังพึ่งประเทศรอบข้างที่เป็นอาหรับ มุสลิมก็พบกับความผิดหวัง กรณีตัวอย่างคือ การที่จอร์แดนทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์ เพื่อขับไล่พีแอลโอออกไป จนในที่สุดก็มีข้อตกลงยุติการสู้รบเกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม  แม้แต่อาราฟัตที่ตอนเริ่มต้นเป็นผู้ปลดแอก ในที่สุดก็กลายเป็นนักการเมืองโกงกินที่ยอมประนีประนอมกับตะวันตก ไม่ว่าอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาเสนออะไรมาก็ยอมทุกอย่าง อาราฟัตยอมรับแม้กระทั่งโครงการสร้างประเทศปาเลสไตน์ในดินแดนที่แสนจะแห้งแล้งกันดารอย่างฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งประเทศปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นแม้แต่พื้นที่เดียวกัน เพราะถูกแบ่งออกเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถติดต่อกันได้ และยังมีการไล่ชาวปาเลสไตน์ที่ไปทำงานเลี้ยงชีพในอิสราเอลออกไปจากพื้นที่ด้วย


 


ความไม่พอใจในตัวยัสเซอร์ อาราฟัตทำให้เกิดการต่อสู้ภายในนามของการทำ Intifada ซึ่งก็คือการลุกขึ้นสู้ของเยาวชนปาเลสไตน์ บ่อยครั้งจะใช้ก้อนหินสู้กับรถถัง และมีการสู้ถึง 2 รอบ ครั้งแรกคือปี 1987 และครั้งที่สองคือปี 2000 จนในที่สุดก็เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาคือฮามาส และพรรคการเมืองใหม่นี้ก็ชนะการเลือกตั้งในปี 2006 ซึ่งเป็นปีปัจจุบัน แต่พอได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ รัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐอเมริกากลับไม่เคารพการเลือกตั้ง เพราะหลังจากรัฐบาลฮามาสขึ้นมาปกครองตนเอง ทั้งสองประเทศก็ประกาศตัดความช่วยเหลือ และโจมตีชาวปาเลสไตน์ด้วยข้อหาก่อการร้ายอย่างรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น การบอกว่าสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในปาเลสไตน์ จึงถือเป็นคำโกหกหลอกลวงอย่างยิ่ง


 


เมื่อมีการไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปจากอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ก็ไม่มีรายได้และยากจนลง และแรงงานที่เข้ามาแทนชาวปาเลสไตน์ก็คือแรงงานจากประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยมาก เพราะแรงงานไทยที่ยากจนและต้องไปหางานทำในอิสราเอลก็กลายเป็นเหยื่อของอิสราเอล และกลายเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมไปโดยปริยาย  


 


อาจารย์ใจกล่าวเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวพันระหว่างชาวไทย-ปาเลสไตน์ และชาวเลบานอน โดยกล่าวว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นแรกเป็นเพราะคนงานไทยกลายเป็นเครื่องมือของอิสราเอลในการเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิสราเอลไล่คนงานปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ และประเด็นที่สองคือรัฐบาลไทย ทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่างก็สนับสนุนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้การขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตกเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น


 


"ในกรณีของไทยรักไทย มีการส่งทหารเข้าไป เป็นสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนการโจมตีในอิรัก มีการฝึกทหารร่วมกับสหรัฐฯ ในโครงการคอบราโกลด์ (Cobra Gold) เรื่องนี้เราต้องคัดค้าน เพราะว่ามันมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง และอีกเรื่องก็คือสัญญาเอฟทีเอ ตรงนี้ผมอยากจะเรียกร้องให้พวกเรามองที่ภาพรวมมากกว่า ตะวันออกกลางเป็นแค่ภาพหนึ่งของสถานการณ์อันเลวร้ายภายใต้จักรวรรดินิยม เราต้องคัดค้านจักรวรรดินิยมทั่วโลก เราต้องคัดค้านกลไกตลาด เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวกับผลประโยชน์ในเรื่องของกลุ่มทุน เราต้องสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์ อย่ามองว่ามันไม่เกี่ยวกับคนไทย เราต้องสมานฉันท์กับชาวเลบานอน และเราต้องดูด้วยว่ารัฐไทยทำอะไรใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกัน เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเบ่งอำนาจ เราต้องสร้างกระแสใหม่ในการที่จะปลดแอกมนุษย์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์"


 


มองนอกกรอบมุสลิม รวมพลังภาคประชาชน แก้ปัญหาความขัดแย้ง


ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีข้อสรุปว่าการแก้ปัญหาในตะวันออกกลางไม่สามารถแก้ไขได้ หากยังมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมีปัจจัยมาจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและความเชื่อทางศาสนา เพราะเป็นการผลักภาระให้เป็นเรื่องของชาวมุสลิมและกลุ่มประเทศอาหรับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเกิดสงครามในตะวันออกกลางมีสาเหตุจากการกดขี่ข่มเหงของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า


 


ดังนั้น การสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาจะต้องมองข้ามกรอบความคิดที่ว่าความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน และควรจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อจะได้มองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้


 


"สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องมองประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราต้องเลือกข้าง รัฐอิสราเอลเป็นปัญหา และเป็นเครื่องมือของตะวันตก ถ้าอยากจะมีสันติภาพในตะวันออกกลาง ก็ต้องยกเลิกรัฐอิสราเอล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะจับชาวยิวไปฆ่าทิ้ง แต่ชาวยิว ชาวมุสลิม ชาวอาหรับจะต้องอยู่ด้วยกันได้ แต่ตอนนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามันมีเงื่อนไขที่บอกว่ารัฐนี้คือรัฐของชาวยิวอย่างเดียว อันนี้เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นมันจะต้องมีการยกเลิกพรมแดนปัจจุบันของอิสราเอล ยกเลิกแนวความคิดไซออนนิสม์ และจะต้องมีการจับมือกันระหว่างผู้ถูกกดขี่ในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือกรรมกรในอียิปต์ ที่ตอนนี้กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลน้ำเน่าของตัวเอง ทั้งหมดจะต้องจับมือกันเพื่อสร้างสันติภาพ"


 


"ทางออกคืออะไรในการแก้ปัญหานี้? ทางออกไม่ใช่การที่จะมีกองกำลังของตะวันตกมารักษาความปลอดภัยมาอยู่ในเลบานอน เพราะกองกำลังนี้จะเป็นกองกำลังยึดพื้นที่จากตะวันตก ไม่มีทางที่จะสร้างสันติภาพได้ หรือถ้ามีทาง พวกนี้ก็ไม่ทำอยู่ดี สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือที่ผมบอกว่าใครที่เคยตั้งความหวังกับรัฐบาลประเทศอาหรับที่อยู่รอบข้างก็คงจะผิดหวัง และใครที่คิดว่าจีนกับรัสเซียจะช่วยกันคานอำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกาก็จะผิดหวังด้วย เพราะว่าจีนกับรัสเซียก็ไม่ได้ทำอะไร อาจจะคัดค้านบ้างในรายละเอียดเล็กน้อย แต่ในเรื่องหลักๆ จะไม่ได้คัดค้านอะไร เพราะฉะนั้นทางออกมันคืออะไร ทางออกมันจะอยู่ในมือของคนธรรมดา ซึ่งเป็นทางออกระยะยาว และเป็นทางออกที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ" อาจารย์ใจกล่าว


 


แถลงการณ์ฉบับที่


 


อิสราเอลและสหรัฐต้องยุติความรุนแรงในตะวันออกกลาง


 


เรา องค์กรต่างๆ ที่รักสันติภาพและความเป็นธรรมในภาคประชาชนไทย สลดใจกับการถล่มฆ่าพลเรือนในสงครามตะวันออกกลาง ชาวเลบานอนเสียชีวิตไปกว่า 6 00 คน บาดเจ็บเป็นพัน และต้องลี้ภัยอีกหนึ่งล้านคนเนื่องจากการทำสงครามของอิสราเอล ในหมู่ผู้เสียชีวิตคาดว่าหนึ่งในสามเป็นเด็ก ชาวบ้านในหมู่บ้าน Qana กว่า 52 คน รวมเด็กเล็กเด็กน้อยบริสุทธิ์เกือบ 40 ชีวิต ต้องล้มตายจากการกระทำของกองทัพอิสราเอล แต่ทุกวันนี้ ท่ามกลางวิกฤตสงครามปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐที่หนุนหลังอิสราเอลมาตลอดและส่งอาวุธและเงินทองเพื่อสนับสนุนการทำสงครามของอิสราเอล ก็ไม่สนใจที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริงในตะวันออกกลางแต่อย่างใด มีการคัดค้านการขอร้องอ้อนวอนให้หยุดยิงอย่างถาวร และทูตสหรัฐในสหประชาชาติมองว่าสงครามนี้เป็นโอกาสทองที่จะขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐในภูมิภาคอีกด้วย


 


เรายืนเคียงข้างผู้รักสันติภาพทั่วโลกในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างถาวรและทันที และเราเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของชาวเลบานอนและชาวปาเลสไตน์ ปัญหาเรื้อรังในตะวันออกกลางต้องแก้ไขด้วยวิธีทางการเมืองที่ประกันคุณภาพชีวิตและสันติภาพสำหรับทุกฝ่าย และที่สำคัญการแก้ไขปัญหาไม่มีวันสำเร็จถ้าอาศัยการแทรกแซงทางทหารของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือประชาคมยุโรป


 


เราเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาชนทุกองค์กรในประเทศไทยสนับสนุนการยุติสงครามในตะวันออกกลางอย่างเร่งด่วน ที่แล้วมารัฐบาลไทยส่งทหารไปสนับสนุนสงครามของสหรัฐในอิรัก และสนับสนุนการส่งคนงานไทยไปทำงานในอิสราเอล เราเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยยุติการร่วมมือทางทหารกับสหรัฐในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการฝึกทหาร Cobra Gold และยุติการสนับสนุนการใช้อำนาจทางทหารของสหรัฐและพันธมิตรของเขาทั่วโลก


 


 


พรรคแนวร่วมภาคประชาชนและน.ส.พ.เลี้ยวซ้าย


เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพใน 3 จังหวักภาคใต้


สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย


สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย


เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ


สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเซีย( Forum Asia)


ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง


กลุ่มเสียสละเพื่อส่วนรวม


มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ


ศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม



 


เราขอเชิญองค์กรภาคประชาชนไทยองค์กรอืนๆ ที่ยังไม่ประกาศจุดยืน


มาร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย


โปรดส่งรายชื่อองค์กรของท่านมาที่เวปไซท์ประชาไท หรือส่งมาที่ thaisocialforum@gmail.com




--
ใจ อึ๊งภากรณ์
กองเลขาฯ สมัชชาสังคมไทย
013469481
www.prachatai.com/wsf/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net