บทรำพึงว่าด้วยมายาคติของสังคมที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ยินถึงเสียงก่นด่ากันปากต่อปาก ถึงข้อครหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการมีอยู่รวมไปถึงขีดความสามารถของนักรัฐศาสตร์ในสังคมไทยปัจจุบัน จากทั้งภายในโลกทางกายภาพ (actual space) และในโลกเสมือนจริง (virtual world) ที่เริ่มจะถูกตั้งคำถามจากสังคมด้วยสาเหตุที่ว่าเหตุใดนักรัฐศาสตร์ไทยหลายๆคนถึงไม่สามารถที่จะนำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยแก่สังคมได้ และมากไปกว่านั้น ยังมีวาทะปรากฏออกมาจู่โจมถึงนักรัฐศาสตร์หลายๆคนที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งความรัก หลงใหล หรือเชิดชูในค่านิยมประชาธิปไตย อย่างที่(สังคมและคนส่วนใหญ่หวังให้) ควรจะเป็น ผู้คนส่วนใหญ่ภายในสังคมปัจจุบันมักพากันเข้าใจว่า นักรัฐศาสตร์ ในฐานะผลผลิตของคณะรัฐศาสตร์ จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่ถูกจับคู่มากับความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นนักประชาธิปไตย หรือพูดตามตรงเลยก็คือ มายาคติที่คนมักเหมารวม และมีความเข้าใจต่อคณะรัฐศาสตร์ คือการเป็นภาพตัวแทนของโรงงานที่ผลิตนักประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็รวมไปถึงการมีภาพลวงตาว่า นักรัฐศาสตร์กับนักประชาธิปไตยคือคนคนเดียวกัน

สิ่งนี้ไม่เคยเป็นสิ่งที่ถูก แถมยังเป็นมายาคติแบบเหมารวมที่คนธรรมดา หรือคนนอกวงการ(รัฐศาสตร์)ทั่วๆไปมักจะเข้าใจและมองมาที่วงการรัฐศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นถือเป็นความเข้าใจผิดขนานใหญ่ที่มีต่อวงการรัฐศาสตร์และต่อนักรัฐศาสตร์ เพราะแท้ที่จริงแล้ว คณะรัฐศาสตร์ วงการรัฐศาสตร์ ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น สิ่งที่พวกเขาทำการผลิตคือ “ความหลากหลาย” ที่จะสามารถผลิตอะไรให้แก่สังคมได้อย่างหลากหลายมากกว่านั้น พวกเขาสามารถผลิตได้ทั้ง: นักประชาธิปไตย นักสังคมนิยม นักการทหาร นักปฏิวัติ นักเสรีนิยม นักปฏิรูป นักถอนรากถอนโคน นักวิพากษ์ นักสตรีนิยม นักอุดมคตินิยม นักสัจนิยม นักทุนนิยม หรือแม้แต่จอมเผด็จการ ผู้ใฝ่ในแนวคิดเผด็จการหลากรูปแบบ เป็นต้น

ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะนี้ไม่ได้สอนเพียงแค่ทฤษฎี แนวคิด หรือปรัชญาประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังสอนปรัชญา แนวคิดทฤษฎีจากหลากหลายสำนักคิดเอาไว้สำหรับให้นักศึกษาใช้เป็นเครื่องมือในการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ และการใช้ตรรกะ เหตุผลในปริมณฑลภายนอกห้องเรียนอีกด้วย “นักรัฐศาสตร์” ในฐานะผลผลิตจาก “คณะรัฐศาสตร์” จึงสามารถที่จะเป็น “นัก” ที่มีแนวคิดอะไรก็ได้ และสำเร็จการศึกษาออกมามีมุมมองที่จะเป็นนักอะไรก็ได้ (becoming) การมีความเชื่อที่ว่า นักรัฐศาสตร์ เป็นสินค้าที่ถูกจับคู่มากับความเป็นนักประชาธิปไตย จึงเป็นภาพมายาคติที่สมควรจะถูกรื้อออกไปจากความเข้าใจของสังคมโดยเร็วที่สุด เพราะมันเป็นอันตรายกับทั้งสังคม และวงการของนักรัฐศาสตร์เองกับการให้หรือตั้งความหวังเหล่านั้นจนกลายเป็นแรงผลักดันในการเข้ามากด ทับถมบังคับทิศทางการผลิตนักรัฐศาสตร์ของ โรงงานผลิตรัฐศาสตร์ (คณะรัฐศาสตร์) ทั่วประเทศ และทั่วโลกนั้นผลิตออกมาแต่นักประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของคณะรัฐศาสตร์

หากสังเกตและพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดถึงความหลากหลายของแนวคิดที่ถูกผลิตออกมาจากคณะรัฐศาสตร์นั้นเป็นสีสันที่สำคัญ และเป็นความเสรี (liberalism) อย่างหนึ่งของ “คณะรัฐศาสตร์” ที่อนุญาต และเปิดกว้างให้เหล่าสานุศิษย์เลือกที่จะศึกษา ให้ความสนใจกับแนวคิดรูปแบบใดๆที่มีอยู่ภายในโลกวิชาการ หรือโลกแห่งความคิดก็ได้ ตามที่ตนเองมีความสนใจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้ “นักรัฐศาสตร์” ในฐานะผลผลิตสำคัญของคณะ สามารถออกไปปฏิบัติการในสังคมได้อย่างมีทักษะการวิพากษ์ การพลิกแพลงเงื่อนไข และการใช้ชีวิตต่างๆในสังคมได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการมองปรากฏการณ์ (phenomena) ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ให้ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยเครื่องมือใดๆก็ตามที่พวกเขาถนัดจะใช้ หรือประสงค์จะเลือกใช้ (อันมีนานัปการ) เพื่อขยายขอบฟ้าความเข้าใจให้แก่สังคมได้มีความกระจ่างมากยิ่งขึ้น

หากจะมีคนผู้ใดพยายามจะดันทุรังถามหา หรือควานหาถึงความแน่นอนในการเป็นนักประชาธิปไตย และกระบวนการผลิตนักประชาธิปไตยกับทางคณะรัฐศาสตร์เมื่อใด ผู้เขียนจะพยายามชี้แจง แนะพวกเขาเสมอว่า ให้เดินไปหาได้จากห้องเรียนประเภทวิชา การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) หรือที่นักศึกษามักเรียกกันว่า “Gov’ Compare” นอกนั้นก็ห้องเรียนประเภทวิชานโยบายต่างประเทศและการทูต (Foreign Policy and Statecraft) ที่มีเนื้อหา วิธีคิด และตำราเรียนที่มีฐานอยู่บนวิธีคิดแบบ Democratic Peace Theory ของ Immanuel Kant[1] ซึ่งมุ่งสร้าง แสวงหาความเป็นประชาธิปไตยในการเป็นแนวทางสำหรับเชื่อมต่อรัฐแต่ละรัฐเข้าหากันในปฏิสัมพันธ์ระดับระหว่างประเทศ[2]  จะเข้ากับนิยามเรื่องโรงงานผลิตนักประชาธิปไตยมากกว่า ส่วนตัวคณะรัฐศาสตร์แล้วนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นโรงงานผลิตนักประชาธิปไตยให้แก่สังคมเสียทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่หลายๆคนควรจะตระหนักไว้

เพราะโดยพื้นฐานแล้วคณะรัฐศาสตร์นั้นเป็นพื้นที่ในทางอุดมคติเพียงผืนเดียว ที่พยายามจะฟูมฟัก และรวบรวมดูแลหลอดทดลองของตัวอ่อนของแนวคิดทางสังคมการเมืองรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลาย แปลก แตกต่างจากทั่วทุกสารทิศบนโลกมาให้ผู้เรียน และ นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้ แนวทางของคณะรัฐศาสตร์จึงมีความสนใจที่กว้างพอที่จะให้นักศึกษา “เลือกจะเป็น” (freedom of thought) นักอะไรก็ได้ผ่านทักษะการวิพากษ์ และการใช้ชุดเหตุผลที่มีอยู่เป็นทวีคูณในโลกได้อย่างอิสระ คุณสมบัติข้อนี้เองที่ทำให้สังคมได้เห็นนักรัฐศาสตร์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนักรัฐศาสตร์แบบ Marxism, นักรัฐศาสตร์ Po-Mo (Postmodern), นักรัฐศาสตร์ Critical Theory, นักรัฐศาสตร์ Militarism, นักรัฐศาสตร์ Realism, นักรัฐศาสตร์ Idealism, หรือนักรัฐศาสตร์ Fascism ที่จะออกมาทำหน้าที่ช่วยเหลือ สร้างคอนเซ็ปต์ มโนทัศน์ที่หลากหลายต่างๆนานาในการพัฒนาสังคม พัฒนารัฐให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ มากกว่าที่จะผลิตออกมาเพียงนักรัฐศาสตร์สาย Liberalism อย่างเดียว ที่อาจจะทำให้สังคมขาดซึ่งความหลากหลายทางรูปแบบของแนวความคิด เมื่อนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ Chantal Mouffe อธิบายไว้ว่า เป็นสภาวะ “พหุนิยมที่มีแต่ความคล้อยตาม(พยายาม)หลอมรวมกัน” (pluralism-without-antagonism) อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมที่ทุกๆคนเอนเอียง คล้อยตามไปกับความคิดแบบเดียวกัน (associative view of political participation) และไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งๆที่ระบบการเมืองประชาธิปไตยนั้นต้องการการถกเถียง และปรึกษาหารือ ซึ่งในส่วนนี้ Chantal Mouffe ถึงกับเปรยเอาไว้ว่า “ครั้นเมื่อทุกๆคนมีแนวคิดเหมือนกันหมด เราจะมีระบบการปรึกษาหารือ (deliberative model) เอาไว้เพื่อเหตุอันใด หรือปรึกษากับใครได้(?)”[3]

สิ่งที่คณะรัฐศาสตร์กำลังพยายามกระทำอยู่ และผลิตอยู่จึงเป็นภารกิจเพื่อการผลิตสร้างแนวคิดที่หลากหลายตอบรับกับโจทย์ของสังคมโลกที่กำลังหนุนอยู่กับกระแสแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม พหุนิยมทางความคิด ที่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ แม้พวกเขา [นักศึกษา] จะไม่ได้เชื่อหรือยึดในแนวคิดแบบประชาธิปไตยแบบเดียวกัน แต่พวกเขาในฐานะผลผลิตของคณะรัฐศาสตร์ก็จะสามารถยืนอยู่บนโลกประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น ด้วยแนวคิดเชิงวิพากษ์ และชุดเหตุผลที่พวกเขาได้เรียนรู้และรับไปใช้ พร้อมกับความสามารถที่จะยอมรับและต่อรองปะทะกับแนวคิดที่แตกต่างกันได้อย่างมีความอดทนอดกลั้น รูปการลักษณะนี้ดูจะมีแนวโน้มและโอกาสที่เป็นประโยชน์กับสังคมประชาธิปไตยเสียมากกว่า เพราะจะเป็นข้อดีสำคัญที่จะช่วยให้เราและสังคมเห็นประชาธิปไตยในมุมมองของสำนักคิดต่างๆมากขึ้น ทั้งประชาธิปไตยแบบ Fascism, ประชาธิปไตยแบบ Marxism, ประชาธิปไตยแบบ Gramscian, ประชาธิปไตยแบบ Foucauldian, หรือ ประชาธิปไตยแบบ Wongyanawian, มากกว่าจะมีแค่การปล่อยให้นักศึกษาหรือสังคมรู้จักแต่เพียงประชาธิปไตยของ John Rawls หรือ Jurgen Habermas อันเป็นประชาธิปไตยกระแสหลักอย่างเดียว ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน โจมตีระหว่างกัน จนเกิดปฏิกิริยาของการหมุนเหวี่ยง ขับเคลื่อน พัฒนา ประชาธิปไตยที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เดินหน้าต่อไปเคียงคู่กับสังคมได้ (ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นนักรัฐศาสตร์ จากสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สามารถอยู่กับสังคมประชาธิปไตยได้โดยมิได้พิศวาส หรือรักในประชาธิปไตยเท่าใดนัก)

เพราะเมื่อใดที่คณะรัฐศาสตร์ทำตัวเป็นโรงงานผลิตนักประชาธิปไตย เมื่อนั้นคณะรัฐศาสตร์จะต้องแพ้ภัยตัวเอง

1. แพ้ภัยตัวเองที่ไม่สามารถผลิตพลังที่แตกต่าง หลากหลาย และสร้างสรรค์ให้ออกมาสู่สังคมได้

2. แพ้ภัยของทฤษฎีประชาธิปไตยที่ตนเองสอนให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างอดกลั้น แต่กลับบีบอัดและปิดทางเลือกให้นักศึกษาจำเป็นต้องจบออกมาเป็น(นักประชาธิปไตย)พิมพ์เดียวเหมือนๆกันหมด (เพราะหากทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าตัวคณะรัฐศาสตร์เองกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ทำลายประชาธิปไตยและไม่เสรีเสียเองเช่นกัน)

หากจะพูดถึงเรื่องของการผลิตนักประชาธิปไตยนั้น พวกเรานั้นผลิตได้ แต่ในทางกลับกันพวกเราเลือกที่จะผลิตนักอื่นๆ ออกมาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้นักต่างๆเหล่านี้ต้องออกมาโต้เถียง สร้างการปะทะ ประจันหน้าใส่กันเอง จนนำมาซึ่งพลวัตการพัฒนาที่สามารถจะปั่นสังคมให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ในที่สุด มากกว่าจะไปบังคับไลน์การผลิตของรัฐศาสตร์มีแต่นักประชาธิปไตยคลอดออกมา หากลองจินตนาการถึงโลกที่มีแต่นักประชาธิปไตยรูปแบบเดียวกัน ทุกคนมีมุมมองต่อประชาธิปไตย หรือเรื่องใดๆเหมือนกันหมด โดยปราศจากมุมมองที่แตกต่าง ก็จะพบว่าโลกนั้นไม่ต่างไปจากโลกที่ตายไปแล้ว กลายเป็นโลกที่จะปราศจากซึ่งความเคลื่อนไหว โลกที่ไร้การหมุนเคลื่อนใดๆ สุดท้ายทุกอย่างจะหยุดนิ่งและไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น

คณะรัฐศาสตร์จึงจำเป็นต้องพยายามทำหน้าที่ที่จะสร้างความหลากหลายทางแนวคิดเหล่านั้นแล้วฉีดป้อนเข้าสู่สังคม พร้อมกับให้แนวคิดที่หลากหลายเหล่านั้นเข้าไปช่วยเหลือปลุกปั่นการปะทะ การโต้เถียง อย่างมีภูมิคุ้มกัน ด้วยความเสรีและอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทั้งจากผู้อื่น และทั้งจากตัวของตัวเอง ด้วยความเคารพ ฉะนั้นแล้วเมื่อย้อนกลับมามองที่บทบาทของคณะรัฐศาสตร์จริงๆแล้วคือ โรงงานที่พร้อมจะผลิตความแตกต่าง หลากหลายที่สามารถจะอาศัยอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างอดทนอดทน อดกลั้นต่อกัน ไม่บีบบังคับหรือกดขี่ทับถมในสิ่งที่แปลกแยกจากตน ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำสังคมไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้เองในภายหลัง โดยอัตโนมัติ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ของผู้เขียน เมื่อ 10 เมษายน 2559

 

เชิงอรรถ

[1]  Brown, G.W., and Held, D. (2013). The Cosmopolitanism Reader. Cambridge: Polity Press.

[2]  Archibugi, D. (2008). The Global Commonwealth of Citizens: Toward Cosmopolitan Democracy. Princeton: Princeton University Press.

[3]  Miessen, M. (2011). The Nightmare of Participation (Crossbench Praxis as A Mode of Criticality). Berlin: Sternberg Press

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท