Skip to main content
sharethis

เลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตฯ เผยการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้ตร.ได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวม 986 คดี 'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

25 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านามา ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ว่า จากเดิมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 853 คดี ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวมเป็นทั้งหมด 986 คดี

ทั้งนี้ ป.ป.ท.ได้ทยอยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณา และมีมติสั่งให้ไต่สวนแล้ว 125 คดี โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตามจำนวนคดี และตั้งเป้าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาชี้มูลต่อไป หากเห็นว่ามีมูล ถ้าเป็นคดีอาญาจะส่งให้พนักงานอัยการฟ้องร้อง หากเป็นเรื่องของวินัยหรือค่าเสียหาย จะส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการตามขั้นตอน

ประยงค์ กล่าวยืนยันว่า การทำงานของ ป.ป.ท.เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ การตั้งอนุกรรมการตามจำนวนคดี ถึงแม้เราจะมีบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เราก็จะทำงานตามขั้นตอน สลับบุคลากรเข้าไปทำงานในทุกชุดอนุกรรมการให้การทำงานเดินไปอย่างรวดเร็ว
 

'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

ขณะที่วันเดียวกัน ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเผชิญกับความกดดันจากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และเร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่าเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท อย่างขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่จะอธิบายต่อสาธารณะ ที่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ภูมิธรรม ยังได้ตั้งคำถามว่า การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย นั้น รัฐบาลมีความจำเป็นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่ง และรวบรัดดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเรียกให้ชดใช้ความเสียหายด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อยู่ในการบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 เพื่อช่วยมิให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดทางละเมิด ให้รัฐต้องรับผิดแทน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า มีนักกฎหมายหลายคนตั้งประเด็นการเร่งรัดเรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท ว่า การถูกเรียกให้ชดใช้ความเสียหายจากนโยบายการรับจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์ได้นั้น กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะประชาชนบางส่วนแสดงเจตจำนงจะร่วมแบ่งปันความทุกข์กับ ยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหลักนิติธรรม ที่ประชาชนกำลังเฝ้าดู และติดตามระบบและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net