Skip to main content
sharethis

พิไลพรรณ หัวหน้าคณะผู้แทน สนช. เข้าพบ ประธานสหภาพรัฐสภา แจงสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ที่มาภาพ เว็บไซต์ ข่าวรัฐสภา

25 ต.ค. 2559 ข่าวรัฐสภา รายงานว่า พิไลพรรณ สมบัติศิริ หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union:IPU) ครั้งที่ 135 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำคณะผู้แทน สนช.ประกอบด้วย สมชาย แสวงการ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล เสาวณี สุวรรณชีพ เเละ สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 22– 27 ต.ค. 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยเข้าพบ ซาเบร์ โฮซเซน เชาว์ดรี ประธาน IPU เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และ สนช. ดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งประธาน IPU ได้รับทราบและเข้าใจถึงโรดแมปเเละสถานการณ์การเมืองไทย ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของประชาชนไทยที่อยู่ในช่วงการถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เเละเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าตามโรดแมปและจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายหลังพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ สมาชิก สนช. ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก IPU ทั้ง 153 ประเทศ ให้ทำหน้าที่กรรมาธิการสามัญของการประชุม IPU ประกอบด้วย พิไลพรรณ สมบัติศิริ ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญ IPU ว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Committee on UN Affairs (Public sittings)) และ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Committee on Peace and International Security)
 


ประวัติความเป็นมา สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union)


สหภาพรัฐสภา (IPU) เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2431 โดยเริ่มจากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความคิดเห็นในการเรียกร้องให้มีการประชุมระหว่างมวลสมาชิกแห่งรัฐสภาเกี่ยวกับงานสันติภาพและความเข้าใจอันดี ซึ่งกันและกันได้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป โดยมีความเข้าใจว่าการประชุมร่วมกันนี้จะเป็นทางหนึ่งที่จะขจัดข้อขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้นและนำความสงบสุขมาสู่โลก

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2431 ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศในลักษณะดังกล่าวขึ้นที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างสมาชิกรัฐสภา คือ เซอร์วิลเลียม แรนเดล ครีเมอร์ (Sir William Randal Cremer)ชาวอังกฤษ กับนายเฟรเดริค ปาสซี (Frédéric Passy) ชาวฝรั่งเศส และยังมีสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ 7 คน กับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสอีก 25 คน เข้าร่วมใน การประชุมดังกล่าวด้วย รูปร่างของการประชุมระหว่างรัฐสภาได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 และ 30 มิถุนายน พ.ศ.2432  ณ กรุงปารีส โดยมีสมาชิกแห่งรัฐสภา 95 คน จากประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เดนมาร์ก ฮังการี อิตาลี ไลบีเรีย สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 9 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุม

มติแรกของการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 1 มีว่า “การดำเนินงานของรัฐสภาทั้งหลายนั้น รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ห่างจากความคิดเห็นของประชาชนไปทุก ๆ ที ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนปวงชนที่ได้รับการเลือกขึ้นมาจะได้ทำหน้าที่ของตนเกี่ยวกับงานของนโยบายในการที่จะนำประเทศของตนไปสู่ความยุติธรรม  การนิติบัญญัติและภราดรภาพ”

จากการประชุมครั้งแรก หลักการในการที่จะจัดตั้งสหภาพรัฐสภาได้มีรูปร่างขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยอีกห้าปีถัดมาจึงได้มีการยกร่างธรรมนูญของสหภาพ และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 5 ณ กรุงเบอร์น สมาพันธรัฐสวิส ในปี พ.ศ.2435 ที่ประชุมฯ ได้จัดตั้งสำนักงานกลางชื่อว่า “สำนักงานสหภาพระหว่างรัฐสภาเพื่อตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ” และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2437 ธรรมนูญของสหภาพรัฐสภาได้รับการรับรองจากบรรดาสมาชิกของสหภาพรัฐสภา

วัตถุประสงค์

สหภาพรัฐสภาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการประชุมรัฐสภานานาชาติมานับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2442 มีเป้าหมายที่จะดำเนินการเพื่อสันติสุขและความร่วมมือระหว่างประชาชน และเพื่อการจัดตั้งสถาบันที่มั่นคงของผู้แทนปวงชน การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ดังกล่าว สหภาพรัฐสภาจึงมีภารกิจในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 1. ส่งเสริมการติดต่อ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรัฐสภาและสมาชิกของรัฐสภาทั่วโลก
 2. พิจารณาประเด็นปัญหาในระดับนานาชาติและหาข้อมติในประเด็นดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ถึงการมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสมาชิกแห่งรัฐสภานั้น ๆ
 3. สนับสนุนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบกติกาสากลโดยตระหนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
 4. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาที่มั่นคงของผู้แทนประชาชน

นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดภายใต้วัตถุประสงค์ร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติและได้ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น


ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภา

ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภาต่อประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ และความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันมิติรัฐสภาในด้านการต่างประเทศ ได้แก่

1. ด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 

2. ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

3. ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
4. ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม 

5. ด้านสิทธิสตรี 

6. ด้านความร่วมมือกับสหประชาชาติ

7. ด้านความร่วมมือกับองค์การการค้าโลก 

8. ด้านปฏิรูปสหภาพรัฐสภาและการบริหารองค์กร

 

รัฐสภาไทยกับสหภาพรัฐสภา

ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาทั้งผ่านทางรัฐบาล และทางรัฐสภาโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ทางรัฐบาลติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนทางรัฐสภานั้น ประธานคณะมนตรีสหภาพรัฐสภาติดต่อกับประธานรัฐสภาไทย โดยครั้งแรกขอให้รัฐสภาไทยจัดส่งคณะผู้แทนไปสังเกตการณ์การประชุมใหญ่ของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 37 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. 2491 แต่ในครั้งนั้นรัฐสภาไทยยังไม่พร้อมจึงไม่สามารถที่จะรับคำเชิญได้ อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะดึงประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภายังคงดำเนินต่อไป เพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา ประธานคณะมนตรีและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาต่างก็พยายาม ติดต่อโดยตรงกับประธานรัฐสภาไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ทั้งทางส่วนตัวและทางการในที่สุดสหภาพรัฐสภาได้ส่ง นายปอล บาสทิต อดีตรัฐมนตรี ฝรั่งเศส และประธานหน่วยรัฐสภาฝรั่งเศสมาเยือนประเทศไทยในฐานะตัวแทนของสหภาพรัฐสภา และได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีบางท่าน และในการประชุมคณะมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 คณะมนตรีได้มีมติให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องไปพิจารณา รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กร ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่งและได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พร้อมกันนั้นทางรัฐบาลก็แปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2493 เพื่อตั้งงบสหภาพรัฐสภาในงบของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา

การถูกระงับการเป็นภาคีของสหภาพฯ

ที่ประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ 111 ซึ่งประชุมกันที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. 2515 ได้ลงมติให้ระงับการเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทยไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการปฏิวัติและยุบสภา

อย่างไรก็ตาม หน่วยประจำชาติไทยได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ 112 ณ กรุงอาบิดจัน ประเทศโคท์ไอเวอรี่ ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2516 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมัยประชุมที่ 162 ซึ่งประชุมกันที่รัฐสภาแห่งชาติโคท์ไอเวอรี่ได้พิจารณาการขอกลับเข้าเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทย โดยได้เชิญผู้แทนของคณะผู้แทนหน่วยประจำชาติไทยเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในการนี้  นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยได้ตอบข้อสงสัยของสมาชิกในคณะกรรมการบริหารเป็นที่พอใจ คณะกรรมการบริหารจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับหน่วยประจำชาติไทยกลับเข้าเป็นสมาชิกของ  สหภาพรัฐสภาดังเดิม และยังคงเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ อยู่จนกระทั่งบัดนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net