เสวนา: เรามีมุมมองต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างอุดมคติ ซึ่งการมองเช่นนั้นคือ มายาคติ

 

 

นักวิชาการเหนือ ชี้ ชุมชนกำลังเผชิญหน้ากับความจริงของอำนาจรัฐ และเศรษฐกิจแบบตลาด อีกทั้งยังเป็น "การเมืองของการอนุรักษ์ธรรมชาติ" คือการกีดกันชาวบ้านออกจากทรัพยากร และย้ำว่าการจะเข้าใจพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ต้องไม่ละเลยการศึกษาลุ่มแม่น้ำสาละวินด้วย

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดการสัมมนา "สังคมศาสตร์กับการพัฒนาในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน : เหลียวหลังแลหน้า" ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยช่วงท้ายของสัมมนา ได้มีการอภิปรายสรุปและเปิดประเด็นโดย ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์กาญจนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อาจารย์ ดร.ชยันตวรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีมุมมองต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างอุดมคติ ซึ่งการมองเช่นนั้นคือ มายาคติ เพราะถ้าลงไปพื้นที่จริงๆ จะพบว่า หลายชุมชนกำลังเผชิญหน้ากับความจริงของอำนาจรัฐ และเศรษฐกิจแบบตลาด

 

ศ.ดร.อานันท์ ได้ยกกรณีศึกษาชุมชนชาวหยี ในมณฑลยูนนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ถูกรัฐห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยอ้างเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และถูกบีบจากรัฐบาลให้ปลูกชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ เพราะทำให้ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ข้าวไม่พอกิน และเมื่อปลูกชาก็ไม่สามารถส่งไปขายที่ไหนได้ เพราะอยู่ห่างไกลจากโรงงาน แม้จะต่างด้วยล่อก็ใช้เวลาหลายวัน กว่าจะถึงโรงงาน ชาก็ราคาตกเสียก่อน ซึ่งกรณีนี้สามารถเปรียบเทียบกับชุมชนชาวเขาในประเทศไทยที่ประสบชะตากรรมเดียวกันได้เป็นอย่างดี

 

"ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "การเมืองของการอนุรักษ์ธรรมชาติ" ที่รัฐมักจะอ้างการอนุรักษ์ธรรมชาติ และรัฐมักคิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้าม เป็นการสร้างมายาคติของความรู้และอำนาจ สร้างพรมแดนขึ้นมาจำแนกความเป็นอื่น เช่น "ชาวเรา-ชาวเขา", ศูนย์กลาง-ชายขอบ, "ก้าวหน้า-ล้าหลัง" ทั้งนี้เพื่อเข้าไปจัดการทรัพยากร และการควบคุมคนเพื่อยึดโยงให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องลงหลักปักฐาน ผนวกให้เขาเข้าอยู่ในระบบตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในตอนท้ายของการเสวนา ศ.ดร.อานันท์ จึงได้สรุปไว้ว่า "ความหลากหลายทางชีวภาพจะไร้ความงดงาม หากไร้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย"

 

ด้าน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าจะให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราต้องให้พื้นที่กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ชาวปกากะญอ หรือ ชาวกะเหรี่ยง ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน มีภาพลักษณ์ของการอนุรักษ์ อันเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งที่เขาควรมีสิทธิอยู่ร่วมกับป่า ทำให้เราตอบคำถามเรื่อง เหตุใดจึงควรมี "ป่าชุมชน" กับกรมป่าไม้ได้ดี

 

ดร.ชยันต์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ วัฒนธรรมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถูกทำให้กลายเป็นสินค้า อย่างเช่น กรณีของเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายเพื่ออนุรักษ์สภาพเมือง แต่ทำให้คนหลวงพระบางซ่อมแซมบ้านตัวเองไม่ได้ พวกเขาจึงปรับตัวด้วยการให้ชาวต่างประเทศเช่าบ้านของตนอาศัยในหลวงพระบาง แล้วเอาเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากค่าเช่าไปซื้อที่อยู่อาศัยใหม่นอกหลวงพระบาง โครงการเมืองมรดกโลก (เป็นนโยบายของ UNESCO) เป็นนโยบายอนุรักษ์ที่ดูมีเจตนาดี แต่ทำให้คนจนถูกเบียดขับออกจากเมือง เพราะค่าครองชีพ และที่อยู่อาศัยมีราคาแพง บ้านช่องถูกปรับเป็นเกสต์เฮาส์ วิถีชีวิตถูกขายเป็นสินค้า

 

"นอกจากนี้ ในลุ่มแม่น้ำโขง ยังมีประเด็นการเมืองของประเทศต้นน้ำ (Upstream State) กับ ประเทศท้ายน้ำ (Down Stream State) ซึ่งประเทศต้นน้ำมักมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเหนือกว่า เช่น กรณีการสร้างเขื่อนของจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำ หรือกรณีการลงทุนของนักธุรกิจเวียดนามสร้างกระชังเลี้ยงปลาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ก็ทำให้ชาวประมงดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวจามจับปลาไม่ได้ เพราะสารเคมีจากการเลี้ยงปลาในกระชัง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปลาท้องถิ่นลดจำนวน ชาวประมงดั้งเดิมไม่สามารถจับปลาได้ ต้องอพยพจากเวียดนามตอนใต้ไปอยู่เขมร หรือกรณีชาวเขมรต้องอพยพจากท้องที่ๆ ยากจน มาเป็นแรงงานในโรงงานทอผ้าในเมืองใหญ่ของเขมร หรือข้ามเข้ามาทำประมงที่จังหวัดตราด ซึ่งที่เป็นที่น่าเศร้า เพราะมักจบชีวิตในไทยโดยที่ถ้าไม่จมน้ำตายเพราะว่ายน้ำทะเลไม่เป็นก็เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ และไม่มีการบันทึกใดๆ ด้วยพวกว่าเขาเป็นใครมาจากไหน นี่จึงเป็นการอพยพที่เกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากระบบตลาด และการลงทุน"

 

ดร.ชยันต์ กล่าวด้วยว่า หากเราต้องการจะเข้าใจดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงนี้ จะต้องเข้าใจพื้นที่ของแม่น้ำสาละวินด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไม่เห็นภาพอย่างรอบด้าน อย่างเช่น กรณีของการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เซ็นสัญญาเพื่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งหากเขื่อนเกิดขึ้นชาวปกากะญอที่สบเมยซึ่งอยู่กับแม่น้ำมีอาชีพจับปลา และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนทั้งที่อยู่มานานแล้ว ทั้งนี้ยังไม่นับคนในฝั่งพม่าที่มีคนไร้รัฐจำนวนมาก ซึ่งคนทั้งหมดนี้ย่อมได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท