วิทยาศาสตร์...เรื่องไกลตัว: ปัญหาสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เรามักจะมองว่า “ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย?” เป็นปัญหาที่สำคัญของวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์

ถ้าเราจะถามคำถามนี้ก็คงจะเป็นเรื่องไม่ผิดนัก คำถามนี้เป็นคำถามที่คนในแวดวงการศึกษาวิทยาศาสตร์กำลังครุ่นคิดหาคำตอบและถกเถียงกันอยู่ เพราะในเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวก็หมายความว่าคนไทยไม่สนใจในวิทยาศาสตร์นั่นเอง

หลายต่อหลายคนก็คงจะบอกว่าเป็นเพราะนักเรียนขี้เกียจ ไม่สนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หรือไม่ถนัดในการเรียนรู้ตัวเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ศึกษาปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ผ่านการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน หรือทำการทดลองในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ต้องตักสารมาชั่งตวง หรือเอาชิ้นส่วนใบไม้ทำสไลด์ส่องสังเกตเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ มันไม่ใช่เรื่องสนุกเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นปัญหาในการศึกษาวิทยาศาสตร์คือคนไม่สนใจและหลงงมงายไปกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การดูดวง การขอหวย มากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็บอกว่าปัญหาอยู่ทีว่าการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยไม่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และก็มีความพยายามจะปรับหลักสูตรการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย อย่างเช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้พยายามริเริ่มจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้สะเต็มศึกษา (STEM Education) ซึ่งเป็นการอาศัยการบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (technology) วิศวกรรมศาสตร์ (engineering) และ คณิตศาสตร์ (mathematics) โดยมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และมีการตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาขึ้นในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ

จริงอยู่ที่ว่าคำถามนี้ไม่ใช่เพียงแค่คำถาม แต่เป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศ ดูได้จากความพยายามลงไม้ลงแรงของหน่วยงานภาครัฐมาตลอดหลายสิบปี นับจากการตั้ง สสวท. เพื่อพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับสายวิทยาศาสตร์ในการศึกษาระดับสามัญ ถ้าลองมาคิดดูแล้วจะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐใช้ภาษีของประชาชนลงทุนให้กับการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่นัก

ลงทุนไปมากแล้วอย่างไรเล่า? สุดท้ายก็วนกลับมาที่ปัญหาว่าทำไมวิทยาศาสตร์ถึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย? อยู่ดี

น่าสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเราต้องมุ่งเน้นไปแก้ปัญหาที่หลักสูตรการศึกษา ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจมีอะไรบางอย่างที่เราไม่คาดคิดก็เป็นได้ นอกจากนั้นการแก้ไขด้วยการมุ่งเน้นการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเสมอไป แต่ถ้าเราจะโยนความผิดให้กับนักเรียนว่าเป็นเพราะนักเรียนขี้เกียจ ไม่สนใจเรียน ก็ดูจะเป็นการโยนปัญหาไปให้กับนักเรียนมากกว่า

แม้เราจะมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการศึกษาวิทยาศาสตร์มากเพียงใด สมมติว่าถ้าเราถามนักเรียนทุกคนในประเทศไทยด้วยคำถามเดียวว่า “วิทยาศาสตร์คืออะไร?”

นักเรียนเกินครึ่งจะตอบไม่ได้ และที่ตอบมาส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ตรงกันแน่ๆ

แต่ที่แน่ๆ คุณครูจะตอบคำถามนี้ได้หรือไม่ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

สาเหตุที่เรายังไม่ตอบคำถามง่ายๆ เหล่านี้ได้ ก็เพราะเราคงไม่เห็นว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญสำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ในความเป็นจริงแล้ว คำถามนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทุกระดับมองวิทยาศาสตร์ว่ามีความหมายอย่างไร?

เหตุผลที่เรายังไม่สามารถให้คำนิยามให้กับวิทยาศาสตร์ได้ตรงกัน เป็นเพราะเราแทบไม่เคยมีการศึกษาวิจัยทางด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมอย่างจริงจัง เพราะสำหรับประเทศไทยแล้ว วิทยาศาสตร์เป็น “สินค้านำเข้า” จากอารยธรรมตะวันตกในสมัยที่มิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์และเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ โดยรับเข้ามาทางชนชั้นนำในสังคมเป็นส่วนมาก จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงเริ่มมีการศึกษาวิทยาศาสตร์สำหรับสามัญชน และโดยส่วนมากเป็นการศึกษาเฉพาะตัวความรู้เท่านั้น ส่วนการศึกษาวิทยาศาสตร์ในส่วนของกระบวนการเริ่มขึ้นเมื่อไม่เกินหกสิบปีมานี้เอง

นับจากนั้นเป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และมองว่าประชาชนจะต้องรู้จักวิทยาศาสตร์เท่าที่หน่วยงานภาครัฐอยากให้ประชาชนรู้เรื่องด้วย ไม่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ที่ต้องเป็นไปในแบบแผนเดียวกันว่าคนไทยเริ่มตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกเริ่มหรือไม่ก็คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับนักประวัติศาสตร์ส่วนมากไม่ยอมรับทฤษฎีเหล่านี้แล้ว

วิทยาศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจของหน่วยงานภาครัฐในการสร้างชาติเรื่อยมา โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยมาตลอด (แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตามเพราะคนไทยก็ยังนิยมเล่นหวย ดูหมอดู นับถือการทรงเจ้าเข้าผี) พอเวลาผ่านไปหน่วยงานภาครัฐไทยต้องการจะพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมเช่นประเทศเจริญประเทศอื่น หน่วยงานภาครัฐก็ตั้งทุนการศึกษา เช่น ทุน พสวท. ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และที่สำคัญที่สุดคือการตั้งห้องเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ปกครองให้บุตรหลานของตนได้เข้าเรียนนั่นเอง

