บทเรียน 10 ปี CL ยา–เสนอใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอีกกับยาไวรัสตับอักเสบซี

วงเสวนาชี้ CL เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกกฎหมาย ช่วยคนเข้าถึงยาจำเป็นราคาแพง เฉพาะยาต้านไวรัส 6 ปีประหยัด 1.6 หมื่นล้าน แถมเพิ่มอำนาจการต่อรองราคายา เตือนระวังสารพัดวิธีอุตสาหกรรมยาข้ามชาติเอาคืน เสนอรัฐบาลประยุทธ์ใช้ CL อีกกับยาไวรัสตับอักเสบซีที่แพงเกิน ผูกขาดสองชั้น

17 ม.ค. 2560 ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าวจากเวที ‘มองไปข้างหน้า: บทเรียน 10 ปี CL และการเข้าถึงยาจำเป็น’ จัดโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชเอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

ทั้งนี้ CL ย่อมาจาก Compulsory Licensing คือ การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายของไทยที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522  และเป็นไปตามปฏิญญาโดฮา ตามข้อตกลง TRIPS (Trade Relate Intellectual Property Rights) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ให้อำนาจแก่ประเทศสมาชิกผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ติดสิทธิบัตรได้หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน,  เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศ หรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ หลังการรัฐประหาร 2549

ภายใต้รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประเทศไทยได้ประกาศใช้ CL กับยา 3 รายการเป็นครั้งแรก และจนปัจจุบันยาที่ได้ประกาศซีแอลที่ยังคงในระบบ นั่นคือ 1. ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ จากราคา 74.23 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 18.18 บาท/เม็ด และปี 2559 ราคา 12.35 บาท/เม็ด 2. ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์ มีขนาดยาต่างๆ อาทิ ขนาด 600 มิลลิกรัม จากราคา 65.78 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 10.37 บาท/เม็ด ปี 2559 เหลือ 4.578 บาท/เม็ด เป็นต้น และ 3. ยาโคลพิโดเกรล จากราคา 70 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 1.08 บาท/เม็ด ปี 2559 ราคาอยู่ที่ 2.74 บาท/เม็ด เมื่อคำนวณมูลค่าราคายาที่ลดลงจากการประกาศซีแอลทั้งหมด โดยใช้ราคายาในปี 2552 เป็นฐานคิดคำนวณพบว่า เฉพาะในกลุ่มยาต้านไวรัสตั้งแต่ปี 2553-2559 รัฐสามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 16,569 ล้านบาท 

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขา อย. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกลไกการควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ การผูกขาดในการตั้งราคายาแต่เพียงผู้เดียวของยาที่มีสิทธิบัตร ทำให้ยาที่มีราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการทำซีแอลยังจำเป็น และต้องนำไปสู่การสร้างระบบสิทธิบัตรมีความสมดุลมากขึ้น

ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นต้นแบบของโลกในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงยา การใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอลเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทรัฐในการทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง การทำให้ยามีราคาถูกลงไม่ใช่เพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐแต่เพื่อขยายจำนวนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากที่สุด  

“หากระบบการค้าโลกไม่สุดโต่ง ซีแอลคือส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมโลกเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะไม่ทอดทิ้งคนข้างหลังที่ยากจนเข้าไม่ถึงยา และพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้มีผลกระทบในเชิงการค้าและการพัฒนานวัตกรรมยา คนไทยต้องตระหนักตื่นตัวพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงยาให้มั่นคงและยั่งยืน”

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจากการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐของไทยผ่านมา 10 ปี แม้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับยารักษาเอชไอวีและเอดส์ และสามารถลดราคายาโรคหัวใจและยามะเร็งได้บ้าง แต่เรากำลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงยาในโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ยามีราคาแพงมากเพราะการผูกขาดด้วยสิทธิบัตร อีกทั้งอุตสาหกรรมยาข้ามชาติกำลังใช้สารพัดวิธีในการยืดอายุการผูกขาดนั้นให้ยาวนานที่สุด ดังนั้นซีแอลจึงเป็นคำตอบที่ผู้ทรงคุณวุฒิในสหประชาชาติแนะนำให้ประเทศต่างๆ พิจารณา

เขาชี้ว่า ยาจำเป็นที่ต้องพิจารณาขณะนี้คือ โซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นยาตัวหลักในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ยาตัวนี้แพงและมีปัญหาสิทธิบัตร โดยขณะนี้บริษัทยามาขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย แม้อยู่ระหว่างพิจารณา การผูกขาดเริ่มแล้ว มีคำขอทั้งสิ้น 13 ฉบับโดยเหลื่อมเวลากันไป ทำให้แม้กฎหมายจะคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเวลา 20 ปี แต่จะมีผลผูกขาดนาน 30 ปี 

เฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ราคายาไวรัสตับอักเสบซีของบริษัทต้นแบบครบโดสอยู่ที่ 2,500,000 บาท ทำให้ สปสช. คิดหนักว่าจะรวมยานี้ในชุดหรือไม่ ที่ผ่านมา มีการเสนอต่อคณะบัญชียาแล้ว แต่เพราะราคาแพงมากจึงยังคุยกันไม่ตกว่าราคาที่สมควรอยู่ที่เท่าไร แล้วใครจะได้รักษาก่อน เพราะในไทยประมาณการว่ามีคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและต้องรักษาตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสนกว่า ทั้งนี้ ตัวเลขยังคลาดเคลื่อน เพราะยังไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรักษาเท่าไร

นอกจากสิทธิบัตรแล้ว บริษัทยาต้นแบบยังเดินเกมไปทำสัญญากับบริษัทยาชื่อสามัญที่สามารถผลิตยาตัวนี้ได้ในราคาถูกในอินเดีย ไม่ให้ขายยาราคาต้นทุนต่ำแก่บางประเทศ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น นี่คือการผูกขาดสองชั้น ทำให้เป็นปัญหา 

สำหรับทางออกของไทยนั้นยังไม่เห็นทางออก แม้จะเจรจาต่อรองราคาบริษัทก็ยังไม่ลดให้ สิทธิบัตรก็ผูกขาด ขอใช้ยาอินเดียก็ไม่ได้เพราะไม่ยอมให้ใช้สิทธิ เลยคิดว่ามาตรการซีแอลเป็นมาตรการที่รัฐบาลควรพิจารณา 

ทั้งนี้ยาต้นแบบ มีราคา 1,000 ดอลลาร์ต่อเม็ดหรือราว 30,000 บาทไทย ขณะที่ยาอินเดียที่สามารถทำซีแอลนำเข้ามาได้ราคา 100 บาทต่อเม็ด โดสหนึ่งใช้ 3 เดือน ดังนั้น ยาต้นแบบเบ็ดเสร็จจะต้องใช้เงิน 2,500,000 บาท ขณะที่ซื้อจากอินเดียจะเป็นเงิน 20,000 บาท 

เมื่อถามถึงความแตกต่างในการผลักดันประเด็นนี้ ระหว่างรัฐบาลรัฐประหารคราวก่อน (คมช.ปี2549) กับรัฐบาลรัฐประหารคราวนี้ (คสช.ปี2557) เฉลิมศักดิ์ตอบว่า รัฐบาลชุดนี้รับฟังเสียงของภาคธุรกิจและนักลงทุนมากกว่า ขณะที่ก็มีเสียงวิพากษ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเยอะ มีแรงกดดันว่าสมควรบริหารประเทศอยู่หรือไม่ พอมีการวิจารณ์เยอะ ยิ่งมีเสียงกดดันไม่ค้าขายกับประเทศไทย เช่น สหภาพยุโรป ทำให้มีความกังวลว่าพอประกาศใช้ CL เขาไม่ค้าขายกับเราจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงหรือเปล่า เป็นความวิตกโดยไม่ได้ดูวิชาการหรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก ทำให้ไม่กล้าประกาศใช้ CL ขณะที่ตอนนั้น เราค่อนข้างพร้อมเพราะนักวิชาการในกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลพร้อมสรรพ องค์การผลิตมีความพร้อมในการหาแหล่งผลิต รวมถึงมีแรงสนับสนุนจากประเทศอื่น 

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เสนอว่า ควรมีการแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่กว้างออกไปมีสิทธิประกาศใช้ CL ได้ รวมถึงให้ผู้ที่เสียหายจากการผูกขาดสิทธิบัตร มีสิทธิยื่นขอใช้ CL ได้ โดยเทียบเคียงจากการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาตัดสินให้เอ็นจีโอมีสิทธิฟ้องคดีสิทธิบัตรมิชอบได้ นอกจากนี้ เขาเสนอให้มีการแก้ไขต้องยืดระยะเวลาการคัดค้านคำขอสิทธิบัตรให้ยาวขึ้น เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรเอื้อผู้ทรงสิทธิมากเกินไป โดยยกตัวอย่างอินเดียที่สามารถค้านได้ตั้งแต่มีการยื่นขอจนการพิจารณาสิ้นสุด เพื่อให้มีเวลาศึกษาค้นคว้าคัดค้านคำขอ เพราะหากปล่อยไป ต้องไปฟ้องร้องศาล ถ้าแก้เงื่อนไขการคัดค้านให้ยาวขึ้น จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เยอะ

ทางด้าน อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมากลไกซีแอลนี้ได้รับการพิสูจน์ทั้งจากไทยและต่างประเทศว่ามีประโยชน์ แม้จะเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่มีความกล้าหาญทางการเมืองในการใช้มาตรการนี้ก็ตาม แต่ภาคประชาสังคมยังต้องช่วยเฝ้าระวังไม่ให้กลไกต่างๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงในระบบยาอ่อนแอลงไปจากการเจรจาทางการค้าและการแก้ไขกฎหมายต่างๆ  เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังมีความพยายามจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการทำลายกลไกในการต่อรองราคายาเพื่อบีบบังคับให้ประเทศต้องซื้อยาราคาแพงเท่านั้น

ภก.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การเข้าถึงยามีปัจจัยสองด้าน คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายใน ย้ำว่าเรามีกฎหมายในการควบคุมราคายาอยู่ หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตาม กระทรวงพาณิชย์ต้องทบทวน ทั้งประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ย้ำว่าจะต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน 

“ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือต้องจับตา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำลังมีผลบังคับใช้ เพราะเดิม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้ไทยได้เข้าร่วมการเจรจา TPP ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว ดังนั้นต้องติดตามการออกกฎกระทรวงที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาให้ยังคงกลไกในการสร้างความสมดุลในการจัดซื้อจัดหายาของประเทศไว้”

ส่วนปัจจัยภายนอก แม้ TPP ดูเหมือนจะล้มหายตายจากไป แต่อาจแปลงร่างเป็นการเจรจาระหว่างสองประเทศ โดยขณะนี้มีการเจรจาการค้าในกลุ่มอาเซียน+6 หรือ RCEP ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีสอดแทรกเนื้อหาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท