Skip to main content
sharethis

ที่ฟินแลนด์ นักกิจกรรมสวมหน้ากาก ประวิตร โรจนพฤกษ์ และนักโทษทางความคิดอีกหลายคน ชี้เมื่อคนเหล่านี้มาร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลกด้วยตัวเองไม่ได้ก็ขอเป็นภาพแทน  

3 พ.ค. 2559 กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ รัฐบาลฟินแลนด์ร่วมกับยูเนสโกจัดงานวันเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2016‬ ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรต่างๆ และสื่อมวลชน ราวพันคน โดยในปีนี้มีธีมว่า “การเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิของคุณ!” (Access to Information and Fundamental Freedoms, This is your right!)

ภายในงาน มีการพูดคุยในเรื่องหลักการพื้นฐานเรื่องเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณะ โดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัยในยุโรปบนการให้คุณค่าของสื่อสาธารณะ, เสรีภาพในงานศิลปะเป็นความท้าท้ายใหม่ของการพัฒนาหรือไม่, ข้อจำกัดของการปกป้องแหล่งข่าวของสื่อมวลชน, การต่อสู้กับเฮทสปีชในสื่อผ่านระบบจริยธรรมและตรวจสอบกันเอง, การสอดส่อง การปกป้องข้อมูล และการเซ็นเซอร์ออนไลน์, สิทธิในข้อมูลข่าวสารในประเด็นเพศสภาพ, พรมแดนใหม่ของการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

งานนี้สถานทูตฟินแลนด์ได้เชิญนักข่าวไทยจำนวนหนึ่งเข้าร่วมงาน แต่ประวิตร โรจนพฤกษ์ คอลัมนิสต์อาวุโสจากข่าวสดอิงลิช หนึ่งในผู้ได้รับเชิญไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เนื่องจาก คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ หลังจากเขาถูกเรียกเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ 2 ครั้งรวม 10 วันและต้องเซ็นข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเดินทางออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. โดยก่อนหน้านี้ คสช.อนุญาตให้เขาเดินทางไปประชุมในต่างประเทศได้หลายครั้ง ยกเว้นครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เขายังคงจะได้ร่วมประชุมในพรุ่งนี้ (4 พ.ค.) ในเวทีที่พูดคุยถึงความยากลำบากในการทำงานของสื่อในบางประเทศ เช่น ไทย พม่า และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ผ่านการประชุมทางไกล เวทีนี้เป็นงานที่จัดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์เป็นการเฉพาะและจะมีสื่อมวลชนฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ ร่วมรับฟัง

นอกจากนี้ภายวันในงานวันแรกยังปรากฏว่ามีนักกิจกรรมสวมหน้ากากใบหน้านักโทษการเมืองไทยที่ถูกจำคุกด้วยข้อหามาตรา 112 รวมถึงประวิตร โรจนพฤกษ์ ปรากฏตัวภายในงานราว 10 นาที มีใบหน้าของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บ.ก.นิตยสาร Voice of Taksin, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ภรณ์ทิพย์ และปติวัฒน์ นักแสดงละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า

จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านแรงงานและด้านการเมือง ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในประเทศฟินแลนด์ราว 6 ปี เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ เธอให้สัมภาษณ์ว่า เวทีนี้เป็นเวทีสำคัญเพราะสื่อทั่วโลกต่างเผชิญกับการคุกคามและเซ็นเซอร์ ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีเสียงที่มาบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในที่นี้ด้วย อยากให้คนเหล่านี้ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องได้มาเผยโฉมในงาน แต่ในเมื่อเขามาไม่ได้ก็ขอทำเป็นภาพของพวกเขาแทน

ด้านองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ออกแถลงการณ์ประณาม คสช. จากการห้ามประวิตรเดินทางออกนอกประเทศเพื่อร่วมงานดังกล่าว พร้อมระบุว่าได้ส่งต่อบทความของประวิตรในข่าวสด อิงลิช ไปยังสื่อต่างๆ ทั่วโลก เพื่อตอบโต้กับการสั่งห้ามดังกล่าว รวมถึงจะแปลเป็นภาษาไทยด้วย โดย เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF กล่าวว่า จะมีการรายงานความเห็นของประวิตรและสถานการณ์การละเมิดสิทธิครั้งนี้ยิ่งกว่าการอนุญาตให้ประวิตรเดินทางเสียอีก

เขาชี้ว่า รัฐไทยต้องเข้าใจว่าทุกความพยายามที่จะปิดกั้นความเห็นจะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์สไตรแซนด์ (Streisand effect) และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาต้องเข้าใจว่า การวิพากษ์และความหลากหลายของความเห็นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำให้สังคมดีขึ้น

RSF ระบุว่า ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลทหารนั้นกลัวว่าจะเสียการควบคุมประเทศ หากอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมกลายเป็นเรื่องต้องห้าม โดยยกกรณีที่มีพลเมืองเน็ตถูกจับกุม 8 รายโดยถูกข้อหายุยงปลุกปั่น แม้ว่าจะไม่ได้โพสต์อะไรที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติ

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2016 ของ RSF ระบุว่า ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ โดยอันดับของไทยลดลงอย่างรุนแรงนับแต่การรัฐประหาร เมื่อสองปีก่อน

ทั้งนี้ ปีนี้นับเป็นปีที่ 25 ที่โลกพูดถึงวันเสรีภาพสื่อโลก มันมีที่มาจากคำประกาศวินด์ฮุก (Windhoek) ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวชาวแอฟริกันในงานสัมมนาของยูเนสโกในเมืองวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย ในปี 1991 ที่ซึ่งพวกเขาร่วมลงนามร่วมกันในคำประกาศชื่อเดียวกับสถานที่จัดสัมมนานี้เพื่อยืนยันบทบาทที่เป็นอิสระและความเป็นพหุนิยมของสื่อ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดกับสื่อมวลชน ต่อมาในปี 1993 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้วันที่ 3 พ.ค. เป็นวันเสรีภาพสื่อโลกอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ฟินแลนด์เจ้าภาพในปีนี้ คือ ประเทศอันดับหนึ่งในการจัดอันดับเรื่องเสรีภาพสื่อในปี 2016 และอยู่ในตำแหน่งนี้มา 6 ปีซ้อน ดัชนีดังกล่าวจัดทำโดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF)

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2016 ของ RSF ระบุว่า ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ โดยอันดับของไทยลดลงอย่างรุนแรงนับแต่การรัฐประหาร เมื่อสองปีก่อน


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net