Skip to main content
sharethis

โดย วัส ติงสมิตร


 


และแล้วประธาน ก.ก.ต. คือ พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ ก็ก่อปัญหาในการทำหน้าที่ของตนอีกครั้งหนึ่ง


 


นั่นคือ ประธาน ก.ก.ต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กให้ลงเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว ไปให้อัยการสูงสุดพิจารณายุบพรรคไทยรักไทย โดยประธาน ก.ก.ต. ไม่ได้ชี้มูลว่าพรรคไทยรักไทยได้การกระทำต่างๆ ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 อันจะเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทยได้


 


บทความนี้ไม่ได้ประสงค์ที่จะพิจารณาปัญหาว่า พรรคไทยรักไทยได้กระทำการตามมาตรา 66 ที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคจริงหรือไม่


 


แต่มุ่งที่จะพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายว่า ประธาน ก.ก.ต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องชี้มูลว่า พรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนได้กระทำตามมาตรา 66 อันอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่


 


กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง


พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 หมวด 4 บัญญัติเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองไว้ 2 กรณี คือ


 


กรณีแรก เป็นกรณีตามมาตรา 65 เหตุที่จะยุบพรรคการเมืองมีหลายเหตุด้วยกัน เช่น พรรคการเมืองมีสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน หรือไม่ดำเนินการต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติ (เช่น ไม่ดำเนินการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง เป็นต้น) กรณีนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด


 


ในกรณีแรกนี้ กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุที่จะถูกยุบตามมาตรา 65 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงต้องระบุถึงเหตุที่พรรคการเมืองจะถูกยุบและนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่ามีเหตุเช่นนั้นจริง นั่นก็คือ นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องชี้มูลว่ามีเหตุจะยุบพรรคการเมือง พร้อมกับคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้น หากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ


 


ส่วนกรณีที่สอง เป็นกรณีตามมาตรา 66 เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคการเมืองได้ก็มีหลายเหตุเช่นเดียวกัน เช่น พรรคการเมืองกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น


กรณีนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคการเมืองโดยตรงไม่ได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด โดยกฎหมายบัญญัติว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน


 


ที่มาแห่งการที่นายทะเบียนจะต้องแจ้งให้อัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานเพื่อพิจารณาดำเนินต่อไปนั้น มี 2 ทางด้วยกัน คือ (1) นายทะเบียนพรรคการเมืองรู้เหตุที่พรรคการเมืองจะต้องถูกยุบเอง และ (2) นายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66


 


ปัญหาการยุบพรรคไทยรักไทย


การขอให้ยุบพรรคไทยรักไทยไม่ได้มีที่มาจากหนทางแรก คือคือนายทะเบียนพรรคการเมืองรู้เห็นมาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่านายทะเบียนพรรคการเมืองต้องชี้มูลว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้กระทำการอันอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้


 


คงเป็นปัญหาเกี่ยวกับที่มาในหนทางที่สอง คือนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66 อันอาจถูกยุบพรรคได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องชี้มูลว่า พรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนได้กระทำการอันอาจถูกยุบพรรคหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่ากฎหมายบัญญัติไว้ไม่ชัดเจน พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองคนปัจจุบันจึงเลือกที่จะตีความว่าตนไม่ต้องชี้มูล


 


แต่หากพิจารณาข้อความต่อไปในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควรก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเอง"


 


จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องชี้มูลว่าพรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนได้กระทำการอันถูกยุบพรรคได้ โดยต้องชี้มูลตั้งแต่ต้นที่แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานนั้นแล้ว เพราะในกรณีที่อัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง กฎหมายยังบังคับให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งขึ้นมาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานส่งไปให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคต่อไป ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังกำหนดหนทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้อง ( ซึ่งก็คือการขอให้ยุบพรรค) ไว้ด้วยการให้อำนาจแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นเองได้


 


เมื่อพิจารณาข้อความในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ทั้งวรรคแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่ปรากฏอยู่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะตีความได้ว่า ประธาน ก.ก.ต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องชี้มูลว่า พรรคไทยรักไทยได้กระทำตามมาตรา 66 อันอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้


 


การขอให้ยุบพรรคการเมืองในทั้ง 2 หนทางตามมาตรา 67 หากนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่า พรรคพรรคการเมืองใดไม่ได้กระทำการตามมาตรา 66 อันอาจจะถูกยุบพรรคได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่ต้องแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมหลักฐานเพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (กรณีนี้ผู้ร้องเรียนยังมีทางแก้ปัญหาด้วยการเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)


 


ผู้เขียนอ่านกฎหมายตามที่ พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ แนะนำให้อ่านแล้วก็ได้ข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากข้อสรุปของ พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ


 


ทั้งนี้ โดยไม่ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 145(3) ที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองก็ได้ เพราะมาตรานี้บัญญัติให้อำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีลักษณะเป็นตัวองค์กร ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในการดำเนินการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 65 และ 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งไม่ต้องอาศัยมติที่ประชุม ก.ก.ต.


           


ไม่ทราบว่าเหตุที่เข้าใจกฎหมายแตกต่างกันจะเกิดขึ้นเพราะผู้เขียนอ่านกฎหมายทั้งวรรค ทั้งมาตราซึ่งมีหลายวรรค ทั้งฉบับ และหลาย ๆ ฉบับ แทนการอ่านกฎหมายเพียงประโยคสองประโยคหรือไม่


 


ผู้เขียนขอฟันธงว่า การแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ประธาน ก.ก.ต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องชี้มูลว่า พรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนได้กระทำการต่าง ๆ ตามมาตรา 66 อันอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net