บทความ: กกต. ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกคุมขังโดยหมายศาลหรือไม่

วัส ติงสมิตร

 

หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อก่อนเที่ยงวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ว่า 3 กกต.มีความผิดฐานจัดการเลือกตั้งโดยประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์และผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นได้รับความเสียหายตามกฎหมายว่าด้วย กกต. จำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิกเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้มีปัญหาสำคัญข้อหนึ่งตามมาว่า 3 กกต. ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร พ้นจากตำแหน่ง กกต. แล้วหรือไม่ แม้นักกฎหมายส่วนใหญ่จะเห็นว่า บุคคลทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง กกต.แล้วก็ตาม ก็ยังคงมีนักกฎหมายอีกส่วนหนึ่งสงสัยว่าจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจริงหรือ

 

ความจริงก็น่าเห็นใจคนที่มีข้อกังขาเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะกฎหมายเขียนเหตุที่ กกต. จะต้องพ้นจากตำแหน่งไว้ในลักษณะโยงไปใช้ลักษณะต้องห้ามของการเป็น กกต. ไว้หลายทอดหลายชั้น โดยนำลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มาใช้กับลักษณะต้องห้ามของการเป็น กกต. ด้วย บางเรื่องพอที่จะนำมาใช้ได้บ้าง ในขณะที่บางเรื่องมีปัญหาในการนำมาใช้อยู่ไม่ใช่น้อย

 

ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย กกต. จะพ้นจากตำแหน่งได้หลายกรณี เช่น พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตายหรือลาออก การพ้นจากตำแหน่ง กกต. ที่เป็นปัญหาการตีความมากที่สุดกรณีหนึ่งคือกรณี 3 กกต. ถูกจำคุกและคุมขัง ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ 3 แห่งด้วยกัน คือ

 

(1)ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

(2)ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือ

 

(3)ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

 

กรณีที่ 1 การต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายห้ามผู้ถูกคุมขังขอออกจากที่คุมขังโดยอ้างเหตุเพื่อขอไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จึงกำหนดลักษณะต้องห้ามในกรณีนี้ไว้เฉพาะในวันเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อนำลักษณะต้องห้ามในข้อนี้ไปใช้กับลักษณะต้องห้ามที่จะทำให้ กกต. พ้นจากตำแหน่ง จึงมีปัญหาในการตีความว่า หากนำลักษณะต้องห้ามตามข้อนี้ไปใช้เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น จะไม่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของ กกต. ซึ่งต้องทำทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง

 

กรณีของ 3 กกต. แม้จะถูกคุมขังโดยหมายของศาลอาญา แต่ขณะนี้ไม่ใช่วันเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การคุมขังในวันเลือกตั้ง ดังนั้น ความเห็นของผู้ที่เห็นว่า 3 กกต. พ้นจากตำแหน่งตามข้อนี้ (รัฐธรรมนูญมาตรา 106(3)) จึงน่าจะยังคาดเคลื่อนอยู่

 

กรณีที่ 2 การต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้จะไปใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนกรณีคุมขังผู้จะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งบัญญัติเฉพาะการคุมขังในวันเลือกตั้ง แต่ตามเนื้อหาของกรณีคุมขังผู้จะไปใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง น่าจะมีช่วงเวลามากกว่า 1 วันในการดำเนินการสมัครรับเลือกตั้ง เช่น หากมีวันสมัครรับเลือกตั้ง 5 วัน บุคคลใดถูกคุมขังตามข้อนี้เพียง 3 วันแรก บุคคลนั้นจะถูกห้ามสมัครรับเลือกตั้งเพียง 3 วันแรกเท่านั้น ไม่ห้ามบุคคลนั้นไปสมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครอีก 2 วันที่ยังเหลืออยู่

 

กรณีของ 3 กกต. เข้าข่ายต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลแล้ว เพราะศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 กกต. คนละ 4 ปี และออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา (หมายเหลือง) ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 แล้ว เนื่องจากศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว 3 กกต. ออกมาในระหว่างอุทธรณ์ คงมีปัญหาว่า หากคุมขังวันเดียว วันรุ่งขึ้นประกันตัว 3 กกต. ออกมาได้ กกต. จะพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่ นักกฎหมายบางคนเห็นว่า การคุมขังอันจะเป็นเหตุให้ กกต. พ้นจากตำแหน่งในข้อนี้จะต้องสิ้นสุดกระบวนการขอประกันตัวแล้ว กรณีของ 3 กกต. การขอประกันตัวยังไม่สิ้นสุด เพราะ กกต. สามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ความเห็นของนักกฎหมายฝ่ายนี้มีข้อโต้แย้งอยู่มาก เพราะไม่สอดคล้องกับเนื้อความของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 109 (4)) และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายในการขอประกันตัวซึ่งอนุญาตให้ขอประกันตัวได้อีก แม้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแล้วก็ตาม กระบวนการขอประกันตัวจึงสามารถขอได้ตลอดเวลา ไม่มีวันสิ้นสุด

 

ผู้เขียนเห็นว่าแม้ กกต. จะถูกคุมขังตามข้อนี้เพียงวันเดียว กกต.ก็พ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของ กกต. ไว้สูงมาก (คือมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์)

 

กรณีที่ 3 การได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นลักษณะต้องห้ามที่มีความชัดเจน และสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของ กกต. มากที่สุด กรณีของ 3 กกต. ไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามข้อนี้ (รัฐธรรมนูญมาตรา 141(4)) เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด

 

ส่วนปัญหาอีกข้อหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ 3 กกต.นั้น มีนักกฎหมายฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแม้คดีจะไม่ถึงที่สุดก็เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามข้อนี้แล้ว(รัฐธรรมนูญมาตรา 106(4)) ในขณะที่นักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คดีจะต้องถึงที่สุดก่อนจึงจะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามข้อนี้ โดยมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาตรา 27 สนับสนุน ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นฝ่ายหลัง เมื่อกรณี 3 กกต. คดียังไม่ถึงที่สุด 3 กกต. จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งตามข้อนี้

 

สรุป ผู้เขียนเห็นว่า 3 กกต. พ้นจากตำแหน่ง กกต. เพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นมาแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท