Skip to main content
sharethis

บทบรรณาธิการเวบไซต์เอฟทีเอวอทช์ 9 มิถุนายน 2549


 



 


สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาเอฟทีเอรอบแรกระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตันดีซี  จากนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2549  สหรัฐฯคาดหวังว่าจะเจรจากับเกาหลีใต้ให้เสร็จ  เพื่อที่จะให้ทันกับการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก่อนที่กฎหมาย Fast Track จะหมดอายุ  นั่นหมายถึงการเจรจาโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี…ช่างเป็นความพยายามที่ทะเยอทะยานยิ่ง


 


เกาหลีใต้พัฒนาตนเองขึ้นไปเทียบชั้นกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษ  สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาได้และส่งออกไปยังประเทศอื่น  เราคงหวังที่จะเห็นเกาหลีใต้เจรจาต่อรองกับสหรัฐฯโดยไม่ต้องห่วงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากนัก  แต่ในความเป็นจริง  ชาวเกาหลีใต้หลากหลายภาคส่วนกำลังประท้วงการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ไม่ต่างจากที่เราคนไทยประท้วงการเจรจาเอฟทีเอซึ่งทั้งมองไม่เห็นหัวคนไทยและไม่สนใจผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเม็ดเงิน   


 


ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  นอกจากเราจะเห็นภาพตามปกติของดารานักแสดงและประชาชนที่มาร่วมงานแสดงความดีใจตื่นเต้นที่จะได้ชมหนังทุกรสชาติจากทั่วโลกแล้ว  ภาพของนักแสดงชาวเกาหลี  ผู้กำกับหนัง และชาวฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่งกำลังยืนถือป้ายหน้าโรงภาพยนตร์หลักของงาน 3 คืนติดต่อกันเพื่อประท้วงการลดโควต้าการฉายหนังเกาหลีให้เหลือครึ่งหนึ่งภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ     


 


ธุรกิจอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวู้ดจากสหรัฐฯได้พยายามล็อบบี้มากว่า 10 ปีเพื่อให้เกาหลีใต้ลดกฎระเบียบโควต้าการฉายหนังเกาหลีในโรงภาพยนตร์ลงจาก 146 วันต่อปี  และมาสำเร็จผลเมื่อมีการเจรจาเอฟทีเอโดยเป็นหนึ่งในสี่เงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างรัฐบาลทั้งสอง "ก่อน" ที่จะมีการเจรจา  หลายคนเชื่อว่าระบบโควต้าหนังที่มีอยู่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ฟื้นขึ้นมามีศักยภาพอีกครั้งและแข่งขันกับหนังจากฮอลลีวู้ดที่ฉายภายในประเทศได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ  ดังนั้น การลดกฎระเบียบโควต้าลงนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมต้องเผชิญกับการแข่งขันและเบียดขับจากหนังฮอลลีวู้ดซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลเหนือส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกประมาณ 80%


 


การเจรจารอบแรกระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯในอีกหนึ่งเดือนต่อมาอาจจะดำเนินการภายในห้องมิดชิดที่ห่างไกลจากประชาชน  แต่ใจกลางกรุงวอชิงตันไปจนถึงหน้าทำเนียบขาวกลับดังสนั่นด้วยเสียงกลองพื้นเมืองที่ชาวนาเกาหลีใต้ตีเป็นจังหวะตามด้วยท่วงทำนองการเดินที่เป็นเอกลักษณ์  พร้อมกับป้ายประท้วงที่บอกให้สาธารณะชนในสหรัฐฯรู้ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการเจรจาเอฟทีเอโดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคเกษตร 


 


ปัจจุบัน ประชากรที่เป็นเกษตรกรในเกาหลีมีไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด  ผลของการพัฒนาทำให้ภาคเกษตรหดตัวลงอย่างขนานใหญ่  เกิดการย้ายถิ่นอย่างมโหฬารเพื่อเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคเมือง  ประมาณ 80% ของสินค้าเกษตรทุกวันนี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งรวมถึง "กิมจิ" อาหารประจำชาติที่ต้องมีอยู่ทุกมื้อก็นำเข้ามาจากประเทศจีนเพราะราคาที่ถูกกว่า  ตั้งแต่การเจรจาการค้าโลกรอบอุรุกวัยเป็นต้นมาที่ให้มีการรวมภาคการเกษตรไว้ในการเปิดเสรี  สถานะทางเศรษฐกิจของชาวนาเกาหลีกลับแย่ลง 


 


ในปี 2548 หนี้สินครัวเรือนเกษตรในชนบทโดยเฉลี่ยเกินกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯและอาจจะมากถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐในกรณีครอบครัวเกษตรขนาดใหญ่  ชาวนาเกาหลีกลัวว่า เมื่อมีการเปิดเสรีภาคเกษตรโดยเฉพาะข้าวกับสหรัฐฯจะทำให้ชาวนาจำนวน 3.5 ล้านคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่จากการที่ข้าวราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาดในประเทศ  ซึ่งในรายงานฉบับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเกาหลีชี้ให้เห็นว่าการเปิดเสรีภาคเกษตรสหรัฐฯจะเกิดความเสียหายต่อตลาดในประเทศคิดเป็นมูลค่า 5.4 ล้านล้านวอน


 


เกษตรกรรมสำหรับชาวนาเกาหลีและที่อื่นๆ เป็นมากกว่าการค้าขาย  แม้จะมีจำนวนประชากรชาวนาไม่มาก  แต่ปริมาณข้าวที่ผลิตได้นั้นก็มากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งประเทศและอันที่จริงก็มากเกินความต้องการเสียอีก  ปริมาณข้าวที่ผลิตได้มากนั้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มอัตราการพึ่งพิงตนเอง  นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีนโยบายความมั่นคงด้านอาหารโดยการขยายผลผลิต รักษาระดับการนำเข้า และการสำรองอาหารให้เหมาะสม  ปัจจุบัน ชาวนาส่วนหนึ่งกำลังพยายามสร้างตลาดข้าวอินทรีย์โดยร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง  แต่ก็กำลังประสบปัญหาจากการเข้ามาตีตลาดของข้าวอินทรีย์จากจีนและนิวซีแลนด์  ดังนั้น หากมีการเปิดเสรีจริง  การเข้ามาตีตลาดของข้าวราคาถูกจะทำให้ทางเลือกของชาวนาเกาหลีมีไม่มากนัก 


 


รัฐบาลเกาหลีอาจจะใจดีกว่ารัฐบาลไทยอยู่เล็กน้อย  เพราะเอาใจชาวนาโดยการให้เงินปรับปรุงโครงสร้างการผลิตเพื่อลดกระแสความไม่พอใจ  แต่สิ่งที่นับเป็นเงินไม่ได้ คือความกังวลของคนเกาหลีที่จะให้สหรัฐฯเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศตนเองมากเกินไปทั้งในทางความมั่นคงด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net