Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หากย้อนดูประวัติศาสตร์การปฏิรูปศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปคริสต์ศาสนาหรือการปฏิรูปพุทธศาสนาล้วนเกิดจาก “ผู้นำความคิดทางศาสนา” และ “เนื้อหา” ของการปฏิรูปก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและโครงสร้างสถาบันศาสนาอย่างมีนัยสำคัญ

การปฏิรูปคริสต์ศาสนา(Reformation)ในศตวรรษที่ 16 นำโดย Martin Luther ซึ่งเป็นนักคิดทางคริสต์ศาสนาฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น เขาเริ่มด้วยการประท้วงอำนาจคริสต์ศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่เรี่ยไรขูดรีดประชาชน ด้วยการขาย “บัตรอภัยบาป” และเสนอความคิดว่า บุญบาปไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายกันได้และไม่ได้เกิดจากจำนวนเงินบริจาคแต่เกิดจากเจตนา คนรวยบริจาคเงินมหาศาลก็ได้บุญน้อยหากมุ่งอวดความมั่งคั่ง คนจนบริจาคน้อยก็ได้บุญมากหากเจตนาบริสุทธิ์

การประท้วงดังกล่าวสะท้อนลักษณะพื้นฐานสำคัญบางอย่างของศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมทางปัญญาแบบตะวันตกที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ศรัทธา” กับ “เหตุผล” ดังที่ไมเคล ไรท์ อธิบายไว้หนังสือ “ตะวันตกวิกฤตคริสต์ศาสนา” ว่า

ฝ่ายกรุงโรมเน้น “เทพปกรณัม” และคำอธิบายของอรรถกถาจารย์(Church Fathers) ในขณะที่ฝ่ายปฏิรูปเน้น “เหตุผล” และการศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองโดยไม่เชื่ออรรถกถาจารย์ ความขัดแย้งระหว่าง “ผี”(หรือเทพปกรณัม)กับ “เหตุผล” (หรือปรัชญา) ที่แก้ไม่ตกนี้ทำให้ความคิดของตะวันตกกระท่อนกระแท่นไม่มั่นคง(Unstable) เพราะเหยียบเรือสองแคม ซึ่งสร้างความทุกข์ ชวนทะเลาะ แต่อีกนัยหนึ่งทำให้ความคิดแบบตะวันตกสร้างสรรค์ เพราะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเต้นไปหาจุดยืนใหม่ตลอดเวลา(Dynamic)

ผลของการประท้วงทำให้เกิดการแยกนิกายใหม่คือ “พวกปฏิรูป” (Protestant) ออกจาก “พวกคงเดิม” (Roman Catholic)

ส่วนการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรัชกาลที่ 4 ไม่เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่นก่อตั้งนิกายใหม่คือ “ธรรมยุติกนิกาย” (กลุ่มเดิมถูกเรียกว่า “มหานิกาย”) และนำมาสู่การสร้างระบบการปกครองสงฆ์แบบราชการโดยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น ในทางเนื้อหาความคิดยังเป็นการปฏิเสธความเชื่อเก่าที่มีอิทธิพลมานาน นั่นคือความเชื่อทางจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ และกลับไปหาพระไตรปิฎกโดยเน้นการตีความให้มีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพของรัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้รู้คัมภีร์พุทธศาสนา อีกทั้งยังศึกษาภาษาอังกฤษและความรู้วิทยาศาสตร์ขณะผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” นานถึง 27 พรรษา

การตีความพุทธศาสนาแบบเน้นความมีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ถูกพัฒนาให้เป็นระบบหรือ “เป็นแบบแผน” ชัดเจนมากขึ้นโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญณวโรรส พระอนุชาของรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งเรื่องการวางระบบการปกครองคณะสงฆ์ ระบบการศึกษาสงฆ์และการศึกษาชาติ รวมทั้งยังแต่งตำราเรียนพุทธศาสนาจำนวนมากและงานวิชาการอื่นๆทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีเกี่ยวกับพุทธศาสนา การตีความคำสอนพุทธศาสนาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น

หากประเมินความสำเร็จของการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรัฐไทยในยุคปรับตัวเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ภายใต้บริบทยุคล่าอาณานิยม ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การนำพุทธศาสนามาเป็นรากฐานทางปัญญาในการต่อต้านคริสต์ศาสนาของมิชชันนารี และการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมความเป็นไทย

แต่ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ การที่รัฐสถาปนาระบบปกครองสงฆ์แบบราชการขึ้นมา เท่ากับรัฐได้สถาปนา  “โครงสร้างการเมืองสงฆ์” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการกำหนดให้พระสงฆ์ทั่วประเทศอยู่ภายใต้ระบบที่มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจและผลประโยชน์อื่นๆพ่วงมาด้วย และระบบปกครองสงฆ์เช่นนี้ก็ทำ “หน้าที่ทางการเมือง” โดยการเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมความคิด ความประพฤติของพระสงฆ์ทั่วประเทศไม่ให้กระด้างกระเดื่องหรือท้าทายอำนาจรัฐ และทำหน้าที่เป็นกลไกตอบสนองนโยบายและสนับสนุนอุดมการณ์ราชาตินิยมซึ่งเป็นอุดมการณ์สำคัญสูงสุดของรัฐสยามไทย

ภายใต้โครงสร้างการเมืองสงฆ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด “การเมือง” ภายในวงการสงฆ์เองและการเมืองของสงฆ์ที่พัวพันกับการเมืองทางโลกมาตลอดทุกยุคสมัย เช่น เมื่อแรกแยกนิกาย ก็เริ่มก่อให้เกิด “ความรู้สึก ไม่เท่าเทียม” ระหว่างนิกาย และเมื่อสถาปนาระบบปกครองสงฆ์แบบราชการขึ้นมา “ความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง”ก็เกิดขึ้น เพราะกฎหมายสงฆ์ฉบับแรก (ฉบับ ร.ศ.121) กำหนดให้ฝ่ายปกครองสายธรรมยุตมีอำนาจปกครองพระมหานิกายได้ แต่ฝ่ายปกครองสายมหานิกายปกครองพระธรรมยุตไม่ได้ เมื่อพระธรรมยุตถูกกล่าวหาเรื่องทำผิดพระธรรมวินัยก็มีอิสระพิจารณาไต่สวนกันเองได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของกรมสังฆการีใน “มาตรฐานเดียว” กับพระฝ่ายมหานิกาย เป็นต้น

ความไม่เท่าเทียมระหว่างนิกายดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนให้เกิด “การชุมนุมทางการเมืองสงฆ์” ครั้งแรกหลังการปฏิวัติสยาม 2475 โดยในปี 2476 ได้มีตัวแทนพระสงฆ์จาก 12 จังหวัดออกมารวมตัวเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองสงฆ์ให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยของบ้านเมือง จนทำให้เกิดกฎหมายสงฆ์ ฉบับ 2484 ที่แยกอำนาจปกครองสงฆ์ออกเป็นฝ่ายบริหาร (สังฆมนตรี) นิติบัญญัติ (สังฆสภา) ตุลาการ(คณะวินัยธร) แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมยังอยู่ เนื่องจากสัดส่วนของพระฝ่ายธรรมยุตที่ดำรงตำแหน่งต่างๆยังมากกว่าพระฝ่ายมหานิกาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงพระธรรมยุตมีจำนวนน้อยกว่าพระมหานิกายมาก

