Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 ก.ค. 49     เมื่อวันที่ 26 ก.ค.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนานำเสนอรายงานการวิจัยเรื่องการได้รับสิทธิในบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ และผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับเด็ก


 


สุภร ปรีชาอนันต์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน 8 ผู้ทำการวิจัยเรื่องการได้รับสิทธิในบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ กล่าวว่า ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จากกลุ่มผู้ให้บริการการศึกษาและกลุ่มผู้รับบริการการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2548


 


ทั้งนี้ หลังรัฐธรรมนูญดังกล่าวประกาศใช้ ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาใน พ.ศ. 2542 จากนั้นจากนั้นตามมาด้วยการปรับหลักสูตรและระบบต่างๆและเริ่มดำเนินการตามใน พ.ศ. 2544 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงรอเวลาให้มีการดำเนินการใช้จนครบทุกชั้นเรียน รวมทั้งได้ติดตามและเก็บข้อมูลตัวอย่างมาตลอดใน 35 เขตการศึกษา จาก 175 เขตการศึกษาทั่วประเทศ


 


โดยมีโจทย์ของของการศึกษาคือรัฐได้จัดการศึกษาได้ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 43 กำหนดหรือไม่ มาตรา 43 คือ รัฐต้องจัดการให้ศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและไม่เก็บค่าใช้ จ่าย ทั้งนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันคือ 12 ปี


 


จากการศึกษา พบว่า ยังมีการกระจุกตัวของนักเรียนในโรงเรียนที่ให้การศึกษาเนื่องจากผู้ปกครองยังนิยมส่งลูกเข้าในโรงเรียนดังๆ ทำให้การศึกษาในระดับมัธยมต้นไม่สามารถเป็นไปตามสโลแกนอยากเรียนต้องได้เรียน การใช้สิทธิพิเศษเช่นการฝากกับอาจารย์ในโรงเรียนที่รู้จักเข้าไปเรียนจึงยังมีอยู่


 


นอกจากนี้ ข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนบอกตรงกันว่า งบประมาณที่ได้รับจากรัฐไม่เพียงพอ เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินเดือนสำหรับครูและผู้บริหาร เมื่องบประมาณไม่พอจึงมีการระดมทรัพยากรที่สามารถทำได้ตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาระบุไว้ แต่ไม่แน่ใจว่าสถานศึกษาตีความคำว่า "ทรัพยากร"ถูกหรือไม่ ทำให้ระดมเงินจากผู้ปกครองมาช่วยรับภาระการใช้จ่ายในโรงเรียนเช่น ค่าอุปการณ์ ค่าห้องคอมพิวเตอร์ ค่าสระว่ายน้ำ เป็นต้น ผู้ปกครองจึงพูดตรงกันว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อการนี้แม้ไม่เสียค่าเล่าเรียนก็ตาม ในบางแห่งต้องเสียแม้แต่ค่าทำความสะอาดห้องน้ำ


 


การศึกษาพบอีกว่า ผู้ปกครองยังไม่มีส่วนร่วมในการศึกษา อีกทั้งการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือสวนป่าธรรมชาติของชุมชนยังไม่ได้ใช้ให้เด็กเรียนรู้มากนัก


 


สุภร ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิฯจะเก็บรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ฐานข้อมูลแข็งพอจะเป็นข้อเสนอแนะรัฐบาลเพื่อให้เป็นตามแนวทางที่ควรทำให้เป็นจริงตาม มาตรา 43


 


ส่วน แสงวรรณ มณีวรรณ ผู้ทำรายงานการศึกษาสำรวจค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับเด็กกล่าวว่า รวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายของเด็ก จากผู้ปกครอง 899 คน โรงเรียน 83 โรงเรียน ใน 17 จังหวัด ทั้ง 4 ภาคในประเทศ พบว่า การศึกษายังต้องมีค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้ไปถึงเด็กจริงเพียง 10เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น


 


โดยผู้ปกครองยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 21 รายการ ต้องจัดการให้ได้แก่ ค่าวัสดุการศึกษา ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ ค่าซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง ค่าขนส่งอุปกรณ์การเรียน ค่านักเรียนไปแหล่งความรู้ ค่าตอบแทนวิทยากรอาชีพ ค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักพาหนะ ค่าวัสดุสำนักงานของโรงเรียน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหล่อลื่น ค่าเวชภัณฑ์หรือยา ค่าวารสาร หนังสือ ตำราเรียน ค่าวารสาร ตำรา ห้องสมุด ค่าวัสดุคอมพิวเตอร์ ค่าทักษะวิชาชีพสอดคล้องกับท้องถิ่น ค่าวัสดุการกีฬา ค่าใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬา การสอนตามหลักสูตร ค่ารักษาพยาบาล ค่าสาธารณูปโภค เครื่องเขียน รายการอื่นตามแผนพัฒนาคุณภาพ


 


