Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ และองค์กรภาคี จำนวน 28 องค์กร ออกแถลงการณ์จี้ให้เปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการสิทธิฯ หลังปฏิเสธการแถลงข้อเสนอของเครือข่ายฯ ผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาล

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้ “วอล์กเอาต์” เดินออกจากห้องประชุมสิทธิมนุษยชนที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดขึ้นในโรงแรมบุรีศรีภู บูติค อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อประท้วงการทำหน้าที่ของ วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านอ่านแถลงการณ์เรียกร้องรัฐหยุดดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ในห้องประชุม ทำให้ชาวบ้านต้องมาอ่านแถลงการณ์ด้านนอก หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จแล้ว ได้มีการเรียกร้องให้ปลดประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คนนี้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. (แฟ้มภาพ)

จากนั้น เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ และองค์กรภาคี จำนวน 28 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง วัส ติงสมิตร ไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยแถลงกรณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัด เวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประชาชนจากเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ รวมถึงข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ เข้าร่วมกว่า 300 คน

การประชุมดังกล่าวมีการวิเคราะห์สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ และการระดมข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดใหม่ได้นำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โอกาสนี้ทางเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ได้จัดทำข้อเสนอเตรียมออกเป็นแถลงการณ์เพื่อนำผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาล ให้หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และด้วยหวังจะให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับทราบเนื้อหาสาระของข้อเสนอในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย โดยได้ประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิฯ บางท่านไว้ล่วงหน้าเพื่อขอช่วงเวลาก่อนการปิดเวทีการประชุมในการจัดแถลงข่าวนี้ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจาก วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยท่าทีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาสาระในคำแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น มิได้กระทบกับคณะกรรมการสิทธิฯชุดนี้แต่อย่างใด หากเป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเท่านั้น

เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรู้สึกไม่พอใจต่อท่าทีดังกล่าว จึงได้ประท้วงนายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วยการเดินออกจากห้องประชุมก่อนที่จะกล่าวปิดการประชุมแล้วเสร็จ จากนั้นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ทั้งหมดได้ใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ได้มีการกล่าวตำหนิท่าทีที่ไม่เหมาะสมของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งทราบมาว่าในเวที กสม.พบประชาชนที่ได้จัดไปก่อนหน้านี้ในภาคอื่น ๆ ก็เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่จะทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้จึงมีฉันทามติร่วมกันว่าไม่สามารถยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ วัส ติงสมิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อีกต่อไป เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นที่พึ่งของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศนั้นเกิดความมัวหมอง ไร้ความสง่างาม จึงขอตำหนิการปฎิบัติหน้าที่ของนายวิส ติงสมิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมดแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิฯต่อไป เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และเรียกความศรัทธา ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาอีกครั้ง

สำหรับองค์กรประชาชนที่ร่วมแถลงการณ์เรื่อง ขอตำหนิ และขอให้เปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นี้ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคใต้ เครือข่ายชนเผ่าภาคใต้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ เครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา เครือข่ายชาวเลภาคใต้ เครือข่ายชาติพันธุ์ชนเผ่ามอแกน-มอแกลน สภาชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดพังงา เครือผู้ประสบภัยสีนามิ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิอันดามัน เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย มูลนิธิป่าทะเลเพื่อชีวิต โครงการพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่ เครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศภาคใต้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา สมาคมรักษ์ทะเลกระบี่ เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เครือข่ายพลเมือง และเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานสงขลา

แถลงการณ์หยุดละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้

สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์ซึ่งผู้จัดการออนไลน์ได้นำมาเผยแพร่ด้วยนั้น  ระบุว่า ชาวบ้านเรียกร้องให้หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา เช่น
       
1. นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา
 
2.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างมีนัยในช่วงปีที่ผ่านมา
 
3.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่
 
4.นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ อันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่
 
5.การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆเช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ
       
6. สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีแนวทาง หรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ทั้งที่โดยหลักการแล้วการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่างๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่างๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน และสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
       
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่า นโยบาย และหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบ หรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมือง และสังคมในภาคใต้ อันเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่
       
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น และให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง         

เลขาธิการ กป.อพช.ใต้ เขียนผิดหวังปธ.กสม.คนนี้จริงๆ 

 
ผมรู้สึกผิดหวังกับบทบาทของประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนนี้...จริงๆครับ
 
การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ถือเป็นพัฒนาการของวงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย ผลงานของคณะกรรมการฯชุดแรกที่มี อ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ได้สร้างต้นแบบของการติดตาม ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชนคนฐานรากในสังคมไทยได้อย่างสวยงาม รวมถึงการแสดงบทบาทของคณะกรรมการแต่ละท่าน ไม่ว่าคุณสุนีย์ ไชยรส ,คุณวสันต์ พานิชย์ ก็สร้างความโดดเด่นในการทำหน้าที่จนสร้างผลสะเทือนต่อองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำการละเมิดสิทธิอย่างประจักษ์ โดยเฉพาะด้านสิทธิชุมชนที่ได้ถูกกระทำและละเมิดมากขึ้นตามยุคสมัย จนมาถึงยุคของ อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ก็ได้ได้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ตามบทบาท แม้อาจจะถูกตั้งคำถามเปรียบเทียบกับการทำหน้าที่ในชุดของ อ.เสน่ห์ ที่ได้สร้างบรรทัดฐานไว้ค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ความหวังของคณะกรรมการฯชุดนี้ ก็ตกมาอยู่ที่กรรมการอย่าง นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ซึ่งได้ช่วยกอบกู้สถานะของคณะกรรมการฯชุดนี้ได้ และโดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความศรัทธา และเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของคุณหมอท่านนี้อย่างไม่มีข้อระแวงสงสัย ซึ่งรวมถึงทีมงานที่เป็นอนุกรรมการสิทธิชุมชนอีกหลายท่านก็มีบทบาทส่งเสริมกันอย่างน่าศึกษายิ่ง จากการทำงานของคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ยิ่งสร้างรูปแบบและกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และมีลูกเล่นลูกชนที่มีศิลปะเป็นอย่างยิ่ง จนผมต้องเฝ้าสังเกตุกลยุทธ์การตรวจสอบของคุณหมอท่านนี้ละเอียดในท่วงทำนอง
 
แต่เมื่อมาถึงวาระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 3 ที่มี วัส ติงสมิตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นบุคคลที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่จะต้องเฝ้าติดตามการปฏิบัติงานของกลไกนี้อย่างหนีไม่พ้น ผมก็แอบหวังไว้ในใจว่าจะเป็นที่พึ่งพาของประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิได้ต่อไป
ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องอาศัยความกล้าหาญของผู้นำองค์กรเป็นที่ตั้ง เพื่อนำพาขบวนของการตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนของประชาชน และสิทธิด้านอื่นๆ ไปให้ได้ ทั้งที่ในความจริงผมแทบไม่มีความหวังกับคณะกรรมการฯทั้ง 7 ท่านนี้เท่าใดนัก ยกเว้นคุณเตือนใจ ดีเทศน์ และคุณอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะที่ชีวิตและการงานของทั้งสองท่านที่ยึดโยงกับผู้ไร้สิทธิ์มาอย่างยาวนาน (ทั้งที่ผมทราบเป็นการภายในว่าสองท่านนี้ก็ไม่ได้ทำงานอย่างราบรื่นนัก)
 
วันนี้ผมมีโอกาสได้ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และก่อนนี้ก็ได้เตรียมการจัดเวทีกรรมการสิทธิพบประชาชน ในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในฐานะของเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ด้วยหวังว่าจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต ทั้งที่ทราบว่าในเวทีดังกล่าวก่อนหน้าที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ได้เกิดปัญหาการจัดเวทีที่ไม่ราบรื่นนัก โดยเฉพาะการแสดงท่าทีของประธานคณะกรรมการฯ คือ วัส ติงสมิตร แต่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นท่าทีที่ไม่พึงปราถนาเช่นนี้ในเวทีภาคใต้ด้วยเช่นกัน การปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ท่านได้เชิญมาในครั้งนี้ได้ขัดกับบทบาทหน้าที่ของการเป็นประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเกียรติภูมิระดับชาติ
 
ผมจึงรู้สึกผิดหวังกับบทบาทของ วัส ติงสมิตร เป็นอย่างยิ่ง และอาจจะนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรนี้ในอนาคตอีกด้วย ต่อเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลากรที่อยู่ในกลไกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งหมดว่าจะร่วมกันปกป้อง และรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรให้สง่างาม เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิ และรวมถึงตัวกระผมเองได้อย่างไร...คิดกันเถอะครับ
 
สมบูรณ์ คำแหง
เลขาธิการ กป.อพช.ใต้
25 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net