Skip to main content
sharethis

สำรวจพบคาสิโน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ’ ของลาว ไม่เพียงแค่ดูดเงินนักพนันไทย-ลาว แต่ทุนจีนได้ประโยชน์มหาศาล ทั้งเป็น ‘ผู้ลงทุนกินรวบ’  ทำคนลาวถูกไล่ที่ยกหมู่บ้าน  กลายเป็นเมืองแห่งธุรกิจ สีเทา ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไม่ได้ผลประโยชน์มากนัก แค่เป็นเมืองทางผ่านให้คนไปเล่นพนันเท่านั้น

 
'เขตเศรษฐกิจพิเศษ' และ 'คาสิโน' ของลาว
 
ในรอบไม่กี่ปีมานี้ ลาวมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ซึ่งการเปิด 'เขตเศรษฐกิจพิเศษ' (Special Economic Zone: SEZ ) ถือเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรมของลาวเริ่มขึ้นเมื่อปี 2543  ที่ได้มีจัดตั้ง 'เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน'  ที่แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามกับ จ.มุกดาหาร เป็นแห่งแรก หลังจากนั้นรัฐบาลลาวได้ผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีแล้ว 10 แห่ง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง กับเขตเศรษฐกิจเฉพาะอีก 7 แห่ง โดยตั้งเป้าจะให้มี 41 แห่งภายในปี 2563
 
สำหรับธุรกิจการพนันที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พบประเด็นที่น่าสนใจคือลาวยอมให้เปิดคาสิโนใหม่ ๆ ได้เฉพาะภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น โดยคาสิโนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวนั้นเคยมีอยู่ 3 แห่ง ปิดไปแล้ว 1  แห่ง เหลืออีก 2 แห่ง คือ คาสิโน ‘สะหวันเวกัส’ (Savan Vegas Hotel & Casino) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เปิดปี 2552 และ คาสิโน ‘คิงส์โรมัน’ (Kings Roman) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ เปิดปี 2552 (ส่วนคาสิโนแห่งแรกและแห่งเดียวของลาวที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ 'คาสิโนแดนสวรรค์น้ำงึม')
 
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ทำการศึกษาเรื่องคาสิโนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนลาว-ไทย  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ให้ข้อมูลกับ TCIJ ถึงความน่าสนใจของการเกิดขึ้นของคาสิโน 'คิงส์โรมัน' ที่ตั้งใน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ’ (Golden Triangle Special Economic Zone) เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว บริเวณฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ว่าเป็นคาสิโนขนาดใหญ่และมีแหล่งบันเทิงครบวงจร ไมว่าจะเป็นโรงแรม ย่านที่พักอาศัยเฉพาะอย่างยิ่งกับย่านไชน่าทาวน์ เรียกได้ว่าเป็นคาสิโนรีสอร์ทเต็มรูปแบบ โดยโครงการนี้ดำเนินการโดย ‘กลุ่มทุนดอกงิ้วคำ’ เอกชนจีนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในการเช่าพื้นที่ระยะยาวเป็นเวลา 99 ปี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้แม้จะมีมุมมองที่ว่าคาสิโนขนาดใหญ่ใกล้ชายแดนลาว-ไทย แห่งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนให้เติบโตยิ่งขึ้น เกิดแหล่งสร้างงานขนาดใหญ่ ทั้งไทยและลาวจะได้รับผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยวร่วมกัน แต่เมื่อได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังแล้ว  กลับพบว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้เล่นที่สำคัญไม่ได้มีแค่ไทยและลาว แต่กลับมีตัวละครที่สำคัญอย่าง ‘จีน’ เข้ามามีบทบาทและได้รับผลประโยชน์ไปอย่างมหาศาล
 
ข้อสังเกตที่สำคัญของคาสิโนเกือบทุกแห่งที่ตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวนั้น คือเอื้อให้สามารถลงทุนได้อย่างรอบด้านครบวงจร ซึ่งคาสิโนทุกแห่งในลาวล้วนแล้วแต่เป็นของกลุ่มทุนจากจีนทั้งสิ้น และคาสิโนแทบทั้งหมดมักตั้งอยู่บริเวณชายแดน เนื่องจากหวังกลุ่มลูกค้าใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ผลกระทบด้านลบนั้นไม่เพียงจะสร้างปัญหาให้กับกลุ่มคนที่เล่นการพนันชาวลาวและไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
 
การเข้ามาของ ‘ทุนจีน’ มักจะมาพร้อมกับ ‘กระแสจีนภิวัฒน์’ เสมอ ตัวอย่างเช่นเขตเศรษฐกิจในแขวงบ่อแก้วของลาวนั้น ข้อมูลที่ทำการศึกษาโดย ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าการลงทุนในแขวงบ่อแก้วส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 76 คือการลงทุนของจีน แม้การเข้ามามีบทบาทของจีนในลาวจะใช้โครงการพัฒนาต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ  แต่สิ่งที่บริษัทจีนที่ได้รับสัมปทานเหล่านั้นนำมาด้วย ไม่ใช่แค่ทุน แต่ยังรวมถึงแรงงานและวัสดุอุปกรณ์จากจีน ทำให้ประเทศผู้ให้สัมปทานได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ตัวอย่างของเมืองที่ถูกทำให้เป็นจีนเพื่อคนจีนส่วนใหญ่แล้ว เมื่อสร้างด้วยทุนจีน เป้าหมายย่อมต้องหวังคนจีนเป็นหลัก เป็นต้นว่าใช้ภาษาจีน ทั้งภาษาพูดและเขียน ใช้สกุลเงินหยวน อ้างอิงเวลาจีน จำหน่ายสินค้าจีน ร้านอาหารจีน รถยนต์ป้ายทะเบียนจีน แม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ก็ยังคงใช้เครือข่ายจากจีน เป็นต้น ซึ่งคนลาวเจ้าของพื้นที่เดิม ต่างพูดทำนองเดียวกันว่าบ้านของพวกเขาไม่ใช่บ้านของพวกเขาอีกต่อไป แต่กลายเป็นบ้านของคนจีนไปเสียแล้ว
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net