ระบบปกครองสงฆ์ที่พยายามเลียนแบบประชาธิปไตย(แต่ไม่ใช่) จึงได้กลายเป็นเวทีความขัดแย้งของการเมืองสงฆ์อีกระลอกและมีการนำการเมืองสงฆ์ไปโยงกับการเมืองทางโลก เป็นเหตุให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้เป็นข้ออ้างยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ ฉบับ 2484 และตรากฎหมายปกครองสงฆ์ ฉบับ 2505 ซึ่งเป็นการนำระบบมหาเถรสมาคมมาใช้แทน เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบบเผด็จการของทางบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีการจับพระพิมลธรรม(อาจ อาสโภ)ติดคุกในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 5 ปี และมีพระรูปอื่นๆในฝ่ายพระพิมลธรรมติดคุกในข้อหาเดียวกันด้วย ที่รอดคุกส่วนหนึ่งก็หนีไปหลบอยู่ที่ต่างจังหวัด

ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงตุลา 2516 ถึง ตุลา 2519 ขณะที่การเมืองทางโลกได้แยกเป็น “ฝ่ายซ้าย” และ “ฝ่ายขวา” ในวงการสงฆ์ก็มีการแยกเป็น “พระการเมืองฝ่ายซ้าย” และ “พระการเมืองฝ่ายขวา” ด้วย

พระการเมืองฝ่ายซ้ายคือกลุ่มยุวสงฆ์ องค์การสหธรรมิกเป็นต้น ที่นอกจากจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกระบบมหาเถรสมาคมและปฏิรูปการปกครองสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้มีระบบสังฆสภา มีการเลือกตั้ง “ผู้แทน” พระสงฆ์จากจังหวัดละ 1 รูป มาเป็นสมาชิกสังฆสภาแล้ว กลุ่มพระการเมืองฝ่ายซ้ายยังเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับขบวนการนักศึกษา ขบวนการชาวนา ร่วมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและเสนอว่าหลักพุทธศาสนาไม่ได้ขัดกับแนวคิดสังคมนิยมในเรื่องสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคมเป็นต้น

ส่วนพระการเมืองฝ่ายขวาที่โดดเด่นคือกิตติวุฑโฒภิกขุ เจ้าของวาทะ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นอกจากจะไม่บาปแล้วยังได้บุญอีกด้วย จึงเป็น “หน้า” ของชาวไทยควรทำ

ในหนังสือ “พุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม” ของสมบูรณ์ สุขสำราญ ได้จัดให้ท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ในประเภท “พระการเมืองฝ่ายขวา” ด้วย เนื่องจากท่านคือผู้นำกระแสปฏิกิริยาตอบโต้ในด้านหลักการ(Doctrinal Reaction) โดยในทางหลักการท่านเห็นว่าพระสงฆ์ควรมีบทบาทสอนความคิดที่ถูกต้องทางการเมืองแก่ประชาชนเท่านั้น ไม่ควรออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างฆราวาส ส่วนความคิดทางการเมืองที่ควรจะเป็นคือ “ธรรมิกสังคมนิยม” ที่มีลักษณะประนีประนอมระหว่างสังคมนิยมกับประชาธิปไตย แต่สาระจริงๆแล้วยังมีลักษณะแบบอนุรักษ์นิยมบนฐานความเป็นไทยที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (งานศึกษาของ Peter A. Jackson ก็มองว่าความคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาสว่ามีจุดอ่อนที่ความเป็นอนุรักษ์นิยม) ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะถูกหยิบมาใช้สนับสนุนการเมืองของฝ่ายขวา แม้ว่าจะมีฝ่ายขวาจัดบางคนกล่าวหาว่าท่านพุทธทาสเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม

จะว่าไปพระการเมืองฝ่ายขวาในอดีตก็คือ พระปัญญาชน ปราชญ์ หรือพระมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของชนชั้นกลางในเมือง เหมือนกับพระเสื้อเหลืองในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนไม่มากแต่เป็นพระที่มีชื่อเสียง พระเซเลบที่คนชั้นกลางในเมืองนิยมนับถือ

ส่วนพระฝ่ายซ้ายในอดีตไม่ใช่พระนักปราชญ์ หรือพระมีชื่อเสียง ส่วนหนึ่งเป็นพระนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งคือพระบ้านๆ ซึ่งพระเหล่านี้ล้วนมีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวนายากจน กลุ่มพระฝายซ้ายมีจุดอ่อนที่การจัดองค์กรแบบรวมตัวกันหลวมๆ ทำให้ขาดเอกภาพและไม่มีพลังเท่าที่ควร คล้ายกับ “พระฝ่ายเสื้อแดง” ที่มีที่มาและการจัดองค์กรในลักษณะเดียวกัน แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือพระฝ่ายซ้ายมีอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนข้างชัดเจนกว่า

แต่พระฝ่ายเสื้อแดง แม้ในการเมืองทางโลกจะสนับสนุนการเลือกตั้งหรือสนับสนุนข้อเรียกร้องทางการเมืองของเสื้อแดง แต่ในการเมืองสงฆ์กลับเรียกร้องพุทธศาสนาประจำชาติและปกป้องระบบมหาเถรสมาคม สุดท้ายพระกลุ่มนี้ก็แปรสภาพมาเป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่สนับสนุนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบัน ขณะที่พระการเมืองฝ่ายซ้ายมีด้านที่ตั้งคำถามต่ออำนาจมหาเถรสมาคม เช่นเสนอให้ยกเลิกระบบมหาเถรสมาคมและเป็นพลังสำคัญในการชุมนุมใหญ่ที่ลานอโศกเมื่อกดดันมหาเถรสมาคมให้ “คืนสมณศักดิ์” แก่พระพิพลธรรมที่ศาลฎีกาตัดสินให้พ้นคุกด้วยเหตุผลว่า จำเลยไม่ได้มีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ที่ติดคุกฟรี 5 ปี ให้จำเลยในฐานะที่เป็นผู้คงแก่เรียนในพระพุทธศาสนาคิดเสียว่าเป็น “ผลกรรมเก่า” ก็แล้วกัน การชุมนุมของพระฝ่ายซ้ายเป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคมต้องลงมาเจรจาและยอมคืนสมณศักดิ์แก่พระพิมลธรรม

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ บทบาทเป็นแกนนำและการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายขวาอย่างกิตติวุฑโฒ มหาเถรสมาคมไม่สามารถเอาผิดใดๆได้ (ขณะที่พระแกนนำฝ่ายซ้ายเช่นกลุ่มพระมหาจัด คงสุข ถูกไล่ออกจากวัด) เช่นเดียวกับพระพุทธอิสระในปัจจุบันที่มหาเถรสมาคมไม่สามารถทำอะไรได้ ยิ่งกว่านั้น “ความคิดทางการเมือง” ของท่านพุทธทาสยังถูกนำมาอ้างอิงใช้อย่างทรงพลังในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ พธม.ถึง กปปส.แม้กระทั่งยกมาอ้างสนับสนุนการรับร่างรัฐธรรมนูญ คสช.

ยังมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อธรรมกายซึ่งถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นฝ่ายเสื้อแดงหรือสนับสนุนพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้แสดงออกถึงการสนับสนุนประชาธิปไตย แต่มีศักยภาพสูงในการใช้กลไกอำนาจมหาเถรสมาคมและความสัมพันธ์กับนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และอำนาจทุนในการบรรลุเป้าหมายทางศาสนาของตน โดยขยายเครือข่ายการเผยแผ่ศาสนาไปยังวัดต่างๆ และสถานศึกษาของรัฐตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งก็เป็นบทบาททางศาสนาภายใต้ระบบปกครองสงฆ์ไทยที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางศาสนาในกรอบรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State) เช่นกัน หรือพูดง่ายๆคือเป็นบทบาทที่เป็นส่วนขยายอำนาจมหาเถรสมาคมมากกว่าที่จะเป็นบทบาทท้าทายอำนาจมหาเถรสมาคม

แล้วในที่สุด “แกนกลาง” ของการเมืองสงฆ์ที่แยกไม่ออกหรือผสมปนเปกับการเมืองทางโลกก็คือ “ปมแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช” ที่โยงกับปัญหาเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คำสอนและวิถีปฏิบัติแบบธรรมกาย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาระหว่างขวากับซ้ายในการเมืองสงฆ์และในการเมืองทางโลก แต่เป็นปัญหาความไม่ลงรอยระหว่าง “ขวาด้วยกัน” ทั้งในการเมืองสงฆ์และการเมืองทางโลก

กลุ่มพระพุทธะอิสระ ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นขวาทั้งในการเมืองสงฆ์และการเมืองทางโลกปะทะกับขวามหาเถรสมาคมและกลุ่มพระการเมืองขวาทีปกป้องมหาเถรสมาคมและสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” ขณะที่สันติอโศกซึ่งดูเหมือนจะเป็นซ้ายในการเมืองสงฆ์เพราะปฏิเสธอำนาจมหาเถรสมาคม ไม่ขึ้นต่อการปกครองมหาเถรสมาคม แต่กลับยึดอุดมการณ์การเมืองทางโลกที่ “ขวาจัด” กระทั่งตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการยึดอำนาจของ คสช.และการใช้อำนาจตาม ม.44 ว่าเป็น “ประชาธิปไตยอาริยะแบบพุทธ” ที่ถูกต้องดีงามเหมาะกับยุคสมัยที่สุด

สภาวะความขัดแย้งยุ่งเหยิงระหว่างการเมืองสงฆ์กับการเมืองทางโลกที่เราเผชิญอยู่นี้ กำลังดำเนินไปภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช.ที่เพิ่งผ่านประชามติไทยๆ ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาปกครองประเทศที่ฟรีและแฟร์ตามระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐธรรมนูญกระชับอำนาจฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมที่เกิดจากข้ออ้าง “การรักษาความสงบเรียบร้อย” เพื่อยึดอำนาจรัฐ และจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่วาง “กฎรักษาความสงบเรียบร้อย” ในการปกครองบ้านเมืองต่อไป

ทว่าตามหลักการของสากลโลก การสร้างความสงบหรือสันติภาพทางสังคมและการเมือง จำเป็นต้องเดินตามกติกาที่ฟรีและแฟร์ตามระบอบประชาธิปไตย ยิ่งเป็นประชาธิปไตยมาก ความเป็นไปได้ที่จะสงบสันติก็ยิ่งมีสูง จึงยากที่เราจะจินตนาการถึงความสงบสันติภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎรักษาความสงบเรียบร้อยฉบับนี้ว่าจะเป็นไปได้อย่างถาวรอย่างไร

เอาแค่ปัญหาการเมืองสงฆ์เรื่องปมแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เรื่องปัญหาวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นปัญหาของฝ่ายขวาทางการเมืองสงฆ์และการเมืองทางโลกด้วยกัน ก็ยากที่จะให้เราจินตนาการเห็นความสงบแล้ว ถ้าเดินหน้าเรื่องปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้การใช้กลไกรัฐธรรมนูญเพื่อจัดการกับ “การบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” โดยกลุ่มคนที่จะปฏิรูป(พุทธะอิสระ ไพบูลย์และแนวร่วม)ที่นอกจากจะไม่เคยแสดงให้เห็นความคิดก้าวหน้าใดๆในเรื่องบทบาทรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ต้องเป็นรัฐโลกวิสัยแล้ว ยังไม่มีบุคลิกภาพความเป็น “ผู้นำความคิดทางศาสนา” ที่อาจเทียบได้กับผู้นำทางความคิดในการปฏิรูปศาสนายุคก่อนเลย

ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสร้างเงื่อนไขให้เกิด “ความรู้สึกไม่เท่าเทียม” ระหว่างศาสนาขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ยิ่งทำให้มองเห็นได้ว่าแม้แต่ความสงบปรองดองทางศาสนาก็เกิดขึ้นได้ยาก ยังไม่ต้องพูดถึงความสงบปรองดองในการเมืองทางโลกที่ยิ่งยากจะจินตนาการถึง    

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net