ทั้งนี้ จาก 21 รายการดังกล่าวคิดเป็นอัตราการจัดสรรงบประมาณต่อหัวในระดับม.ต้น 1,100 ต่อหัวต่อปี และในระดับปลาย 1,800 บาทต่อหัวต่อปี แต่การที่เด็กได้รับงบประมาณมาถึงจริงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ทำให้ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระ 21 รายการนี้ต่อไป


 


จากจากข้อมูลค่าใช้จ่าย พ.ศ. 2547-48 ค่าใช้จ่ายที่นักเรียนระดับ ป. 4-6 พบว่า สิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายในการศึกษาของลูกคือ ค่าเครื่องแต่งกาย หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าอาหาร ค่าพาหนะ และอื่นๆ เป็นเงินประมาณ 7,131 บาทต่อคนต่อปี ส่วนในระดับ ม.1-3 จะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มขึ้นอีก เช่น ค่าสมุดตราโรงเรียน กระเป๋าตราโรงเรียน ชุดพละ ค่าอินเตอร์เน็ต การจัดการให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายแบบนี้ทำให้ ผู้บริหารโรงเรียนเหมือนเป็นนายหน้าซื้อของซึ่งรวมแล้วประมาณ 18,000 บาทต่อคนต่อปี ในความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านี้


 


นอกจากนี้ หากเป็นการศึกษาที่ต้องมีการประเมินผล เช่น โรงเรียนหนึ่งอำเภอในฝันจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก เป็นต้นว่าค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ ค่าการพัฒนาระบบไอซีที เป็นต้น


 


ดังนั้น การที่รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นจริงได้ทำให้เกิดการสูญเสีย คือ ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้น นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันโดยเฉพาะในช่วง ม.2-3 เพื่อไปทำงานจนขาดโอกาสในการศึกษา อีกทั้งในบางพื้นที่มีปัญหาถูกเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งครูจะไม่สนและถูกล้อ หากเป็นเด็กไร้สัญชาติแล้วจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกู้หนี้นอกระบบ ด้วย


 


สิ่งที่ตามมาคือปัญหาคุณภาพการศึกษา ขณะนี้เด็กมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง และยาเสพติดที่กลับมาโดยรุ่นพี่ที่เคยเรียนในโรงเรียน การค้นพบนี้จะสรุปและยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิฯ และคิดว่าหลายหน่วยงานคงต้องรับทราบสถานการณ์ตรงนี้


 


"ปัจจุบันในภาคกลางโรงเรียนมีการหาเงินใหม่คือโต๊ะจีน ส่วนภาคเหนือก็จัดขันโตก ให้เด็กขายบัตรและต้องหามาให้ได้ สรุปว่าการศึกษาของรัฐไม่ฟรีจริง"


 


วิชัย จันตา ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าการศึกษาฟรีหรือไม่นั้นไม่เข้าใจ แต่ประสบการณ์ที่แม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นชุมชนดอยพบว่า การสอนของครูเป็นลักษณะระฆังดังให้มาก็มา ระฆังดังให้กลับก็กลับ หนึ่งสัปดาห์สอนเพียง 3 วัน ที่เหลือเป็นให้เล่นกีฬาทั้งที่ไม่เคยเห็นว่านักเรียนได้ไปแข่งขันระดับประเทศเลย


 


"ผมเป็นชนเผ่าลั๊วะ โรงเรียนสอนแต่ความรู้กระแสหลักที่เป็นของคนเมือง แต่ไม่สอนให้ชุมชนรักตัวเอง รักวัฒนธรรมตัวเอง หลายคนไปเรียนในเมืองกลับมาทำงานบ้านไม่ได้ ยอมรับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ หรือติดยาเสพติด การเรียนการสอนในปัจจุบันสอนให้คนเป็นคนดีที่รักวัฒนธรรมตัวเองไม่ได้"


 


นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การให้ทุนการศึกษาในพื้นที่บนดอยมีกระบวนการหลายอย่างจนทำให้เกิดปัญหา ประสบการณ์ที่พบคือรัฐเคยประกาศว่าน้องสาวได้รับทุน แต่ไม่ทราบว่าดำเนินการกันอย่างไร น้องสาวจึงไม่ได้ทุนในการศึกษานี้ ยอมรับว่าครอบครัวเสียหน้าตรงนี้ด้วย


 


ผู้มาร่วมประชุมอีกคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำตาคลอต่อที่สัมมนาว่า ลูกไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะซื้อเสื้อพละราคา 80 บาทไม่ได้ ครูบอกว่าซื้อไม่ได้ก็ไม่ต้องไปโรงเรียน จนตอนนี้ลูกก็ไม่ได้ไปโรงเรียน


 


"ทำไมครูไม่รับฟังปัญหาของเด็กและครอบครัวบ้าง สำหรับครูมันอาจแค่เศษเงิน แต่สำหรับหนูคือเงินทั้งสัปดาห์ และว่าหนูเสียๆหายๆเหมือนไม่ใช่คน จนบอกลูกว่าไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว" เธอกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net