Skip to main content
sharethis

กอส. เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตราพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ. ดับไฟใต้) เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง เสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยมีหลักการและเหตุผล องค์กรรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ และกระบวนการร่างพระราชบัญญัติดับไฟใต้ ดังนี้


 


0 0 0


 


หลักการและเหตุผล


การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย การยุติความรุนแรงเฉพาะหน้า และการสร้างสันติภาพถาวร ในการจะยุติความรุนแรงเฉพาะหน้าได้นั้น รัฐต้องมีความเป็นเอกภาพ และสร้างความเข้าใจของสังคมให้ตรงกัน ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ สื่อมวลชน ประชาคมมุสลิมโลก และประชาคมโลกโดยทั่วไป เพื่อให้ภารกิจนี้บรรลุไปได้จึงต้องมีกลไกอำนวยการยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำงานได้ต่อเนื่องโดยมีกฎหมายรองรับ


 


การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องคำนึงถึงระบบการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องเป็นธรรมและเสมอภาคของคนในพื้นที่ ต้องมีการส่งเสริมการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง ต้องมีกระบวนการสร้างความเชื่อถือและไว้วางใจซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันสร้างระบบการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ระบบความยุติธรรม การกระจายอำนาจ และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพื่อความสมดุล ปลอดภัย สมานฉันท์ และการมีสันติสุขทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนี้ต้องการกลไกภาคประชาชนที่สามารถส่งเสริมกระบวนการที่สร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ


 


กอส. เห็นว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะประสบผลสำเร็จได้นั้นส่วนหนึ่งมาจากกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์ของภาครัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และอีกส่วนมาจากกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีกลไกทั้ง 2 หรือหากมีก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้นจึงเสนอให้ออกพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ. ดับไฟใต้) เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา


 


0 0 0


 


องค์กรที่ควรบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้


พระราชบัญญัตินี้ ควรบัญญัติการตั้งองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 องค์กร ดังต่อไปนี้


 


1.ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.)


ในอดีตเคยมีการตั้ง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งทำงานได้ผลดีระดับหนึ่ง ต่อมาถูกยุบไปและมีการตั้ง กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) ขึ้นมาแทน ทั้ง 2 องค์กรนี้ตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีจึงเปลี่ยนแปลงง่าย ขาดความต่อเนื่อง ขอบเขตและศักยภาพในการสร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ภาครัฐยังไม่เพียงพอ


 


กอส. จึงเห็นควรให้ตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ขึ้น ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อำนวยการมาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหมายความว่าผู้อำนวยการ ศยส. จะมาจากทหารหรือพลเรือนก็ได้ โดยมีกระบวนการสรรหาให้ได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี


 


คณะกรรมการ ศยส. ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้งทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างความเป็นเอกภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์ภาครัฐ รวมถึงควรมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เป็นกรรมการอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3


 


ศยส. มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้


(1) ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และวิธีการแก้ปัญหาในหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ในหมู่ประชาชนในพื้นที่และในสังคมทั้งหมดเป็นส่วนรวม และในประชาคมโลก


 


(2) สร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบังคับบัญชา ระดับปฏิบัติ


 


(3) เสนอแนะการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่


 


(4) ส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสันติสุขและสมานฉันท์ในพื้นที่


 


(5) ระงับยับยั้งการกระทำหรือนโยบายจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ขัดยุทธศาสตร์ของศยส. รวมทั้งมีอำนาจรายงานการกระทำดังกล่าวแก่รัฐบาล


 


(6) ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความพอเพียง สมดุล สมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข


 


(7) ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกภาคประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ในการวางแผนการพัฒนา และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญ


 


(8) เสนอแนะและรายงานการทำงานประจำปีต่อรัฐบาลและรัฐสภา


 


 2.สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 76 จึงบัญญัติให้มีสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการ


 


สภานี้จะไม่เป็นสภาที่ใช้อำนาจราชการหรืออำนาจบริหารอื่นใด แต่เป็นสภาที่ส่งเสริมกระบวนการการสร้างความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรม การพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่เสนอแนะเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พิจารณาติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยราชการในพื้นที่ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งที่สามารถวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความพอเพียง สมดุล ยุติธรรม สมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข


 


หน้าที่ ความรับผิดชอบ


1. เสนอแนะต่อศยส. รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง การจัดสรรและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ


2. เสนอแนะและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม เมื่อได้รับการร้องขอจากศยส.


3. รับฟังความคิดและส่งเสริมความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพ


4. การอำนวยความยุติธรรม การส่งเสริมความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพ


5. แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานช่วยงานในเรื่องที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์


6. รายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีปีละครั้ง


 


ให้มีการคัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการในท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และให้มีกรรมการที่มาจากตัวแทนอาชีพในสัดส่วนที่เหมาะสม


 


ให้มีสำนักงานของสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ซึ่งสามารถคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถสูงและมีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาเป็นเลขาธิการและเจ้าหน้าที่สำนักงาน


 


สภาอาจตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานให้ช่วยทำงานในเรื่องที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์


 


ให้รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนการทำงานของสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดเป็นงบอุดหนุนทั่วไป


 


3.กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์


ผู้นำทางศาสนาและผู้นำชุมชนที่มีปัญญาบารมีและมีความเมตตาสูงมีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ ท่านเหล่านี้สามารถให้การเยียวยาแก่ผู้มีความทุกข์ โดยใช้สถาบันที่มีอยู่ในชุมชน เช่น วัด มัสยิด โรงเรียน สถาบันศึกษาปอเนาะ โดยไม่เลือกข้าง เลือกขั้วหรืออุดมการณ์ใด ๆ แต่คำนึงถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ การเยียวยาในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี เกิดความหวัง และเป็นพลังแห่งการสมานฉันท์ได้


 


เพื่อการนี้ กอส. เห็นควรให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ ตาม พระราชบัญญัติ นี้ ให้เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับและรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนจำนวนมากพอสมควร ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระ อาจมอบให้สภาเพื่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้เสนอชื่อคณะกรรมการบริหารกองทุน


 


กองทุนนี้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนผู้นำทางศาสนาและผู้นำชุมชนที่มีปัญญาบารมีที่มีความเมตตาสูงให้สามารถให้การเยียวยาแก่ผู้ยากลำบากในพื้นที่ และสร้างความสมานฉันท์โดยผ่านสถาบันที่มีอยู่ในชุมชน เช่น วัด มัสยิด โรงเรียน สถาบันศึกษาปอเนาะ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อชุมชน เช่น เครือข่ายพระเพื่อชุมชน เครือข่ายครูเพื่อชุมชน เครือข่ายพยาบาลเพื่อชุมชน ฯลฯ เพื่อให้จิตวิญญาณแห่งความเมตตากรุณาที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกันได้สร้างความอบอุ่น ความหวัง และมิตรภาพ อันยังให้ชุมชนเข้มแข็ง และสร้างสันติสุขได้เต็มพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


0 0 0


 


กระบวนการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้


โดยที่พระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นผลในทางปฏิบัติ ผู้ยกร่างพระราชบัญญัติจึงควรจะมีความเข้าใจในสถานการณ์ อุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการแก้ปัญหา และเข้าใจในการจัดองค์กรและกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ควรทำงานเชิงเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คณะผู้ยกร่างพระราชบัญญัตินี้จึงควรมีองค์ประกอบของบุคคลอันเหมาะสม


 


ในขณะที่รัฐบาลยังพิจารณาข้อเสนอของ กอส. อยู่ บุคคลในภาคประชาชนที่สนใจในการแก้ปัญหาบางคนอาจรวมตัวกันยกร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้น เป็นร่างเพื่อนำไปสู่การพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายก็ได้ โดยผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในพื้นที่ด้วย


 


 


ดาวน์โหลด


รายงานฉบับสมบูรณ์ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" จากไฟล์ประกอบ

เอกสารประกอบ

ข้อสรุป กอส. รายงานฉบับเต็ม (1)

ข้อสรุป กอส. รายงานสำหรับผู้บริหาร ( 2)

ข้อสรุป กอส. ข้อเสนอของ กอส.ต่อรัฐบาล (3)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net