พอเรานึกถึงสายวิทย์ เราก็มักจะนึกถึงหลักประกันในการมีงานทำ นึกถึงอาชีพที่มั่นคงไม่ว่าจะเป็นอาชีพแพทย์ อาชีพวิศวกร  นึกถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับนักเรียนในเรื่องความต้องการที่ไม่ตรงกัน ลูกอยากเรียนศิลปะ แต่ทางบ้านอยากให้เรียนหมอฟัน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากและไม่มีทีท่าว่าจะมีทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

เมื่อนึกถึงปัญหาเหล่านี้ตลอดจนนึกถึงความเจ็บปวดของเด็กนักเรียนแล้ว ทำไมหน่วยงานภาครัฐยังคงสนใจปัญหาที่ว่า “ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย?” มากกว่าอยู่?

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากการสอดแทรกวิทยาศาสตร์ลงไปใน “ความเป็นไทย” ที่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ทำให้วิทยาศาสตร์และความเป็นไทยยังคงสอดแทรกไม่เป็นเนื้อเดียวกัน

จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนส่วนมากในวงการวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูวิทยาศาสตร์ มักจะสนใจแต่วิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยสนใจปัญหาสังคมเท่าที่ควร

การที่วงการวิทยาศาสตร์สมาทานความเป็นไทยนั่นเกี่ยวข้องกับที่เราคุยกันมาข้างต้นอย่างไร? นั่นก็เพราะในประเทศอื่นวิทยาศาสตร์กับประชาธิปไตยนั่นดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เราเลยไม่แปลกใจว่าในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ มันจะมีแต่การท่องจำ การทำข้อสอบ การทำการทดลองแบบลวกๆ พอให้มันผ่านไป หรือไม่ก็ในการทำวิจัย นักวิจัยจะต้องเชื่อฟังอาจารย์ อาจารย์จะต้องเชื่อฟังผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จะต้องเชื่อฟังรองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์จะต้องเชื่อฟังศาสตราจารย์ ความคิดก็ไม่ออกนอกกรอบซึ่งผิดกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่องค์ความรู้สามารถเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาถ้ามีหลักฐานใหม่จากการทดลองมาสนับสนุน

เอาเข้าจริงแล้วความเป็นไทยในวิทยาศาสตร์ต่างหาก ที่เป็นปัญหาสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปัญหาว่าคนไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แต่เรายังไม่สามารถทำให้คนไทยมองเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ด้วยตัวของพวกเขาเอง ไม่ใช่การป้อนให้โดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว

รายละเอียดของปัญหานี้จริงๆ มีรายละเอียดที่ซับซ้อนอีกมาก เราอาจจะอธิบายได้สี่ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยไม่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ศาสตร์สาขาวิชาอื่นไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เรามักจะท่องจำว่าเราห้ามกินหวานมันเค็มเพราะจะป่วยเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่เคยมองบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนกินของหวานมันเค็มได้เลย

ประเด็นที่สอง คนในวงการวิทยาศาสตร์ยังไม่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนในวงการวิทยาศาสตร์มักจะมองว่าระบบการปกครองแบบเผด็จการจะทำให้วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะวงการวิทยาศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการที่ให้ความสำคัญกับการปกครองรูปแบบอำนาจนิยมเสียมากกว่า หากวงการวิทยาศาสตร์ไทยเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย จะทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถถูกตรวจสอบได้ และไม่มีอำนาจมากจนเกินไป ไม่ได้เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์จะเข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น

ประเด็นที่สาม ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ล้วนผูกขาดอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งก็เนื่องมาจากหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้อำนาจของวิทยาศาสตร์แต่เพียงฝ่ายเดียว หากมีการศึกษาประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์จากมุมมองอื่นๆ จะมองเห็นถึงผลดีและผลเสียของการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ และจะนำไปสู่การใช้วิทยาศาสตร์ไปในทางที่เป็นผลดีกับประชาชนต่อไป

ประเด็นสุดท้าย และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้นบทความ เรายังไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองในชีวิตประจำวัน เพราะประชาชนยังใช้วิทยาศาสตร์เพียงเพื่อการเลื่อนระดับสถานภาพทางสังคมผ่านการสอบในระดับชั้นต่างๆ ตั้งแต่ประถม มัธยม เป็นต้น เรายังมองไม่เห็นวิทยาศาสตร์ในฐานะระบบการคิดวิธีหนึ่งที่มีเหตุและผล อธิบายปรากฎการณ์ทางธรรมชาติใกล้ตัว และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งใกล้ตัวและไกลตัวได้

สาเหตุที่ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงเป็นเรื่องไกลตัวของคนไทย สุดท้ายก็มีเหตุผลมาจากสังคมไทยของเรานั่นเองที่ได้ดัดแปลงวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับ “ความเป็นไทย” และนับเป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่าปัญหาใดๆ

ทางแก้ปัญหาคือเราควรจะมีการศึกษารูปแบบการปรับวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับความเป็นไทย การศึกษานี้นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการศึกษาวิทยาศาสตร์เชิงสังคม เพื่อค้นหาคำอธิบายที่เหมาะสมสำหรับการปรับเปลี่ยนให้สังคมไทยมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ในที่นี้จะเห็นได้ว่าการศึกษาสังคมนั้นมีความสำคัญ

เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกปัญหาได้ด้วยวิทยาศาสตร์ได้

แม้กระทั่งปัญหาของวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์ก็ตามที

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท