Skip to main content
sharethis

จากคอลัมน์ "หวันตั้งดาน" โดยประสาท มีแต้ม


 


 


ตลอดชีวิตการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยของผม ผมได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงในวิชาพฤติกรรมศาสตร์เท่านั้น สำหรับเนื้อหาที่เรียนนั้น ผมจำไม่ได้แล้วว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง จำได้แต่ว่าอาจารย์ที่สอนผมเป็นอาจารย์พิเศษที่จบปริญญาเอกทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนแรกของประเทศไทย


 


ไม่ทราบว่าผมคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า คือผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงเป็นคล้ายๆ กับผม คือมักจะจำในสิ่งที่ประทับใจ (ในที่นี้คือบางสิ่งบางอย่างในตัวอาจารย์) มากกว่าหัวใจสำคัญของเนื้อหาที่อาจารย์สอน


 


เหตุผลที่ผมเขียนเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ผมไม่มีความรู้เอาเลย ก็เพราะความขี้สงสัยของผมเอง ดังนั้น ถ้าผมถามอะไรไม่เข้าท่า ก็ขอความกรุณาจากท่านผู้อ่านกรุณาชี้แนะและเมตตาผมด้วยครับ


 


โจทย์ของผมไม่ซับซ้อน แต่อาจจะยาวสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ คือ ในการแข่งขันกีฬา เช่น ฟุตบอล เมื่อกรรมการผู้ตัดสินเห็นว่านักกีฬาคนใดเล่นผิดกติกาก็สามารถ "เป่านกหวีด" ตัดสินลงโทษผู้นั้นได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ใครมาฟ้อง


 


ขอเน้นคำว่า โดยไม่ต้องรอให้ใครมาฟ้อง


 


จริงอยู่ แม้บางครั้งคำตัดสินของกรรมการก็ค้านแย้งกับความเป็นจริง แต่ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีเอาเสียเลย ใช่ไหมครับ!


 


แต่ในกระบวนการยุติธรรม หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยมีคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ จากนั้นก็เป็นไปตามกระบวนการที่เราทราบกันดี คือผ่านตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ และสิ้นสุดที่ศาล


 


ผมไม่ได้สงสัยในกระบวนการนับตั้งแต่เอาตำรวจมาจับ เอาตำรวจมาสอบสวน เรื่อยไปจนถึงศาลยุติธรรม


แต่สงสัยว่า ทำไมจึงต้องรอให้มีคนมาฟ้อง


 


ในบางคดี คนทั้งประเทศก็รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้พิพากษา ตุลาการซึ่งเป็นผู้ที่รู้ทั้งข้อกฎหมายและความผิดชอบชั่วดีอย่างลึกซึ้งในเหตุการณ์นั้นๆอย่างดี แต่ทำไมท่านจึงนั่งอยู่เฉยๆ ต้องรอให้คนมาฟ้องเสียก่อนแล้วค่อยลุกขึ้นมา "พิทักษ์ความเป็นธรรม" ทั้งๆ ที่ความไม่เป็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว


 


ผมขอยกตัวอย่างสัก 2-3 ตัวอย่างเพื่อให้ข้อสงสัยของผมชัดเจนขึ้น


 


ตัวอย่างแรก กรณีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะเกี่ยวข้องกับผลได้เสียของคนทั้งประเทศ คนจำนวนมาก นักวิชาการ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างก็ทราบกันดีว่า กรณีนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม


 


แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งขบวนก็ไม่ทำอะไรเลย จนกว่าได้มีคนมาฟ้อง แล้วศาลปกครองก็ตัดสินว่า รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ชอบในเหตุผล


 


ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ทำไมท่านไม่ลุกขึ้นมา "เป่านกหวีด" ลงโทษผู้กระทำผิดเสียเลยละครับ จะรออะไรอยู่


นี่ดีนะที่มีคนรู้กฎหมายอยู่บ้าง จึงลุกขึ้นมาฟ้อง ถ้าเขาไม่เห็นประเด็นบางแง่มุมของกฎหมายและไม่ฟ้องละ ประเทศชาติก็เสียหายไปแล้วนะสิ


 


ตัวอย่างที่ 2 กรณีคณะกรรมการเลือกตั้ง (-กกต.ชุดที่เพิ่งถูกศาลอาญาลงโทษไปหยกๆ) ได้ลงมติขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ปปช.) แต่ ปปช. ถูกลงโทษโดยศาลเพราะมีคนมาฟ้อง ในขณะที่ กกต. ไม่โดนลงโทษ เพราะไม่มีใครมาฟ้อง (ถ้าข้อมูลผมผิดพลาดก็ต้องขออภัย)


 


นี้ถ้าศาลลุกขึ้นมา "เป่านกหวีด" ในทันทีเหมือนผู้ตัดสินฟุตบอล บ้านเมืองเราก็คงไม่เสียหายถึงขนาดนี้


 


ตัวอย่างที่ 3 กรณี เป็นเรื่องของ กกต. ชุดนี้แหละครับ ความจริงแล้ว กกต. ชุดนี้มี 4 คน ตอนแรกก็ถูกฟ้องทั้ง 4 คน แต่เมื่อคนหนึ่งได้ชิงลาออกไปเสียก่อน โจทย์ก็ขอถอนฟ้อง คงเหลือผู้ถูกฟ้องเพียง 3 คน แล้วศาลก็ตัดสินลงโทษไปเพียง 3 คน


 


คำถามซื่อๆ ของผมก็คือว่า แล้วคนที่ลาออกไปแล้วทั้งๆ ที่ได้ประกอบความผิดเสร็จสิ้นแล้ว ทำไมไม่ถูกลงโทษ ที่ไม่ถูกลงโทษเพียงเพราะไม่มีใครฟ้องเท่านั้นหรือ?


 


แม้ กกต. คนที่ 4 (ผมไม่อยากเอ่ยชื่อเพราะไม่จำเป็น) ได้ชิงลาออกไปด้วยความสำนึกบางอย่าง แต่ก็ควรจะได้รับโทษบ้างในระดับที่หนักเบาต่างกัน


 


ถ้าทุกอย่างจบลงเพียงแค่นี้ คือปล่อยให้คนผิดลอยนวลแล้วสังคมจะพัฒนาไปได้อย่างไร


 


ผมเคยมีโอกาสถามอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ 2 ท่าน ว่า ทำไมต้องรอให้มาฟ้องก่อน


 


ทั้งสองท่านก็ตอบเหมือนกัน โดยอ้างถึงระบบแต่ละระบบของแต่ละประเทศ ผมเองก็ฟังท่านไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ใช่เพราะ "น้ำชาล้นถ้วย" แต่เพราะอย่างที่เรียนตั้งแต่ต้นว่า ผมไม่มีความรู้เลย


 


ผมถามต่อเพื่อให้ผมชัดเจนขึ้นว่า "มีประเทศใดบ้างที่อนุญาตให้ศาลตัดสินได้โดยไม่ต้องมีคนมาฟ้อง"


อาจารย์ทั้งสองท่านก็บอกว่าไม่มี


 


ผมถามถึงศาลไคฟงที่มีท่านเปาบุ้นจิ้นเป็นผู้พิพากษา หลังจากย้อนนึกไปสักพักทุกคนรวมทั้งผมเองก็บอกว่า ต้องมีคนมาฟ้องร้องเหมือนกัน


 


อาจารย์สอนกฎหมายอีกท่านหนึ่งกล่าวเสริมว่า "ถ้าเราปล่อยให้มีระบบตัดสินโดยไม่ต้องฟ้อง ถ้าเกิดไปเจอผู้พิพากษาที่ไม่ดีก็จะกลั่นแกล้งชาวบ้านได้" ผมไม่ยอมลดละ จึงแย้งต่อไปว่า ก็ต้องสร้างระบบมาตรวจสอบซิครับ


 


น่าเสียดายที่การสนทนาของผมกับอาจารย์สอนกฎหมายต้องมาหยุดลงที่ถึงเวลาขึ้นเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม ผมยังสงสัยอยู่เหมือนเดิม ต้องขอความกรุณาจากทุกท่านช่วยกันแสดงความคิดเห็น พร้อมเหตุผล


ไหนๆ ก็มีการกล่าวถึง "ตุลาการภิวัฒน์" กันมากในขณะนี้


 


ลองคำถามโง่ของผมไปพิจารณาดูบ้างครับ ผมจะขอบพระคุณมากครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net