สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาที่ ‘เคารพ’ ประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังปฏิวัติสยาม 2475 พุทธศาสนาไทยไม่ได้ถูกท้าทายด้วยแนวคิดโลกวิสัย (secularism) และกระบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย (secularization) เหมือนช่วงปฏิวัติสังคมการเมืองในโลกตะวันตก จึงไม่เกิดคำถามเรื่องการ “แยกศาสนาจากรัฐ” เมื่อไม่เกิดคำถามดังกล่าว จึงไม่เกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้พุทธศาสนาไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย ทั้งในเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา และในเชิงการผลิตสร้างความคิดทางการเมืองที่อ้างอิงพุทธศาสนา

ฉะนั้น หลัง 2475 จนถึงปัจจุบันจึงไม่มีการแยกศาสนาจากรัฐ ยังมีศาสนจักรของรัฐที่มีบทบาทเป็นกลไกตอบสนองอำนาจและอุดมการณ์ของรัฐ และมีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมการศึกษาตีความธรรมวินัย ซึ่งเป็นลักษณะของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาและอำนาจคณะสงฆ์ที่ขัดกับระบอบเสรีประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว ยังมี “ปัญหาเชิงความคิด” หรือปัญหาเชิงอุดมการณ์ที่สำคัญคือ การเกิดกระแสตีความพุทธศาสนาในทางการเมือง ซึ่งแบ่งได้ 3 แบบ คือ

1. การตีความของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเป็นตัวตั้ง แล้วอ้างอิงความคิดทางพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เช่น การตีความของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ที่ตีความพุทธศาสนาสร้างแนวคิด “ธรรมราชาสมัยใหม่” ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองโดยทศพิธราชธรรม เสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

แต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐธรรมนูญหลัง 2575 เพราะรัฐธรรมนูญช่วงนั้นล้วนเป็น “Pure Foreign Institution” (สถาบันที่แปลกปลอม)  หากแต่หมายถึง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามประเพณีคือพระมนูธรรมศาสตร์มาแต่โบราณ และรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เริ่มสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นต้นมา

2. การตีความของฝ่ายก้าวหน้าที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง แล้วอ้างความคิดพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่นการตีความของปรีดี พนมยงค์ (ในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม”) ที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเสมอภาคว่า

พระอรรถกถาจารย์ย่อมรู้ถึงกฎแห่งการต่อสู้ว่า คนส่วนมากของมนุษยสังคมต้องได้ชัยชนะคนส่วนน้อย เช่น ในทางรัฐสภาเราก็อาจเห็นได้ว่าเสียงข้างมากย่อมชนะเสียงข้างน้อย ฉะนั้น ชัยชนะในการต่อสู้ขั้นสุดท้ายจึงเป็นของสมาชิกส่วนมากของสังคม...เมื่อระบบกดขี่เบียดเบียนหมดไปแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่มนุษยสังคมต้องเข้าสู่ระบบที่ไม่มีการเบียดเบียน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของยุคศรีอารยเมตไตร คือ มนุษยชาติจะอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปรานีระหว่างกัน ผลแห่งการนั้นก็จะทำให้บุคคลมีความเสมอภาคกันในทุกกรณี...ไม่มีความแตกต่างกันในฐานะและวิถีการดำรงชีพ, ไม่มีความแตกต่างกันในการงานทางสมองกับกำลังกาย,ตลอดจนไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ที่อยู่ในเมืองกับชนบท...ศีลธรรมของมนุษย์ก็จะสูงเด่น เพราะไม่มีกิเลสแห่งการเบียดเบียน สันติสุขก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่มนุษยชาติ

3. การตีความที่ยึดธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง ได้แก่ การตีความของพุทธทาสภิกขุ (รวมทั้งพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไป) การตีความเช่นนี้มีสมมติฐานว่า ธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาเป็น “ความจริงสูงสุด” (absolute truth) และเป็น “ความดีสูงสุด” (absolute good) ฉะนั้น ธรรมหรือศีลธรรมจึงสูงกว่าระบบการปกครองใดๆ และเป็นมาตรฐานตัดสินความดีหรือความถูกต้องของทุกระบบการปกครอง

ดังการตีความของพุทธทาสที่ว่า ระบบการปกครองใดๆ ไม่ว่าราชาธิปไตย ประชาธิปไตย หรือเผด็จการสังคมนิยม จะเป็นระบบที่ดีหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ได้จริง ก็ต่อเมื่อเป็นระบบที่มีศีลธรรมหรือถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นอำนาจ เป็นธรรมาธิปไตย แม้กระทั่งการใช้สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองหรือในการแสดงออกใดๆ ก็ต้องมีธรรมหรือศีลธรรมกำกับ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างเห็นแก่ตัวและก่อปัญหาวุ่นวายในสังคม

แต่ในกรอบคิดคุณค่าสมัยใหม่ หรือ “ศีลธรรมทางโลก” (secular morality) ถือว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นหลักการทางศีลธรรมแบบหนึ่งที่มีค่าในตัวมันเอง โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) อีกทีหนึ่ง เพราะเมื่อเราใช้สิทธิ เสรีภาพ ย่อมมี “ขอบเขต” ที่ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ต้องไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และต้องเคารพผู้อื่นในฐานะเป็น “คนเท่ากัน” การกระทำใดๆ ที่เกินเลยขอบเขตขี้ย่อมขัดกับหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะฉะนั้น การใช้สิทธิ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องของการทำอะไรตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้โดยไม่มีขอบเขตอย่างที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ แล้วอ้างว่าการใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้การกำกับของธรรมหรือศีลธรรมศาสนาแบบที่พระสงฆ์และชาวพุทธชอบพูดกัน

เมื่อพิจารณาการตีความทั้ง 3 แบบ จะเห็นว่าแบบที่ 2 เป็นการตีความที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งหรือเป็นสิ่งสูงสุด แล้วนำความคิดพุทธศาสนาในบางเรื่องมาสนับสนุน การตีความเช่นนี้ย่อมไม่นำไปสู่การสร้างทัศนะที่ผิดๆว่า ระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคไม่มีค่าในตัวมันเอง แต่เป็นการยืนยันการ “มีค่าในตัวเอง” ของประชาธิปไตยและหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แล้วนำความคิดบางอย่างของพุทธศาสนามาใช้เป็นเพียง “เครื่องมือ” สนับสนุนเท่านั้น ไม่ได้ถือว่าธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาสูงส่งเหนือกว่าคุณค่าของประชาธิปไตย และหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแต่อย่างใด

แต่การตีความแบบยึดธรรมหรือศีลธรรมเป็นตัวตั้ง หรือเป็นความจริงสูงสุด ความดีสูงสุด ย่อมนำไปสู่การสร้างทัศนะที่ผิดๆ ว่า ระบอบประชาธิปไตย และหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง จะมีค่าหรือเป็นสิ่งที่ดีได้ก็ต่อเมื่อมีธรรมหรือศีลธรรมกำกับเท่านั้น

ฉะนั้น การตีความเช่นนี้ จึงมีความหมายเป็นการนำความจริงและความดีสูงสุดตามความเชื่อทางศาสนานำการเมือง หรือเป็นอุดมคติสูงกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยในตัวมันเอง ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่ที่จะนำความจริงหรือความดีสูงสุดตามความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุดมการณ์ในการปกครอง หรือกำกับระบบการปกครองในความหมายที่เหนือกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรืออุดมการณ์ปกครองแบบทางโลกไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น เมื่อถือกันว่าธรรมหรือศีลธรรมคือคุณสมบัติของ “ตัวบุคคล” หรือคณะบุคคลที่เป็น “คนดี” จึงแทนที่ธรรมหรือศีลธรรมจะเป็นหลักประกันความมั่นคงแก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ธรรมหรือศีลธรรมไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสมอไป

พูดอีกอย่างว่า เมื่อธรรมหรือศีลธรรมเป็นสิ่งสูงส่งเหนือหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในตัวมันเอง ธรรมหรือศีลธรรมจึงไม่อยู่ในสถานะที่ต้องเคารพหลักการและอุดมการณ์การประชาธิปไตย ฉะนั้น คนดีที่มีธรรมหรือศีลธรรม จึงอยู่เหนือหรือมีอภิสิทธิ์เหนือหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้เสมอไป

คนดีที่มีธรรมหรือศีลธรรมแบบพุทธศาสนา จึงคล้ายกับ “คนดีที่กตัญญูต่อแผ่นดิน” ซึ่งเป็นคนดีที่ยึดถือ “ความดี” ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการเคารพหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างจำเป็น ฉะนั้น เมื่อคนดีประเภทนี้เห็นว่ามีปัญหาการเมือง หรือบ้านเมืองวิกฤต พวกเขาก็ย่อมสามารถใช้อำนาจในฐานะคนดีผู้มีธรรมหรือศีลธรรมและกตัญญูต่อแผ่นดินทำรัฐประหารแก้วิกฤต และนำประเทศชาติเดินหน้าต่อไปในเส้นทางที่พวกตนกุมอำนาจนำทางการเมืองได้เสมอ

เท่ากับว่า การตีความพุทธศาสนาทางการเมืองภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่ขัดหลักเสรีประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน ย่อมหนีไม่พ้นที่พุทธศาสนาจะถูกใช้ในทางเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการประชาธิปไตยเสมอไป

ฉะนั้น ถ้าต้องการปลดปล่อยพุทธศาสนาจาการถูกใช้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ และตีความธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาเฉพาะในแง่สนับสนุนการเคารพหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่านั้น ไม่ถือว่าธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาสูงส่งเหนือกว่าประชาธิปไตย และหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

แต่ถือว่าธรรมหรือศีลธรรมพุทธศาสนาต้องถูกอ้างอิงและประยุกต์ใช้ในทางสังคมอย่าง “เคารพ” ประชาธิปไตย และหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

0000

   
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท