Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาเปิดโชว์วิสัยทัศน์การพัฒนา คาดแผนฉบับ 12 ประกาศใช้ต.ค.นี้ ขณะที่ประธาน สศช.ย้ำ แผน 5 ปีนี้จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. วรัญชัย โชคชนะ โผล่ถามถ้ารัฐบาลจากการเลือกตั้งมีนโยบายไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติจะทำอย่างไร

วันที่ 22 ก.ค.2559 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดการการประชุมประจำปี 2559 เรื่อง การร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการนำเสนอวีดิทัศน์เรื่องการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งนำเสนอแนวทางการวางกรอบการพัฒนาประเทศล่วงหน้า 20 ปีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน เปรียบประชาชนเสมือนกับผู้โดยสารรถไฟ โดยมีตั๋ว 664 เป็นหลักการในการวางยุทธศาสตร์ โดยเลข 6 ตัวแรกหมายถึง 6 ยุทธศาสตร์ของร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 - 2579 ซึ่งเป็นกรอบการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้แก่ การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ, การสร้างความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม, การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ตัวเลขที่เหลือ คือ การกำหนดแนวทาง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จำนวน 10 ด้าน สู่การปฏิบัติในช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยกำหนดให้สอดคล้องกับ “กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”  กับ 6 ยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์ชาติ (พัฒนาและส่งเสริมทุนมนุษย์, สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม, สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างยั่งยืน, การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ความมั่นคง, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาครัฐและธรรมาภิบาล) บวกอีก 4 ยุทธศาสตร์ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการขับเคลื่อนในอีก 5 ปีข้างหน้า (การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์, วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม, การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ, การต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงปาฐกถาพิเศษว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 664 เป็นแผนต่อเนื่องระยะยาว ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันวางแผนพัฒนาประเทศชาติให้ดีกว่าเดิม ลดความเสี่ยงในอนาคตจากทั้งภายในและภายนอก โดยการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานและโครงการอื่นๆ โดยตลอด เช่นโครงการประชารัฐ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางครม.และคสช. ได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 คาดว่าจะปรับปรุงจนสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ โดยการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าได้กำหนดทิศทางเอาไว้เรียบร้อยแล้วและจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพในการแข็งขันให้มากขึ้น พัฒนาคุณภาพมนุษย์ สร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจมีอยู่สูง ประเทศอื่นๆ มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยจึงเร่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งเพื่อการแข่งขัน โดยหน้าที่ของผู้ใหญ่ในปัจจุบันที่จะต้องสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ ก็เพื่อสร้างประเทศในระยะยาว เพื่อคนรุ่นหลัง การกำหนดจุดหมายในระยะยาวให้ชัดเจนก็เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาอย่างมีจุดหมาย การพัฒนาต่างๆ จะเชื่อมโยงกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การสร้างความมั่นคงนั้นสำคัญ ไม่ใช่แค่มั่นคงในเรื่องการเพิ่มกองกำลังหรืออำนาจทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความมั่นคงในรูปแบบดังกล่าวประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา นอกจากนี้ยังมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการพัฒนาสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าต่างๆ รวมไปถึงกันพัฒนาคุณภาพศักยภาพมนุษย์ ส่วนความเสมอภาคเท่าเทียมนั้นไม่มีในโลกของประชาธิปไตยเพราะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ มีเรื่องการลงทุน การเปิดเสรีต่างๆ ปัญหาก็คือการทุจริตต่างๆ ที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมมากขึ้นไปอีกจึงต้องแก้ไขปัญหาทุจริต

เรื่องการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องวางแผนมองไปข้างหน้าถึงแผนต่อๆ ไป ต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ ปัจจัยที่จะทำให้แผนยุทธศาสตร์สำเร็จจะอยู่ที่ประชาชน ที่จะเป็นผู้เลือกรัฐบาลต่อๆ ไป

นายกรัฐมนตรีเสนอว่า การลงทุนหรือการพัฒนาต่างๆ ควรจะใช้หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่เร็วไม่ช้าไป พอดีๆ ให้พอประมาณตน และใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ หลักจริยธรรมต่างๆ ควรปลูกฝังให้แก่เยาวชน เป็นการสร้างจิตสำนึก เมื่อบุคคลากรมีหลักธรรมาภิบาล ปัญหาการทุกจริตก็จะลดลงไป ประเทศไทยก็จะมีจุดยืนในเวทีโลก การเมืองที่ผ่านมาทำให้คุณภาพของการศึกษาไทยตกลงไป เนื่องมาจากความผันผวนทางการเมือง ต่อจากนี้ปัญหาความไม่แน่นอนต่างๆ จะถูกแก้ด้วยหลักยุทธศาสตร์ชาติ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือกฎหมาย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า การพัฒนาจะต้องมองไปถึงเวทีโลก ประเทศไทยไม่ได้โดดเดี่ยวในเวทีโลก ที่ผ่านมามีการร่วมทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศมาโดยตลอด แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

ต่อมามีการประชุมระดมความเห็น เรื่องการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12  พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานสศช. กล่าวว่า แผนนี้จะเป็นแผนที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า  เป็นระยะแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงถือว่าเป็นช่วงการพัฒนาที่สำคัญของการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการร่างแผนพัฒนาที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศระยะยาว คือการพัฒนาคุณภาพบุคลากร เช่นการพัฒนาการศึกษาที่จะขัดเกลาจริยธรรม สร้างนิสัยและเพิ่มศักยภาพ โดยให้เน้นการสร้างนิสัยความเป็นไทยที่เท่าทันโลก

วรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองตั้งคำถามว่า แผนฉบับที่ 12 จะสามารถเพิ่มการพัฒนาการเมืองเข้าไปในแผนพัฒนาด้วยได้หรือไม่ เพราะการพัฒนาการเมืองจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการพัฒนาในแง่อื่นๆ ต่อไป คำถามที่สองคือ ถ้านโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งขัดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติจะทำอย่างไร

ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช.ตอบว่า  การพัฒนาการเมืองจะอยู่ในกรอบของการพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อมให้สมดุล เรื่องของการเมืองจะอยู่ในการดูแลของสภาพัฒนาการเมือง การเมืองเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคำถามที่สองนั้นขอปฏิเสธที่จะตอบแต่ขอถามกลับว่าถ้านักการเมืองอย่างวรัญชัยไม่เอาแผนยุทธศาสตร์จะทำอย่างไร ประเด็นต่างๆ ต้องร่วมกันคิด  

 

ผู้ที่สนใจร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.nesdb.go.th/ewtadmin/ewt/nesdb_th/download/content/Yearend2016/Yearend2016-01.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net