GEN SAD: คนรุ่นใหม่ในดินแดนแสนดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังจากช็อคกับผลประชามติมาหลายวัน ฉันนั่ง #ดึงสติ อยู่พักใหญ่ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา นึกไปนึกมาก็รู้สึกโคตรเศร้าตอนที่นึกขึ้นได้ว่า เราจะต้องอยู่กับแผนยุทธศาสตร์ชาติเต่าล้านปีไปอีกสองทศวรรษ พอเลื่อนดูนิวส์ฟีดในเฟซบุ๊คก็มีโพสต์บ่นของเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันอยู่เต็มไปหมด และจะว่าไปแล้วก็เหมือนเป็นตลกร้าย ที่คนเจ็น Z อย่างพวกเราดูจะโคตร SAD เศร้า เหงา หว่อง กับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเองในประเทศนี้

ถ้าจะว่ากันตามตรง ฉันจำไม่ค่อยได้หรอกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นยังไง ฉันแค่มารู้แบบงูๆ ปลาๆ เอาทีหลังในคาบประวัติศาสตร์ว่าหลังจากนั้นผู้ใหญ่เขาก็ร่างรัฐธรรมนูญกัน (แถมเริ่มใช้ในปีที่ฉันเกิดเสียด้วยสิ เท่จัง) พอมาถึงช่วงที่ฉันเริ่มจำความได้ เขาก็บอกกันว่าประเทศไทยของเราจะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย แถมเป็นแบบอย่างด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคแห่งอาเซียนอีก ตอนนั้นอะไรๆ มันก็ดูดีไปซะหมด ฉันก็เลยโตมาด้วยความรู้สึกว่าประเทศเรานี่เวรี่คูล เวรี่เจ๋ง ครูในคาบก็สอนอีกว่าเราผ่านอะไรมาเยอะ ทั้งเดือนตุลา เดือนพฤษภา แต่เราคงไม่ย้อนกลับไปจุดนั้นแล้วล่ะ

ทุกอย่างดูจะไปได้สวย จนกระทั่งการเมืองไทยเริ่มถึงจุดแตกหัก ความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่การประท้วงยืดเยื้อ ซึ่งลงเอยด้วยการรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นฉันอยู่ป.สามเอง ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น เห็นแค่รถถังวิ่งอยู่บนถนนในทีวี แล้วก็มีคนเอาดอกไม้ไปให้ด้วย ฉันก็นึกสงสัยแบบเด็กๆ ว่า “เอ้อ ง่ายดีจัง แค่เอารถถังมาวิ่งบนถนนก็เป็นนายกได้แล้ว” ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจว่ารัฐประหารคืออะไร รู้แค่ว่าเรามีนายกคนใหม่ มีรัฐธรรมนูญใหม่ (ซึ่งฉันก็ไม่เข้าใจอีกนั่นแหละ ว่ามันต่างจากเดิมยังไง) หลังจากนั้นภาพจำของฉันก็มีแต่ม็อบ การเลือกตั้ง นายกคนใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายก เลือกตั้งอีก ได้นายกคนใหม่อีก ถอดถอนอีก แล้วก็ได้นายกอีกคน (ที่ฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาเข้ามาได้ยังไง)

ฉันเริ่มมารู้เรื่องรู้ราวจริงๆ ก็เมื่อปี 2553 นี่แหละ ตอนนั้นฉันเพิ่งเข้าม.หนึ่งไปหมาดๆ ก็มีข่าวว่าเขา “กระชับพื้นที่” กัน ตอนนั้นฉันก็ได้ยินนะว่ามีคนตาย แต่วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ถูกตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และถูกโปรแกรมเข้าโสตประสาทของฉันได้ดีกว่า ฉันเลยไม่ค่อยสนใจที่จะติดตามอ่านข่าวบ้านเมืองเท่าไหร่ และไม่ได้รู้สึกรู้สากับความโหดร้ายป่าเถื่อนในการสังหารหมู่ครั้งนั้นเลย หลังจากนั้นเราก็มีเลือกตั้ง ได้นายกคนใหม่ และฉันก็คิดว่ามันคงจบอยู่แค่นั้น คิดว่ารัฐประหารที่ฉันเห็นตอนป.สาม จะเป็นครั้งเดียวในชีวิต

ที่ไหนได้ ฉันลืมนึกไปว่าประเทศนี้แม่งโคตรเซอร์เรียล

เราอยู่กับม็อบมากหน้าหลายตากันมาอีกประมาณสามปี ฉันก็ยังโลกสวยเหมือนเดิมว่ามันจะจบ ใครบอกว่าจะมีรัฐประหารอีกรอบฉันก็ไม่เชื่อ (ก็ลุงประยุทธ์อุตส่าห์บอกเองว่าจะไม่รัฐประหารนี่นา ฉันก็เชื่อสิ ปั๊ดโธ่) แต่สุดท้ายมันก็เกิดขึ้น แถมยังอยู่ยิงยาวมาสองปี และดูเหมือนว่าลุงแกจะฝากร่องรอยอารยธรรมไว้กับการเมืองไทยอีกนาน ดูจากคณะส.ว.ลากตั้งที่จะอยู่กับเราไปอีกอย่างต่ำห้าปี กับโร้ดแมพยี่สิบปีที่ลุงๆ ผู้หวาดกลัวเกมโปเกม่อนโก บอกว่าจะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าทันโลก

คนเจ็นแซดเติบโตมาในช่วงเวลาแห่งความหวัง แต่พวกเราก็ถูกหักอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความหวังที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างก็เหือดหายไปทุกครั้งที่ประเทศเหนือจริงแห่งนี้บังเอิญไปค้นพบ “เดอะนิวโลว์” หรือ “จุดตกต่ำจุดใหม่” ไปเรื่อยๆ ถ้าเอาปีสี่ศูนย์เป็นจุดตั้งต้นก็จะเห็นว่า เราค่อยๆ ไถลจาก “เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย” กลายมาเป็น “เห็บสยาม” อันเป็นที่น่ารังเกียจของชาวโลก โดนต่างชาติแบนแล้วแบนอีกเพราะเรามีทหารปกครองประเทศ จนถึงตอนนี้ฉันก็ยังให้คำตอบตัวเองไม่ได้ ว่าทำไมเราเดินถอยหลังจากจุดที่ประชาธิปไตยผลิบาน มาสู่ยุคที่เราต้องนั่งเถียงกันว่าจะเอาประชาธิปไตยดีไหม จนกระทั่งถึงจุดนี้ ที่คนกลุ่มเดิมที่ไปปิดคูหาเลือกตั้งเมื่อสองสามปีก่อนมาบอกให้เราเคารพ “เสียงส่วนใหญ่” จากผลประชามติครั้งนี้ (ทั้งที่นักกิจกรรมฝั่งโหวตโนยังติดคุกกันเป็นแถว) จะนั่งคิด นอนคิด ตีลังกาคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก ว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง

นอกจากจะเป็นคนที่โคตรเศร้าแล้ว คนเจ็นแซดอย่างพวกเรายังโคตรเหงา เพราะเป็นหนึ่งในประชากรไม่กี่เขตเลือกตั้งที่เสียงโหวตโนชนะเสียงโหวตเยส  คิดไปคิดมาก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวละครสักตัวในหนังแนว หว่อง กาไว ที่รอคอยการกลับมาของประชาธิปไตยอันเป็นที่รัก เหมือนเลสลี่จางและความสัมพันธ์ผุพังของเขาใน Happy Together แต่พวกเราไม่ได้เดินทางแบบหว่องๆ อยู่ในฮ่องกงหรืออาร์เจนติน่า ชาวเจ็นแซดเมืองไทยต้องเผชิญความเหงาหว่องของตัวเองในดินแดนแสนดี ที่ใครๆ ก็บอกว่าทุกอย่างกำลังดี คอร์รัปชันกำลังจะหมดไป และเรากำลังจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง

ฉันในฐานะคนเจ็นแซดก็ได้แต่ยิ้มอ่อน มองบน และภาวนาให้มันเป็นอย่างที่พวกเขาพูดกันจริงๆ เถอะ(สาธุ) แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้ฉันไม่ค่อยจะไว้ใจ “พวกคนดี” สักเท่าไหร่ ทว่าตอนนี้เด็กอย่างฉันก็คงทำได้แค่มีชีวิตอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ที่เขาปลูกให้ อะไรที่มันดูไม่ดี ดูไม่ยุติธรรมในดินแดนแสนดี ก็ต้องแก้ด้วย “การคิดเชิงบวก” หรือไม่ก็ปลง แล้วก็ไปทำบุญไว้เยอะๆ (เผื่อชาติหน้าเกิดมาจะได้รับความเป็นธรรมกับเขาบ้าง)

พอถึงตรงนี้ฉันก็เลยเกิดบรรลุธรรมขึ้นมาว่า เรามาใช้ชีวิตแบบคิดบวก แฮปปี้ดี๊ด๊า ในดินแดนแสนดีกันเถอะ ถึงคนจนจะโดนกดขี่ ถึงเด็กๆ จะไม่ได้เรียนฟรี แต่ใครจะแคร์ล่ะ

ก็เราได้คนดีมาปกครองบ้านเมืองแล้วนี่นา.
 

0000

เกี่ยวกับผู้เขียน: ณัฐนันท์ วรินทรเวช หนึ่งในชาวเจ็นแซด นัก(อยาก)เขียน และเด็กมหา'ลัยเกรียนๆ คนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท