Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 28 ก.ค. 2549 เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เวลา 11.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสภาทนายความ จัดการแถลงข่าว เรื่อง "ถอดบทเรียน 18 เดือน หลังสึนามิ" ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นับแต่เกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย สึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม 2547 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาผลกระทบจากกรณีพิบัติภัยสึนามิต่อรัฐบาล เป็นหนังสือลงวันที่ 6 มกราคม 2548 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 และวันที่ 4 มีนาคม 2548 ซึ่งบัดนี้เหตุการณ์สึนามิได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา 18 เดือนเศษแล้ว แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งสภาพปัญหาที่ประชาชนประสบยังเหมือนกับประชาชนโดนสึนามิครั้งที่สอง


 


โดยจากการรวบรวมข้อมูลเห็นว่า มีปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สมควรได้รับการแก้ไขโดยภาครัฐ ได้แก่ ปัญหาที่ดิน และบ้านพักอาศัย


 


โดยสำหรับปัญหาที่ดิน พบว่า ที่ดินบริเวณบ้านแหลมป้อม ที่ดินบ้านทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า และที่ดินบ้านในไร่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทั้งสามพื้นที่เป็นที่ดินของรัฐและรัฐสามารถเพิกถอนหรือแสดงความเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพราะจะส่งผลให้ที่ดินทั้งสามพื้นที่ดังกล่าว ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิแก่เอกชนโดยมิชอบ นอกจากนี้ บรรดาผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินปัจจุบันได้มีการดำเนินคดีกับประชาชนนับร้อยคดี ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ โดยประกาศยืนยันความเป็นที่ดินของรัฐเพื่อให้คดียุติโดยเร็ว


 


นอกจากนี้ ขอให้รัฐเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชน ในการอยู่อาศัยถาวร โดยไม่ต้องเรียกค่าตอบแทน ในบริเวณดังกล่าวข้างต้น รวมถึงที่ดินริมทะเล เขตป่าชายเลน ที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น


 



ด้านปัญหาที่พักอาศัย พบว่า บ้านพักถาวรบางส่วน ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เนื่องจากหน่วยงานรัฐคิดว่า บริเวณริมทะเลไม่ปลอดภัยสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและชาวเล โดยสร้างบ้านพักอยู่ห่างจากชายทะเลหลายกิโลเมตร ทำให้ชาวประมงและชาวเล ต้องมาทำเพิงเองหรือนอนในเรือ เพื่อเฝ้าเรือและอุปกรณ์การประมง เพราะเกรงจะถูกขโมย


 


ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ไม่รับบ้านพักถาวรและไปสร้างบ้านเอง จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาบ้านพักถาวร ทำให้ไม่พอที่จะสร้างบ้านอยู่ได้ ดังนั้น รัฐจึงควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณเดิมโดยการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเท่ากับราคาบ้านพักถาวร


 


สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีเอกชนฟ้องร้องชาวบ้าน รัฐสามารถนำรายงานตัวอย่างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาอ้างอิงได้ โดยรัฐสามารถจัดการได้ทันทีเพราะเป็นที่ดินของรัฐเอง ชาวบ้านก็ยอมรับว่า ไม่ได้ต้องการเอกสารสิทธิส่วนตัว แต่ขอเป็นกรรมสิทธิ์ชุมชนก็ได้ นอกจากนี้ ได้เสนอว่า สัญญาเช่าที่ดินของรัฐซึ่งกำหนดไว้ 3-5 ปี ควรเพิ่มระยะเวลาเป็น 30-50 ปี หรืออนุโลมให้อยู่ได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า รัฐก็ไม่ได้ทำอะไรเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net