'เยาวชนปาตานี' ร้องยูเอ็นปมปิดล้อมคุมตัว น.ศ.ปาตานีในกรุงเทพ

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี เข้ายื่นร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เมินคณะกรรมการสิทธิฯ เหตุไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ

<--break- />

ที่มาเพจ The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS

24 ต.ค. 2559 อัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี(permas) พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights – UNOHCHR) กรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา 

อัสมาดี กล่าวว่า พวกเรามีความกังวลใจต่อการปฏิบัติการของภาครัฐในการจำกุม ปิดล้อม ตรวจค้นนักศึกและเยาวชนปาตานี ที่ใช้อำนาจไม่อยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่าที่ควร เพราะการอ้างว่าการบุกจับกุมครั้งนี้ เพราะหวั่นจะก่อเหตุการณ์วินาศกรรม ช่วงวันที่ 25 ต.ค.-30 ต.ค.นี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันครบรอบการสลายการชุมนุมตากใบ ถามว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้มีหลักการทางกฎหมายอย่างไร ยิ่งรัฐทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะส่งผลถึงความไม่เชื่อใจของประชาชนในพื้นที่แล้ว และเกรงว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้ จะทำให้เยาวชนปาตานีถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และเมื่อมีเหตุวินาศกรรมเกิดขึ้นที่ไหน เยาวชนปาตานีอาจจะถูกโยนความผิดทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกระทำก็ได้ 

“การจับกุมครั้งนี้ เป็นการจับกุมที่มีตัวเลขสูงมาก ทำให้เรากังวลใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะที่ผ่านมาระดับนโยบายภาครัฐที่ออกมานั้นดูเหมือนจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ริดรอนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนอย่างมาก ที่ผ่านมาเราเรียกร้องผ่านรัฐมาโดยตลอด อยากให้รัฐแสดงความจริงใจที่แท้จริง” อัสมาดี กล่าว 

อัสมาดี กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อยูเอ็นครั้งนี้ เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นในกลไกการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพราะที่ผ่านมาเราเรียกร้องไปยังรัฐบาลมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเมื่อเราร้องขอเข้าเยี่ยมเยาวชน พาพ่อแม่พวกเขาขึ้นมากทม. รัฐก็กลับส่งตัวกลับไปที่คุมขังที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แสดงให้เห็นว่ามักมีปัญหาทางเทคนิคตลอด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เท่าที่เราติดตามการจับกุม ทราบว่ามีผู้ถูกจับกุมไปถึง 105 คน แต่ที่มีรายชื่อออกมามีเพียง 44 คน ซึ่งมีบางส่วนที่ถูกปล่อยตัวมาบ้างแล้ว และที่ชัดเจนคือมี 5 คนที่ถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 

ต่อกรณีคำถามทำไมถึงไม่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิทธิของไทยเข้ามาตรวจสอบนั้น อัสมาดี กล่าวว่า เราไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบอาจจะติดขัดได้

หลังเข้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อัสมาดี เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นทาง UN รับข้อเสนอต่างๆ ที่ได้นำมายื่นในวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นการทำงานตามกลไกต่อไปคือการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ สำหรับข้อเสนอที่ได้นำมายื่นคือ ขอให้ทาง UN เฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วงเปราะบางทางการเมือง รวมถึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในไทย โดยเป็นทีมตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพราะกระบวนการสันติภาพขณะนี้ยังไม่ตอบโจทย์รากเหง้าของประเทศไทย

 

ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท