Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ เหตุเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 เกรงซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภา 35 พร้อมถามหาความรับผิดชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติในเรื่องผู้สูญหาย

คลิปญาติวีรชนพฤษภา'35 ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 2559 หวั่นสืบทอดอำนาจย้อนรอยพฤษภาคม 2535

23 ก.ค. 2559 เวลา 15.20 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านแถลงการณ์ “มติคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และการประกาศทวงถามวีรชนพฤษภา 35”

สมศักดิ์ ธีรดำรงฤทธิ์ รองประธาน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 อ่านแถลงการณ์ความว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชามติของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังจะนำพาสังคมไทยถอยหลังเข้าคลอง ย้อนรอยเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 ที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายและสูญหายจำนวนมาก สังคมกำลังเกิดความขัดแย้งและแตกแยกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย รัฐบาลใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมสื่อสารมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ผู้นำประเทศผิดคำพูดที่ให้สัญญาประชาคมเมื่อตอนยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค.2557 และมีเจตนาสืบทอดอำนาจผ่านร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังสร้างความบิดเบือนให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์เดียวกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535

แถลงการณ์ระบุว่า คสช.ไม่ใช่สัญลักษณ์ความถูกต้องที่จะผูกขาดความรักชาติแต่ฝ่ายเดียว หากหลงทางกับแนวคิดแบบนี้ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิทวงอำนาจคืน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้มีการประชุมกันทั่วประเทศแล้ว มีมติด้วยกัน 2 ข้อ

ข้อ 1 ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ เรายืนยันไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจที่เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 อันเป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บล้มตายและสูญหายมาจนถึงวันนี้ และข้อ 2 ถามหาความรับผิดชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล-กองทัพ เพื่อหาข้อยุติในเรื่องผู้สูญหายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ที่ยังคงไม่ได้ข้อยุติถึงปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมดังกล่าวใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที โดยก่อนกลับได้มีตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ เข้ามาตรวจความเรียบร้อย โดยไม่ได้มีการดำเนินคดีหรือจับกุมแต่อย่างใด
 

อดุลย์เผยไม่อยากให้เกิดความสูญเสียซ้ำรอย จึงไม่รับร่าง รธน.

ด้านอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขัดต่อหลักการคนเดือนพฤษภา 35 โดยสิ้นเชิง เช่น เรื่องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นจากพฤษภาคม ปี 2535 ซึ่งเป็นความขัดแย้งเก่าที่ยังไม่ได้สะสางให้เสร็จ ก็ยังจะสร้างเหตุเพื่อความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก

อดุลย์ยังหวังว่าญาติและผู้ร่วมอุดมการณ์ในพฤษภาคม ปี 2535 ไม่ว่าจะเป็นมวลชน นักการเมือง หรือกลุ่มการเมือง หวังว่าคงจะมาออกมาร่วมสืบสาน-ทวงคืนเจตนารมณ์วีรชนคนพฤษภา 35 ให้ครบถ้วน และมาช่วยสนับสนุนการทวงถามเรื่องญาติวีรชน 35 ที่หายไปให้จบ เพื่อเป็นแบบอย่างให้สังคมได้พึงตระหนักว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งญาติก็ไม่ต้องการให้การตามหาคนหาย-เกิดความสูญเสียแบบนี้ขึ้นมาอีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมาเรียกร้องว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้

นอกจากนี้อดุลย์ยังฝากไปยัง คสช. ว่า “ประชาชนก็คาดหวังว่า คสช.จะทำการปฏิรูป การสร้างความสามัคคีให้เรียบร้อย ปรากฏว่าสองปีกว่า ความนิยมของท่านกลับลดลง ท่านก็ต้องกลับไปทบทวนตรงนั้นว่ามันถูกต้องแล้วหรือ และที่สำคัญเรื่องการปฏิรูปที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง ถ้าท่านยังโอ้เอ้ ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะมันก็สองปีแล้ว ท่านคงตอบคำถามประชาชนไม่ได้แน่”
 

เมธาเรียกร้องรัฐบาล ตรวจสอบบุคคลสูญหายจากพฤษภาคม

ส่วนเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ากำลังจะนำพาประเทศย้อนรอยไปในเหตุการณ์เมื่อปี 2534-2535 ซึ่งเรามีความห่วงใยบ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงต้องถูกคว่ำ และหมดเวลาที่เราจะยืดออกไปแล้ว การสูญเสียจากพฤษภาคมจะต้องเป็นบทเรียนของสังคมไทย ศพวีรชนผู้สูญหายก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลใด และสังคมไทยจะต้องหาข้อยุติให้ได้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก

นอกจากนี้เมธายังกล่าวถึง พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ว่าได้เคยประกาศไว้เมื่อครั้งคณะกรรมการญาติฯ เข้าพบเพื่อติดตามและขอคำแนะนำกรณีผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่ารู้สึกเห็นใจต่อญาติวีรชนผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ต้องการกระดูกของผู้เสียชีวิตกลับมาทำพิธีทางศาสนา เมธาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบบุคคลที่สูญหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะทวงถามหาคำตอบรัฐบาลทหารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

“เมื่อกองทัพได้มาทำหน้าที่รัฐบาลด้วยตัวเองแล้ว จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจรับผิดชอบจะหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวให้แก่ญาติวีรชนพฤษภา 35 โดยหวังว่าการสูญเสียของพวกเขาจะเป็นเครื่องเตือนใจสังคมทุกภาคส่วน ได้ตระหนักว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้  นอกจากจะเกิดความเจ็บปวดจากความสูญเสียของทุกฝ่าย  และขอเรียกร้องให้สังคมไทยเคารพคุณค่าทางประวัติศาสตร์  รู้จักมีความเมตตาและให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะจะเป็นหนทางสู่สันติสุขอย่างแท้จริง” เมธากล่าว
 

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการประชุมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับญาติวีรชนผู้สูญเสียทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ บาดเจ็บ พิการ และสูญหาย เพื่อลงมติใน 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นแนวทางการทวงถามญาติวีรชนผู้สูญหาย ณ ห้องประชุม 14 ตุลา ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ โดยมีที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้แก่ พิภพ ธงชัย เลขาธิการมูลนิธิเด็ก อภิปรายในประเด็นญาติวีรชนฯ ผู้สูญหาย, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2559 และปรีดา เตียวสุวรรณ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม 35 อภิปรายในประเด็นการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน “พฤษภาประชาธรรม” 

ปริญญาระบุในการอภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2559 นี้มีความใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ที่มีแนวคิดว่าต้องมีคนมาคอยชี้นำ ซึ่งปริญญามองว่าการที่ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้น่าจะเป็นการดีกว่า นอกจากนี้ปริญญายังกล่าวในตอนท้ายว่าการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของญาติวีรชน 35 ที่จะเลือกกาในช่องใด

ด้านพิภพก็ให้กล่าวเปรียบเทียบเหตุการณ์กวางจูในเกาหลีใต้เมื่อ 18 พ.ค. 2523 ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 รัฐบาลของเขาให้ความสำคัญต่อพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีมาร่วมเป็นประธานในงานรำลึกนี้ทุกปี ซึ่งในเมืองไทยกลับไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ส่วนปรีดาระบุถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน “พฤษภาประชาธรรม” จะมีอนุสาวรีย์รำลึกแด่วีรชนผู้สูญเสีย และพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการออกแบบ ซึ่ง กทม. ประกาศว่ายินดีรับเป็นเจ้าภาพในการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net