Skip to main content
sharethis

หลังจากการเรียกร้องของนักการเมืองในอังกฤษ ทางการอังกฤษก็ยอมรับให้รัฐสภามีส่วนร่วมในการอภิปรายและลงมติข้อตกลงการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในขั้นตอนสุดท้าย แต่นายกฯ อังกฤษก็ประกาศว่าไม่ได้หมายความว่าจะยอมให้ถึงขั้นลงมติยกเลิกไม่ออกจากอียู แต่เป็นแค่การอภิปรายเนื้อหาข้อตกลง กระนั้นก็ทำให้ฝ่ายสนับสนุนอียูสามารถแก้ข้อตกลงที่ไม่พอใจได้

(ซ้าย) ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเรื่องการแยกตัวจากสหภาพยุโรป เมื่อ 23 มิถุนายน 2559 โดยแบ่งตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ (ขวา) ธงยูเนียนแจ็กของสหราชอาณาจักร คู่กับธงของสหภาพยุโรป ที่อาคารแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่มาของภาพประกอบ: 1) Mirrorme22/Nilfanion/Wikipedia และ 2) Dave Kellam/Flickr/Wikipedia (CC.BY-SA 2.0)

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ส.ส. อาวุโสของอังกฤษที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการจัดการเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือ 'เบร็กซิท' (Brexit) เปิดเผยว่ารัฐสภาของอังกฤษมีสิทธิในการลงมติเพื่ออนุมัติหรือคัดค้านข้อตกลงการออกจากสมาชิกภาพอียูของอังกฤษในขั้นตอนสุดท้าย

ดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่าเป็นครั้งแรกที่ทางการอังกฤษออกมาเปิดเผยว่ารัฐสภาอังกฤษมีสิทธิ์ในการปฏิเสธข้อตกลงเบร็กซิทซึ่งทางการอังกฤษระบุว่ามี "ความเป็นไปได้สูง" ที่ ส.ส. อังกฤษจะได้โหวตลงมติในสภาในประเด็นนี้ถ้าหากการเจรจาให้ถอดถอนข้อตกลงนี้

เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษปฏิเสธมาโดยตลอดในเรื่องที่จะให้รัฐสภาอังกฤษลงมติในเรื่องนี้ได้ เมย์เปิดเผยว่าเธอจะประกาศใช้กฎหมายมาตรา 50 ภายในช่วงเดือน มีนาคม ปี 2560 เพื่อดำเนินการให้มีกระบวนการอภิปรายกันถึงเรื่องกระบวนการออกจากสมาชิกภาพอียูในระหว่าง 2 ปีหลังจากนั้น แต่ก็ปฏิเสธว่าการลงมติในสภาจะไม่เป็นไปเพื่อล้มเลิกข้อตกลงการออกจากสมาชิกภาพอียู เราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ

ส.ส. อาวุโสจากพรรคอนุรักษ์สายสนับสนุนอียูนิยมรายหนึ่งกล่าวว่าความเป็นไปได้ที่จะมีการโหวตเรื่องนี้ในสภาถือเป็น "ชัยชนะสำหรับผู้ที่เชื่อในสิทธิของรัฐสภาในฐานะผู้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง"

ทางด้านฮิลลารี เบนน์ ส.ส. ฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานอังกฤษผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการพิจารณาเรื่องเบร็กซิทกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่ "ไม่สามารถเข้าใจได้" ถ้าหากส.ส.อังกฤษจะไม่มีการลงมติในข้อตกลงสมาชิกภาพอียู เบนน์ยังให้สัมภาษณ์กับวิทยุบีบีซีอีกว่ารัฐสภาอังกฤษจะเป็นผู้พิจารณาแผนการหารือเรื่องเบร็กซิทและจะมีบทบาทในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของข้อตกลงด้วย

"มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจได้ถ้าหากรัฐสภาจะไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตย... ในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงซึ่งเป็นการต่อรองที่ซับซ้อนหลังมีการบรรลุข้อตกลงแล้ว" เบนน์กล่าว

ก่อนหน้านี้ยังมีการดำเนินการทางกฎหมายในเรื่องที่รัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้รัฐสภาลงมติกันก่อนที่จะมีการใช้กฎหมายมาตรา 50 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ส.ส. อังกฤษอาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเบร็กซิทในบางด้านที่พวกเขาไม่พอใจได้

 

เรียบเรียงจาก

British parliament must have vote on final Brexit deal: senior lawmaker, Reuters, 20-10-2016

Brexit could be halted after Government admits MPs likely to have final say, The Independent, 20-10-2016

Parliament will get a vote on Brexit treaty, Theresa May confirms, The Telegraph, 18-10-2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net